พฤษภาคม 20, 2024

    เมื่อเชียงใหม่เป็นห้องซ้อมอยู่แล้ว ก็ทำให้มันเป็นโรงละครไปดิ! คุยกับ กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย ถึง Chiang Mai Performing Arts Festival 2023 ความทะเยอทะยานล่าสุดที่จะทำเทศกาลละครในเมืองเชียงใหม่

    Share

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ

    9 วันเต็ม แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กลับการเปลี่ยนบ้านแปลงเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นลานละครในดวงดาว Pantomime ครั้งแรกกับเทศกาลศิลปะการแสดงเชียงใหม่ Chiang Mai Performing Arts Festival 2023: Pantomime Planet กับการยกโขยงกันมาสร้างสรรค์ของหลายคณะละครที่ขนหลากเส้นเรื่องมาให้ชมมากมาย ตั้งแต่วันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2566 นี้

    Lanner เลยขอชวน กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย โปรดิวเซอร์ของ Chiang Mai Performing Arts Festival มาพูดคุยลงรายละเอียดให้ลึกขึ้น ถึงที่มาที่ไป และความน่าตื่นเต้นที่จะเจอตลอด 9 วันนี้ว่าจะเกิดอะไรความน่าตื่นเต้นอะไรขึ้นบ้าง

    ที่มาที่ไปของ Chiang Mai Performing Arts Festival คืออะไร

    Chiang Mai Performing Arts Festival มันเป็นโปรเจกต์ที่เราวางแผนจะทำงานระยะยาวกับเมืองเชียงใหม่ อย่างน้อยที่สุดเท่าที่เราจะทำก็คือ 5 ปี ก่อนจะส่งไม้ต่อให้คนอื่นที่สนใจอยากรับไม้ต่อเพื่อจัดเทศกาลต่อไป

    แต่พอเวลาเราพูดถึงเทศกาลในโลกใบนี้เนี่ย มันมีเยอะมาก อะไรก็ตามที่เป็น Festival เป็น Carnival มันถูกจัดขึ้นมาเพราะมันเป็นกุศโลบาย ทุกคนรับรู้ว่ามันเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนมารวมตัวกันอะ แล้วมี agenda อยู่ในนั้น บางเทศกาลก็เป็นเทศกาลที่มีความสุข บางเทศกาลก็เป็นเทศกาลที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเมืองนั้น ๆ บางเทศกาลก็เรื่องอาหาร มันเยอะไปหมดเลย 

    แต่ทีนี้ไอเดียมันก็เป็นไอเดียแบบเดียวกันแหละ คือเอาคนมันมารวมตัวกันในพื้นที่พื้นที่หนึ่ง ในเวลาหนึ่ง แล้วมีกิจกรรมร่วมกัน แล้วผลกระทบจากการรวมตัวกันของผู้คนมันมีเยอะ ในแง่เศรษฐกิจก็มี ในแง่สังคมที่พูดถึงเรื่องประเด็นต่าง ๆ ก็มี ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่จะเคลื่อนกันต่อก็มี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการอะไรงี้ มันอยู่ในระบบนิเวศของมัน การที่มีคนจำนวนหนึ่งอยู่ในเมืองออกมาทำอะไรพร้อมกัน มันจะต่างจาก every day life นิดนึงตรงที่ว่าเมืองมันมีศักยภาพพอที่จะรองรับสิ่งนั้นจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าเมืองรองรับสิ่งนั้นไม่ได้ จะทำยังไงให้รองรับได้  แล้วการที่พยายามจะทำให้มันรองรับได้อะ โฟกัสมันอยู่ตรงไหน อยู่กับคนในเมืองหรือเปล่า นักท่องเที่ยว หรือใคร เพราะฉะนั้น การออกแบบเทศกาลมันจึงต้องปฏิสัมพันธ์กับเมือง แล้วคุณจะโฟกัสแค่นักท่องเที่ยวเหรอ จะมาแค่ช่วงหน้าหนาวเหรอ หรือการเทศกาลเทศกาลนึงคุณจะโฟกัสชาวบ้านที่เค้าอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว ไอพวกนี้มันเป็น Dialogue ที่คุยกันได้เยอะมาก 

    ตัดภาพมาที่ Chiang Mai Performing Arts Festival เราโฟกัสไปที่ศิลปะการแสดง นักการละคร Performer หรือศิลปินด้านการแสดง ทั้งหมดทั่วโลกเนี่ยเวลาผลิตงานขึ้นมาซักชิ้น มันจะมีแผนที่ขึ้นมาในหัวเลยว่าจะไปเล่นที่ไหน ไปปารีส ไปลอนดอน, เอดินบะระ หรือนิวยอร์ก มันจะขึ้นมาในหัวเลยว่าจะต้องไปไหน คำถามก็คือทำไมจู่ ๆ ศิลปินถึงมีแผนที่พวกนี้ขึ้นมา ก็เพราะว่าตรงนั้นมีที่ให้เล่น มี Facility พร้อมที่จะให้เล่น มี Infrastructure มันก็เลยกลับมาที่เราว่า แล้วเรามีปะวะ มันไม่มีไง มันมีไม่เพียงพอ เราเลยรู้สึกว่าเป็นไปได้มั้ยที่เราจะทำจินตนาการชุดนี้ที่อยู่ในหัวผู้ผลิต หรือศิลปิน แล้วก็ทำงานคู่ไปกับคนดู

    ถ้ามีแต่ศิลปิน ไม่มีคนดูก็ไปไม่รอด มีแต่คนดูแต่ไม่มีงานมาลง ก็ไปไม่รอด เทศกาลของเราจึงทำงานทั้งปี โฟกัสของเราไม่ใช่แค่ว่าทำงานเทศกาลแล้วมันจบไป แต่ปีนี้ส่งไม้ต่อให้ปีต่อ ๆ ไปเป็นยังไง มันส่งผลดีกับระบบนิเวศของการทำงานแบบนี้ใช่มั้ย แค่ไหน มีอะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มันมีเรื่องคน แรงงาน การจัดการ เมือง รถ การขนส่ง คนจะมายังไง รถสาธารณะในเชียงใหม่มีมั้ย มันมีเยอะมากที่จะต้องคุย  เทศกาลเลยพาคน อาสาสมัคร หรือใครก็ตามไปเจอ ไปสำรวจว่าเมืองมันเป็นแบบไหน แล้วค่อน Creativity มันขึ้นมา อันนี้คือ agenda ของการมีเทศกาล แล้วงานมีศิลปะการแสดงมันก็ต่างจากงานประเภทอื่น ๆ อยู่หน่อยนึง อยู่ที่ต้องมาดูตอนนั้นเลยอ่ะ เราเลยจัดในระยะเวลาหลายวัน กินระยะเวลากว่า 9 วัน

    เวลาเราพูดถึงเทศกาลละคร หรือไม่ต้องถึงก็ได้ แค่การดูละคร มันเป็น Culture ของฝรั่ง เป็น Culture ตะวันตก หน้าหนาว ฟินน้ำแตก เข้าไปมีระบบการจัดการ แล้วก็เกิดรายได้ ก็คือการขายบัตร แต่วัฒนธรรมการดูงานประเภทศิลปะการแสดงในเอเชียไม่ได้เป็นแบบนั้น บ้านเราเราดูงานศิลปะการแสดงในวัด เราดูงิ้ว ลิเก โขน รองเง็ง มโนราห์ หนังตะลุง เราดูในพื้นที่สาธารณะ คือสำนึกของการมีงานด้านศิลปะการแสดงของฝั่งตะวันออกมันเป็นสมบัติของชุมชน ไม่ใช่วิธีคิดแบบ Capitalism ที่เก็บบัตร คราวนี้ถ้าจะจัดเทศกาลแล้วเก็บบัตรก็ขัดกับ Culture มาก แล้วถ้าจะเอา Culture สไตล์เอเชีย จะเอาเงินที่ไหนมาจัดเทศกาล แล้วถ้าเป็นแค่ Production กลุ่มละครทำขึ้นมา มึงไม่ขายบัตร มึงแค่จะเอา Culture ของบ้านเรา มึงจะเอาที่ไหนมารัน ไหนค่าตัวมึง เพราะฉะนั้นการ Blend Culture โดยรากทางวัฒนธรรม Theater มันเป็นแบบตะวันตกอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเราโฟกัสคำว่าศิลปะการแสดง Performing Art มันนับหมดอะ มหรสพชาติพันธุ์งานในพิธีกรรม งานในวัด งานแก้บน แล้วรายได้ฝั่งเอเชียมาจากไหน ระบบขายบัตรเราไม่มี เรามีแม่ยก คล้องพวกมาลัย ให้เงินสนับสนุน เพราะงั้นไปดูวิธีคิดคณะละครทุกคณะเลย Base On การขอทุนทั้งสิ้นเลยนะในเอเชีย ซึ่งพวกยุโรปเขาไม่ทำกัน ใช้ระบบแบบ Company แบบ Capitalist เข้ามาจัดการ มันไม่ผิดทั้งคู่ พอเราจะออกแบบเทศกาลปุ๊บ ทำยังไงให้มันเจอกันครึ่งทาง ก็เลยเป็นที่มาของการมีทั้งในโรงละคร ทั้งเก็บบัตร จ่ายบัตรแพงด้วย แต่งานรับรอง Quality กับไปดูในพื้นที่สาธารณะ ไปดูฟรีเลย ไม่อยากดูในโรงละครก็ไปดู ศิลปินกลุ่มเดียวกันแหละ แต่คนละโชว์ เงื่อนไขพื้นที่มันคนละแบบ แล้วถ้าเกิดจะให้ยั่งยืนในอนาคต แล้วเราอุตส่าห์เอาศิลปินมาแล้วด้วย มาอยู่เชียงใหม่ มาจากกรุงเทพ ญี่ปุ่น เยอะแยะเลย อยากให้ยั่งยืนก็ส่งไม้ต่อให้ฝั่ง Education เราก็เลยจัด Workshop ขึ้นมาด้วย เพื่อที่จะให้ศิลปินที่มาเชียงใหม่ แล้วก็ส่งต่อความรู้ด้วย

    ปีนี้เป็นเทศกาลละครใบ้ ปีหน้าอาจจะเป็นเทศกาลละครชาติพันธุ์นานาชาติ Character สามอันนี้จึงสำคัญที่จะสัมพันธ์กับเมือง มีสามอันใหญ่ ๆ เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะงั้น 9 วันนี้ ช่วงเช้ามี Workshop อีกที่มี Public Space อีกที่มีในโรงละคร มันจะเกิดพร้อมกัน มันคือการออกแบบในเชิงนโยบาย เพราะว่ามันทำแบบ Individual ไม่ได้

    แล้วสำนึกของคนละครมันทำงานเป็นทีมเป็นกลุ่ม โดยสำนึกพื้นฐานของโรงละคร ไม่ว่าจะเป็น Director หรือใครก็ตาม งาน Theater มันมีเบื้องหลังเสมอ มันมีคนทำงาน Behind the Scene เพราะงั้นมันมี Community โดยตัวมันเอง มันผสมด้วยความใฝ่ฝันที่หลากหลาย มันจึงเป็น Collective ในตัวเอง ยกตัวอย่าง ลานยิ้มการละคร ถ้าถามว่าใครเป็น Director เขาก็จะบอกว่าทุกคนเป็น Director ในงานของตัวเอง ลานยิ้มการละครแบบที่ลานยิ้มการละครไม่ได้เป็นองค์กร แต่ลานยิ้มการละครเป็น Collective ที่รวมเอาศิลปินหลายคนแล้วก็จัดการงานของตัวเองขึ้นมา เพราะงั้นมันมีลักษณะของคอมมูน Collective แล้วอันนี้แหละคือ Art Community เราจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาได้ยังไง เราเลือกให้กุศโลบายเทศกาลเพื่อให้คอมมูนิตี้มันได้ช่วยกันอ่ะ ฮอมกัน

    ทำไมต้องจัดที่เชียงใหม่ มีอะไรน่าสนใจ

    เชียงใหม่น่าสนใจหรือเปล่า ผมคิดว่าเชียงใหม่กำลังเป็นกรุงเทพฯ แห่งที่สองนะ โดยไอเดียของการขยายเมืองเป็นแบบนั้น เพราะงั้นตอนนี้เวลาเราพูดถึงการรวมศูนย์ของไทย ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ก็จะมีการรวมศูนย์อยู่ที่หัวเมืองต่าง ๆ เหมือนกัน ทีนี้พอมันเป็น Next step เข้าไปปุ๊บ คำถามว่าทำไมต้องเชียงใหม่ ผมคิดคู่ว่าทำไมถึงเป็นจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่เชียงใหม่ไม่ได้ ผมคิดว่าจริง ๆ แล้วทุกจังหวัดอ่ะควรจะ เพียงแต่ว่าก้าวแรกมันเอื้อที่สุด เพราะมันส่งผลกับระบบการบริหารท้องถิ่นที่อื่นก็อาจจะยากกว่านี้ แต่ไม่ใช่ไม่มี ที่อื่นเค้าก็จัด เพียงแต่ว่าถ้าตอบให้ตรงไปตรงมา ใกล้ตัว เราอยู่ที่นี่ นี่ตอบในฐานะคนในพื้นที่ เราอยู่ที่นี่ จัดตั้งเทศกาลที่นี่ขึ้นมา

