“เกือบได้เป็นลูกฟาน มช.” ย้อนดูภาพร่างตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อนจะเป็นช้างเผือก

เรื่อง : สุรยุทธ รุ่งเรือง

เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ได้เปิดตัว “น้องฟาน” ในฐานะมาสคอตประจำจังหวัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ผลักดันเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นมรดกโลก แม้ว่าสัญลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ แท้จริงแล้วคือ ‘ช้างเผือก’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2483 หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็มีช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย กลายเป็นคำที่ถูกใช้เรียกนักศึกษาภายในรั้วมช.ว่า “ลูกช้างมช.” แต่ถึงอย่างนั้น ณ จุดหนึ่งของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นนี้ ลูกช้างมช. ก็เกือบจะเป็น “ลูกฟานมช.” ไปแล้วเหมือนกัน



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2505 หลังเกิดกระแสเรียกร้องให้มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในเชียงใหม่เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยของภาคเหนือ นำโดยการอภิปรายของ ทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และการขยายผลเคลื่อนไหวของ สงัด บรรจงศิลป์ ในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คนเมือง จนแล้วเสร็จและก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2507

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การคัดเลือกสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ตรารูปฟาน(เก้ง) ถูกนำเสนอโดย ไกรศรี นิมมานเหมินท์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คนเมือง นักธุรกิจและนักล้านนานิยม และเป็นหนึ่งในแกนนำรณรงค์เรียกร้องให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือ โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดเป็นตรารูปฟาน 2 แม่ลูกยืนอยู่ท่ามกลางเนินหญ้าคาและมีดอยสุเทพสามารถมองเห็นได้เป็นพื้นหลัง พร้อมสุภาษิต “สุวิชาโน ภวํโหติ” (ผู้มีวิชาดี เป็นผู้เจริญ) โดยมีสีประจำมหาวิทยาลัยเป็นสีแสด ตามวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันสถาปนาเมืองเชียงใหม่



ฟานในประวัติศาสตร์ล้านนา ทำไมต้องดันฟานเป็นร่างสัญลักษณ์?

ฟาน (ฟาน, เก้ง, อีเก้ง) เป็นกวางขนาดกลางและเล็กจำพวกหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Muntiacus vaginalis ที่อยู่ในวงศ์ย่อย Muntiacinae เป็นสัตว์กีบที่เห็นได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่งในป่าเมืองไทย รูปร่างแบบกวาง แต่ตัวเล็ก หลังโก่งเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ซีดและอมเทาเล็กน้อย หางด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว เก้งตัวผู้มีเขาสั้น ฐานเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระโหลกยื่นยาวขึ้นไปเป็นแท่ง มีขนปกคลุม และมีขนสีดำขึ้นตามแนวเขาจนดูเป็นรูปตัววีเมื่อมองด้านหน้าตรง ส่วนปลายเขาสั้น แต่เป็นง่ามเล็ก ๆ แค่สองง่าม ไม่แตกเป็นกิ่งก้านแบบกวาง ผลัดเขาปีละครั้ง ส่วนตัวเมียไม่มีเขาและฐานเขา แต่บนหน้าก็มีขนรูปตัววีเหมือนกัน เก้งตัวที่อายุมากผู้มีเขี้ยวยาวแหลมโค้งโผล่พ้นขากรรไกรออกมา เก้งเวลาเดินจะยกขาสูงทุกก้าว

ฟาน มีถิ่นที่อยู่ในศรีลังกา อินเดียภาคใต้ จีนตอนใต้ พม่า และประเทศไทยพบเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง กินใบไม้อ่อน หน่อไม้อ่อน มะขามป้อม และมะม่วงป่าเป็นอาหาร มักชอบอาศัยอยู่ตามลำพังตัวเดียวตามพงหญ้าและป่าทั่วไป เว้นแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะอยู่เป็นคู่ เป็นสัตว์ออกหากินตอนเย็นและเช้าตรู่ กลางวันหลับนอนตามพุ่มไม้ เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้อง “เอิ๊บ-เอิ๊บ-เอิ๊บ” คล้ายเสียงสุนัขเห่า จนมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Barking Deer” และเป็นมักจะสัตว์ที่กระหายน้ำเป็นประจำ


ภาพ: ด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์

ฟานมีตัวตนผูกพันกับคนล้านนามาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นคือการปรากฏในประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเชียงใหม่ ว่าในระหว่างที่พญามังรายกำลังเสาะแสวงหาทำเลสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นมานั้น ได้ออกล่าสัตว์พร้อมกับกลุ่มพรานป่าที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ แล้วพบบริเวณแห่งหนึ่งเป็นทุ่งราบโล่งกว้าง มีหงหนามและเนินหญ้าคาขึ้นอยู่ ในบริเวณนั้นได้พบกับเก้งเผือกแม่ลูกคู่หนึ่งออกจากพงหญ้าคามาหากิน มีความเก่งกล้าสามารถ นอกจากจะไม่กลัวฝูงหมาล่าเนื้อของพญามังรายที่รุมล้อมกันพยายามเข้าไปขบกัดแล้วแล้ว ยังเข้าต่อสู้จนฝูงหมาแตกพ่ายไปได้ พญามังรายเห็นบริเวณดังกล่าวเป็นชัยภูมิที่ดี อีกทั้งยังพบกับเก้งเผือกแม่ลูกซึ่งถือเป็นสัตว์วิเศษ สามารถเอาชนะฝูงหมาล่าเนื้อได้ จึงเลือกเอาบริเวณดังกล่าวเป็นทำเลที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ ต่อมาจึงเป็นที่เชื่อถือกันว่าเก้งเผือกแม่ลูกคู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชัยมงคลเจ็ดประการ’ หรือ ‘สิริมงคลเจ็ดประการ’ แห่งเมืองเชียงใหม่ โดยถือว่าการอยู่อาศัยของเก้งเผือกแม่ลูก ถือเป็นปฐมชัยมงคลหรือสิริมงคลประการแรก และชัยชนะเหนือฝูงหมาล่าเนื้อของเก้งเผือกแม่ลูกดังกล่าวก็ถือเป็น ‘ชัยมงคลถ้วนสอง’ หรือสิริมงคลประการที่สองของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

“เป็นที่รู้กันว่าพระยามังรายพบกับฟานเผือกแม่ลูกกำลังต่อสู้กับฝูงหมาบริเวณลอมคา หรือป่าหญ้าคาแห่งหนึ่ง และหมาไม่อาจเอาชนะฟานสองตัวนั้นได้ พระยามังรายเห็นเป็นนิมิตหมายอันดี จึงถือเอาตำแหน่งนี้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่” (หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 7 – 13 มิถุนายน 2562)

นอกจากนั้น ฟานยังเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวโยงกับคนล้านนาเองด้วย โดยนอกจากจะเป็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว ยังถูกนำมาประกอบอาหารอย่าง “ลาบฟาน” ซึ่งเป็นอาหารที่คาดว่ามีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ดังที่ปรากฎในสำนวนล้านนาอย่าง “ลาบฟาน แม่มานอ่อน” ซึ่งแปลว่า “สิ่งที่เลิศรส ถ้าได้เสพสัมผัสก็จะรู้สึกถึงรสติดใจ” เสมือนการได้กินลาบฟานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ตรารูปฟาน 2 แม่ลูกก็ไม่ถูกเลือกให้เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในตอนนั้น และกลายมาเป็นช้าง ที่ใช้งวงชูคบเพลิงที่มีรัศมีแปดแฉก แทนคณะทั้งแปดที่มหาวิทยาลัยจะจัดตั้งขึ้น พร้อมสุภาษิต “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา” แปลว่า “ผู้เป็นบัณฑิตย่อมฝึกตน แทน จากการที่ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของภาคเหนือ เป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวโยงกับป่าไม้ เจ้าขุนมูลนาย และยังเป็นสัตว์ที่มีคุณค่ามากในภาคเหนือด้วย บัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้มาเป็น “ลูกช้างมช.” จวบจนถึงปัจจุบัน

กระแสของฟานกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อเมืองเชียงใหม่เลือกสัตว์ตัวนี้เป็นมาสคอตประจำจังหวัดในการรณรงค์ผลักดันให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นมรดกโลก โดยเป็นการเลือกจากตำนานพื้นเมืองที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า เป็นการรื้อฟื้นเรื่องราวของเก้งเผือกซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามประวัติศาสตร์พื้นถิ่นมานำเสนอแทนช้างเผือกซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามประวัติศาสตร์รวมศูนย์อาจถือได้ว่าเป็นหมุดหมายของการฟื้นฟูอัตลักษณ์ล้านนา แต่ถึงอย่างนั้น กระแสของน้องฟานก็ยังไม่ติดตลาดมากพอที่จะลบภาพจำของช้างเผือกได้ ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งก็มาจากการกำหนดอัตลักษณ์จากส่วนกลาง ซึ่งเป็นที่ที่อำนาจถูกผูกขาดรวมศูนย์อยู่ในปัจจุบัน


ภาพ: https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/589684

และในช่วงเทศกาลรับน้องขึ้นดอยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เช่นนี้ ก็เป็นที่น่าคาดหวังว่าจะพอมีความสนใจในเกร็ดประวัติศาสตร์ส่วนนี้เกิดขึ้นบ้าง เพื่อระลึกถึงว่าครั้งหนึ่ง ฟาน หรือ เก้ง นี้ก็เคยมีตัวตนอยู่ในจุดเริ่มต้นของเมืองเชียงใหม่ และยังเกือบเป็นสัญลักษณ์ให้คนไทยภาคกลางได้เรียกว่า “ลูกเก้งมช.” มาแล้ว


อ้างอิง

  • ช้างเผือก: สัญลักษณ์อาณานิคมประจำจังหวัดเชียงใหม่ https://www.the101.world/lanna-history-10/
  • สวนสัตว์ดุสิต. เก้งเหนือ (อีเก้ง หรือ ฟาน)/ Barking Deer (Muntiacus vaginalis) https://dusit.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=39&c_id=
  • สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์
  • หนังสือ “จดหมายเหตุเมืองเชียงใหม่”
  • หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 7 – 13 มิถุนายน 2562
  • เก้ง, อีเก้ง, ฟาน http://www.verdantplanet.org/animalfiles
  • เปิดตัว ‘น้องฟาน’ มาสคอตแคมเปญ ดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก https://www.matichon.co.th/local/news_526179

บัณฑิตการพัฒนาระหว่างประเทศช่างฝันที่อยากทำงานเขียน เฝ้าหาโอกาสที่จะสื่อสารส่งผ่านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของสังคมในทางที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง