เมษายน 23, 2024

    “ผมไม่ได้จะบอกว่าสงครามมันดีนะ เพียงแต่ผมอยากจะนำเสนอสิ่งที่พวกเราอาจจะไม่เห็นจากมัน”

    Share

    15 กันยายน 2565

    ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ กล่าวเสวนาในช่วงสุดท้ายของงานรับเรือนสหายทางศิลปะ และนิทรรศการ “Cold War : the mysterious” โดยเชื่อมโยง “อาหาร” เข้ากับบริบทสังคมในช่วงของสงคราม โดยเฉพาะสงครามเวียดนาม ในฐานะที่ตนถือว่าอาหารเป็นสื่อกลางอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในช่วงเวลานั้น อีกทั้งยังมีความเกี่ยวโยงกับผู้คนธรรมดาในสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ตนสนใจ

    ศ.ดร.นิติ เริ่มกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ตนมองเห็นสิ่งที่เป็นผลพวงมาจากสงครามเย็น จากการที่ได้เดินทางไปที่ภาคอีสานบ่อยครั้ง และเริ่มมองว่าผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบันล้วนได้รับผลกระทบมาจากสงครามเย็นทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเพียงจุดเล็กๆในภาพรวมกว้างๆ ที่มักจะถูกมองข้ามไป โดยถึงแม้ว่าจะเป็นผู้คนที่กระจัดกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ แต่ก็ยังมีจุดเชื่อมโยงบางอย่าง เชื่อมต่อผู้คนไว้อยู่เสมอ

    นี่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผลพวงของสงครามเวียดนามในพื้นที่ต่างๆ ก็คือ “อาหารเวียด” หรืออาหารเวียดนาม โดยได้กล่าวถึงอาหารเวียดว่าเป็นอาหารที่ “แตกกระจาย” ที่หมายถึงในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยต่างก็มีอาหารเวียด ซึ่งผู้คนในพื้นที่ต่างๆที่มีอาหารเวียด อาจจะมีความเชื่อมโยงอะไรบ้างอย่าง เช่นเดียวกันกับงานศิลปะของ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี ที่มีความแตกกระจายจากกัน แต่ความเป็นจริงแล้วมีจุดเชื่อมโยงซ่อนอยู่

    ความเจริญรุ่งเรืองของปั้มเอสโซ่ในประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม ที่เป็นผลมาจากการที่ทหารอเมริกันต้องเข้ามาประจำการในประเทศไทยเพื่อสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน และความนิยมของรถยนต์ ฟอร์ด มัสแตง โดยทั้งหมดนี้เป็นผลพวงของสงครามเวียดนามที่อาจจะยังไม่ถูกมองเห็น

    “นี่คือผลพวงของสงครามเวียดนาม สงครามเย็น ซึ่งไม่ได้บอกเล่าไว้ในประวัติศาสตร์ที่เราอ่าน”

    “แล้วก็อาหาร ข้าวผัดอเมริกันนี่ก็เป็นผลพวงจากสงครามเวียดนามนะ”

    ศ.ดร.นิติ กล่าวต่อถึงอาหาร ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นผลพวงมาจากสงครามเวียดนาม โดยเริ่มใช้ “ข้าวผัดอเมริกัน” เป็นตัวอย่างแรก ศ.ดร.นิติเล่าย้อนไปถึงตอนที่พี่ชายเคยพาตนไปรับประทานข้าวผัดอเมริกันในสมัยเด็ก ทำให้พบความจริงว่า แท้จริงแล้วข้าวผัดอเมริกันเป็นอาหารที่ถูกทำขึ้น และถูกรับประทานโดยคนไทย ไม่ใช่อาหารอเมริกันแต่อย่างใด นี่เป็นตัวอย่างที่ ศ.ดร.นิติ กล่าวถึงในแง่ที่ทำให้เห็นว่า ยังมีข้อมูลอีกมากมายหลายอย่างที่ไม่เคยถูกเขียนขึ้นเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม

    “อาหารที่เราคิดว่ามันไม่ได้มีนัยยะอะไรในทางประวัติศาสตร์เลย จริงๆ แล้วมันมี”

    ศ.ดร.นิติ กล่าวต่อถึงความเชื่อมโยงร่วมกันของอาหาร ว่าในแต่ละพื้นที่ อาหารล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบมาให้รับประทานร่วมกับผักชนิดต่างๆ พร้อมยกตัวอย่างผักที่ถูกใช้ประกอบอาหารในประเทศเวียดนาม 2-3 ชนิด ศ.ดร.นิติ ยังยกตัวอย่างอาหาร และวิธีการรับประทานอาหารแบบต่างๆ เช่นการใช้ซอสพริกศรีราชาของคนบริเวณริมแม่น้ำโขง ฝั่งลาวและเวียงจันทร์ ซุปหางวัวในร้านอาหารเวียดนามที่มีรสชาติต่างไปจากซุปหางวัวในร้านอาหารมุสลิม หรือไส้กรอกเลือดที่ใช้รับประทานคู่กับข้าวต้มเป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของผลที่เกิดขึ้นมาจากการอพยพของชาวเวียดนาม ในช่วงสงครามเวียดนาม บางส่วนเป็น “ประติมากรรม” ของผู้คนภาคอีสาน ที่ทำขายอเมริกันในช่วงสงคราม แม้ว่าจะไม่รู้ว่าจะขายได้มากน้อยแค่ไหน แต่ปติมากรรมเหล่านี้กลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนจะถูกส่งต่อมา

    สุดท้าย ศ.ดร.นิติ เล่าถึง ร้านลาบพรช. ที่เกิดขึ้นในช่วงที่อเมริกาสนับสนุนการเร่งรัดพัฒนาชนบทในประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นมีฐานที่มั่นของอเมริกาอยู่หลายแห่ง ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่าความจนจะทำให้เกิดคอมมิวนิสต์ โดยร้านลาบพรช. เป็นร้านอาหารลาวที่อยู่ท่ามกลางอาคารสำนักงานของรัฐที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนั้น โดย ศ.ดร.นิติ สรุปความสัมพันธ์ในบริบทนี้ ว่าก็เป็นผลพวงของสงครามเวียดนามและสงครามเย็นเช่นกัน

    ศ.ดร.นิติ สรุปไว้ว่าทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ทั้งสงครามเย็นและสงครามเวียดนามไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเรา ตัว ศ.ดร.นิติ เองที่แม้จะเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ได้รับผลอะไรจากการพัฒนาชนบทที่กล่าวถึงไป แต่ก็ยังได้รับผลพวงผ่านพี่ชายไม่ว่าจะเป็นเรื่องความชอบในรถยนต์อเมริกันที่มีชื่อเสียงในไทยยุคนั้น หรือข้าวผัดอเมริกันที่พี่ชายพาไปรับประทาน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และคงหาได้ยากหรือหาไม่ได้ในงานเขียนประวัติศาสตร์เลย

    ส่วนหนึ่งจากเสวนา“ทัศนาสงครามเย็น ปริศนา และการปิดบังอำพราง” ภายในงานรับเรือนสหายทางศิลปะและนิทรรศการ “Cold War : the mysterious” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่

    Related

    De Lampang: ลำปางลมหายใจเปื้อนฝุ่น ท่ามกลางควันไฟที่เผาไหม้ป่า

    เรื่อง: พินิจ ทองคำ เมษายนช่วงเวลาของการเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ลำปางถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสถิติอุณหภูมิร้อนแรงติดอับดับต้น ๆ ของรัฐไทย จากการติดตามข่าวผ่านสื่อในรอบสัปดาห์ คำว่า “ลำปางร้อนมาก”...

    วิกฤติการณ์ฝุ่น PM2.5 ระยะยาวของชีวิต สภาะวะการตายผ่อนส่ง ของคนภาคเหนือ

    เรื่อง: จิณห์วรา ช่วยโชติ วิกฤตการณ์ทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในภาคเหนือนั้น ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ทุกคนจะต้องได้รับรู้ มีเสียงหรือคำวิจารณ์จากคนในพื้นที่ที่ต้องประสบกับปัญหาฝุ่นพิษดังกล่าวโดยตรง พื้นที่ของข่าวมีการนำเสนอปัญหาและนโยบายจากรัฐบาล หรือภาพเจ้าหน้าที่รวมไปถึงอาสาสมัครที่ดมควัน...

    น้ำแม่ข่า คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข สุขของใคร? หรือสุขที่ฝันไว้ไม่เคยตรงปก? 

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ “คลองแม่ข่า” หรือ “น้ำแม่ข่า” คลองที่มีความสำคัญและมีประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ไล่ไปตั้งแต่เป็นหนึ่งในชัยภูมิ 7 ประการในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงการก้าวกระโดดเติบโตของเมืองเชียงใหม่ในช่วง...