ในช่วงสงกรานต์นั้นเป็นช่วงที่ผู้คนแห่กันจองรถทัวร์และรถไฟกันเต็มเพื่อกลับไปยังบ้านเกิด ภูมิลำเนา สถานที่ที่ตัวเองจากมา หลายคนมักจะจำภาพของเทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีการละเล่นสาดน้ำประแป้ง ประเพณีทางวัฒนธรรมอย่างการสรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด หรือดำหัวผู้ใหญ่ และในขณะเดียวกันก็เป็นเทศกาลที่หลายคนต่างเฝ้ารอเพราะนั่นเป็นเวลาของ “การกลับบ้าน” ของคนที่ต้องจากบ้านไปไม่ว่าจะด้วยการศึกษาหรือการทำงาน ทว่ากลับบางคนนั้นไม่สามารถกลับไปยัง
“บ้าน” ของเขาได้
คำว่าสงกรานต์มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สํกฺรานฺติ (संक्रान्ति) หมายความว่า “การเปลี่ยนผ่านของดวงดาว” ประเพณีนี้ไม่ได้มีเพียงเฉพาะล้านนาเท่านั้น แต่เป็นวัฒนธรรมปีใหม่ร่วมกันของชาวอาเซียนภาคพื้นทวีปที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทไม่ว่าจะเป็น ชาวไทย ชาวลาว ชาวพม่า ชาวมอญ ชาวไต ชาวกัมพูชา และอีกหลายชาติพันธุ์ ซึ่งต่างก็เฉลิมฉลองด้วยการละเล่นสาดน้ำ การแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ รวมไปถึง การกลับบ้านเกิด เช่นเดียวกัน
ตะจ่าน ของเมียนมาก็เหมือนกัน มีรากมาจากคำว่าสงกรานต์ โดยเทศกาลตะจ่านของชาวเมียนมากินระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ในฝั่งเมียนมานั้นตำนานการเกิดตะจ่านมีอยู่ว่า พระอินทร์และอธิพรหมถกเถียงกันเรื่องปัญหาทางคณิตศาสตร์ พวกเขาพนันกันว่าผู้ชนะจะได้ตัดหัวผู้แพ้ เพื่อตัดสินแพ้ชนะ พวกเขาจึงไปหากาวะลาไมน์ กาวะลาไมน์ตัดสินให้พระอินทร์ชนะ พระอินทร์จึงตัดหัวของอธิพรหม ทว่าหากหัวของอธิพรหมนั้นตกสู่ทะเล ทะเลจะแห้งเหือด หากตกสู่โลกมนุษย์ โลกมนุษย์ก็จะลุกเป็นไฟ ดังนั้นจึงมีเทพี 7 องค์คอยสลับถือพานรับเศียรของอธิพรหม โดยวันสงกรานต์นั่นก็คือวันที่จะเปลี่ยนเทพีผู้ถือพาน
ช่วงตะจ่านนั้นจะเป็นเวลาที่ผู้คนเล่นสาดน้ำ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไปงานรื่นเริงทั้งดนตรีและพบประสังสรรค์เพื่อนฝูงเช่นเดียวกับล้านนา นอกจากนี้ยังมีการแจกจ่ายขนมโม่งโลงเหย่ป่อ (မုန့်လုံးရေပေါ်) หรือก็คือแป้งข้าวเหนียวสอดไส้น้ำตาลมะพร้าวให้กับผู้ที่สัญจรไปมา สำหรับเมียนมานั้น สัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าสงกรานต์มาถึงแล้วคือดอกประดู่หรือที่ภาษาพม่าเรียกว่าดอกปะเด้าก์ (ပိတောက်) ดอกไม้เหลืองนี้จะบานพร้อมกับการมาของฝนในฤดูร้อน ทว่าในปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทำให้บางปีดอกประดู่ในบางพื้นที่ของเมียนมาไม่บาน ชาวเมียนมาจึงรดน้ำต้นประดู่ในเวลากลางคืนเพื่อให้ดอกประดู่บานเพื่อสื่อถึงเทศกาลตะจ่านที่มาถึง ไม่เพียงแค่นั้นสำหรับชาวเมียนมา ดอกประดู่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความรักและดอกไม้ประจำชาติอีกด้วย
ทว่าหลายตะจ่ายที่ผ่านมาเพื่อนบ้านของเรานั้นไม่สามารถกลับบ้านของพวกเขาได้ด้วยเหตุสงครามและความขัดแย้งในพื้นที่ บางส่วนไม่สามารถกลับบ้านได้เพราะไม่ปลอดภัย บางส่วนไม่มีบ้านให้กลับอีกต่อไปแล้ว ชาวเมียนมาหลากหลายชาติพันธุ์จำนวนมากต้องลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านเผด็จการ โดยความขัดแย้งนี้เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ที่เมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 อันเนื่องมาจากวิถีแบ่งแยกและปกครองของสหราชอาณาจักรที่สร้างความร้าวฉานระหว่างชาติพันธุ์ และการตั้งรัฐรวมศูนย์ที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพและความหลากหลายของประชาชน
ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง คาเรนนี หรือ ไทใหญ่ ทำให้มีค่ายผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นตามชายแดนไทยเมียนมาที่ยาวนานมาหลายทศวรรษ โดยในปี 1988 ได้เกิดคลื่นการลี้ภัยครั้งใหญ่เนื่องจากการรัฐประหารและการปราบปรามประชาชนของเผด็จการทหารเมียนมา ทว่าความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2021 จากการรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ซึ่งทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ขยายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของเมียนมา จนประชาชนต้องหนีตายลี้ภัยเข้ามาตามชายแดนประเทศไทย เนื่องจากบ้านของพวกเขาไม่ใช่ที่ ๆ ปลอดภัยอีกต่อไป
ตะจ่าน: การกลับบ้าน พบปะเพื่อนฝูง อาหารบ้านเกิด และดอกประดู่
“ผมไม่เคยพลาดการกลับบ้านในช่วงตะจ่านเลยซักครั้ง” ตู (นามสมมุติ) ชาวทวายอายุ 34 ปี เกิดและเติบโตที่เมืองทวายเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้วจึงออกเดินทางไปทำงานที่ย่างกุ้งอันเป็นเมืองหลวงของประเทศเมียนมาตั้งแต่ปี 2012 จากนั้นจึงกลับไปทำงานที่ทวาย ถึงแม้ว่าตูจะทำงานที่บ้านเกิด แต่หากมีเหตุต้องอยู่ไกลบ้าน แม้รถโดยสารจะเต็มแต่เขาก็พยายามให้ถึงที่สุดที่จะกลับบ้าน
“ความทรงจำที่ดีที่สุดของผมเกี่ยวกับตะจ่านคือมีครั้งหนึ่งที่งานยุ่งมากเลยจองรถช้า แต่ว่ารู้จักคนขับรถทัวร์อยู่แล้วก็เลยไปขอ สุดท้ายคนขับรถทัวร์ก็เอาเก้าอี้พลาสติกมาแทรกให้นั่งกลับบ้าน” บรรยากาศเทศกาลตะจ่านในประสบการณ์ของเขานั้นเต็มไปด้วยการเปิดเพลงตะจ่านของเมียนมาตามร้านรวงต่างๆ ในเมืองตั้งแต่ปลายมีนาคม “บรรยากาศของตะจ่านเต็มไปด้วยความสดชื่น ผ่อนคลาย ครื้นเครงและจอแจ ทั้งเมืองต่างครึกครื้นและวุ่นวายไปกับการเตรียมการของต่าง ๆ ในงานเทศกาล” โดยเขาเล่าว่าในเมืองจะมีการเตรียมเต็นท์เพื่อแจกจ่ายอาหารรวมถึงขนมโม่งโลงเหย่ป่อ ชาวเมียนมาจะเริ่มหารถกระบะมาเพื่อเล่นน้ำในเทศกาลตะจ่านไม่ว่าจะยืมรถหรือจ้างรถเพื่อมาตกแต่งแล้วนำออกไปเล่นน้ำ ตูกล่าวว่าความสนุกของสงกรานต์คือการได้พบปะเพื่อนฝูงและเล่นสงกรานต์เป็นกลุ่มตระเวนเล่นน้ำไปทั่วเมือง และกินอาหารที่แจกจ่ายกันตามเมือง
