ศาลลำปางยกฟ้อง ม.112 เหตุนักศึกษาลำปางปลดรูป

19 มกราคม 2566


เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาคดี ไลลา (นามสมมติ) บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ถูกฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหายเสื่อมค่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 และ“หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีปลดรูปพระบรมฯ รัชกาลที่ 10 และพระราชินี โดยหลังจากการสืบพยานและหลักฐาน ศาลจังหวัดลำปาง มีคำพิพากษาสั่ง “ยกฟ้อง” หลังพยานหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ได้และการชุมนุมไม่ได้กล่างถึงสถาบันฯ

เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันที่ 17 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาคดีของ “ไลลา” (นามสมมติ) บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่ถูกฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหายเสื่อมค่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 และ“หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

สำหรับเหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการจับกุมผู้ชุมนุมและแกนนำราษฎร และมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าฉีดน้ำและสารเคมีสลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ทำให้ในหลายจังหวัดมีการนัดหมายชุมนุมแสดงออกคัดค้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่

เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 มีกลุ่มนักศึกษานัดหมายชุมนุมและเดินขบวนไปยังหน้ามหาวิทยาลัย ก่อนจะปรากฏภาพการปลดพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี แล้วพบว่าภาพดังกล่าวฉีกขาด เป็นที่มาของการกล่าวหาในคดีนี้ โดยมีนักศึกษา 2 ราย ถูกตำรวจ สภ.ห้างฉัตร กล่าวหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และมาตรา 112 ก่อนอัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564

ก่อนหน้านี้ “เบนซ์” (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกรายหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปลดรูปดังกล่าวลงมา ได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาล และศาลจังหวัดลำปางได้พิพากษาจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และเนื่องจากจำเลยยังมีสถานะเป็นนักศึกษา ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี

ส่วนของไลลานั้นยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดีถึงที่สุด จึงได้มีการสืบพยานในคดีระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. และ 12 ต.ค. 2565 รวม 4 นัด เมื่อสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลจังหวัดลำปางจึงได้นัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

เวลาประมาณ 09.30 น. ไลลาและทนายความได้เดินทางเข้าไปยังห้องพิจารณาคดีที่ 5  โดยมีผู้เดินทางมาให้กำลังใจ ทั้งเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพ่อกับแม่ของไลลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบ 1 นาย ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย

เวลาประมาณ 9.45 น. ศาลจังหวัดลำปางอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์มีพยานปาก พ.ต.ต.เจริญ ฝั้นธรรมครั้ง ที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยเป็นคนสั่งการและชี้มือให้มีการปีนขึ้นไปดึงรูปลง แต่ในการตอบทนายความจำเลยถามค้าน คำเบิกความดังกล่าวของพยานในชั้นศาลกลับไม่มีปรากฏในเอกสารคำให้การชั้นสอบสวนที่พยานได้ให้การกับพนักงานสอบสวนในครั้งแรก อีกทั้งเอกสารการถอดเทปปราศรัยและภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานในศาล ก็ไม่ปรากฎยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบกับจำเลยไม่เคยรู้จักกับผู้ดึงภาพจนฉีกขาดมาก่อน จึงผิดวิสัยปกติที่จะเป็นการใช้ให้บุคคลอื่นไปกระทำการในเรื่องร้ายแรงเช่นนั้นได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องจำเลย

หลังได้ยินคำพิพากษาแล้วจำเลยได้กอดกับแม่และร้องไห้ออกมา พร้อมกับทำการยกมือไหว้ศาลที่ได้พิพากษายกฟ้อง 

ไลลายังเปิดเผยความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาอีกว่า ก่อนหน้าจะฟังคำพิพากษา มีความเครียดมากๆ และตื่นเต้นใจสั่นมาก ไม่อยากจะเข้าห้องพิจารณาไปฟังคำพิพากษาเลย แต่พอฟังคำพิพากษาแล้วก็ดีใจ แต่ดีใจไม่สุดเพราะเป็นเพียงศาลชั้นต้น ยังมีศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาอีก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดที่ดีที่ยกฟ้องวันนี้ 

เธอระบุว่าตลอดระยะเวลาที่ต้องต่อสู้อยู่กับคดีนี้มาราวเกือบ 3 ปี ต้องประสบความเครียดและกังวลอยู่ตลอดเวลา เหมือนมีคดีนี้เป็นชนักอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไปไหนไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ พอผลมันออกมาเช่นนี้ ก็คิดว่าอเป็นทิศทางที่ดี หวังว่าจะดีในศาลชั้นต่อๆ ไป หากฝ่ายโจทก์มีการอุทธรณ์คดีต่อ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง