พฤษภาคม 20, 2024

    ‘ความเป็นไปได้จากความเป็นไปแล้ว’ ประวัติศาสตร์พลังประชาชน 2475 – 14 พฤษภา 2566

    Share

    เรียบเรียง: สุมาพร สารพินิจ, กิตติพศ พุกจันทร์

    เนื้อจากบรรยายพิเศษในหัวข้อ เสวนาประวัติศาสตร์พลังประชาชน 14 ตุลา 2516 – 6 ตุลา 2519 โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วันเสาร์ที่ 7 ตุลา 2566 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ โฮมแลนด์รีสอร์ท อำเภอเมือง เพชรบูรณ์ โดยเป็นการอธิบายภาพการเมืองและการเคลื่อนไหวของการเมืองไทยตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 จนถึงพลังประชาชนจากการเลือกตั้งปี 2566

    ความหมายของชาติและการเปลี่ยนแปลงที่เป็นของทุกคน

    การปฏิวัติของคณะราษฎรที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ซึ่งเกิดจากการได้เห็นโลกของคณะราษฎรผ่านการศึกษาในประเทศโลกตะวันตก นำมาสู่ความคิดหรืออุดมการณ์ที่ต้องการสร้างความหมายใหม่ของชาติและต้องการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไทย ธำรงศักดิ์ยกตัวอย่างบริบทความก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่นหลังยุคล่าอาณานิคม ที่ใช้วิธีคิดส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านผ่านการนำหนังสือภาษาต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นและสนับสนุนการอ่านอย่างแพร่หลาย จนคนในชาติสามารถอ่านออกเขียนได้หรือรู้หนังสือ สิ่งนี้ก่อให้เกิดการเรียนรู้โลกและความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกโดยเริ่มจากภายในประเทศญี่ปุ่นก่อน ส่งผลให้ญี่ปุ่นเกิดความเปลี่ยนแปลงและกลายเป็น 1 ในประเทศมหาอำนาจแห่งโลกเอเชียในเวลาต่อมา เช่นเดียวกันกับการสร้างอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยการออกแบบที่เชื่อมโยงกับความหมายตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และวันเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือวันชาติ (24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) โดยธำรงศักดิ์ได้อธิบายนโยบายหลัก 6 ประการ ได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา ที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยไว้ว่า คณะราษฎรเพียงต้องการให้ประเทศไทยเป็นเอกราช เนื่องจากหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษทำให้สยามตกอยู่ในสถานะ Semi – Colony การมีวันชาติวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย และการมีเพลงชาติไทย จึงเป็นนัยยะที่สะท้อนถึงความต้องการเป็นเอกราชของไทย

    คำว่า “คนไทย” ในเนื้อเพลงชาติไทยของคณะราษฎรแต่เดิมมีความหมายว่า คนไทยคือคนจากหลากหลายชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันในชาติไทย แล้วความหมายของคนไทยจึงผิดเพี้ยนเหลือเพียงคนไทยที่เป็นผู้มีสัญชาติไทยในภายหลัง

    นอกจากนี้ การศึกษาตามหลักที่ 6 ของคณะราษฎร ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทย เราจะเห็นได้ว่าในสมัยของคณะราษฎรมีการสร้างสถานศึกษาไว้หลายแห่งและมีการสนับสนุนการศึกษาถึงระดับท้องถิ่น นำไปสู่ความคิดเรื่องการทำมาค้าขายและการติดต่อก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

    การต่อสู้เชิงสัญญะของประชาชนและอำนาจเผด็จการ

    การหายไปของหมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ(อนุสาวรีย์ปราบกบฏ) และอื่น ๆ นำมาสู่การตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการถูกทำให้หายหรือถูกลืม ธำรงศักดิ์ได้อธิบายไว้ว่า การที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ประกาศเปลี่ยนระบอบการปกครองนั้นมีนัยยะทางการต่อสู้ซึ่งถือเป็นการต่อสู้ทางทางประวัติศาสตร์ความทรงจำ ที่ซึ่งรัฐธรรมนูญจาก 2475 นำมาสู่ความเจริญของประเทศและสู่ความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ในภายหลังรัฐธรรมนูญกลับถูกทำให้เชื่อว่าได้มาจากการพระราชทาน ดังวันที่ถูกบันทึกลงหน้าปฏิทินวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี

    การรัฐประหารที่สำเร็จ 13 ครั้งและไม่สำเร็จอีก 11 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 24 ครั้ง เฉลี่ยแล้วทุก ๆ 7 ปี จะมีการรัฐประหาร 1 ครั้ง รัฐไทยจึงเป็นรัฐที่บ่มเพาะความคิดและอำนาจเผด็จการ โดยชีวิตของผู้คนที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา เช่น การถูกควบคุมสิทธิในเนื้อตัวร่างกายผ่านกฎบังคับทรงผมและเครื่องแต่งกายในสถาบันการศึกษา แต่ในปัจจุบันจะพบว่าประชาชนมีการต่อรองและขัดขืน เช่น การแต่งกายของนิสิต นักศึกษาที่เริ่มเสรีมากขึ้น หรือการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายต่าง ๆ

    นอกจากนี้ งานวิชาการและการศึกษางานวิชาการมีความสำคัญในการรับรู้หรือข้อมูลที่แตกต่างไปจากชุดความจริงที่รัฐต้องการจะครอบงำ ธำรงศักดิ์ได้ให้ข้อคิดเห็นว่าการเลือกดูงานวิชาการควรเลือกอ่านนักวิชาการด้วย เพราะแต่ละผู้เขียนต่างก็มีความคิดหรืออุดมการณ์ที่ถ่ายทอดผ่านงานที่เขียนแตกต่างกันทั้งสลิ่มและไม่สลิ่ม

    ความเป็นไปได้จากความเป็นไปแล้ว

    ในหนังสือ “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ – รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่ เป็นหนังสือที่รวบรวมระเบียบความรู้ทางรัฐศาสตร์ว่าด้วยการทำรัฐประหารในไทย ชี้ให้เห็นภาพรวมการเมืองในประเทศไทยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยชีวิตของวัยรุ่นเจน Z ต้องเจอกับการทำรัฐประหารไปแล้ว 2 ครั้ง หากลองเฉลี่ยจะพบว่าในเวลา 11 ปี วัยรุ่นเหล่านี้จะต้องเจอการทำรัฐประหาร 1 ครั้ง และอาจจะเจอการรัฐประหารเมื่ออายุ 33 อีกครั้งนึง ธำรงศักดิ์เสนอว่ามีแนวคิดการรัฐประหารครั้งที่ 14 เกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี นำมาสู่การที่ไม่สามารถควบคุมทิศทางของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนและทำให้กลุ่มนายพลหรือกลุ่มเครือข่ายอิทธิพลไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจทางการเมืองเหมือนแต่ก่อนได้

    ประชาธิปไตยใกล้ (?) กว่าที่คิด

    ธำรงศักดิ์ได้ยกเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตยด้วยกัน 3 เหตุการณ์ ได้แก่

    1. การปฎิวัติ 2475 ของคณะราษฎร นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ อาทิ การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงผ่านการมีสิทธิ์เลือกตั้งตามอายุและการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้มีสิทธิ์เข้าถึงระบบผู้แทนทางการเมือง ในขณะเดียวกัน ขั้วอำนาจเก่าก็หยิบยกเกมอายุมาเพื่อขัดขวางความเปลี่ยนแปลงจากคนหนุ่มสาว เช่น เกณฑ์อายุสส.ที่ขยับเป็น 35 เพื่อกีดกันพลังคนรุ่นใหม่ โดยธำรงศักดิ์กล่าวว่า “เขากลัวพลังคนหนุ่มสาว สังคมไทยเป็นสังคมที่ออกแบบให้คนหนุ่มสาวเชื่อว่าตนเองยังไม่ถึงวุฒิภาวะ ถูกทำให้เป็นเด็ก และถูกทำให้เข้าใจว่าอายุเยอะจะมีวุฒิภาวะ แต่จริง ๆ แล้วความคิดที่ว่าต้องรออายุให้ถึงวุฒิภาวะดีนั้นจะทำลายพลังความกล้าหาญและความสร้างสรรค์ของหนุ่มสาว คนอายุเยอะนั่งทับความเปลี่ยนแปลง ทำให้ความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยช้าลง แถมการขยายอายุราชการเป็น 65 ปี จะเป็นปัญหาต่อที่ทางหรือตำแหน่งแห่งที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนหนุ่มสาวอีกด้วย” แต่ใช่ว่าคนแก่เหล่านั้นจะสามารถกุมอำนาจของตนได้ตลอดไป ดังเหตุการณ์ที่สส.รุ่นใหม่ เช่น สส.ของพรรคก้าวไกลเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง 2566 เกือบยกชุดก็สามารถทำให้เกมการเมืองไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมได้

     2. 14 ตุลา 2516 จุดเริ่มต้นของของประชาธิปไตย “ประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของคนหนุ่มสาวมาตั้งนานแล้ว” ธำรงศักดิ์กล่าว พลังของคนนับแสนในเหตุการณ์ 14 ตุลา ส่วนใหญ่มาจากนักเรียน นักศึกษา เนื่องด้วยนโยบายส่งเสริมให้แต่ละครอบครัวมีลูกเยอะทำให้เจนเบบี้บูมเม้อประสบปัญหามีสถานศึกษาไม่เพียงพอ จนเกิดเป็นมหาลัยรามคำแหงที่ใคร ๆ ก็สามารถเรียนที่บ้านได้ และมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีนักศึกษาจากต่างจังหวัดนับล้านคนเข้าไปกระจุกตัวที่ใจกลางเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นส่วนผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

    3. พฤษภา 35 ที่มีแนวคิดอันนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 การดึงอำนาจจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่น และการแต่งตั้งผู้ว่า เหล่านี้ยังคงเห็นได้ชัดจากความเคลื่อนไหวของประชาชนในปัจจุบัน ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าระดับท้องถิ่นเพื่อกระจายอำนาจและทรัพยากรได้อย่างทั่วถึงประชาธิปไตยจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะผู้ที่ถูกเลือกตั้งจะรับรู้ว่าอำนาจของตนเองมาจากใคร และต้องทำเพื่อใคร หากมีคนคนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งที่ไม่ใช่การเลือกตั้งอำนาจนั้นก็จะมาจากคนเลือกแต่งตั้งเขาขึ้น การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการต่อสู้ของประชาชนที่ใช้อำนาจผ่านของตนผ่านการเลือกตั้งที่บ่งบอกถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจจากประชาชน โดยธำรงศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาของประเทศไทย วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคม แม้ผู้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลจะแพ้ในหลายเขตแต่สมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อกลับเป็นที่หนึ่งในหลายเขต และแม้ประเทศไทยจะเคยมีการทำรัฐประหารมาแล้วหลายครั้งแต่ด้วยพลังของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมและล้มระบอบอำนาจเผด็จการ สุดท้ายชัยชนะและประชาธิปไตยจะเป็นของประชาชน

    Related

    ไกลศูนย์กลาง: กลับไปอ่าน “แก้วหยดเดียว” ของศรีดาวเรือง: การตั้งคำถามต่อการไม่มีสวัสดิการของแรงงานไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีวันสำคัญของสามัญชนคนธรรมดาที่น้อยนักจะปรากฏได้ในปฏิทิน นั่นคือวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ (May Day) ผู้เขียนจึงนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและน้ำเสียงของแรงงานจากวรรณกรรม แม้ว่าวรรณกรรมชิ้นนี้จะเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังคงนำพาให้ได้เห็นร่องรอยเคล้าลางบางอย่างที่แช่แข็งและไปไม่ถึงไหนจวบจนปัจจุบัน...

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...