คนลำพูนลุกฮือ ย้ำไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ

17 มกราคม 2566


เมื่อวันที่ 16 มกราที่ผ่านมา เครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน กลุ่มลำพูนเสวนา ร่วมกับองค์กรในพื้นที่ กลุ่มรักษ์แม่ทา เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำทา เยาวชนลุ่มน้ำทา ภาคประชาสังคม และ ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลทาขุมเงิน จัดเวทีสาธารณะ “ลำพูนเสวนา เครือข่ายประชาชน จังหวัดลำพูน เวทีเสียงประชาชน” ณ ศาลวัดทาสบเมย ตำบลทาขุมเงิน ประชาชนในพื้นที่กว่า 400 คน ร่วมลงชื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ


พบว่ามีความพยายามก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะนี้ ทั้งหมด 6 ครั้งในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา เฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่ทา ถึง 4 ครั้งในการหาพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการ โดยทุกครั้งมีการต่อต้านจากชุมชนมาโดยตลอด สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่จะสร้างขึ้นนี้ จะตั้งอยู่ใจกลางชุมชนบ้านทาสบเมย ในพื้นที่ 100 กว่าไร่ ทั้งหมด 400 กว่าหลังคาเรือน ประชากร 1,000 กว่าคน 


ข้อไม่เห็นด้วยหลักคือ โครงการโรงไฟฟ้าขยะเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องนำขยะจากทั้งจังหวัดลำพูนหรือจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่โรงงานไฟฟ้าขยะแห่งนี้ สร้างความเดือดร้อนให้ชุมชนในพื้นที่ ทั้งสร้างปัญหาในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมามีการทำประชาพิจารณ์ไม่โปร่งใส่และไม่เป็นธรรม


นอกจากนั้นเยาวชนลุ่มน้ำทาได้จัดนิทรรศการภาพเขียนสีเทียนร่วมภายในงาน มีข้อความประกอบ อาทิ

– ใช้น้ำวันละ 2000 ลูกบาศก์เมตร หรือ สองล้านลิตรต่อวันในการหล่อเตาเผา: กระทบน้ำกินน้ำใช้ และการเกษตร

– มลพิษทางอากาศ: ไดออกซิน ลุ่มน้ำทาเป็นหุบเขา อากาศถ่านเทได้ยาก หากมีการปล่อยมลพิษหลุดรอกเราจะแย่ โดยเฉพาะฤดูหนาว สารพิษลอยต่ำเป็นสารก่อมะเร็ง 

– ขยะจากทั่วสารทิศ: รถบรรทุกขยะเข้า-ออกชุมชน ไม่น้อยกว่า 50 คัน ต่อวัน เกิดกลิ่น เสียง ควัน 

– โรงไฟฟ้าขยะอยู่คู่ชุมชนตลอดไป: มีโอกาสเพิ่มและขยายขึ้น ปริมาณขยะมากขึ้น ใครได้ผลประโยชน์

– ขยะไม่สามารถเผาได้ทั้งหมด: ขยะ 100 ตัน จะเผาได้จริงแค่ 30-70% ต้องหาที่ฝังกลบอยู่ดี 10-15% เป็นขี้เถ้า ต้องหาที่ทิ้ง

– การพัฒนาที่สวนทาง ปิดโอกาสการพัฒนาด้านอื่น เช่น ท่องเที่ยว เกษตรปลอดภัย ที่พักโฮมสเตย์

ซึ่งข้อสรุปของเวทีในครั้งนี้คือ ไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ พร้อมตั้งคณะทำงานในพื้นที่เพื่อติดตามในเรื่องนี้ รวมถึงการยกระดับการปกป้องสิทธิของชุมชน พร้อมกำหนดวันยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ 

โดยมี นายกเทศมนตรีทาขุมเงิน ร่วมชี้แจงว่า โครงการอยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นที่ทาขุมเงินเพียงแต่จังหวัดเห็นว่ามีพื้นที่เหมาะสม ซึ่งยืนยันว่าจะอยู่ข้างชาวบ้านหากชาวบ้านไม่เอาคือไม่เอา


ข้อเสนอท้ายสุดจากเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำพูน คือ โครงการโรงฟ้าขยะเวียนไปหลายพื้นที่และสร้างความเดือดร้อนแตกแยกในชุมชนเพราะกระบวนการไปโปร่งใส่ และจังหวัดลำพูนมีขยะปริมาณไม่ได้มากพอที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จังหวัดควรทบทวนเรื่องนี้ และเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน ทุกภาคส่วนร่วมหาทางออก และทางเลือกที่เหมาะสมกับจังหวัดลำพูนต่อไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง