ชาวบ้านแม่น้ำกกพบ ‘ปลาเสือ’ ปลาเสี่ยงสูญพันธุ์ในรอบ 20 ปี เดินหน้าศึกษาแหล่งเพาะพันธุ์ นักวิชาการชี้ เขื่อนมีผลกระทบโดยตรง

เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา มีรายงานชาวบ้านกลุ่มประมงแม่น้ำกกจับ ‘ปลาเสือ’ หรือ ‘ปลายี่สกไทย’ น้ำหนัก 15.8 กิโลกรัมได้ 1 ตัวบริเวณปากแม่น้ำกก บ้านเชียงแสนน้อย ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นปลาที่ไม่เคยถูกจับหรือพบในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2546 ตามการติดตามสถานการณ์ปลาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายของสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

โดยปลาเสือ เป็นชื่อเรียกของชาวประมงแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย แต่ถูกเรียกโดยทั่วไปเรียกว่าปลายี่สก หรือ ปลายี่สกทอง เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Probarbus jullieni อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae สถานการณ์อนุรักษ์ของปลายี่สกอยู่ในบัญชีไซเตส สถานภาพถูกคุกคาม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์


ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

สำหรับพื้นที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายมีการจับได้ที่ปากแม่น้ำกก พื้นที่มีลักษณะระบบนิเวศ เป็นที่ราบน้ำท่วม บริเวณแม่น้ำกกมาบรรจบกับแม่น้ำโขง  ที่ชาวบ้านเรียกว่าปงกก เป็น 1ใน 12 ของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง  “ปงกก” ลักษณะเป็นที่ราบปากแม่น้ำ มีต้นไม้ ต้นแขมขึ้นปกคลุม ในฤดูน้ำหลากจะถูกน้ำท่วมเป็นผืนเดียวกับแม่น้ำ ช่วงน้ำลดจะเหลือเป็นร่องน้ำ บวก  และแห้งในฤดูแล้ง ปงเป็นแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลาในแม่น้ำโขงก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแม่น้ำกก ปัจจุบันปงถูกถมกลายเป็นท่าเรือพาณิชย์แห่งที่ 2 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

ตามข้อมูลของ สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เผยว่าปลาเสือหรือปลาเอินในอดีตเคยมีชุกชุมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และแม่น้ำโขง  สำหรับในแม่น้ำโขงมีการพบได้ทางภาคอีสาน แต่ทางโขงเหนือยังไม่เคยมีการจับปลาเสือได้ทั้งในแม่น้ำอิงและแม่น้ำกก จากการทำงานที่ผ่านมาคิดว่าคงไม่มีปลาเอินในพื้นที่น้ำโขงเชียงราย การจับได้ของชาวประมงในครั้งนี้ จึงได้รู้ว่าในพื้นที่ยังมีปลาเสืออยู่ และตีความได้ว่าระบบนิเวศของแม่น้ำกกนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ และทางสมาคมก็มีแผนที่จะทำการศึกษาพันธ์ูปลาหายากนี้ต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตต้องการศึกษาค้นคว้าคือแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติของปลาเสือในพื้นที่ เนื่องจากในตอนนี้ยังไม่รู้ว่าปลาเสือที่มีการค้นพบเป็นปลาอพยพขึ้นมาเพื่อวางไข่หรือเป็นปลาประจำถิ่น อีกทั้งในปัจจุบันสถานการณ์ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงยังมีความแปรปรวนและผิดปกติเนื่องมาจากการมีอยู่ของเขื่อนจำนวนมาก และอีกหลายเขื่อนที่อาจจะถูกสร้างขึ้นอีกในอนาคต เช่น เขื่อนปากแบง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการอพยพของปลาพันธุ์ต่างๆ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง