สืบสกุล กิจนุกร เปลี่ยนวิธีคิด ก้าวข้ามกับดักเขตแดนรัฐชาติและกระจายอำนาจ ปัญหา #น้ำท่วมเชียงราย

เรื่อง: ปุณญาพร รักเจริญ

ถึงแม้สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดเชียงรายที่ผ่านมาขณะนี้ได้คลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนและอาสาสมัครเร่งทำความสะอาดฟื้นฟูเมืองหลังน้ำลด ถือได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี และได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ประชาชนทั้งร่างกายและทรัพย์สินโดยเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM รายงานว่า จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ทั้งหมด 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย รวมทั้งหมด 7 ตำบล 43 หมู่บ้าน โดยมีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 8,968 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2 คน 

หากมาดูที่งบประมาณสำหรับการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในปี 2567 ที่มีจำนวน 533.84 ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงรายได้รับงบประมาณ 58.55 ล้านบาท และมีโครงการทั้งหมด 50 โครงการ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่นั้นเน้นการก่อสร้างฝาย และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพน้ำ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 38 โครงการ (11.74 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น 4 โครงการ (2.00 ล้านบาท) โครงการขุดลอก 3 โครงการ (8.79 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างและวางท่อระบายน้ำ 2 โครงการ (4.76 ล้านบาท) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ 2 โครงการ (25 ล้านบาท) และโครงการปรับปรุงตลิ่งลำน้ำแม่ห่าง 1 โครงการ (6.27 ล้านบาท)

‘Lanner’ สัมภาษณ์ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถึงสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่อำเภอแม่สายและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยใจความสำคัญคือการเผยให้เห็นถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมของหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ โดยเฉพาะบทบาทของภาคประชาสังคมที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วและยืดหยุ่นภายใต้รัฐรวมศูนย์แบบไทย อีกทั้งชวนปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่มีต่อแม่น้ำและชีวิตของน้ำท่วม รวมทั้งข้อเสนอต่อการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำได้ด้วยตนเองมากขึ้น

น้ำท่วมกับความไม่รู้และกับดักเขตแดนรัฐชาติ (Unknown watershed: Nation-State territorial trap)

ในฐานะนักสังคมศาสตร์สืบสกุลมองว่าน้ำท่วมในครั้งนี้เป็น Unknown Watershed หรือ แหล่งน้ำที่ไม่ทราบที่มา กล่าวคือทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนทั่วไปนั้นรู้เพียงจุดสิ้นสุดของแม่น้ำสายและแม่น้ำกกแต่ไม่รู้ถึงต้นน้ำว่ามาจากที่ไหน จึงทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำและปริมาณฝนตกสะสมได้และมารู้ในภายหลังหลังจากที่น้ำได้ท่วมไปแล้วจากข้อมูลแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์

“ถามว่าทำไมเราไม่รู้ เราไม่มีนักวิชาการที่เก่งหรือเปล่า? เทคโนโลยีเราไม่มีหรือเปล่า? ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่  แต่เพราะว่าทั้งนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย แม้กระทั่งประชาชนทั้งหมดตกอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า Nation state (รัฐชาติ) กับดักทางความคิดที่ยึดติดกับเส้นเขตแดนของรัฐชาติซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันเป็นตัวกำหนดมุมมองการศึกษาและแผนนโยบายการจัดการน้ำท่วม-ไฟป่าบนพื้นฐานของขอบเขตประเทศรัฐชาติ”

และเมื่อเรามองไม่เห็นว่าต้นน้ำมีปริมาณน้ำเท่าไหร่หรือมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างไร รวมทั้งการทำเหมืองทอง, เหมืองถ่านหินที่ต้นน้ำกก การปลูกข้าวโพดบนภูเขาในเขตรัฐฉานซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำกกและแม่น้ำสายทำให้ป่าไม่เหลือต้นไม้ไว้คอยซับน้ำ สุดท้ายแล้วทำให้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่หลากไหลมายังพื้นที่ของเราไม่ได้ซึ่งจะรู้ก็ต่อเมื่อน้ำท่วมมาถึงบริเวณหัวฝายซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสายไหลผ่านอีกทั้งเป็นที่ตั้งชุมชนบริเวณท่าขี้เหล็กซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมา  เพราะมีจุดวัดน้ำและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคอยให้สัญญาณเตือนอยู่ แต่ถึงแม้จะมีจุดวัดน้ำก็สายไปเสียแล้วสุดท้ายน้ำก็ท่วมทั้งท่าขี้เหล็กของเมียนมาและอำเภอแม่สายของประเทศไทย ซึ่งยังไม่นับรวมว่าแม่น้ำกกมีจุดวัดน้ำกี่แห่ง หน่วยงานไหนรับผิดชอบและใครต้องเป็นฝ่ายมาเตือนภัย

“เมื่อตกอยู่ในกับดักทางความคิดเบนส้นเขตแดนของรัฐชาติแล้ว เลยทำให้เราไม่ได้ศึกษาที่นอกเหนือไปจากเส้นเขตแดน นโยบายของเราก็จะบอกแค่ว่าเพราะอำนาจอธิปไตยอำนาจรัฐสิ้นสุดแค่เส้นเขตแดนเราก็เลยไม่ทำ แต่เมื่อเทียบกับแม่น้ำอิงเรารู้หมดเลยว่าต้นน้ำอยู่ที่ไหนเพราะมันอยู่ในขอบเขตรัฐ  เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาเรื่องวิธีคิดและมุมมองที่ใหญ่สำหรับผม”

ปรับเปลี่ยนมุมมองทางความคิดเพราะแม่น้ำมีพรมแดนทางชีวกายภาพเป็นของตนเอง (River as biophysical boundary) สืบสกุลมองว่าประเทศไทยต้องมีการปรับมุมมองทางความคิดเสียใหม่เพราะแม่น้ำเป็นพรมแดนที่สร้าง ขยาย และ ทำลายได้ด้วยตนเอง โดยทิศทางการไหลของน้ำไม่ได้สนใจถึงเขตแดนของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น พรมแดนของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง, ไต, คนเหนือ, พื้นที่ตลาดสายลมจอย, ตัวเมืองเชียงราย และ พื้นที่เศรษฐกิจเนื่องจากทิศทางการไหลของน้ำมีพรมแดน ดังนั้นการบริหารจัดการแม่น้ำ หรือ น้ำท่วม จึงไม่สามารถยึดตามเส้นเขตแดนประเทศและเส้นเขตปกครองได้

ศึกษาน้ำท่วมและเรียนรู้ชีวิตของน้ำท่วม (Floods as living thing: flow, flash, and fierce) สืบสกุลเล่าย้อนถึงประวัติศาสตร์ของเมืองล้านนาที่อยู่คู่กับแม่น้ำและภูเขามายาวนานและจะเห็นว่ามีการสร้างเมือง, ตั้งบ้านเรือนและชุมชนที่ประกอบอาชีพอยู่คู่กับแม่น้ำมาโดยตลอด ซึ่งหากเข้าใจถึงพรมแดนของแม่น้ำแล้วจะพบว่าเราต้องเรียนรู้ชีวิตของน้ำท่วมเพื่อเข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้อย่างไรจึงต้องมองให้ลึกลงไปและเรียนรู้ถึงชีวิตของสายน้ำและการเดินทางของน้ำท่วม ถึงแม้ครั้งนี้จะเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีแต่หากย้อนไปในประวัติศาสตร์แล้วอำเภอแม่สายและอำเภอเทิงก็เคยน้ำท่วมมาก่อน ซึ่งมันอาจจะเว้นระยะห่างเป็นหนึ่งช่วงอายุคนแต่หากมองเห็นถึงชีวิตของน้ำท่วมเป็นอย่างไรแล้วเพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าเราจะอยู่กับน้ำท่วมอย่างไร

การอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้โดยการคาดการณ์และมีความยืดหยุ่น (Living with floods: forecast and flexibility) ในประเด็นนี้ไม่ใช่เพียงการบริหารจัดการเท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องของวิธีคิดและมุมมองที่มีต่อน้ำท่วม สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่คือที่ผ่านมาเราไม่ยืดหยุ่นและเราคิดว่าน้ำท่วมเป็นสิ่งแปลกและไม่อยากให้เกิดขึ้น สืบสกุลได้ยกตัวอย่างถึงน้ำท่วมบริเวณหน้าศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติว่า น้ำท่วมได้ขยายพรมแดนไปทุกที่อย่างรวดเร็วที่ไหล-หลาก-ล้นไปตามท่อระบายน้ำ  ซึ่งน้ำจะเพิ่มขึ้นจะเวลาไหนเราไม่สามารถรู้ได้แต่ถ้าหากสามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้ก็จะรู้ทิศทางการไหลของน้ำและประเมินความเสียหายได้

ท้องถิ่น-ประชาชน การจัดการน้ำท่วมแบบยืดหยุ่นและรวดเร็ว ตอกย้ำปัญหาการจัดการแบบแข็งตัวจากรัฐส่วนกลาง (Fast and Flexible organization in disaster management: decentralization  local government, civil society and social media)

“สิ่งที่เราเห็นคือการให้ความช่วยเหลือที่มัน FLow ไปพร้อมกับกระเเสน้ำและความเดือดร้อนกับผู้คนเพราะเรามีองค์กรที่ Fast เเละ Flexibility มี อปท. มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีหน่วยกู้ภัยฯ ที่มีประสบการณ์และมีแผนกการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยตรง”

สืบสกุลกล่าวถึงรูปแบบการจัดองค์กรที่รวดเร็วในสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายในครั้งนี้และทำงานอย่างรวดเร็วของทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม โซเชียลมีเดีย โดยยกตัวอย่างเสริมถึงกรณีประกาศเตือนว่า มวลน้ำจะถึงและท่วมในตัวเมืองเชียงรายในอีก 6 ชม. ที่มาจากมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติซึ่งไม่ใช่การเตือนที่มาจากหน่วยงานราชการ จากนั้นโซเชียลมีเดีย หรือ สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็นำมาเผยแพร่ผ่านการไลฟ์สดและคลิปวิดีโอซึ่งสามารถเกาะติดสถานการณ์ได้ทันที (real-time) บทบาทของภาคประชาสังคม เช่น หน่วยกู้ภัยฯ, มูลนิธิกระจกเงาที่มีอาสาสมัครล้างบ้าน มีข้าว,น้ำแจกประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันที ถัดมาคือการทำงานที่รวดเร็วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น เทศบาลนครเชียงรายที่มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงและหน่วยปฏิบัติการ ดังนั้นเมื่อมีสถานที่และมีอุปกรณ์ที่พร้อมประชาชนก็จะรับรู้และรับมือกับสถานการณ์ได้ แต่ในขณะเดียวกันการจัดองค์กรแบบราชการ เช่น การรายงานของกรมประชาสัมพันธ์ที่เป็นเพียงแค่กระจายข่าวที่ไม่อัปเดตและไม่เท่าทันสถานการณ์ อีกทั้งมีระเบียบกฎหมายเข้ามากำกับซ้ำไปมาต้องไปสำรวจความเสียหายเสียก่อนและรอยืนยันว่าประชาชนเดือดร้อนจริงจึงจะให้ความช่วยเหลือ

การจัดองค์กรที่ตายตัวไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์น้ำท่วมที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา (Fixed and Fast Bureaucratics Organization in Water and Disaster Governance) ทั้งนี้สืบสกุลยังระบุอีกว่า ระบบราชการไทยเป็นปัญหาใหญ่ในการบริหารจัดการน้ำท่วมที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่น เนื่องจากขณะนี้เราพยายามจัดการน้ำท่วมซึ่งมันเป็นไปไม่ได้หากยังเป็นระบบราชการแบบรัฐรวมศูนย์อยู่ เพราะถึงน้ำไม่ท่วมทุกปีแต่ในท้ายที่สุดแล้วก็จะท่วมอยู่ดีเพราะน้ำมีพรมแดนน้ำท่วมมีชีวิต ดังนั้นหากต้องการจัดการปัญหาและอยู่กับน้ำต้องเริ่มที่การจัดรูปแบบขององค์กรภาครัฐ การออกแผนนโยบายบริหารน้ำท่วม  แผนการฟื้นฟูเยียวยาที่ต้องมีความยืดหยุ่น สืบสกุลชี้ให้เห็นถึงความทับซ้อนในการทำงานขององค์กรราชการตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย พรรคการเมืองรวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

