ความหวัง เลือกตั้งท้องถิ่นไทย

เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี, ภัทรภร ผ่องอำไพ


 การเลือกตั้งท้องถิ่นควรมาจากเจตจำนงในการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ หาควรมาจากอำนาจรัฐรวมศูนย์ไร้ซึ่งความเข้าใจถิ่นตนไม่  ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีอุปสรรคอยู่หลายปัจจัย แต่ยังเชื่อว่ายังมีความหวังที่เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ เป็นแรงขับเคลื่อนเข้ามาเปลี่ยนแปลงอนาคต และทิศทางการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างมีเสถียรภาพดังนั้น “ตัวแปร ที่จะเป็นจุดเปลี่ยน กำหนดผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็น คนรุ่นใหม่” ความหวังที่จะนำพาคนหนุ่มสาวไกลบ้านได้กลับมาเลือกตั้งถิ่นตน ถ้อยคำดังกล่าว ถูกเอ่ยขึ้นมาขณะที่ผู้เขียนกำลังสัมภาษณ์ ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 


ทำไมถึงสนใจในประเด็นเลือกตั้งท้องถิ่น?

คือในสมัยที่ผมเรียนอยู่ ในช่วงเวลานั้นไม่ค่อยมีใครสนใจในประเด็นเรื่องนี้นัก ซึ่งในช่วงที่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงปี 2538 เป็นยุคที่ต้องยอมรับว่า “ ท้องถิ่นมันกระจอก ”  กระจอกในที่นี้สมมุติว่า ประเทศมีเงินอยู่ 100 บาท ตอนนั้นเขาให้เงินท้องถิ่นแค่ 7 บาท ในตอนนั้น ไม่มีใครคิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่สำคัญ จนมาถึงจุดเปลี่ยนตอนที่รัฐธรรมนูญปี 40 ด้วยหลายเหตุผลที่เป็นปัจจัยภายนอก เช่น วิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ต้องไปกู้เงินนอกของ IMF และ World Bank ของ IMF มีทิศทางการพัฒนาของมันอยู่ว่าการพัฒนาที่ดีที่สุดในสายตาของคนที่ให้กู้ ก็คือว่ามันต้อง “ กระจายอำนาจ ” มันก็เลยทำให้อันนั้นคือปัจจัยภายนอก ส่วนปัจจัยภายใน คือ มันเป็นผลจากการเมืองที่เรารู้สึกว่าเราจะออกจากวงจรรัฐประหารได้ยังไง เพราะว่าก่อนปี 40 มันเกิดรัฐประหารปี 34 แล้วมันก็มีเหตุการณ์นองเลือดในปี 35  แล้วหลังจากนั้นมันก็เป็นกระแสปฏิรูปการเมือง มาประกอบกันทำให้พอร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มันก็เลยให้ความสำคัญกับการใช้กระจายอำนาจจากการให้เงิน 7 บาท ที่ผมบอก ในรัฐธรรมนูญปี 40 เขียนว่าต้องต้องเอาเงินให้ท้องถิ่น 35 บาท ที่เหลือ 65 บาท ให้รัฐบาลใช้ แต่ว่ามันมีเงื่อนเวลาอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 40 คือมันจะต้องทำให้สำเร็จภายในปี 49 ภายใน 10 ปีแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ามันเกิดรัฐประหารปี 49 ก่อน การกระจายอำนาจที่ควรจะเกิดขึ้นมันยังไปไม่ถึงไหน เพราะว่าส่วนหนึ่งก็คือมันมีรัฐประหารมาสกัด แต่ว่าในยุคนั้นผมเกิดมาในช่วงรอยต่อพอดี ในช่วงที่ผมเรียนหนังสือระหว่างก่อนจะมียุคกระจายอำนาจ และพอเรียนใกล้ ๆ จบจะเป็นช่วงรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งพอจบปุ๊บก็เป็นยุคของการกระจายอำนาจพอดี มันเลยทำให้ผมคิดว่าอีกหน่อยทิศทางจะไปทางนี้แต่คนยังให้ความสนใจน้อย เพราะประชาธิปไตยมี 2 ระดับ และตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่าระดับชาติจะถอยหลัง และไปขับเคลื่อนประชาธิปไตยท้องถิ่น นั้นจึงเป็นจุดที่ทำให้ผมมาสนใจการเมืองท้องถิ่น

“ผู้ว่าจังหวัด” และ “ในส่วนของ อบจ.” พอจะทราบมาว่ามีการทำงานคาบเกี่ยวหรือทับซ้อนกันอยู่ และมีการถกเถียงกันอยู่ในแวดวงวิชาการ อยากถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความจำเป็นอยู่ไหม แล้วถ้ามีความจำเป็น จะไปอยู่ตรงส่วนไหนของ “อบจ.”

ที่ทับซ้อนกันอยู่ระหว่าง อบจ. กับ ผู้ว่าฯ คือพื้นที่ แต่ว่าอำนาจไม่ทับซ้อนกันแน่นอน อำนาจของ ผู้ว่าฯ มันจะเป็นเกี่ยวกับการควบคุมบังคับใช้ในแง่ของกฎหมาย การเป็นนายทะเบียนต่าง ๆ กันเป็นคนคุมกฎ ในส่วนของบริการสถานที่ต่าง ๆ ที่จะต้องแก้ปัญหาพื้นฐานในชีวิตประจำวันมันไม่ได้ขึ้นตรงที่ผู้ว่าฯ แต่ไปอยู่ที่ นายก อบจ. พูดง่าย ๆ คือ “ อำนาจไม่ค่อยทับ แต่ว่าพื้นที่ทับซ้อน ” ซึ่งในเรื่องของอำนาจมันต้องดูเป็นเรื่อง ๆ  ถ้าถามว่า ผู้ว่าฯ มีอำนาจเยอะไหมบอกเลยว่าเยอะอยู่ ที่เห็นได้ชัดก็คืออย่างพวกสถานบริการ เช่น โรงแรม ปั๊มน้ำมัน ร้านเกม อำนาจจะผูกไว้ที่ผู้ว่าฯ แต่จะมีในบางส่วนบางเรื่องที่บางทีเราก็นึกภาพไม่ออก เช่น เรื่องการจัดการจราจร ระบบรถสาธารณะ มันก็จะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดและมีผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าประธาน ผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำงานเพียงลำพังมันเป็นลักษณะการตัดสินใจรวมหมู่ บทบาทมันก็จะแยกออกมา

ทีนี้ อบจ. จะเป็นบริการระดับใหญ่ เพราะว่ามันใน อบจ. เทศบาล อบต. เขาก็วาง Position ของ อบจ. ให้มันทำเรื่องใหญ่ ๆ ที่ท้องถิ่นเล็ก ๆ มันทำไม่ได้ และมีหน้าที่บทบาทเปรียบเสมือนถนน ที่คอยเชื่อมกันระหว่างอำเภอ หรือว่าบางกรณีเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของท้องถิ่นเล็ก ๆ เงินของ อบจ. ที่มีอยู่นั่นเองท้องถิ่นเล็ก ๆ เขาไปทำเรื่องร้องขอถึง อบจ. เพื่อให้ทาง อบจ. อนุมัติงบไปดำเนินการในท้องถิ่นเล็ก ๆ นั้น ของชุมชนได้เอง มันจึงเกิดเป็นปรากฏการณ์เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันขึ้นมาว่าฝั่งนึงมาจากการแต่งตั้งโดยมหาดไทยไม่มีวาระดำรงตำแหน่งเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป บางคนก็อยู่นาน บางคนก็อยู่สั้น ไม่มีคุณสมบัติใด ๆ  ทั้งสิ้นก็แล้วแต่เขาจะส่งมา

อีกประเด็นที่ผู้ว่าฯ แตกต่าง คือว่า Concept ของ ผู้ว่าฯ เน้นการรับนโยบายจากส่วนกลางมาปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งนโยบายส่วนกลางกับความต้องการประชาชนมันอาจจะไม่สอดคล้องกัน ส่วน อบจ. มาจากการเลือกตั้งต้องสรรหาเสียงเข้ามา ต้องเสนอนโยบายเพื่อสอดคล้องกับปัญหาของชาวบ้าน ดังนั้น อบจ. จึงจะทำงานรับใช้ประชาชนมากกว่าส่วนของ ผู้ว่าฯ เน้นรับใช้เบื้องบนรับใช้รัฐบาลเขามีนโยบายอะไร ผู้ว่าฯ ต้องไปดำเนินการตามที่เขาสั่งมา ยกตัวอย่างเช่น เรื่องหมอกควัน ถ้าเกิดรัฐบาลไม่มีนโยบายระดับชาติประกาศเป็นคล้าย ๆ วาระแห่งชาติ ผู้ว่าฯ ก็อาจจะไม่สนใจใยดีถ้าตราบใดที่เบื้องบนไม่สั่งการมา แต่พอเขาประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ผู้ว่าฯ ก็ต้องต้องดำเนินการให้ ถ้าไม่มี ผู้ว่าฯ ก็อาจจะไม่ทำ ซึ่งในขนาดนั้นพื้นที่ชุมชนอาจจะอยู่กับปัญหามานานอาจจะมีการเรียกร้องขอความช่วยเหลือมาก่อนหน้านี้มาก่อน เป็นต้น 


ทำไมการกระจายอำนาจในประเทศไทยถึงยังไม่สำเร็จ?

เพราะว่าการเมืองระดับชาติของเรา ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการเองไม่มีใครที่อยากเสียอำนาจ พวกเขาต้องการทรัพยากรส่วนกลางเพื่อไปจัดการปัญหา ดำเนินการเชิงนโยบาย จึงไม่มีใครมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจ เพราะเวลาเขาหาเสียงเขาหาเสียงกันทั่วประเทศ และเขาก็ต้องการใช้งบประมาณเพื่อไปดำเนินการตามนโยบายที่เขาหาเสียง เขาจึงคงยังไม่คิดว่าจะใช้เวลาจังหวะที่เหมาะสมที่จะเร่งรัด อย่างทหารเองก็ไม่อยากกระจายอำนาจเพราะกลไกของรัฐ การกระจายอำนาจ ทำให้ควบคุมไม่ได้ มันค่อนข้างเป็นอิสระ แต่ถ้าเป็นในส่วนของระบบภูมิภาคที่เขาแต่งตั้งเขาควบคุมสั่งการได้เคร่งครัดกว่า เข้มข้นกว่า เขาจึงอยากจะเพิ่มอำนาจตรงนี้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเขามากกว่าการที่เขาต้องถ่ายอำนาจให้กับใครก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทหารเองหรือว่าฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเองก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญมากเพราะว่ายังห่วงอำนาจส่วนกลางอยู่

การเคลื่อนไหวเลือกตั้งผู้ว่าฯ จากที่สังเกตเห็นเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก อาจารย์มีมุมมองอย่างไรบ้างที่จะทำให้เกิดการเรียกร้องในประเด็นกระจายอำนาจ เพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ด้วย

อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ริเริ่มรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่ามานานแล้ว ละก็รอบหลังๆ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ที่มารณรงค์เลือกตั้งเชียงใหม่มหานคร เอาเฉพาะใน Key Events สำคัญเลย หลังพฤษภาทมิฬ ถ้าเอาเหตุการณ์ท้องถิ่น ไปโยงกับการเมืองระดับชาติ เกิดกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าอันนั้นรอบหนึ่ง ละก็นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 40 ละพอเกิดรัฐประหารปี 49 เกิดล้อมปราบปี 53 ก็นำไปสู่กระแสจังหวัดจัดการตนเอง เชียงใหม่มหานคร อันนี้ก็จะเป็นกลุ่มอาจารย์ชำนาญ ซึ่งมองว่าประเทศนี้มันรวมศูนย์อำนาจเกินไป ไม่อยากให้มันเกิดปัญหาใหญ่แบบนี้อีก คุณต้องลดอำนาจส่วนกลาง ไม่ต้องให้คนไปตะลุมบอน ไปสู้แย่งชิงอำนาจส่วนกลาง ให้อำนาจมันแตกตัวกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ มันก็จะไปสู้รบปรบมือกันในแต่ละพื้นที่ ไม่ต้องไปสู้กันที่ไปปิดถนนราชดำเนินอีก เขาก็เสนอไอเดียเรื่องการกระจายอำนาจจังหวัดตัวเอง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะว่าอย่างที่บอกไงคือ อันนี้คือฐานที่สำคัญของรัฐบาล เขาก็ไม่ปล่อย คือเป็นรัฐประหารปี 57 มันยิ่งตอกย้ำเพราะว่าเขาก็เก็บส่วนนี้ เขาขยายอำนาจส่วนนี้ชัดเจน ในช่วงหลังรัฐประหาร

ในความคิดของผมคิดว่าที่หลัก ๆ การเกิดกระแสที่เชียงใหม่เป็นเพราะว่าเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่และเชียงใหม่เป็นพื้นที่หลักในสายตาสื่อ แต่ที่สำคัญก็คือว่าที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เปลี่ยนบ่อยแล้วก็ระยะหลังเป็น ผู้ว่าฯ มีอายุการทำงานแค่ปีเดียวเสียเยอะ ถึงอาจจะเป็นก็เป็นนานขึ้นมาก็ 2 ปีเต็มที่ และไม่ได้มี ผู้ว่าฯ หนุ่ม ๆ เหมือนสมัยก่อน มันก็เป็นภาพจำภาพที่เขาผูกใจอยู่ตลอด ว่าทำไมเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ขนาดนี้ทำไมถึงได้ ผู้ว่าฯ แก่ ๆ มันเลยเกิดเป็นความรู้สึกอยากระบาย และในส่วนของจังหวัดอื่น ๆ มันมีลักษณะแบบนี้ไหม ผมคิดว่าเป็นเกือบทุกจังหวัดไม่ใช่เชียงใหม่ เพียงแต่ว่าในการส่งเสียงของจังหวัดอื่นอาจจะไม่ได้มีสถาบันการศึกษา นักวิชาการ การส่งเสียงของเขาจึงอาจจะไม่ได้ดังเท่ากับเชียงใหม่ เชียงใหม่มีสถาบันที่หลากหลาย มีสื่อทางเลือกอย่างเช่น Lanner ซึ่งจะทำให้มีการส่งเสียงที่หลากหลายกระจายออกไปจากหลายแหล่ง รวมไปถึงกลุ่มที่ออกมาขับเคลื่อนไหวในประเด็นนี้อย่างเข้มข้นตั้งแต่ 30 ปีก่อน แล้วก็ช่วงที่หลังสุดนี้ก็มีเรื่องการรณรงค์เรื่องเชียงใหม่มหานคร มันก็คือ Concept คล้าย ๆ กัน เพียงแต่ว่ามันมีชื่อเรียกที่ต่างกันออกไป มันก็เลยทำให้ผมคิดว่ามันก็ยังมีเชื้อของการผลักดันอยู่ตลอด จุดที่สำคัญคือ พอมีปรากฏการณ์ของผู้ว่าฯ กทม. คุณชัชชาติ ทำให้เกิดการแสดงออกของประชาชนชัดเจนขึ้นที่ต้องการเลือกตั้งเช่นเดียวกันโดยการผ่านการเคลื่อนไหว การรณรงค์ เป็นต้น แต่ก็ไม่ใช่จะมีแค่เชียงใหม่นะ ช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มคนที่พยายามผลักดันแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศอยู่ ตอนนี้ชื่อเพจเขาเปลี่ยนเป็น The Voters เมื่อก่อนเขาใช้ชื่อว่า รณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ 


ในแต่ละพื้นที่จะมีกกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้มีอำนาจหรือมาเฟีย คนกลุ่มนี้จะส่งผลต่อการทำให้ไม่สามารถเกิดการเลือกตั้งผู้้ว่าฯ และมีความเป็นไปได้กับการมีส่วนในเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง หรือไม่?

แล้วแต่พื้นที่ ไม่สามารถบอกได้ว่าทุกจังหวัดจะเกิดปรากฏการณ์อย่างว่า ถ้าสมมุติเลือกพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด ไม่นับ กรุงเทพฯ จะได้มาเฟียทั้งหมดก็คิดว่าไม่เสมอไปเพราะแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายอยู่ ถ้าใครติดตามข่าวการเมืองการเลือกตั้งท้องถิ่นจะรู้ว่าไม่ได้มีลักษณะของการผูกขาดอำนาจมาก เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลง มีการต่อสู้ภายใน ซึ่งแน่นอนบางจังหวัดอาจจะมีลักษณะแบบที่สื่อเรียกกันว่า “ บ้านใหญ่ ” แต่ว่าหลายจังหวัดเลยนะที่บ้านใหญ่ล้ม บ้านใหญ่ไม่สามารถสู้หน้าใหม่ได้ ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าโดยสถิติที่ผมเก็บครั้งหลังสุด จะมีคนหน้าใหม่ได้ประมาณ 70% จากการเลือกตั้ง โดยภาพรวมไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. เทศบาล รวม ๆ ประมาณเกือบ 60-70 หาค่าเฉลี่ยแล้วเป็นคนหน้าใหม่เยอะเหมือนแบบแผ่นเสียงตกร่องมีการพูดกันมาตั้งแต่สมัยผมเรียนแล้วว่า “ไม่ควรกระจายอำนาจ กลัวว่าจะมีนักการเมืองที่เป็นมาเฟีย”

แต่จากที่ผมศึกษาโดยตรง ผมศึกษาเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้งถิ่นฐาน และผมไปดูจังหวัดที่มันมีการลอบยิงนักการเมืองอะไรเนี่ย ผมพบว่าถ้าคนเลือกได้เขาจะตัดสินใจเลือกคนที่ไม่ยุ่ง หรือว่าถ้ามันมีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น ในขณะเลือกตั้งแล้วมีฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าใช้ความรุนแรงกับอีกฝั่งหนึ่งที่บริสุทธิ์ คนจะเทไปสั่งบริสุทธิ์ทั้ง ๆ ที่ความรู้สึกบางทีอาจจะไม่มีทรัพยากร อาจจะไม่ใช่ตระกูลการเมืองเก่าแก่ก็ได้

ดังนั้นผมคิดอย่างนี้มันเป็นสัญญาณที่ดีถ้ามันมีการเลือกตั้งบ่อย ๆ ตามวาระกำหนด ถ้าไม่มาทำให้มันสะดุดเหมือนช่วง รัฐประหารของคสช. เมื่อปี 57 ผมคิดว่ามันมีมันมีพัฒนาการที่ดีมาตลอด เพียงแต่ว่ามีอะไรมาขัดแข้งขัดขาระบบแทนที่จะมีการปรับตัว คนได้เรียนรู้ ทำให้ทุกอย่างคาราคาซัง ล่าช้า บางที่ก็มาเป็นปลัดมานั่งรักษาการ บางที่คนที่ทำงานเป็นคนหน้าเดิม ๆ จนรากงอกก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

อะไรคือความท้าท้าย ที่กลุ่มคนหน้าใหม่ต้องเจอในการเข้าร่วมแข่งขันสมัครลงตำแหน่งต่างๆ กับกลุ่มเจ้าบ้านเก่าและอะไรคือยุทธศาสตร์ของกลุ่มคนหน้าใหม่ที่จะสามารถสร้างสัญญาใจ ภาพจำใหม่ ๆ กับประชาชน เพื่อลบภาพจำเดิมต่อผู้สมัครคนเก่าในพื้นที่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มใหม่ได้เข้ามามีบทบาทตรงนี้

ตอบยากมากเหมือนกัน เพราะว่าแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าสเกลมันใหญ่มากจะมีลักษณะของฐานเสียงที่แน่นอนพอสมควร เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ มันเป็นเมืองที่ใหญ่มาก แต่คนก็มาเลือกตั้งน้อย ซึ่งคนมาเลือกตั้งน้อยอีกส่วนหนึ่งคือ คนที่เป็นอยู่ไม่ได้มีความผูกพันกับพื้นที่ เช่น มาทำงานแล้วย้ายทะเบียนบ้านตามมา ดังนั้นพวกเขาเวลาถึงการเลือกตั้งก็จะสามารถเลือกได้อย่างอิสระกว่าคนที่ผูกพันกับระบบหัวคะแนนระบบที่เขาวางรากฐานมาตรฐานชุมชน แต่ระบบดังกว่าที่พูดไปฐานมันก็แน่นพอสมควร ถ้าอีกฝั่งหนึ่งเขามีจำนวนไม่มากพอ คือ ค่าเปอร์เซ็นต์การใช้สิทธิ์มันไม่สูงพอที่จะมาล้มคนที่มีฐานเสียงแน่นมันยากมาก อันนี้ผมคิดว่าในหลายพื้นที่เป็นแบบนี้ แต่ถ้าสเกลเล็กเช่น เทศบาล ตำบล ที่มันมีคนซัก 2,000 – 5,000 คน ไม่เกิน 10,000 คน สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่คนที่จะลงสมัครหน้าใหม่ก็ต้องไม่ได้มาแบบประเดี๋ยวปะด๋าว มีการลงพื้นที่เป็นระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้ชาวบ้านรู้จัก ไม่ใช่เวลาลงเลือกตั้งหาเสียงถึงเพิ่งมากระโดดลงพื้นที่ หากทำแบบนั้นก็จะเป็นการยากที่จะทำให้ชาวบ้านหันมาตัดสินใจที่จะเลือก

คิดเห็นอย่างไรกับวาทกรรมการกล่าวตีตราชาวบ้านว่าเป็น “คนโง่” ที่ยอมให้เกิดลูป การคอรัปชันการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ๆ

ผมคิดว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงมีไหม มีแน่นอน ไม่อาจปฎิเสธได้ ถามว่าชาวบ้านซื้อไหม ผมคิดว่าอาจจะเป็นไปได้ แต่เขาไม่ได้ให้ค่ากับเงินที่เขาได้รับตอนเลือกตั้ง มันไม่ได้มาในรูปของเงินก็ได้อาจจะมาจากในรูปแบบของโครงการ ซึ่งเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ถ้าสมมุติเขามาเป็นในผู้บริหาร เขามีในส่วนของงบประมาณที่ใช้ซึ่งออกมาในหลากหลายรูปแบบที่ต้องนำมาบริหารจัดการ เช่น ลานกีฬาหมู่บ้าน หรือ การพาไปเรียนรู้อาชีพ การพาไปดูงาน ดังนั้นเขาก็อาจจะได้ประโยชน์ที่มาจากนโยบายจากคนที่จัดกิจกรรมของผู้ลงสมัครเดิม ซึ่งพอถึงเวลาปุ๊บต่อให้ไม่ใช่คนลงสมัครคนเดิมเขาก็อาจจะยืนยันที่จะเลือกชุดเดิมเพราะได้รับประโยชน์จากนโยบาย เพราะในส่วนของกลุ่มคนหน้าใหม่ที่มาลงสมัคร ชาวบ้านเขาไม่ได้รู้ว่าถ้าเลือกเข้ามาแล้ว นโยบายจะเป็นอย่างไร และจะได้ประโยชน์ต่อเขาไหม คืออย่างในหมู่บ้านผมก็เป็นและก็ชัดเหมือนกัน ผมอยู่หมู่บ้านจัดสรรซึ่งประธานชุมชนเขาเป็นหัวคะแนนให้กับฝั่งของเทศบาล เพราะว่าเขาสามารถที่จะต่อถึง ต่อถึงหมายความว่าถ้าเดือดร้อนเราไปขอถนนหมู่บ้าน ปกติเทศบาลจะไม่มาทำงานเพราะว่ามันเป็นของเอกชน แต่ว่าด้วยความที่มีสายสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารถ้าอย่างในกรณีที่กล่าวมา ถนนมีการพังเล็ก ๆ น้อย ๆ หมู่บ้านไม่อยากควักเงิน ชาวบ้านก็จะขอความช่วยเหลือได้ เพราะสายสัมพันธ์นี้ทำให้เขาสื่อถึง ทำให้เขาตอบสนองต่อผู้แทนของเขา ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเหตุการณ์แบบนี้มันก็แบบเห็นแก่ตัวไหม คิดแต่เห็นประโยชน์ของตนเอง ซึ่งการเมืองก็เป็นแบบนั้น เขาก็ต้องคิดถึงสิ่งที่เขาได้กัน แน่นอนบางทีมันอาจจะไปเบียดเบียนพื้นที่อื่นที่เขาจะได้ใช้งบประมาณ งบประมาณก็เลยไปกระจุกตัวอยู่แค่ในพื้นที่เป็นฐานเสียง ซึ่งมันแล้วแต่วิธีคิดของผู้บริหารบางคน บางคนคิดอีกแบบ เช่น บางคนรู้ว่าตรงไหนอ่อนก็จะเพิ่มเงินในส่วนตรงนั้น เพื่อทำให้เขาได้มีความยึดโยงมากขึ้น ส่วนตรงพื้นที่ไหนที่เป็นฐานเสียงของเขาอยู่แล้วเขาก็จะเบาลง แต่บางคนก็ไม่ได้คิดแบบนั้น เช่น บางคนเห็นพื้นที่นี้ไม่ใช่ฐานเสียงตัวเอง ก็มีไม่ให้เลยให้แต่ฐานตัวเอง ก็มีความหลากหลายอยู่เหมือนกัน


หากมีการให้อำนาจในการเลือกตั้งท้องถิ่น คิดว่าคนในพื้นที่ท้องถิ่นนั้น ๆ จะหันมาสนใจประเด็นนี้กันไหม 

ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์คนไปเลือกตั้งอย่างเดียวในท้องถิ่นโดยรวมแต่คนมันจะไปเลือกตั้งน้อยกว่าระดับชาติ เพราะว่าหนึ่งคือ มันไม่เป็นความสะดวกใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น เราอยู่กรุงเทพฯ แต่บ้านอยู่เชียงใหม่ เราต้องกลับมาเชียงใหม่ในวันที่เขาจัดให้มีการเลือกตั้งซึ่งในการสร้างเลือกตั้งระบบไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร ไม่มีระบบเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต หรือว่าลงมาเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่เราอยู่ จึงเป็นส่วนหนึ่งทำให้คนไม่ค่อยไปเลือก อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องใหญ่ ๆ โต ๆ เนี่ยมันตัดสินใจที่ระดับชาติ ผมขออ้างอิงจากนักศึกษาที่ผมสอนเองเลย นักศึกษามุมมองของเขาต่อการเลือกตั้งระหว่างการเลือกตั้งระดับชาติกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เขาให้ค่าการเลือกตั้งระดับชาติมากกว่า เช่นประเด็นการยกเลิกเกณฑ์ทหาร หนี้ กยศ. ประเด็นใหญ่ ๆ นโยบายสำคัญ ๆ จะอยู่ตรงนั้นหมดเลย ความไม่ผูกพันกับท้องถิ่นอาจจะมีในเรื่องของการไปเรียนต่างที่ต่างถิ่น ไม่ได้ทราบว่าใครเป็น นายก อบจ. ของตนเอง ทำให้มันขาดความรู้สึกร่วมในเรื่องของการเมืองท้องถิ่น มันจะต่างกับคนในชุมชน คนในพื้นที่ ซึ่งได้ประโยชน์ ถ้าหากนโยบายท้องถิ่นสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน เช่น ถ้าชาวบ้านเกิดปัญหาน้ำท่วมเขาโทรเรียก ศธ. แต่พอเป็นมุมของคนที่อยู่ที่อื่นมันจึงเกิดเป็นความห่างกับพื้นที่ขึ้นมา ดังนั้นนักศึกษาก็ให้ระดับความสำคัญกับระดับชาติมาก เรียกได้ว่าเป็นติ่งเลย แต่พอเป็นการเลือกตั้งแบบท้องถิ่นกลับหายไปเลย

ผมเคยสอบถามนักศึกษาในคลาสให้ยกมือแสดงความเห็นต่อประเด็นการกลับไปเรื่องตั้งท้องถิ่นว่าจะกลับไปเลือกไหม คำตอบของนักศึกษาคือ ไม่กลับ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายก็มีการบังคับเหมือนกัน เสียสิทธิ์เหมือนกัน แต่มันก็หลายเหตุผลและก็เป็นช่วง ๆ เวลา มีหลายปัจจัย เช่น ตรงกับการสอบ โควิด-19

อนาคตมีความหวังในประเด็นของการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทยไหม?

ถ้าการเมืองระดับชาติไม่เปลี่ยนยากมาก เมืองไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ เงิน อำนาจ อะไรต่าง ๆ ไปอยู่ที่ส่วนกลางเสียเยอะ อย่างที่ผมบอกแม้กระทั่งฝ่ายประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งเองเขาก็ยังอยากใช้ทรัพยากรส่วนนี้เพื่อดำเนินนโยบายของเขาให้สำเร็จเห็นผล เขาจึงไม่ค่อยอยากที่จะกระจายอำนาจออกไปเพราะการกระจายอำนาจออกไปหมายความว่าแต่ล่ะที่เขามีความเป็น อิสระ ที่เขาจะใช้เงินในการบริหารนำไปทำอะไรจะไม่เหมือนกับระบบสั่งการที่ต้องเหมือนกันทั้งประเทศ พอติดในช่วงรัฐประหารเขาก็เห็นว่าฐานค้ำยันอำนาจของเขาคือ ข้าราชการ เขาจึงเสริมสร้างอำนาจให้ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการ การขึ้นเงินเดือน ใครจึงไม่ค่อยอยากลงสมัครท้องถิ่น แต่ทั้งนี้มันก็มีแนวโน้มที่ดีที่คนจะมาอยู่ท้องถิ่นเพียงแต่ว่ามันไม่ได้เหมือนช่วงเวลาปี 40 เพราะในช่วงเวลานั้นเปรียบเหมือนกับช่วงเวลาที่รถวิ่งเร็ว แต่หลังจากช่วงปี 40 นั้นการวิ่งของรถชะลอช้าลง ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดาย


อยากฝากอะไรที่เกี่ยวกับประเด็นการเลือกตั้งท้องถิ่น

ต้องเรียกร้อง คือหมายความว่า “ตัวแปรที่จะเป็นจุดเปลี่ยน กำหนดผลการเลือกตั้งท้องถิ่นคือคนรุ่นใหม่” ปัญหาที่ผ่านมาคือ เปอร์เซ็นต์การใช้สิทธิ์ต่ำ เพราะว่าไม่ได้เอาความสะดวกผู้ว่าฯ ตัวของวัยรุ่นไม่ได้เห็นความสำคัญด้วย เพราะเขาอยู่เมืองหนึ่ง แต่ว่าไปให้เขาใช้สิทธิ์ในอีกที่หนึ่ง ที่เขาไม่ได้อยู่ แต่ว่าถ้าอีกหน่อยมันพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง ให้เขาเลือกได้ว่าเขาอยากจะเลือกตั้งท้องถิ่นที่เขาอยู่ปัจจุบัน หรือว่าที่เป็นบ้านเกิดเขา ผมว่าถ้าอีกหน่อย การเมืองที่มีฐานการจัดตั้งมันจะคุมอะไรไม่ได้เลย มันก็ต้องว่ากันที่นโยบาย มากกว่าการที่เป็นระบบหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์อย่าวงที่ผ่านมา อันนี้ก็ต้องฝาก คือมันมีตัวอย่างที่ผมไปหลายที่ที่ผมพบว่าคนรุ่นใหม่ชนะส่วนนึงก็คือ เขาสามารถดึงคนที่อยู่ต่างพื้นที่ที่เป็นคนรุ่นใหม่ คนทำงานกลับมาเพื่อเลือกตั้งได้ มันก็เลยทำให้คนเดิมที่คิดว่าตัวเองมีฐานที่จัดตั้งเหนียวแน่น ก็พ่ายแพ้ไป

เกี่ยวกับผู้เขียน  
ธันยชนก อินทะรังษี และภัทรภร ผ่องอำไพ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ JBB

ข่าวที่เกี่ยวข้อง