‘คนแป๋งเมืองเชียงใหม่’ ค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ย้ำ “คนจนก็จ่ายภาษี”

วันนี้ (17 ส.ค.66) เครือข่ายคนแป๋งเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนในชุมชนเมืองที่ขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพชีวิตและสิทธิในมที่อยู่อาศัย รวมตัวชูป้ายแสดงจุดยืนคัดค้านการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การรับเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ 


สุกัญญา พินิจวัฒนพรรณ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายคนแป๋งเมืองจากชุมชนทิพย์เนตร

สุกัญญา พินิจวัฒนพรรณ อายุ 69 ปี หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายคนแป๋งเมืองจากชุมชนทิพย์เนตร และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ชี้ว่าแม้จะหาเช้ากินค่ำ แต่ประชาชนอย่างตนและคนอื่นๆ ก็ยังต้องจ่ายภาษีซึ่งจะกลายเป็นเงินจุนเจือหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ แต่รัฐกลับไม่ได้เหลียวแลพลเมืองของตนได้ดีพอ 

“คิดดู คนในหน่วยงานรัฐต่างๆ กินข้าวมื้อละเท่าไหร่เปรียบเทียบกับคนจนเนี่ย อย่างสมมติได้เดือนละ 600 ต้องกินมื้อละ 20 บาท อยากถามว่าอิ่มไหม?”

การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การปรับเบี้ยสูงอายุ ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แก้คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ ต้องเป็น “ผู้ที่ไม่มีรายได้” หรือ “มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด เป็นการเปลี่ยนเกณฑ์จากเดิมที่ให้แบบถ้วนหน้า ไปเป็นการให้แบบสังคมสงเคราะห์เฉพาะคน จากเดิมที่ต้องมีสัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดย “ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ”

นอกจากการแสดงจุดยืนของเครือข่ายคนแป๋งเมืองแล้ว ยังมีเครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และ We Fair ที่ออกมาร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ผ่านการจัดขบวนเยือน กระทรวงการคลัง มหาดไทย และ พม. เมื่อ 10.00 น. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งออกแถลงการชู 5 ข้อเสนอในกรณีดังกล่าวด้วย

แถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาชน 53 องค์กร 1,468 รายชื่อ “ปกป้องสวัสดิการประชาชน คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” วันที่ 17 สิงหาคม 2566

ในห้วงยามที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ยังคงรักษาการในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กระทรวงมหาดไทยได้ออกหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 โดยเพิ่มคุณสมบัติการเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เป็นเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพ  ทั้งที่ทศวรรษกว่านับตั้งแต่ป๊ 2552 สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ถูกปรับจากระบบสงเคราะห์คนยากไร้อนาถามาเป็นสิทธิสวัสดิการระบบถ้วนหน้า ขอเพียงให้ประชาชนมีอายุ 60 ปี และไม่ได้รับสวัสดิการหรือบำนาญอื่นใดจากรัฐในลักษณะเดียวกัน

จนเมื่อเข้าสู่การรัฐประหาร 2557 การบริหารประเทศภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา การดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย กลับลิดรอนสิทธิสวัสดิการของประชาชน ลดทอนด้อยค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการให้พิสูจน์ความยากจน แสดงถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบสวัสดิการถ้วนหน้าอันเป็นการเคารพสิทธิเสมอกันของประชาชน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพลเมือง ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐควรต้องออกโรงมาปกป้องดูแลทรัพยากรมนุษย์ ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยการเพิ่มสิทธิสวัสดิการ ยกระดับคุณภาพชีวิต ในฐานะพลเมือง ทรัพยากรบุคคลของประเทศ

ในนามของพลเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการออกระเบียบของกระทรวงมหาดไทย และหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เราจะร่วมกันปกป้องสวัสดิการประชาชน และร่วมกันคัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมีข้อเรียกร้องร่วมกันดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และตัดสิทธิการรับสวัสดิการซ้ำซ้อนไว้แล้ว

2. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติต้องออกมาปกป้องหลักเกณฑ์การจ่ายสิทธิของผู้สูงอายุทุกตน ไม่ให้ถูกลิดรอนต่ำลงไปกว่าที่เคยเป็น ด้วยการไม่สนองตอบต่อหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566

3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า ด้วยการออกเป็นกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ใช้หลักนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามมติคณะรัฐมนตรี

4. กระทรวงการคลัง ต้องมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง โดยการตัดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ารัฐ เพื่อเพิ่มรายได้ในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนแบบถ้วนหน้า เช่น การศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น

5. รัฐบาลใหม่ ต้องผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น สวัสดิการต้องเป็นสิทธิแบบถ้วนหน้าและบรรจุในกฎหมายให้ชัดเจน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง