เมษายน 25, 2024

    “พม่าที่พลิกผัน” (Unpredictable Myanmar)

    Share

    17 ตุลาคม 2565

    วันที่ 7 ตุลาคม 2565 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดการเสวนา “พม่าที่พลิกผัน” (Unpredictable Myanmar) ขึ้น ณ ที่ห้องประชุม 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การเสวนาครั้งนี้มีเป้าหมายเสวนา 3 ประเด็นในบริบทของประเทศพม่า ที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร จนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน กลายเป็นวิกฤตมนุษยธรรมไปทั่วพม่าและประเทศรอบข้าง ได้แก่ประเด็นสิทธิมนุษย์ชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย โดยมี Thomas H. Andrews. The UN Special Rapporteur on the situation of human rights in Myanmar, ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน (RCSD), พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และกฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเสวนา โดยมีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

    พรสุข เกิดสว่าง เปิดการเสวนา ด้วยการกล่าวถึงความเป็นไปในพม่า ที่เป็นความพลิกผันจากการที่ค่อย ๆ ​ เดินหน้าพัฒนากลายเป็นกระโดดถอยหลังกลับไป โดยแม้ว่ากองทัพจะยังคงมีอำนาจ ชาวบ้านและชาติพันธุ์ยังเข้าไม่ถึงสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผลลัพธ์คือสันติภาพยังคงไม่เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมา สิทธิมนุษยชนก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาไปเรื่อย ๆ ผนวกกับอิทธิพลของโลกาภิวัฒน์อย่างอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้ประชาชนพม่ารับรู้ข่าวสารมากและง่ายขึ้น จนทำให้เกิดการพัฒนาและไม่สามารถก้าวถอยหลังกลับมาได้อีกแล้ว

    “ประเทศพม่าก่อนรัฐประหารก็ไม่ได้สันติมากนัก เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสู้รบชายแดน และเสรีภาพสื่อ” พรสุขกล่าว

    ชยันต์ วรรธนะภูติ ให้ข้อสังเกตว่าปัญหาของวิกฤติสิทธิมนุษยชนในพม่านั้นเริ่มต้นจากการอ้างความชอบธรรมของคณะรัฐประหารด้วยการกล่าวอ้างว่ารัฐบาลพลเรือนทำการโกงการเลือกตั้ง จากนั้นจึงมีการตั้งองค์กรอย่างสภาบริหารแห่งรัฐขึ้นมาเพื่อออกฎหมายและแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้คณะรัฐประหารมีอำนาจเต็มในการจัดการกับฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายประชาธิปไตย

    สัณหวรรณ ศรีสด กล่าวถึงคณะกรรมาการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ ที่ได้ดำเนินการติดตามการใช้กฎหมายหลังรัฐประหารพม่ามาอย่างต่อเนื่อง 8 ปีก่อน หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในประเทศไทยเองก็มีการใช้กฎหมายคล้าย ๆ กันกับที่เกิดขึ้นในพม่าในขณะนี้ ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายประเด็น สัณหวรรณ ชี้ให้เห็นถึงความพลิกผันในระบบกฎหมายของพม่าหลังรัฐประหารที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศในหลายประเด็นด้วยกัน

    สัณหวรรณ กล่าวต่อประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความพลิกผันทางกฏหมายและการใช้ ที่ยังไม่สอดคล้องกับกฏหมายระหว่างประเทศ เช่นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้ทหารเข้ามามีอำนาจและบทบาทในระบบต่าง ๆ เป็นต้น

    ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ ตั้งคำถาม ว่าทำไมเราต้องพูดถึงเรื่องสันติวิธีเวลาพูดถึงหัวข้อเรื่องความขัดแย้ง โดยเฉพาะในประเด็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ในพม่าทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร พร้อมชวนคิดว่าเราจะลดข้อจำกัดหรือข้อท้าทายอย่างไรได้บ้างโดยการใช้แนวทางสันติศึกษาหรือสันวิธีเข้ามามอง

    คำว่าสันติวิธีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศ โดย UN จะให้ความสำคัญมากต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก ๆ สามอย่างคือ การสร้างสันติภาพ (peacebuilding) การรักษาสันติภาพ (peacekeeping) และการทำให้เกิดสันติภาพ (peacemaking) โดยที่องค์กรที่มีบทบาทในส่วนนี้ไม่ได้มีแค่องค์กรโลกบาล แต่ยังมีองค์กรภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรง เพื่อนำมาสู่การลดนโยบายแบบบนลงล่างมาเป็นล่างขึ้นบนสำหรับกระบวนการสันติภาพ โดยองค์กรสำคัญในกรณีพม่านั้นมีด้วยกันหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันเสียงของคนชายขอบหรือชนกลุ่มน้อยที่มีความหลากหลายนั้นดังขึ้น

    โทมัส เอช. แอนดรูว์ อธิบายว่า ตำแหน่งผู้รายงานพิเศษของ UN คือ กลไกผู้รายงานพิเศษเป็นกลไกอิสระของสหประชาขาติที่มีการตัดสินใจที่เป็นอิสระไม่ได้ขึ้นตรงต่อเลขาธิการ UN หรือแม้กระทั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แต่ก็มีกฎที่ต้องทำตามอยู่ เช่น การวิจารณ์รัฐภาคีที่ถูกตรวจสอบทำไม่ได้ในทันที ต้องมีการแจ้งให้รัฐภาคีนั้น ๆ รับทราบล่วงหน้าถึงจะสามารถวิจารณ์ได้ แม้มีเสรีภาพในการวิจารณ์แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบบางอย่างเช่นกัน

    โทมัส เสริมว่า หน้าที่หลักของผู้รายงานพิเศษในกรณีพม่าก็เช่นเดียวกับกรณีอื่นคือการรายงานข้อมูลให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรวมถึงวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า และต้องมีการจัดทำรายงานและอัพเดทข้อมูลต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนั้นยังสามารถทำบทวิจารณ์ในประเด็นเฉพาะที่ปรากฎในรายงานเพิ่มเติมได้ด้วย โดยสิ่งที่สามารถพูดถึงและประเมินได้ในขณะนี้คือทหารพม่าจะยังคงดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่ออาชญากรรมต่อคนในชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป จนถึงตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าเผาบ้านประชาชนไปแล้วมากกว่า 30,000 หลังคาเรือน อีกทั้งการรัฐประหารส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา ล่มสลาย โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 นี้จะมีเด็กพม่ากว่า 33,000 คน เข้าไม่ถึงการศึกษาและปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

    สามารถติดตามเนื้อหาการเสวนาเพิ่มเติมได้ที่

    https://www.facebook.com/lanner2022/videos/491396572886125

    https://www.facebook.com/lanner2022/videos/1618022921933442

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...