    แต่ถ้ามองเป็นภาพใหญ่ขึ้นมาปุ๊บ นี่ขนาดว่าเป็นหัวเมืองใหญ่แล้ว ยังต๊อกต๋อยขนาดนี้ ไม่พูดถึงจังหวัดเล็ก ๆ หรือพื้นที่ที่ไม่ใช่หัวเมืองแต่ละภูมิภาคแบบนี้ มันแทบจะยากกว่านี้มาก เพราะงั้นเชียงใหม่มันมีลักษณะที่มี Opportunity ที่มากกว่า จริง ๆ เวลาเราพูดถึงภาวะโอกาสแบบนี้ เชียงใหม่มันได้โอกาสมากกว่าคนอื่น เป็นลูกเมียน้อยก็จริง แต่เมียน้อยคนที่หนึ่งอะ โอกาสทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วในเชียงใหม่มันก็เอื้อมากกว่าจังหวัดอื่น

    ถ้ามองภาพย่อยก็ทีมงาน หรือว่าแวดวงศิลปะในไทย ถ้านับรองจากกรุงเทพฯ ก็เชียงใหม่อะ ก็เลยพยายามเข็นขึ้นมาในเชียงใหม่ แล้วเชียงใหม่มันไม่ต้องเข็นทุกอย่าง บางอย่างมันก็มีแล้ว มันก็ต๊อกต๋อยทุกอย่างแหละ แต่มันมีเชื้อของมันบางอย่าง แล้วเชียงใหม่มันเป็นเมืองพำนักศิลปิน ศิลปินอยู่ในเมืองนี้เยอะมาก เพราะงั้นเราแค่ชวนศิลปินออกมาจากบ้านก็แค่นั้นเอง ไม่ต้องชวนไปไกลอะชวนออกมาหน้าบ้านก็แค่นั้นเอง มันก็เลยกลายมาเป็นเชียงใหม่ 

    แล้วเมื่อก่อนเชียงใหม่ไม่มีเหรอ การทำ Community ศิลปะ หรือแม้แต่เทศกาลละคร?

    มี มีมาตลอด แต่มันก็ไม่เคยสำเร็จไง หมายความว่า ลักษณะของคณะละครเนี่ย ทุกคนอยากเป็นศิลปิน ไม่ได้อยากเป็นคนจัดการ เป็นปัญหาทุกวงการ เพราะงั้นอันนี้คือการที่ศิลปินลุกขึ้นมา เพื่อสร้างนักจัดการศิลปะ วันดีคืนดีเราก็หวังว่าจะมีนักจัดการศิลปะเหล่านี้ที่พร้อมขับเคลื่อนเมืองต่อไป นำมาสู่การทำ Super Volunteer โปรแกรมสำหรับการผลิตนักจัดการการศิลปะรุ่นใหม่ หรือเราอัดฉีดเม็ดเงินลงไป ให้เขาได้มา Workshop แล้วมารันเทศกาลตัวเอง แล้วเราก็หวังว่า 3-5 ปีต่อไป กลุ่มนี้จะเป็นคนที่จะมานั่งแทนพวกเรา

