พฤษภาคม 9, 2024

    ฟ้าผ่าแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับส.ว. มหา’ลัยย่านห้วยแก้ว ย้อนถามเสรีภาพนักศึกษาอยู่ตรงไหน

    Share

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

    จากเหตุการณ์วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการประชุมรัฐสภาซึ่งในที่ประชุมมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยนั้น ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ ส.ว.หลายคนไม่โหวตให้ตามมติของพรรคที่มีเสียงข้างมาก สร้างความไม่พอใจแกประชาชนเป็นจำนวนมาก องค์กรนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนในการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยต่อ ส.ว.บางท่านเช่นเดียวกัน รวมไปถึง สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้ว ก็ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเพจ สภาและสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้ว เรื่อง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน 


    แต่แล้วแถลงการณ์ฉบับนี้กลับถูกลบออกจากเพจฯดังกล่าวและ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 เพจ สภาและสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้ว ก็ได้โพสต์แถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับจาก สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้ว เรื่อง ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อบริบทการดำเนินงาน 

    โดยมีเนื้อหาดังนี้

    “สืบเนื่องจากทางสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ได้มีการออกแถลงการณ์เรื่อง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาบางท่านนั้นเนื่องจากมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อบริบทการทำหน้าที่ตามระเบียบของมหาวิทยาสัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ว่าด้วยเรื่องกิจกรรมนักศึกษา พ.ศ.2552 ที่ไม่มีระเบียบหรือข้อกฎหมายที่รองรับต่อการออกแถลงการณ์ดังกล่าว

    ทางสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ จึงมีความจำเป็นจะต้องยกเลิกแถลงการณ์การตังกล่าวในนามสภานักศึกษาฯ และสนับสนุนให้มีการแสดงความเห็นตามสิทธิส่วนบุคคล แสดงความคิดเห็นด้วยตัวอักษรอย่างมีอารยธรรม ปราศจากความรุนแรงภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และสุดท้ายสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ ยังคงสนับสนุนต่อระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

    โดยแถลงการณ์ฉบับล่าสุดนี้มีใจความว่า ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อบริบทการทำหน้าที่ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้ว ว่าด้วยเรื่องกิจกรรมนักศึกษา พ.ศ.2552 ที่ไม่มีระเบียบหรือข้อกฎหมายที่รองรับต่อการออกแถลงการณ์ดังกล่าว


    ซึ่งหลังจากแถลงการณ์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกไปได้สร้างความงุนงงเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ นักศึกษาและประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์นี้เป็นจำนวนมาก กว่า 400 คอมเม้นต์ (17 กรกฎาคม 2566)  โดยได้เข้ามาแสดงความความไม่พอใจหลังจากแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้าถูกลบไป รวมไปถึงกล่าวว่ามหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้วนั้น เป็น‘ของหวาน’ อาทิ “มอนี้ของหวานเยอะ ต้องทำใจหน่อย” “การเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนควรพูดถึงได้และแสดงออกได้อย่างเสรีถึงจะเรียกว่าประชาธิปไตย ขอบคุณค่ะ” “หวานๆใส่กะทิอร่อยดี” เป็นต้น


    รวมไปถึงเพจ ประชาคมมอชอ – Community of MorChor ก็ได้มาคอมเม้นต์ต่อโพสต์ดังกล่าวเช่นเดียวกันมีเนื้อหาดังนี้ “สวัสดีค่ะเพื่อนบ้าน อยากให้ช่วยอะไร เอิ้นมานะคะ อย่าไปยอมมัน อาจารย์หรือผู้ใหญ่หน้าไหนมันข่มขู่เราอยู่ อินบ๊อคหลักฐานเข้ามาได้ค่ะ เราจะปกปิดตัวตนของท่านเอง สุดท้ายเราคือเพื่อนกัน จงอย่าจำนนต่อความอยุติธรรม”


    นอกจากนี้หลังจากที่แถลงการณ์ฉบับยกเลิกถูกเผยแพร่ไปเพียง 3 ชั่วโมง ได้มีเพจ มหาวิทยาลัยชื่อดังย่านถนนห้วยแก้ว ออกแถลงการณ์ เรื่อง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน ซึ่งมีใจความว่า ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของสมาชิกวุฒิสภา โดยเพจ มหาวิทยาลัยชื่อดังย่านถนนห้วยแก้วได้ย้ำว่าแถลงการณ์ฉบับนี้อิสระจากกลุ่มนักศึกษา ซึ่งเนื้อหาดังนี้


    “จากวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ซึ่งได้มีวาระการประชุมที่สำคัญในวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยที่ประชุมได้มีการเสนอ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเพียงผู้เดียว ผู้ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งจากประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยนั้น

