ใบหน้าที่หายไปในประวัติศาสตร์ส่วนกลาง: ย้อนรอยความรุนแรงของสมาชิกสหพันธุ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อระหว่างปี 2517-2522

ดูฐานข้อมูลใน Google Earth ได้ที่ https://shorturl.asia/Bbg6t

“ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” คือคำขวัญของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย สหพันธ์ของประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวนาไทย รวมถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ร่วมกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร

ย้อนกลับไปในช่วง 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้ของกลุ่มนักศึกษาที่ดุเดือดและชัยชนะของประชาชนในครั้งนั้น ส่งผลกระทบให้กับชนชั้นชาวนา ที่ ณ ตอนนั้นถือเป็นจำนวนร่วม 80% ของประชากร กำลังได้รับความยากลำบากจากการ “ไม่มีที่นาทำกิน” เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีดและฉ้อโกงเอาไป ได้มีความหวังแก่ชัยชนะของพวกเขาขึ้นมาบ้าง จนเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนที่เป็น “สันหลังของชาติ” ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การชุมนุมในกรุงเทพฯของกลุ่มชาวนาเกิดขึ้นครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2517 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นอย่าง สัญญา ธรรมศักดิ์ จัดการให้ชาวนาขายข้าวได้ในตลาดโลก ให้ประกันราคาข้าวแก่ชาวนา ควบคุมการส่งออก ลดค่าพรีเมียมข้าว ควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง และอัตราค่าเช่านาที่ว่ากันว่ามีนัยสำคัญมากที่สุดที่ส่งผลให้ชาวนารวมตัวกันเพื่อให้เกิดการแก้ไข

แต่ท้ายที่สุด ข้อเรียกร้องต่างๆของชาวนาก็ไม่ถูกทำให้เกิดขึ้น และแม้รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรา 17 ช่วยเหลือชาวนา และตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามคำร้องขอต่อความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สิน (ก.ส.ส.) แต่ที่สุดก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้ การรวมตัวชุมนุมในกรุงเทพฯยังคงเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคมที่มีความดุเดือดมากที่สุด

9 สิงหาคม 2517 กลุ่มชาวนาจากหลายจังหวัดเข้ามารวมตัวจัดการชุมนุมอีกครั้งในกรุงเทพฯ พร้อมประกาศว่านี่จะ “เป็นครั้งสุดท้าย” ของการชุมนุมของพวกเขา มิเช่นนั้น พวกเขาจะทำการคืนบัตรประชาชน ลาออกจากการเป็นคนไทย และประกาศตั้งเขตปลดปล่อยตนเองโดยไม่ให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และแม้ว่าการกระทำตามที่ประกาศจะทำให้มีความผิดฐานกบฏ ถึงอย่างนั้นตัวแทนชาวนาจาก 8 จังหวัดก็รวบรวมบัตรประชาชนได้กว่า 2,000 ใบในช่วงเดือนกันยายน

และเพื่อให้การรวมตัวดูทรงพลัง 19 พฤศจิกายน 2517 กลุ่มชาวนาได้ก่อตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ขึ้น พร้อมคำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” โดยมี “ใช่ วังตะกู” ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานคนแรก นำไปสู่การต่อสู้ร่วมกันกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร ในนาม “ขบวนการสามประสาน”

ถ้ามองจากเหตุการณ์ในห้วงเวลานั้นจะพบว่าช่วงปี 2517 – 2518 ชาวนาและนักศึกษา ร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น ชาวนานำข้อเรียกร้องมายังท้องถนน นักศึกษาก็ลงมาเรียนรู้ร่วมกันกับชาวนาในชนบท เกิดเป็นโครงงานชาวนา เพื่อคลุกคลีกับปัญหา รณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเรื่องกฎหมายและประชาธิปไตย จัดค่ายนักศึกษาไปเรียนรู้ชนบท เชื่อมประสานการต่อสู้ จนนำไปสู่การผลักดันให้เจ้าที่ดินยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517​

การเคลื่อนไหวของชาวนาที่ดูแข็งแรงจริงจัง อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นักศึกษาเสรี พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เหมือนว่าจะสร้างความวิตกกังวลไปยังชนชั้น กลุ่มอนุรักษนิยม ไปจนถึงผู้นำระดับท้องถิ่น จนเป็นที่มาของการตอบโต้ที่น่ากลัวยิ่ง นั่นคือการลอบสังหารชาวนา โดยขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย”

ข้อมูลจากโครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ มีจำนวนชาวนาชาวไร่ทั้งระดับแกนนำและประชาชนรวมแล้วถูกสังหารถึง 46 ราย เมื่อชาวนาถูกตอบโต้ขั้นเด็ดขาด สิ่งนี้ก็เป็นชนวนความรุนแรงต่อเนื่อง ผนวกกับฝ่ายการเมืองก็เกิดความวุ่นวายจึงนำไปสู่ช่องทางของฝ่ายทหารในการเข้ายึดอำนาจ โดยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จากพรรคประชาธิปัตย์ เหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาคม 2519 ตามลำดับ และท้ายที่สุดคือการยุติบทบาทของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ คนสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

รายชื่อของผู้นำสหพันธุ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงระหว่างปี 2517-2522 ตามข้อมูลจากโครงการบันทึกประวัติศาสตร์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย

1. นายสนิท ศรีเดช ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2517
2. นายเมตตา (ล้วน) เหล่าอุดม ผู้แทนชาวนา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517
3. นายบุญทิ้ง ศรีรัตน์ ผู้แทนชาวนา จ.พิษณุโลก ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2517
4. นายบุญมา สมประสิทธิ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ จ.อ่างทอง ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2518
5. นายเฮี้ยง ลิ้นมาก ผู้แทนชาวนาจังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2518
6. นายอาจ ธงโท สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ต.ต้นธง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2518
7. นายประเสริฐ โฉมอมฤต ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2518
8. นายโหง่น ลาววงษ์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ถูกรัดคอและทุบตีจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2518
9. นายเจริญ ดังนอก สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บในเดือนเมษายน 2518
10. นายถวิล ไม่ทราบนามสกุล ผู้นำชาวนา อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนเมษายน 2518 11. นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนา จ.นครสวรรค์ ถูกยิงและเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2518
12. นายบุญสม จันแดง สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ ส่วนกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2518
13. นายผัด เมืองมาหล้า ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2518
14. นายถวิล มุ่งธัญญา ผู้แทนชาวนา จ.นครราชสีมา ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2518
15. นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
16. นายแก้ว ปงซาคำ ผู้นำชาวนา จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2518
17. นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518
18.  นายบุญช่วย ดิเรกชัย ประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518
19. นายประสาท สิริม่วง ผู้แทนชาวนา จังหวัดสุรินทร์ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2518
20. นายบุญทา โยทา สมาชิกคณะกรรมกาสหพันธ์ฯ อ.เมือง จ.ลำพูน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2518
21. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับอำเภอ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2518
22. นายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ และประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อ 31 กรกฎาคม 2518
23. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518
24. นายมี สวนพลู สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
25. นายตา แก้วประเสริฐ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
26. นายตา อินต๊ะคำ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
27. นายนวล สิทธิศรี สมาชิกสหพันธ์ฯ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 (หมายเหตุ – ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2518 ระบุว่าเป็นการถูกยิงครั้งที่ 2 โดยนายนวลเมื่อเดินทางกลับมาจากการชี้ตัวผู้ต้องหา ก็ถูกยิงที่หน้าบ้านและเพื่อนบ้านได้นำส่งโรงพยาบาล “อาการเป็นตายเท่ากัน” แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเสียชีวิตหรือไม่)
28. นายพุฒ ทรายคำ ผู้นำชาวนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518
29. นายช้วน เนียมวีระ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2518
30. นายแสวง จันทาพูน รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518
31. นายนวล กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกระเบิดและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518
32. นายมี กาวิโล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2518
33. นายบุญรัตน์ ใจเย็น ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2518
34. นายจันเติม แก้วดวงดี ประธานสหพันธ์ฯ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2518
35. นายลา สุภาจันทร์ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่  12 ธันวาคม 2518
36. นายปั๋น สูญใส๋ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2519
37. นายคำ ต๊ะมูล ผู้นำชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2519
38. นายวงศ์ มูลอ้าย ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 มีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
39. นายพุฒ บัววงศ์ ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
40. นายทรง กาวิโล ผู้แทนชาวนา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 และมีรายงานจากศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือว่าเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
41. นายดวงคำ พรหมแดง ผู้แทนชาวนา อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2519
42. นายนวล ดาวตาด ประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2519
43. นายศรีธน ยอดกันทา ประธานสหพันธ์ฯ ภาคเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2519
44. นายชิต คงเพชร ผู้นำชาวนา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2519
45. นายทรอด ธานี ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2521
46. นายจำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ฯ ภาคตะวันออก และประธานสหพันธ์ฯ ระดับชาติ อ.บ้านด่าน จ.ระยอง ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

นี่คือช่วงเวลาแห่งความรุนแรงที่ถูกทำให้กลายเป็นปริศนา ถูกตัดตอนให้หายไปอย่างเงียบงัน และการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะค่อยๆ ปิดตายละลายประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น


อ้างอิง

  • ประวัติการเคลื่อนไหวของชาวนาไทยอดีต-ปัจจุบัน โครงการวิวัฒนาการระบบสังคมไทย สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖
  • รําลึกถึงจํารัส ม่วงยาม กลุ่มประสานศาสนาเพื่อสังคม สารศึกษาการพิมพ์ ๒๕๒๒
  • ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ – ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช หนังสือ จาก ๑๔ ถึง ๖ ตุลา มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 
  • หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๘ -๒๕๑๙
  • เอกสารโรเนียว สหพันธ์ค่ายแห่งประเทศไทย สคท.
  • ประชาชาติรายสัปดาห์ ปี ๒๕๑๖-๒๕๑๙ 
  • กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ สรุปเหตุการณ์ ๒๕๑๗ ประพันธ์สาส์น
  • กนกศักดิ์ แก้วเทพ  เศรษฐศาสตร์การเมือง   ว่าด้วยชาวนาร่วมสมัย : บทวิเคราะห์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  2530
  • กลุ่มบัณฑิตพัฒนา  (2518).   แอก  ไทยการพิมพ์  กรุงเทพฯ.
  • กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม  (2522).   รำลึกถึง จำรัส ม่วงยาม   สารศึกษาการพิมพ์ กรุงเทพฯ
  • กิติ แก่นจำปี (2524) “จิตสำนึกทางการเมืองชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” รายงานผลการศึกษา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หน้า 37-40 
  • ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ และ จำรัส  ม่วงยาม (2521).   ทางเดินของชาวนาไทย  สำนักพิมพ์ดอกหญ้า  กรุงเทพฯ.
  • ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ และ ฉลาดชาย รมิตานนท์ (2524).  ลัทธิมาร์กซ์และสังคมนิยม  สำนักพิมพ์เคล็ดไทย กรุงเทพฯ
  • พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (2518).   ชาวนาไทยเขาถูกบังคับให้จับปืน   โพธิ์สามต้นการพิมพ์ กรุงเทพฯ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง