ภายหลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศเตรียมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ได้สร้างข้อถกเถียงเป็นสองเสียงคือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากทั้งกลุ่มแรงงานที่มองว่าควรเป็นสิ่งที่ต้องทำ และด้านผู้ประกอบการที่มองว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต
โดยในวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมธนาคารไทยจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทยจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ และ สมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งสัญญานให้รัฐบาลทบทวนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน เนื่องจากเกรงว่าในขณะที่เศรษฐกิจผันผวนอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ส่งผลให้อาจจะเกิดการลดจำนวนจากจ้างงาน และปิดกิจการ
โดยภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ว่าในปี 2567 มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาแล้วถึง 2 ครั้ง หากมีการปรับขึ้นอีก อาจจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากัน ทั่วประเทศ ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและบริบทของแต่ละจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ อาจจะส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการจ้างงานและการลงทุน อาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน ลดกำลังการผลิต หรือชะลอการลงทุน และอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพจาก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ได้มีข้อเสนอ ในการสนับสนุนยกระดับรายได้ของแรงงาน ตามการพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ควรคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง ควรใช้สูตรคำนวณที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรใช้สูตรคำนวณที่เป็นมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อ และผลิตภัณฑ์มวลรวมของแต่ละจังหวัด สูตรการคำนวณที่ใช้ควรเป็นสูตรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับ ควรเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการหารือและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย และภาครัฐควรสร้างสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงาน เพื่อสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
Rocket Media Lab เผยข้อมูล กว่า 61 ประเทศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 66-67
โดย Rocket Media Lab ได้เผยข้อมูลว่าในปี 2566 และ 2567 (ข้อมูลเมื่อ 30 เมษายน 2024 และสำรวจใน 199 ประเทศ/ดินแดน โดยพิจารณาจากค่าแรงขั้นต่ำของภาคเอกชนเป็นหลักและนับรวมประเทศที่ขึ้นเป็นบางรัฐ/แคว้น) มี 61 ประเทศ ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะพบว่ากระจายตัวกันไปในทุกทวีป และส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป 28 ประเทศ ตามมาด้วยทวีปเอเชีย 19 ประเทศ อเมริกาเหนือ 13 ประเทศ แอฟริกา 7 ประเทศ อเมริกาใต้ 6 ประเทศ และโอเชียเนีย 1 ประเทศ นอกจากนี้ในปี 2567 มี 12 ประเทศที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ กัมพูชา เยอรมนี เกรนาดา มาลาวี ไนเจอร์ ปานามา ไทย เอลซาวาดอร์ เซนต์คิตส์แอนด์เนวิส ศรีลังกา ตุรกี และเวียดนาม
ตั้งแต่ปี 2566-2567 ประเทศที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในโลกคือ อิหร่าน จากเดิมในปี 2020 ถึง 116.6% โดยปี 2024 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 653,409.09 เรียลอิหร่านต่อชั่วโมง หรือ 575.47 บาท จากเดิม 301,552.8 เรียลอิหร่าน หรือ 265.57 บาท แต่การปรับค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อจากการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลให้รายรับของประเทศที่น้อยลงและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รองลงมาได้แก่เลบานอน ที่เพิ่มค่าแรงจากเดิมในปี 2023 สูงถึง 101.92% โดยปี 2024 ค่าแรงของเลบานอนอยู่ที่ 93,750 ปอนด์เลบานอน/ชั่วโมง หรือ 38.91 บาท จากเดิม 46,875 ปอนด์เลบานอน หรือ 19.27 บาท ตามมาด้วยอียิปต์ ซึ่งขึ้นค่าแรง 2 ครั้งในปี 2024 โดยขึ้นมาจากเดือนมกราคม ถึง 71.05% เดิมค่าแรงในเดือนมกราคมอยู่ที่ 18.229 ปอนด์อียิปต์/ชั่วโมง หรือ 14.08 บาทไทย ต่อมามีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำใหม่ในเดือนพฤษภาคม โดยมีผลบังคับใช้ทันที อยู่ที่ 31.25 ปอนด์อียิปต์ต่อชั่วโมงหรือ 24.09 บาทไทย
อย่างไรก็ตามแม้ในบางประเทศมีส่วนต่างการขึ้นค่าแรงที่สูงมากขึ้น แต่หากเทียบกับค่าครองชีพ พบว่าส่วนต่างที่เพิ่มมาอาจไม่ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่มากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่าง อิหร่าน เป็นต้น
สามารถอ่านเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ https://rocketmedialab.co/minimum-wage-2024/
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ เผยไปให้ไกลกว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท
ด้าน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ต้องมองให้ไกลไปถึงการแก้ไขที่โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ วรวิทย์ เผยว่าไทยนั้นเติบโตจากการใช้แรงงานราคาถูก แต่กลับเผชิญหน้ากับการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งหากจะแก้ปัญทั้งหมด ต้องมองไปที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ไม่สามารถยกระดับขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันไทยไม่สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการส่งออกที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย เนื่องจากการส่งออกในตลาดโลกนั้นซบเซาผลจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อจำกัด
ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้จากภาวะดังกล่าว วรวิทย์ เผยว่าผู้ประกอบการยังใช้วิธีเก่าคือต้องการกำหนดให้ค่าแรงถูก และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นฐานอุตสาหกรรมไม่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งหากไทยจะเดินหน้าในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องมีการฝึกทักษะใหม่ หากมาดูที่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วรวิทย์ เผยว่าไม่ถึงกับสูงมากหากเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่มากในปัจจุบัน
วรวิทย์ ยังมองไปเรื่องของการศึกษาที่เป็นการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้สัมพันธ์กับค่าแรงที่สูงตาม ซึ่งต้องใช้การ Training และ Re-Training ที่การอบรมต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ ในหลายประเทศใช้วิธีการให้นายจ้างและตัวแทนของลูกจ้างเป็นคณะกรรมการในการปรับทักษะภายในโรงงาน แต่หากมาย้อนมองดูในไทย การอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของราชการทำให้ไม่ตอบโจทย์
วรวิทย์ ยังเสริมไปที่ระบบการศึกษาที่อาศัยแต่ความจำในเนื้อหาการเรียนการสอน แต่กลับขาดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการผลิตบัณฑิตที่เน้นแต่ปริมาตรและเป็นธุรกิจมากกว่าส่งเสริมการเรียนรู้ และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตนั้นเป็นผลมาจากระบอบอำนาจนิยม เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ อำนาจที่ทับซ้อนกันที่ยังเป็นปัญหาอยู่
วรวิทย์ เผยว่าการที่ไทยต้องการแรงงานราคาถูกแต่กลับขาดแคลนแรงงานจึงมีการเปิดพรมแดนให้แรงงานข้ามชาติเข้ามา ซึ่งประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ถึงแม้แรงงานข้ามชาติอาจจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว แต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ครอบคลุม รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มีอำนาจต่อรอง รวมไปถึงไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
การจะแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันต้องมองการบริโภคและผลิตภายในให้มากขึ้น ซึ่งต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการกระจายรายได้ และอำนาจในการใช้จ่าย ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หากมามองที่รัฐบาลในปัจจุบันก็คล้ายกับว่าจะมีแนวความคิดดังกล่าว อย่างนโยบายเงินดิจิตอล แต่ก็ทำได้แค่แจกแต่ยังไม่เห็นในมุมของการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาล วรวิทย์ มองว่าเป็นการมองแค่เป้าหมายแต่ไม่มองกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปทางการเมือง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...