องค์ประกอบที่สำคัญของตะจ่านสำหรับตูแล้ว มี 3 ประการ คือ 1. ผู้คน ซึ่งก็คือเพื่อนฝูงและครอบครัวที่เมื่อยามกลับบ้านก็ได้พบปะและเดินเที่ยวเล่นกัน 2. อาหาร คือ อาหารบ้านเกิด “อาหารที่อื่นไม่อร่อยเท่าที่บ้านแม้จะทำเหมือนๆ กัน” ซึ่งสำหรับเขาแล้วอาหารนั้นสัมพันธ์กับ 3. สถานที่ เพราะการกินอาหารที่บ้านเกิดนั้นให้ความรู้สึกที่ทดแทนกันไม่ได้เมื่อกินอาหารแบบเดียวกันในที่ที่ต่างออกไป เพราะความรู้สึกที่ได้อยู่บ้านนั้นเต็มไปด้วยความอบอุ่นและการอยู่ในบรรยากาศกับภาษาที่คุ้นเคย
ในส่วนของฮวาน ชาวมอญ อายุ 34 ปี ที่เกิดและเติบโตจากเมืองปาเลาในเขตตะนาวศรี จนในปี 2012 ไปทำงานเป็นวิศวกรในย่างกุ้ง กล่าวว่าความทรงจำที่ดีที่สุดของเขาในเทศกาลตะจ่านนั้นคือประเพณีการบริจาคเงินให้กับผู้สูงอายุในชุมชน โดยในวันสุดท้ายของตะจ่าน คนในชุมชนจะพาผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปรวมตัวกันที่วัดและบริจาคเงินให้กับพวกเขา จากนั้นเหล่าผู้อาวุโสก็จะให้พรกับทุกคน
แม้ว่าฮวานกับตูจะมาจากคนละเมืองกัน แต่พวกเขาก็กล่าวไปในทางเดียวกันถึงการฉลองเทศการตะจ่านว่าเมื่อถึงเทศกาลตะจ่านแล้วผู้คนมักจะตั้งเต็นท์แจกจ่ายอาหาร มีเวทีดนตรีเสียงดังทั่วเมือง คนเล่นสาดน้ำกันทั่วถนน บางคนก็ไปวัดเพื่อทำบุญและปฏิบัติธรรม แม้ว่าฮวานแล้วที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมตะจ่านมากนักเนื่องจากไม่ชอบสถานที่ที่มีคนเยอะและเสียงดัง เขามองว่าองค์ประกอบที่สำคัญของตะจ่านคือดอกประดู่และการพบปะเพื่อนฝูงครอบครัว โดยกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดของเขาในตะจ่านคือการพบปะเพื่อนฝูงและการทำอาหารร่วมกันกับเพื่อนในเวลากลางคืนเพื่อไปถวายวัดในวันรุ่งขึ้น เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าการทำอาหารร่วมกันนี้เป็นประเพณีที่หนุ่มสาวมักจะทำกันในช่วงตะจ่าน
ตะจ่านที่เป็นมากกว่าเทศกาลรื่นเริง
นอกจากการเล่นสาดน้ำ งานรื่นเริง และงานด้านวัฒนธรรมแล้ว ตะจ่านยังเป็นเทศกาลแห่งการแสดงออกทางการเมืองของชาวเมียนมา เนื่องจากตะจ่านนั้นมีการละเล่นที่เป็นกิจกรรมสำคัญนั่นก็คือ ตั่นจั้ด(သံချပ်) ซึ่งเป็นการละเล่นกลอนประกอบกับดนตรีที่สนุกสนาน โดยมีผู้ร้องนำจากนั้นจะมีคอรัสร้องตาม ซึ่งเนื้อหามักจะเป็นการล้อเลียนการเมืองที่แสดงความไม่พอใจและเรียกร้องถึงสังคมที่ดีกว่า “ตั่นจั้ดถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” คุณเล็ก ชาวพม่าจากย่างกุ้ง อายุ 54 ปี ที่เคยเข้าร่วมการลุกฮือครั้งใหญ่ในปี 1988 ที่ประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทย
คุณเล็กกล่าวว่าตะจ่านนั้นเป็นเทศกาลแห่งเสรีภาพทางการเมือง เพราะเทศกาลตะจ่านนั้นเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกฎระเบียบในการพูด ทุกคนสามารถแซว พูดหยาบคายได้โดยไม่โกรธกัน โดยเฉพาะในการละเล่นตั่นจั้ดที่มีควบคู่ไปกับงานรื่นเริงอื่นๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยที่เมียนมายังปกครองโดยกษัตริย์ และกษัตริย์จะรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากตั่นจั้ดโดยไม่ลงโทษผู้แสดง ในช่วงเผด็จการทหารเองก็ยังเปิดให้มีการละเล่นเช่นนี้อยู่เสมอ
ตั่นจั้ดนั้นถือว่าเป็นกิจกรรมที่ถือว่าเป็นหัวใจของการฉลองเทศกาลตะจ่าน “หากขาดตั่นจั้ดไปแล้วตะจ่านนั้นก็ไร้จิตวิญญาณ” คุณเล็กกล่าว
สงกรานต์ในวันที่ดอกประดู่ไม่บานอีกต่อไป
เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ตะจ่านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ตั้งแต่การระบาดของโควิดในปี 2020 ทำให้ผู้คนต้องงดฉลองเทศกาลดังกล่าว แม้ว่า 2021 เทศกาลตะจ่านจะกลับมาแล้ว แต่เนื่องจากรัฐประหารที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่ การใช้ความรุนแรงกับประชาชนของเผด็จการทหาร ทั้งการสังหาร ซ้อมทรมาน กักขังและหน่วงเหนี่ยว รวมไปถึงเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ภาวะข้าวยากหมากแพงและเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ทำให้มีผู้พลัดถิ่นหลายล้านคน ทั้งหมดนั้นส่งผลให้ความรู้สึกต่อเทศกาลตะจ่านของชาวเมียนมาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“ผมไม่สามารถกลับไปหมู่บ้านของผมได้ เนื่องจากต้องผ่านจุดที่มีการสู้รบ 4 จุด” ฮวานที่ปัจจุบันได้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยภายหลังเมียนมาประกาศเกณฑ์ทหารเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กล่าว
สถานการณ์ที่บ้านเกิดของฮวานนั้นเต็มไปด้วยความน่ากังวล คนหนุ่มสาวต่างทยอยหนีออกนอกประเทศ เงินเฟ้อขึ้นไปถึงสามเท่า ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก การสู้รบเองก็เข้าใกล้หมู่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ น้องสาวและแม่ของเขาเองก็ยังคงอยู่ในหมู่บ้าน สำหรับเทศกาลตะจ่านนั้นก็เล็กลงมากจนบางทีก็ไม่ได้จัดตั้งแต่มีรัฐประหารเกิดขึ้น
“ไม่มีใครอยากเข้าร่วมตะจ่านที่ทหารจัดขึ้น” ตูกล่าวด้วยเขาเองต้องอพยพลี้ภัยจากเผด็จการทหารมาประเทศไทยในปี 2022 เพราะหลังมีการรัฐประหารนั้นทำให้ความรู้สึกของประชาชนในเมียนมาไม่เหมือนเดิม เต็มไปด้วยความไม่ปลอดภัย ไม่แน่นอน และยังต้องต่อสู้ดิ้นรนตลอดเวลา ตูกล่าวว่า “แม้จะอยู่ที่เดิม ความรู้สึกก็ไม่เหมือนเดิม ไม่มีอิสรภาพ รู้สึกเหมือนอยู่ในกรง”
แม้ตูจะมองเห็นประเทศบ้านเกิดได้แต่ไม่สามารถข้ามกลับไปได้ แม้ว่าที่นี่จะปลอดภัย สามารถพูดเรื่องการเมืองเมียนมาได้ สามารถนอนหลับสบายได้ ทว่าสำหรับตูนั้นก็ยังมีบางอย่างขาดไป เขายังอยากที่จะกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเองอยู่ “เราไม่มีแพลนที่จะอาศัยอยู่ในประเทศอื่นเป็นเวลานาน การไม่ได้กลับบ้านกระทบกระเทือนจิตใจเราอย่างมาก”
รายงานนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการการยืนหยัดท่ามกลางวิกฤตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Staying Resilient Amidst Multiple Crises in Southeast Asia) ภายใต้ความริเริ่มของ SEA Junction โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิ CMB