    หากพิจารณาตามผลการเสือกตั้งของประชาชนชาวไทยในการเลือกตั้งประจำปี 2566 เห็นได้ชัดว่า พรรคก้าวไกล ได้รับการเลือกตั้งเป็นคะแนนสูงสุด ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย ที่มอบความไว้วางใจให้ตัวแทนของประชาชนได้ทำหน้าที่ปกครองประเทศผลมติในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในครั้งนี้ กลับสวนทางกับฉันทามติของประชาชนโดยผลมติของสมาชิกวุฒิสภา ไม่เห็นชอบ 34 เสียง “งดออกเสียง 159 เสียง” และมีเพียง 13 เสียงจาก 250 เสียง ที่เห็นชอบกับฉันทามติของประชาชน

    ดังนั้นพวกเรา จึงขอร่วมแสดงจุดยืนในการไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้ ที่ไม่เคารพต่อเสียงของประชาชน ไม่เคารพต่อฉันทามติของประขาชน เพราะพื้นที่ในอนาคต จะเป็นพื้นที่ของพวกเราในการใช้ชีวิต ในการขับเคลื่อนประเทศนี้ และขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับฉันทามติของประชาชนและเคารพในระบอบประชาธิปไตย”

    “สมาชิกวุฒิสภา…จงเคารพต่อฉันทามติของประชาชน”

    ไม่ควรมีใครหรืออำนาจใดมากดทับการแสดงออกของนักศึกษา

    หลังจากเหตุการณ์นี้ Lanner ได้พูดคุยกับ กระปุก (นามสมมุติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้ว กระปุกกล่าวว่าตนได้ทราบข้อมูลมาว่า ทางมหาวิทยาลัยย่านห้วยแก้ว มีข้อระเบียบที่จำกัดสิทธิในการแสดงออกของนักศึกษา ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตและตั้งข้อสมมุติฐานจากกระปุกรวมไปถึงนักศึกษาหลายท่าน ว่าการที่สภานักศึกษาฯได้ทำการลบแถลงการณ์เนื่องจากอาจจะมีอำนาจบางอย่างที่คอยควบคุมสภานักศึกษาฯอยู่เบื้องหลัง ส่งผลให้ทางสภานักศึกษาฯไม่สามารถแสดงออกในนามองค์กรได้ 

    กระปุก ในฐานะนักศึกษาที่รับรู้ถึงสถานการณ์บางส่วน เสริมว่า การที่สภานักศึกษาฯต้องลบโพสต์และยกเลิกแถลงการณ์ดังกล่าว รวมไปถึงต้องออกแถลงการณ์ล่าสุด กระปุกเล่าว่า 

    “ด้วยอำนาจกดทับจากผู้บริหารบางท่าน ทำให้หากยังปล่อยไปทางกลุ่มนักศึกษาที่เกี่ยวข้องอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม” 

    นี้อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม จึงเกิดเหตุการณ์ลบโพสต์แถลงการณ์ขึ้นมาดื้อๆ สรุปง่ายๆ คือมีผู้บริหารบางท่านที่มีอำนาจในการสร้างผลกระทบต่อคณะกรรมการหรือกลุ่มนักศึกษาที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ ส่งผลให้สภานักศึกษาฯนั้นต้องลบโพสต์แถลงการณ์ รวมไปถึงต้องออกแถลงการณ์ล่าสุดออกมา

    “สุดท้ายนี้ในฐานะนักศึกษาทุกคนสามารถมีเจตนารมณ์ที่ต้องการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ไม่ควรมีใครหรืออำนาจใดมากดทับการแสดงออกของนักศึกษาได้”

    จากกรณีนี้ได้ชี้ให้เห็นความไม่อิสระขององค์กรนักศึกษาที่ยังคงถูกผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยบางท่านพยายามจำกัดสิทธิในการแสดงออกจุดยืนทางการเมืองผ่านการสร้างผลกระทบไม่ว่าทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้อง ทำให้ย้อนกลับไปว่า มหาวิทยาลัยนั้นเป็นพื้นที่ทางวิชาการที่พัฒนาความรู้ความสามารถหรือรัฐเผด็จการขนาดย่อมที่คอยควบคุมการแสดงออกและควบคุมความความคิดของผู้อยู่ในรัฐนี้กันแน่… 

    อ้างอิง

    แถลงการณ์ จาก สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เรื่อง ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อบริบทการดำเนินงาน

    แถลงการณ์ จาก มหาวิทยาลัยชื่อดังย่านถนนห้วยแก้ว เรื่อง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...