พฤษภาคม 20, 2024

    เจ้าดารารัศมี: ดวงดอกไม้ ยุทธนา ปิตาธิปไตย

    Share

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี

    “ข้าพเจ้า” โปรยกลีบดอกกุหลาบตามเส้นทางทุกหนทุกแห่ง ข้าพเจ้าได้อ่าน สดับรับฟัง และสื่อความหมายของภาษา หากแต่ข้าพเจ้ากลับไม่รู้ความหมายการมีอยู่ของชีวิตเพียงสักนิด

    “ประวัติศาสตร์” เรื่องราวอันแสนน่าเบื่อ ที่เพลานี้ มวลมนุษยชาติบนโลกจะนั่งเครื่องย้อนเวลาไปนะหรือ? ไม่ต้องคาดเดาให้มากความ เพราะบทสุดท้ายคือการลงเอยด้วยคำว่า “ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์”

    หลากหลายตำรา พงศาวดาร ศิลาจารึก จดหมายเหตุ ใบลาน ที่ล้วนเป็นการบันทึกด้วยลายลักษณ์อักษร แม้บางครั้งอาจถูกบังคับให้สูญหายไปโดยพิษราชันย์เพลิงอัคคี ไพร่ฟ้าหน้าดินอย่างข้าพเจ้าจะไปเปลี่ยนแปลงมุมมองของเหล่าผู้มีความรู้ได้อย่างไร “เอาละ เชิญทุกท่านลิ้มลองบรั่นดีที่ข้าพเจ้าร่วมเสกสรร ชงผสมโซดาอย่างตั้งใจ พร้อมจรดปลายพู่กันด้วยจิตวิญญาณ หากรู้สึกไม่ถูกปาก หรือระคายคอ โปรดจงออกความเห็นอย่างสุภาพชน ข้าพเจ้ารับฟังความคิดเห็นของท่านทั้งหลายเสมอ “เพราะพวกเราต่างไม่เคยระลึกชาติได้ว่า ความจริงเป็นเช่นไร”

    บท 01 ผลิดอก

    “เหตุใดจึงเปรียบหญิงงาม เป็นดั่งเช่นช่อผกา”

    เมื่อกล่าวถึงหญิงสาวชาวล้านนาที่คนส่วนใหญ่นึกถึง ข้าพเจ้ายืนยันได้เลยว่า ชื่อของ “พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” หรือ “เจ้าดารารัศมี” คงเป็นชื่อแรก ๆ ที่พวกท่านเอ่ยนาม ด้วยคุโณปการในด้านพระกรณียกิจต่อล้านนาและสยามมากล้น อเนกอนันต์ นำมาซึ่งความเจริญแก่หมู่เฮาชาวล้านนา อย่างการฟื้นฟูศิลปะการแสดงล้านนา ฟ้อนเล็บและฟ้อนเทียน ที่รุ่นลูกรุ่นหลานได้สานต่อมาจนถึงกาลปัจจุบัน อีกทั้ง ‘ต้นลำไย’ ที่กลายเป็นมาพืชเศรษฐกิจ เพราะครั้งอดีตพระองค์ทรงนำมาทดลองปลูก หรือแม้กระทั่งโรงเรียนชื่อดังของเชียงใหม่อย่าง ‘ยุพราชวิทยาลัย’ และ ‘ดาราวิทยาลัย’ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีก็ได้ประทานที่ดินและทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้ประชาชนได้มีการศึกษาที่ดี รวมถึงการศึกษาของสงฆ์อีกด้วย 

    “ด้วยคุณงามความดีอีกมากมายที่ไม่อาจเอ่ยครบ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา จึงได้รับสมญานาม เป็น ‘ผู้หญิงล้านนาต้นแบบ’ ที่เป็นแบบอย่างเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะด้านความเป็นผู้นํา ความน่าเชื่อถือ การเคารพ ความรับผิดชอบ ความเป็นธรรม การดูแล และการเป็นพลเมือง รวมถึงพฤติกรรมเชิงคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นสิ่งสําคัญเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่ดีในฐานะพลเมือง” (ภักดีกุล รัตนา. 2563)

    ทว่าบริบทของเรานั้นยังยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ความเป็นปิตาธิปไตยที่ครอบงำแนวคิด ไร้ซึ่งคนวิพากษ์วิจารณ์ เหตุเพราะผู้คนล้วนคุ้นชิน ไม่ก็เกรงอำนาจล้นฟ้า มิอาจสู้ได้ด้วยจินตมยปัญญา บ้างอ้างถึงวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ที่สืบต่อกันอย่างยาวนาน “ผู้ใดอย่ามาล่วงเกินของเบื้องบนเป็นอันขาด” ในความคิดของข้าพเจ้า ราษฎรบางกลุ่มอาจจะมีคนตั้งคำถามก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามหลักฐานถูกบันทึกด้วยปลายพู่กันลงกระดาษ คัมภีร์ใบลาน หรือขีดเขียนไว้ ณ หนแห่งใดก็ตาม ล้วนไม่เอ่ยถึงความเห็นของสามัญชนบนรากหญ้า ความทรงจำลายลักษณ์อักษร มีแต่ความเป็นอยู่ขององค์เหนือหัวที่ปกครองอย่างร่มเย็นผาสุกกันถ้วนหน้าเสมอ

    “งานเขียนเรื่อง ประวัติศาสตร์ฉบับ “รื้อสร้าง” ทั้งที่ “จริง” และ “สร้างใหม่” ของจิรชาติ สันต๊ะยศ (มติชน, 2551) กล่าวว่า พระราชชายาเจ้าดารารัศมี การสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างเจ้าเมืองด้วยกันด้วยการ “สมรส” เป็นวิธีการแบบจารีตที่รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมทำเพื่อสร้างพันธมิตรไมตรี และเป็นกุศโลบายที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการสร้างฐานอำนาจในระยะแรกของการขึ้นครองราชย์ มีการสู่ขอธิดาของขุนนางผู้มีอำนาจ หรือเจ้าเมืองต่าง ๆ มาเป็นเจ้าจอม”

    บท 02 บุษบา เจ้าหล่นหายไปด้วยเหตุอันใด

    แสงแดดอ่อนโยนสะท้อนไปยังสถาปัตยกรรมสีเหลืองนวล ภาพเบื้องหน้าปรากฏอาคารรูปแบบบ้านฝรั่งประยุกต์ ตามความนิยมแนวตะวันตกในอดีต ผ่านไปไม่นานนัก ข้าพเจ้าได้พบกับหญิงสาวในชุดพื้นเมืองล้านนา “พุทธิพร สินธนามราพันธ์” เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์แห่งนี้ ผู้เป็นเสมือนตำราประวัติศาสตร์เจ้าดารารัศมีเล่มนึงเลยก็ว่าได้

    พุทธิพร ได้ให้ข้อมูลกับข้าพเจ้าว่า “ที่แห่งนี้ เป็นพระตำหนักที่ท่านพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เคยประทับอยู่ หลังจากท่านใช้ชีวิตที่สยามมาตั้งแต่พระชนม์ได้ 11 ชันษา เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต ท่านจึงขอพระบรมราชานุญาตรัชกาลที่ 6 กลับมายังนครเชียงใหม่ ย้ายมาอยู่บ้านสวนและสนใจการทำเกษตร เลยหาพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง โดยตัวท่านอาศัยตำหนักนี้ได้เพียง 4 ปี ก็ต้องย้ายไปในเมืองในคุ้มรินแก้ว เนื่องจากพระโรคพระปับผาสะพิการ หรือโรคปอด จึงต้องมีหมอดูแลอย่างใกล้ชิด กาลเวลาได้ล่วงเลยไปอย่างช้า ๆ บ่นานพระราชชายาเจ้าดารารัศมีงดงามดั่งดารา ได้ลาไกลไปยังสุขาวดี สิริพระชนมพรรษาปีที่ 60

    “เจ้าดารารัศมี ท่านมีนิสัยยังไงหรอคะ ?” ข้าพเจ้าถาม

    หญิงสาวเบื้องหน้ากล่าวด้วยใจยินดี “ท่านเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด มีความเจ้าระเบียบนิดๆ ถ้าอยู่เหนือจะเป็นผู้ปกครอง มีความเด็ดขาด สามารถเป็นเจ้าผู้ครองนครได้เลย”

    พุทธิพร ได้กล่าวถึงเหตุผลของการที่เจ้าดารารัศมีต้องเป็นบรรณาการให้กับสยามว่า ตอนที่พระราชชายาประสูติขึ้นมา ช่วงนั้นประเทศอังกฤษได้มายึดครองทางพม่า และเล็งเห็นว่าเชียงใหม่มีไม้สักจำนวนมาก ถ้าหากอังกฤษได้ยึดครองคงจะดีไม่น้อย จึงได้มีการเจรจาต่อรองให้เจ้าดารารัศมีไปเป็นลูกบุญธรรม

    พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ ลําดับที่ 7 (พ.ศ. 2413-2440) มีสถานะเป็นบิดาของเจ้าดารารัศมี ท่านได้พินิจว่า ถ้าล้านนาไปรวมกับอังกฤษ คงเหมือนพม่าในตอนนี้ อาจจะไม่ได้เป็นดินแดน หรือเอกราช ทางท่านพ่อของเจ้าดารารัศมีจึงวางแผนการไปสวามิภักดิ์กับสยาม ต่อมาทางรัชกาลที่ 5 ได้ส่งแหวนไปให้เจ้าดารารัศมี ซึ่งสื่อถึงการหมั้นหมายสำหรับคนทั่วไป

    พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ เผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ในปี พ.ศ. 2427 ขณะนั้นเจ้าดารารัศมีมีอายุ 11 พรรษา พระเจ้าอินทวิชยานนท์จึงจัดให้มีพิธีโสกันต์ หรือพิธีโกนจุก ตามแบบราชประเพณีของสยาม ซึ่งเป็นพระราชพิธีจัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะไม่เคยปรากฏในล้านนามาก่อน โดยมีพระธำมรงค์เพชร และพระกุณฑล ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่เจ้าดารารัศมีในพิธีโสกันต์เป็นกรณีพิเศษ

    ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความเข้าใจโดยทั่วไปว่า “มิใช่เป็นแค่ของขวัญธรรมดา” แต่หมายความถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “หมั้นหมาย” อันเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะมิใช่แบบอย่างประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือ มีแต่เจ้าดารารัศมีพระองค์เดียวที่เข้าพิธีนี้อย่างราชประเพณีของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี

    แม้การถวายตัวเจ้าดารารัศมีจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2429 แต่เชื่อว่ามีการวางแผนการและเตรียมการต่างๆ ไว้นานแล้ว ทั้งฝ่ายล้านนาและฝ่ายสยาม ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและเอกสารโบราณ, เพลงพื้นบ้าน, คำประพันธ์ร้อยกรอง และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ได้กล่าวว่า เราไม่อาจรู้ได้ว่าเจ้าดารารัศมีคิดเห็นอย่างไรในตอนนั้น ด้วยความที่ท่านถูกวางแผนตั้งแต่ท่านเกิดแล้ว โดยส่วนตัว ผมคิดว่าเจ้าดาราน่าจะรับรู้มาก่อน มันไม่ใช่อยู่ดี ๆ แล้วไปสยามเลย ในส่วนนี้ถึงไม่มีการบันทึก แต่คิดว่าเจ้าดารารัศมีน่าจะค่อย ๆ รับรู้มาบ้างจากพ่อของท่าน พระเจ้าอินทวิชยานนท์ 

    “แต่หากเราต้องพลัดพรากบ้านเมืองตั้งแต่อายุ 13 ปี ถึงแม้จะมีการเตรียมใจล่วงหน้า แต่คงเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กหญิงคนหนึ่ง”

    นิตยสารศิลปวัฒนธรรม (2566) เรื่องเจ้าดารารัศมี “เมียโปลีซี” ของรัชกาลที่ 5 ได้เขียนไว้ว่า “ใน พ.ศ. 2429 ก็มีการถวายตัวเจ้าดารารัศมี อย่างเป็นทางการ  พ.ศ. 2429 เป็นปีที่สยามเริ่มมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น ด้วยสาเหตุที่กลุ่มอํานาจเดิมเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตําแหน่งวังหน้า และสถาปนาตําแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารแทน

    เมื่อมีงานสมโภชในวโรกาสสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมี มีพระชนม์ได้ 13 ชันษา ทรงติดตาม พระเจ้าอินวิชยานนท์พระบิดามาร่วมพระราชพิธีสมโภช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีเข้ารับราชการฝ่ายใน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    การเข้ารับราชการฝ่ายในของเจ้าดารารัศมีในครั้งนั้นมีความสําคัญต่อล้านนามาก เพราะถือว่าเป็นพระธิดาของเจ้าผู้ครองนคร หรือเจ้าประเทศราชที่ราชสํานักสยามได้พยายามจูงใจเพื่อให้ยอมรับแบบแผนใหม่ๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่ (Treaty of Chiangmai) ฉบับแรก พ.ศ. 2416 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2426 ที่สยามทํากับอังกฤษ”

    การสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างเจ้าเมืองด้วยกันด้วยการ “สมรส” เป็นวิธีการแบบจารีตที่รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมทำเพื่อสร้างพันธมิตรไมตรี และเป็น “กุศโลบาย” ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการสร้างฐานอำนาจในระยะแรกของการขึ้นครองราชย์ มีการสู่ขอธิดาของขุนนางผู้มีอำนาจ หรือเจ้าเมืองต่างๆ มาเป็นเจ้าจอม ในที่นี้รวมไปถึงเจ้าดารารัศมี ซึ่งในขณะนั้นพระชนม์เพียงแค่ 13 ชันษา

    บท 03 บุปผชาติร่วงโรยตามกาล

    ณฏพร คำตะวงค์ หรือ ซีเกมส์ นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ พ่วงด้วยตำแหน่งบันฑิตภาควิชาประวัติศาสตร์ ให้แง่มุมที่น่าสนใจว่า ปิตาธิปไตยของล้านนาและสยามมีความเข้มข้นเช่นเดียวกัน อย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเพณีการใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีข้อที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ ผู้หญิงห้ามขึ้นอุโบสถ หรือเข้าใกล้พื้นที่ของพระธาตุเจดีย์ เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้คาถาอาคม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกิดความเสื่อม

    ประเพณีวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตของล้านนาสื่อถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะการศึกษา หรือบทบาททางบ้านเมืองที่เพศชายมีอำนาจมากกว่า แม้ในช่วงยุคของเจ้าดารารัศมี เพศหญิงเริ่มมีอิทธิพลทางสังคมเพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็มิอาจสู้ความเป็นปิตาธิปไตยที่ฝังลึกในความคิดผู้คนได้ ตามประวัติศาสตร์ เจ้าดารารัศมี แน่นอนว่าไม่ได้เต็มใจลงไปอยู่สยาม อาจกล่าวได้ว่า “ถูกบังคับให้ลงไป” สื่อในทางหนึ่่งคือ ถึงแม้ผู้หญิงจะมีอำนาจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำอะไรตามใจตัวเองได้

    ทางด้านอาจารย์ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี ได้เสนอมุมมองเพิ่มเติมว่า “ถ้าเรามองตามความเป็นจริง บริบทคนล้านนาในตอนนั้นเกี่ยวกับสยาม พวกเขาจะรู้สึกดีใจหรือเสียใจ ล้วนขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ ความเป็นอยู่ของบ้านเมือง เพราะเจ้าดารารัศมีไปสยามตอนพระชนม์ 13 ชันษา ซึ่งขณะนั้นก็มิได้มีอิทธิพลใด ๆ  คนทั่วไปก็คงคิดเป็นเรื่องของเจ้านาย ที่เขาติดต่อกัน คิดว่าคนล้านนาในสมัยนั้นไม่ได้กังวลหรอก เพราะอะไรก็ตามที่วิถีชีวิตคนดีขึ้น เขาก็เลือกสิ่งนั้นแหละ” ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้า ราษฎร์ไม่สนหรอกว่าผู้ปกครองจะชื่อสกุลใด เพราะปากท้องและความเป็นอยู่สำคัญยิ่ง หากผู้ปกครองผู้ชี้ชะตามีทศพิธราชธรรม ล้วนโชคดีแก่ไพร่ฟ้าเป็นไหน ๆ 

    ในช่วงปีทศวรรษที่ 2430 (พ.ศ.2431-2440) ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามและนครเชียงใหม่ เต็มไปด้วยความตึงเครียดและความขัดแย้ง เจ้าดารารัศมีได้แสดงให้เห็นถึงความรักความหวงแหนในนครเชียงใหม่อันเป็นแผ่นดินเกิด ด้วยในขณะนั้น นครเชียงใหม่ตกอยู่ในสภาวะที่เป็นอย่างอาณานิคมของสยาม มิมีอำนาจสิทธิ์ขาดเช่นเดิม เจ้านายและข้าราชการจากราชสำนักสยามกดขี่เอารัดเอาเปรียบเจ้าผู้ครองนครและเจ้านายท้องถิ่น เล่ากันว่า เจ้าดารารัศมี ได้นำ “ผ้าลุนตยาอฉิก” ซึ่งเป็นผ้าแห่งราชสำนักพม่า มาใช้นุ่งเป็นผ้าซิ่น ซึ่งไม่เคยปรากฎว่ามีเจ้านายสตรีจากราชสำนักเชียงใหม่ที่นุ่งผ้าชนิดนี้เลย บางส่วนว่าเป็นความนิยมส่วนตัวของเจ้าดารารัศมี บางส่วนก็ว่า การนำตีนจกเชียงใหม่มาต่อปลายซิ่นลุนตยาของพม่า แฝงนัยยะทางการเมืองว่า “หากสยามยังเดินหน้าเหยียบย่ำน้ำใจเชียงใหม่ให้ชอกช้ำไปกว่านี้ เชียงใหม่ก็พร้อมจะเข้าหาพม่าซึ่งก็คืออังกฤษทุกเมื่อ”

    ในทางตรงกันข้าม “หนังสือ “100 ปีแห่งรักฯ” ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง (2546) ได้กล่าวว่า มีบุคคลท่านหนึ่งได้เสนอภาพให้อังกฤษเป็นผู้ร้าย ให้สยามเป็นพระเอก ซึ่งเป็นทัศนะที่เข้าข้างสยาม อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า “จริงหรือที่ขณะนั้นล้านนาหวั่นเกรงว่าอังกฤษจะรุกราน และจริงหรือที่อังกฤษมีแผนการจะยึดล้านนา” ซึ่งเรื่องนี้เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในช่วงนั้นจะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริง โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่า พระนางวิกตอเรียจะขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นบุตรบุญธรรม ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงว่าพระนางวิกตอเรียอาจไม่รู้จักเชียงใหม่เสียด้วยซ้ำ ไหนเลยจะมารู้จักเจ้าดารารัศมี

    04 กลับมาเถิดหนา เจ้าดวงดอกไม้

    “ใคร่จะปิ๊กบ้าน วันละร้อยเตื้อ”

    (อยากจะกลับบ้าน วันละร้อยครั้ง)

    ในปีแรก สถานะ “เจ้าจอม” ของพระราชธิดา พระเจ้านครเชียงใหม่ ต้องเผชิญกับการถูกดูหมิ่นดูแคลนในความเป็น “เจ้าลาว” และการกระทำพิเรนทร์ ต่างๆ นานา ปรากฎเรื่องราวตามคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิดในเหตุการณ์ เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้เจ้าดารารัศมีรู้สึกกลัดกลุ้มรุ่มร้อนใจ เหนื่อยหน่ายต่อชีวิตอันไม่เที่ยง จากเจ้าหญิงนครเชียงใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยทรัพย์ศฤงคารและข้าราชบริพาร ต้องมาตกระกำลำบากเป็นเจ้าจอมในราชสำนักสยาม

    ภาพ: กรมศิลปากร

    จากหนังสือ เพ็ชร์ล้านนา เล่ม 1 (2538) ผลงานเขียนเขียนของ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ได้นำเสนอถึงชีวิตอันระทมฤทัยของเจ้าดารารัศมี ด้วยประโยคที่ว่า “ความอยากกลับบ้านวันละร้อยครั้ง” และการโดนกลั่นแกล้งนี้ แสดงให้เห็นถึงทัศคติชาวสยามที่มีต่อล้านนา ในการดูถูกเหยียดหยาม ทุกข์ใจ จนถึงพระองค์คิดอยากรับประทานมะเขือบ้าให้ตัวเองสติวิปลาสไปเสียอย่างงั้น เพียงเพื่อที่จะได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน โดยข้าพเจ้าเลือกบทความบางส่วนมาเพียงสั้น ๆ มีใจความดังต่อไปนี้

    “พระสนมกํานัลภายในวังพากันอิจฉาตาร้อน คิดเสียว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงมีพื้นเพอยู่ทางเหนือ การคบค้าสมาคม และการต้อนรับจากภาคกลางอย่างต่ำต้อยด้อยหน้า เมื่อพูดถึง ‘ลาว’ แล้ว เจ้าจอมหม่อมห้ามคงเข้าใจว่า สมเด็จพระปิยมหาราชก็คงจะเห็นด้วยกับการกระทํากลั่นแกล้งหยามเหยียดต่างๆ ซึ่งวิธีการเล่นสกปรกต่างๆ ทําให้พระราชชายาทรงรู้สึกกลัดกลุ้มรุ่มร้อนพระทัยเป็นยิ่งนัก”

    “พระราชชายา บ่นกับผู้ใกล้ชิดว่า พระองค์ใคร่จะเสวยลําโพง (มะเขือบ้า) เป็นคนวิกลจริต แล้วทางกรุงเทพฯ จะได้ส่งกลับนครเชียงใหม่บ้านเกิดให้รู้แล้วรู้รอด จะได้พ้นจากความลําบากยากแค้นเสียที และผู้ใกล้ชิดพระองค์ได้ทัดทานไว้ว่า ขอให้อดใจรอจนกว่าเหตุร้ายจะกลายเป็นดีในวันหนึ่ง”

    “จิรชาติ สันต๊ะยศ ผู้เขียนประวัติศาสตร์ฉบับ “รื้อสร้าง” ทั้งที่ “จริง” และ “สร้างใหม่” กล่าว่า พระราชชายาเจ้าดารารัศมี” พ.ศ. 2432 เจ้าดารารัศมีขณะมีพระชนม์ 16 ชันษา ประสูติพระราชธิดา รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี” แปลว่าผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศจากเจ้าจอม เป็น “เจ้าจอมมารดา” แต่หากสังเกตพระยศของพระราชธิดาที่ได้คือ “พระองค์เจ้า” เป็นยศที่ไม่ถูกต้องตามประเพณี เนื่องจากเจ้าดารารัศมีเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านนาซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม พระยศของพระธิดาของพระองค์จึงควรเป็น “เจ้าฟ้า”

    ดังนั้นเมื่อพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีทรงป่วยและสิ้นพระชนม์ ด้วยพระชนม์เพียง 3 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชปรารภกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้าแต่ฉันลืมตั้งจึงตาย”

    เจ้าดารารัศมี สตรีชาวล้านนาที่มีคุโณปการมากอนันต์ แม้จะพลัดบ้านเมืองไปไกล สมรสกับบุรุษที่มิเคยเห็นหน้าค่าตา มิเคยมาเยือนถึงนครเชียงใหม่เลยสักครั้ง ซึ่งในวัย 13 ปี เป็นเรื่องที่เด็กหญิงคนหนึ่งแบกความหวังของบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ด้วยสังคมปิตาธิปไตยที่กดทับเพศหญิงให้เป็นบรรณาการ เกียรติยศถูกลิดรอนอย่างน่าขัดแค้น แม้นไปเยือนสยาม กลับพบแต่การกลั่นแกล้ง ใส่ความ อีกทั้งดูถูกว่า “เป็นลาว” กระทั่งให้กำเนิดบุตร ในฐานะของความเป็นแม่ ข้าพเจ้าว่า ท่านทำมันได้ดีอย่างแน่นอน แต่แล้วลูกน้อยนั้นมาลาจากไป ทิ้งทวนเสียงลือว่าอาจมิใช่เพราะป่วยแต่อย่างใด

    บท 05 เปรียบดั่งบุหงารำพัน

    ณฏพร คำตะวงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรามองว่าประวัติศาสตร์ เวลาเราฟังไปแล้ว มันก็เหมือนกับการเรียนรู้ และแก้ไขข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นั่นก็คือ “การถูกกดขี่” ไม่ว่าจะเป็นทางเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือทุกอย่างที่ล้านนาถูกกดขี่จากทางสยามเมื่อก่อน จึงอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้จากข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เราเล่าเรียนมา

    อนึ่งคือ “คาดหวังว่าในอนาคต ผู้ชาย ผู้หญิง LGBTQIA+ หรือเพศใดไม่สำคัญ เพราะมนุษย์เราต่างเท่ากัน และเท่าเทียม พวกเราสามารถทำคุณประโยชน์ทุกอย่างได้ แม้ว่าจะให้กับชุมชน ให้ตัวเขาเอง หรือครอบครัว เช่นเดียวกับเจ้าดารารัศมีท่านก็สามารถทำคุโณปการให้กับชาวเชียงใหม่ ชาวล้านนาได้อย่างมากมาย อีกทั้งเป็นผู้เชื่อมสัมพันธ์ ให้ชาวสยามเคารพในตัวตนของเราชาวล้านนา” การสนทนาเริ่มใกล้จบลงระหว่างข้าพเจ้ากับคนตรงหน้า ณฏพรได้ทิ้งท้ายเจตนารมณ์ของตนในฐานะผู้ขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างสมบูรณ์

    หากอ่านมาถึงจุดนี้ พวกท่านเข้าใจไม่ผิด ข้าพเจ้ายึดถือแนวคิดสตรีนิยม หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “เฟมินิสม์” (Feminism) ซึ่งระบบคิดแบบทวิลักษณ์ อำนาจนิยม และชายเป็นใหญ่ แบ่งแยกว่าโลกใบนี้มีแค่ชายกับหญิง ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงมีหน้าที่แค่เลี้ยงลูกไปวัน ๆ ไม่ควรได้รับความก้าวหน้าในการงาน อาชีพ เพราะเพศชายฉลาด อดทน เข้มแข็งกว่า ความคิดดังกล่าวถูกฝังลึกอย่างยาวนานไม่ว่าจะเพศหญิง หรือเพศชาย หากผู้ใดเกิดคำถามว่า “เท่าเทียม งั้นก็ให้ผู้หญิงมาเกณฑ์ทหารเหมือนผู้ชายสิ” ข้าพเจ้าว่าพวกท่านควรตั้งคำถามกับสถาบันทางทหารไม่ดีกว่าหรือ เหตุใดเพศชายกี่ร้อยกี่พันคน ถึงต้องทิ้งความฝัน อนาคตของตน เพราะเสี่ยงดวงจับได้ใบแดง “ท่านลองพิจารณาดูเถิด”

    มิอาจปฏิเสธได้ว่ามีหลากหลายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสตรีนิยม ถึงแม้อธิบายไปเท่าไหร่ ก็เสมือนเราการสนทนากับสิ่งที่ก่อด้วยอิฐ หนสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขออ้อนวอนต่อท่านทั้งหลาย จงโปรดพึงระลึกเพียงว่า “สตรีนิยมมีแนวคิดที่สำคัญ คือต้องการสลายระบอบอำนาจนิยมมาสู่การนำเสนอความเท่าเทียมกันของทุกเพศ ไม่เว้นแม้แต่เพศชายก็ตาม”

    อ้างอิง

    • จิรชาติ สันต๊ะยศ.(2551).ประวัติศาสตร์ฉบับ “รื้อสร้าง” ทั้งที่ “จริง” และ “สร้างใหม่” พระราชชายาเจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ: มติชน.
    • เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว.(2559). เปิดแผนยึดล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน.
    • นิตยสารศิลปวัฒนธรรม.(2566). เรื่องเจ้าดารารัศมี “เมียโปลีซี” ของรัชกาลสที่ 5 
    • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง.(2507). หนังสือเพ็ชร์ล้านนา เล่ม 1
    • ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปีแห่งรักหมะเมียะ-เจ้าศุขเกษม (พ.ศ.2446-2546) 
    • สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่

    Related

    “ฝันเราไม่เคยจนตรอก” เชียงใหม่ส่งพลังบอลเกงกิ สมัครเพื่อโหวต สว. เปลี่ยนอนาคตประเทศ

    19 พฤษภาคม 2567 เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม สมัครเพื่อเปลี่ยน: จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ บริเวณประตูท่าแพ...

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...