    เราทำหลักสูตร Super Volunteer มี Field trip ดูพื้นที่จัดการศิลปะทั้งหมด ทั้งที่เป็น Alternative ทั้งที่เป็น Commercial ในเชียงใหม่ มีเรื่องของการ Manage Production เรื่องของการจัดการ Crisis Management ที่มีมูลนิธิกระจกเงาเข้ามาช่วย ในเรื่องของตัวอย่างของการทำงาน มี BIPAM (Bangkok International Performing Art Meeting) มีมูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะที่จังหวัดเลย และอีกเพียบ เราพยายามเอาวิทยากรที่มีประสบการณ์หลากหลายมาแชร์ความคิด โครงการ Super Volunteer ก็จะมีลักษณะที่ให้เด็กกลุ่มนี้ได้เจอ Professional ในด้านนั้น ๆ  แล้วเราแผนที่ขึ้นมาเป็นหลักสูตร เวลาเราพูดว่าการจัดการศิลปะ มันคือการจัดการศิลปะอะไร มันคือแกลเลอรี่เหรอ คอนเสิร์ตเหรอ ละครเหรอ หนังเหรอ ทั้งหมดมันคือการตัดสินศิลปะหมดเลย แต่วิธีการทำงานคนละแบบ พอเราพูดว่ากระบวนการจัดการ เราเลยให้อาสาสมัครกลุ่มนี้ได้เรียนรู้หลายแบบ แล้วถึงได้เลือกว่าจะลงลึกด้านไหน แล้วมันก็จะได้ปีที่ 2 3 4 5 ต่อไป

    พอเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้มันดูจับต้องได้ น่าสนใจมาก แต่พอมาดูแล้วงานนี้ค่อนข้างใหญ่มาก เลยคิดไปว่ารัฐควรสนับสนุนงานในลักษณะนี้หรืองานนี้ในอนาคตไหม?

    มันตอบได้เลยว่ามันก็ควร มันจำเป็นต้องตอบแบบนี้ มันตอบแบบอื่นไม่ได้ คำถามก็คือทำไมเรื่องนี้มันถึงไม่ถูกสนับสนุน มันมีดราม่าเรื่อง Soft Power ของรัฐบาลเศรษฐา 10 ข้อ ไม่มีศิลปะการแสดง ฉะนั้นมันคือตัวสะท้อนไงว่ารัฐมองข้ามศิลปะการแสดงหมด ศิลปะการแสดงที่ถูกโฟกัส อยู่ในไทยมีลักษณะเดียวคือ Traditional ที่อิงแอบกับลักษณะเชิงอำนาจนิยม เพราะงั้นงานที่เป็น Contemporary งานที่เป็น Conceptual มันคือศิลปะการแสดงหมดเลยนะ แต่ไม่ถูกให้ความสำคัญเพราะ ว่าเราอิงกับวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมอันนี้ก็เป็นวัฒนธรรมแบบกรุงเทพฯ ถ้าใช้วิธีคิดเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรม พวกชาติพันธุ์ก็ตรงกับวิธีคิดของคุณ เพียงแต่ว่ามันเป็นวิธีคิดแบบกรุงเทพฯ มันไม่ใช่วิธีคิดแบบวัฒนธรรมไทย เพราะงั้นรัฐจึงไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย

    หรือจะให้ก็ต่อเมื่อรัฐเป็นนักเด็ดยอด ถ้าสำเร็จก็สนับสนุน ถ้าไม่สำเร็จก็เรื่องของมึง เป็นอย่างงี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ การที่คุณปักหมุดแบบนี้ ศิลปินจำนวนนิดเดียวเท่านั้นแหละที่จะทำได้ ไม่ได้หมายความหมายศิลปินที่ประสบความสำเร็จตอนนี้จะเป็นแบบนั้นหมด ศิลปินทุกคนมีความใฝ่ฝันและทะเยอทะยานที่จะสร้างงานของตัวเองให้ Success หมดแหละ เพียงแต่ว่ามันจะมีบางคนที่ถูกรัฐ Curate ไป โดยการเอาความสำเร็จของศิลปินเหล่านั้นมาเป็นตัวชี้วัด เช่น ยอด Followers การสร้างมูลค่า จะเป็นส่วนใหญ่มากกว่าจะเป็นพื้นที่ที่ให้ศิลปินมันเติบโตได้

    กระทรวงวัฒนธรรมเองก็อาจมีกองสนับสนุนศิลปินบ้าง แต่ทำไมไม่ส่งมาถึงศิลปินที่ทำงาน Alternative

    กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย หรือ สศร. การที่รัฐทำงานตอนนี้เป็นการสนับสนุนแบบ Individual เป็นลักษณะปัจเจกบุคคล ไม่ใช่โครงสร้างทางสังคม การที่จะทำให้เกิดการสนับสนุนจากภาครัฐ  แล้วศิลปินก็ไปโฟกัสแค่ตัวเงิน ตัดเรื่องตัวเงินออกไปนะ การ ให้เมืองมี Infrastructure พื้นฐานสำหรับแวดวงนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐ แล้วรัฐเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น เพราะมันยาก ท้าทาย มีโอกาสที่จะไม่ได้เติบโตทางหน้าที่การงานเยอะมาก สุดท้ายแล้วก็เลือกที่จะให้ทุน แทนการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่มันเอื้อให้คนเหล่านี้ทำงาน เพราะงั้นมันก็จะตกอยู่กับศิลปิน แค่กลุ่มเดียว กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแค่นั้น ถ้าจะขยายต่อ รัฐมองว่าการให้เงินคือการสนับสนุน เป็นทางเดียว

    เพราะงั้นเวลาเราพูดว่ารัฐไม่ให้การสนับสนุนเลย ทั้งคนพูดว่ารัฐไม่สนับสนุน และรัฐที่พูดเรื่องเงิน เพราะงั้นมันอัดเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน ถ้าโครงสร้างของสังคมนั้นมันไม่ได้เอื้อให้ใครก็ตามเติบโต สำหรับผม ผมตัดสินไปเลยว่า มันคือการไม่ได้รับการสนุนจากรัฐ มึงแจกเงินไปซื้อรถแต่มึงไม่มีถนนอะ เราว่ามันไม่ใช่การสนับสนุน แม้ว่าเค้าจะยืนยันกับเราต่อหน้าแบบนี้เลยนะ ว่านี่คือการสนับสนุน แล้วสมมติเทศกาลผมได้เงินจากคุณมาเมื่อไหร่ คุณเป็นผู้สนับสนุนเทศกาล ซึ่งคุณเป็นแค่หนึ่งในผู้สนับสนุนเทศกาลเท่านั้น แต่หน้าที่ของรัฐคือการทำงานเชิงนโยบายและออกแบบโครงสร้างแบบเนี้ย มันไม่เกิดขึ้นอะ แล้วบ้านเรามันติดกับสภาวะเชิงอำนาจนิยม มียอดปีระมิดสูงสุด แตะต้องไม่ได้อีก เพราะงั้นงานศิลปะมันเป็นหนามแหลม ใน Perception เค้าอะ ก็ยิ่งต้องเซนเซอร์เข้าไป ใช้ระบบเซนเซอร์ ระบบเซนเซอร์ในวงการศิลปะเถียงกันมาเป็นร้อยปี มันไม่เคยมี Dialogue แบบนั้นเกิดขึ้นมาในสังคมไทย

    งั้นปลายทางไกล ๆ อยากได้การกระจายอำนาจเหรอ?

    มันแน่นอนอยู่ละอันนั้น เพราะว่าจริง ๆ งานศิลปะการแสดง ศูนย์กลางมันไม่ได้อยู่ที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือโคราช ซักหน่อย เพียงแต่ว่าเวลาเราพูดถึงการจัดเทศกาล มันคือคนในเมืองนั้น ๆ เอาด้วยกันอ่ะ มันไม่ใช่คำสั่งเชิงนโยบาย คือเมื่อไหร่ก็ตามที่มันเป็นคำสั่งเชิงนโยบายมันก็เข้าอีหรอบเดิม แบบงานไม้ดอกไม้ประดับ งานกาชาด อันนี้คือคำสั่งเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเทศกาลในแต่ละเมืองควรจะเข็นออกมาจากในเมืองนั้น ๆ เพื่อที่จะคิดอยู่บนฐานของเมืองนั้น ๆ

    งั้นถ้าเกิดขึ้นจริง มันจะเกิดอะไรขึ้นในแต่ละพื้นที่ 

    Culture Shock แน่นอนอ่ะสังคมไทย ไม่รู้อะทำยังไงต่อ เพราะมันคืออำนาจในการคิด จากที่คนแม่งรออยู่ตลอด ว่าเค้าจะสั่งว่าอะไร วันหนึ่งมึงต้องคิดเองอะ ตรงงั้นแหละคือสภาวะ Creativity ตรงงั้นแหละคือการที่มันจะเริ่มขึ้นใหม่บนหน้ากระดานการเมืองไทยจริง ๆ เพราะฉะนั้นกระจายอำนาจปุ๊บทุกวงการได้รับผลกระทบหมด 

    กลับมาที่ Chiangmai Performing Arts ทำไมต้องเป็น Pantomime Planet

    Pantomime Planet ดาวละครใบ้ จริง ๆ จะพูดว่ามันเป็นละครใบ้ก็ไม่ได้ ละครใบ้มันก็ไม่ได้ใบ้แบบความหมายเดียวตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ของมัน เรารู้สึกว่างานละครใบ้มันเป็นงานที่ทำงานกับคนได้หลากหลาย เพราะมันไม่มีกำแพงด้านภาษา ด้านวัฒนธรรม แล้วเราคิดว่าเชียงใหม่มันหลากหลายเรื่องนี้มาก หลากหลายทั้งภาษา วัฒนธรรม ความเข้าใจ แล้ว Mime เชื่อมความหลากหลายเหล่านี้ได้อย่างมีเสน่ห์ ปีแรกในการทำงานของเราเลยเลือก Mime อย่างที่บอกว่ามันเป็นปีนี้เท่านั้นอะ ปลายทางของมัน คำว่า Chiangmai Performing Arts มันต้องรวมศิลปะการแสดงทุกรูปแบบ เพียงแต่ปีแรกเราโฟกัสที่ Mime ภายในสองสามปีนี้อะ จะโฟกัสที่มันเป็นประเภท ๆ ไปก่อน เพราะเราต้องทำงานกับคนดู ขยายฐานคนดู จากที่คนดู ดูกันอยู่ในกลุ่มก้อนกลุ่มเล็ก ๆ วนกันไป เราก็ต้องการทำงานที่มัน Mass มากขึ้น ทำงานกับเมือง Mass ในความหมายของเมือง ไม่ได้หมายถึง Mass ในความหมายกว้างมากขึ้นอะ เราก็รู้สึกว่าพอคุยกันในทีมแล้ว Mime น่าจะเป็นบันไดที่ดี ที่จะสื่อสารกับคนหลากหลายวัย เลยกลายเป็นดาวแห่ง Pantomime  เป็นพื้นที่ Pantomime ที่มันไร้ขอบเขตของการจินตนาการ แล้วเราก็เลือกศิลปินที่มันหลากหลายมาก

    Process การคัดเลือกศิลปินละ ทำไง

    ศิลปินบางคณะละครเราเชิญ Production ที่ Curated มาแล้ว เราเชื่อในงานของพวกเขา เราเลยชวนมาร่วม งานนี้มันหลาย Agenda มาก มีเปิด Open Call ซึ่งจะแสดงในพื้นที่สาธารณะ เราก็จะเปิดรับสมัครศิลปิน ศิลปินก็จะสมัครกันเข้ามา แล้วเราก็คัดตามพื้นที่เท่ามี แล้วก็เลือกมา ก็มีมาจากกรุงเทพแล้วก็ที่อื่นด้วย ไม่ใช่คนพื้นที่อย่างเดียว

    การแสดงในพื้นที่สาธารณะที่ปักหมุดกระจายทั่วเมือง มีทั้งที่สวนบวกหาด ถนนคนเดินวัวลาย ถนนคนเดินวันอาทิตย์ท่าแพ สามกษัตริย์ หน้าลานท่าแพ คุ้มบุรีรัตน์ ซึ่งอันนี้มันก็จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับในโรงละคร ในโรงละครก็อยู่ที่โกดังจริงใจเป็นหลัก 

    เราชวน Talent Show, Baby Mime Show, ลานยิ้มการละคร, OBAKE, Annuts แล้วก็ Glom มาเลยเพราะเชื่อมั่นว่าเขากับเทศกาลครั้งนี้แน่นอน

    เสริมอีกนิด ลึก ๆ แล้ว เราอยากให้เชียงใหม่มันเป็น Hub ศิลปะการแสดงของโลก คนที่อยู่ในยุโรป หรือ ที่ไหนก็ตาม ก็จะปักหมุดเชียงใหม่ด้วย เวลามี Production ก็อยากมาลงที่นี่ ซึ่งประโยชน์มันเกิดขึ้นกับคนทั้งเมือง เทศกาลนี้มันก็จะรันไปด้วยความนึกฝันของคนในปีนั้น ๆ ปีนี้มันเกิดอะไรขึ้น คนที่ทำเทศกาลอยากทำมันออกมาในหน้าตาแบบไหน แต่ว่าเราจะคง Concept สามอย่างนี้เอาไว้ Workshop Public space แล้วก็ในโรงละคร ให้มันเกิดขึ้นพร้อมกัน อันนี้เหมือนเป็นภาพลักษณ์ของเทศกาล ส่วนที่เหลือเนื้อหาจะเปลี่ยนไปยังไงก็เปลี่ยนไปเถอะ เปลี่ยนมือยังไง จะเป็นการละครการเมือง ก็ทำไปเลย ขอให้สามอย่างนี้อยู่ เพราะนี่คือ วิสัยทัศน์ในการเกิดเทศกาลขึ้น

    คือตั้งหมุดไว้ว่าถ้ามาเชียงใหม่ก็ขอให้นึกถึงที่นี่ ถ้าทำละคร แล้วการมาทัวร์ที่ Chiang Mai Performing Arts Festival ก็อาจจะเป็นหมุดหมายสำคัญในปีนั้น ๆ

    ใช่ อันนี้คือเฉพาะอันที่เป็นเทศกาล เราอยากให้มันปักหมุด ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นช่วงไหนของปีนะ อยากให้เป็นภาพจำเลยว่าทุก ๆ ปี ช่วงนี้ เดือนนี้ มีเทศกาล แต่เราไม่ได้อยากให้ทุกคนมุ่งเป้าไปที่เทศกาลอย่างเดียว เราอยากให้เมืองมันเป็นเมืองละคร เพราะงั้นทั้งปี ทุกคนไม่ต้องอยู่ในเทศกาลก็ได้ ทุกคนก็มี Production กระจาย ๆ ซึ่งมันมีมาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ความร่วมมือ ความช่วยเหลือกัน ด้านอุปกรณ์ ด้านโครงสร้างพื้นฐานมันได้ถูกแชร์กันมากขึ้น

    ถ้าระบบนิเวศมันมีแล้ว เทศกาลไม่ต้องมีก็ได้ เพียงแต่เทศกาลมันเป็นไฟแรก พอไฟมันลุก มันก็จะพรึ่บทีเดียวแล้วก็เกิดต้นไม้ต้นหญ้าที่ถูกแผดเผาแล้วก็งอกงามขึ้นมา แล้วเราก็หวังว่าเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ที่มันหลากหลายกัน มันจะเติบโตในแบบของตัวเอง ในท้ายที่สุดศิลปินด้านนี้ก็จะเติบโตในเมืองได้โดยที่ไม่ต้องทำ Production ไปเล่นกรุงเทพฯ ไปเล่นที่ต่างประเทศอย่างเดียว เออ แต่ก็ควรจะได้ไปนะ แต่คุณจะเล่นที่บ้านตัวเองก็ได้ เชียงใหม่ไม่ใช่ห้องซ้อม ในเมื่อเชียงใหม่มันเป็นห้องซ้อมอยู่แล้ว ก็ทำให้มันเป็นโรงละครไปดิ  คนอื่นจะได้มาดูเราในห้องซ้อม ไม่ดีหรอ

    สุดท้ายแล้วฝากหน่อย

    อยากให้ปีนี้ พอมันเป็นปีแรก ทุกอย่างมันไม่ราบรื่นไปหมด มันยากไปหมด เราเลยอยากเชิญชวนเข้ามา อย่างน้อยที่สุดก็มาเป็นสักขีพยานร่วมกันว่ามันเกิดขึ้นในปีนี้ และปีต่อไปจะเกิดหน้าตาเป็นยังไงก็อยู่กับการถอดบทเรียนของปีนี้  แล้ว อยากให้คนมาดูกันเยอะ ๆ โดยเฉพาะในโรงละคร เพื่อที่จะให้มัน Blend  คือในพื้นที่สาธารณะเราไม่ค่อยเป็นห่วง ที่เป็นห่วงก็คือซื้อบัตรมาดูกันในโรงละครเพื่อให้กำลังใจทั้งทีมผู้จัดงาน และศิลปินที่เค้าก็มีค่าใช้จ่ายของเค้าเหมือนกัน

    ซื้อบัตรได้ที่ https://tickets.eventpass.co/t/Pantomime หรือเข้าไปดูที่หน้าเพจของ Chiang Mai Performing Arts Festival ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อยากให้มากัน

    Related

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...