“คนตั้งคำถามว่าระบบเตือนภัยว่าทำไมเราถึงยังไม่มีแล้วหน่วยงานไหนคือผู้รับผิดชอบคอยบอกกับประชาชนว่าน้ำจะท่วมเชียงราย คือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเปล่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือเปล่า กรมอุตุนิยมวิทยาหรือเปล่า หรือจะเป็นสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา สรุปแท้จริงแล้วข้อมูลอยู่ที่ใคร เรามีแต่กรมอุตุฯที่บอกว่าจะมีฝนตก มีประกาศคำเตือนนิดหน่อยว่าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม มันก็ดีแต่มันจริงจังแค่มากน้อยแค่ไหน ” 

ซึ่งในทางปฏิบัติการทำงานองค์กรรัฐได้ฟังก์ชันตามแบบขององค์กรเองอยู่แล้ว กล่าวคือองค์กรราชการทำมากกว่านี้ไม่ได้เพราะจะเป็นการทำเกินหน้าที่ เขาพูดถึงกรณีที่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำไมเชียงรายยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติแต่ในขณะเดียวกันทางเทศบาลได้มีธงแดงประกาศเตือนภัยแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอเพราะขึ้นอยู่กับขอบเขตอำนาจของแต่ละพื้นที่   สุดท้ายแล้วการจัดองค์กรแบบนี้ก็ต้องมีคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการมาคอยตรวจสอบจัดประชุมและต้องยึดกับกฎเกณฑ์นโยบาย 

“ทำให้ท้ายที่สุดแล้วระบบแบบนี้มันไม่ยืดหยุ่นกับน้ำท่วมที่มันมีชีวิตของมัน คุณจัดองค์กรแบบ Fixed เพื่ออยู่กับน้ำไม่ได้ แผนฟื้นฟูเยียวยาก็ต้องรอ การเตือนภัยก็ต้องรอ กว่าประชาชนจะรู้ว่าน้ำจะท่วมก็สายไปแล้ว”

เมืองขยายขวางพรมแดนน้ำ พื้นที่รับน้ำถูกแปรเปลี่ยนเป็นเขตเมือง (Urbanized water barriers: infrastructure, airport, road , football stadium, modern trade, real estate) สืบสกุลระบุว่าการขยายตัวของเมืองในปัจจุบันทำให้เราอยู่กับน้ำที่ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะเมืองขยายไปทุกทิศทางและเป็นตัวขัดขวางพรมแดนของน้ำทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง รวมถึงมีการสร้างกำแพงกั้นการไหลของน้ำและตัดพรมแดนของแม่น้ำ ถนนที่ถูกยกให้สูงกว่าแม่น้ำ พื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่รับน้ำที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น สนามบิน, บ้านจัดสรร, สนามฟุตบอล, ห้างสรรพสินค้า สุดท้ายแล้วจึงเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดว่าจะมีการวางผังเมืองอย่างไรให้เมื่อเวลาน้ำมาอย่างรวดเร็วและต้องทำให้เมืองอยู่ควบคู่ไปกับน้ำได้ 

‘ยกเลิกผู้ว่าฯ แต่งตั้ง’ สร้างและสลายพรมแดนความช่วยเหลือ

สืบสกุลระบุถึงในวันที่น้ำเริ่มท่วมที่ชุมชนเกาะลอยและศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงรายที่ผ่านมาซึ่งบทบาทของความช่วยเหลือที่ไม่เพียงช่วยเหลือแค่คนงานข้ามชาติที่เดือดร้อนเเต่ในรายทางของความช่วยเหลือมีคนไทยที่เป็นกลุ่มเปราะบางและต้องให้ความช่วยเหลือและอพยพออกจากพื้นที่เช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้วการระดมให้ความช่วยเหลือมีทั้งงานที่เฉพาะเจาะจงที่ต้องใช้ทั้ง ทักษะ ความรู้ ความสามาร เครือข่าย การสื่อสาร เครื่องมือและอุปกรณ์   เช่น การเข้าไปช่วยเหลือผู้ตกค้างในกระแสน้ำแรง และ การอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยง ซึ่งองค์กรที่มีบทบาทสูงที่กล่าวไปข้างต้นคือหน่วยกู้ภัยฯจึงต้องการหน่วยงานแบบนี้มากขึ้น

ถัดมาคือการให้ความช่วยเหลือโดยการรวบรวมคนและเปิดกว้างคนให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การทำอาหารแจก, การแจกน้ำดื่ม การบริจาคสิ่งของ, เครื่องมือ, ระดมเงินทุน และที่เห็นได้ชัดคืออาสาล้างบ้านของมูลนิธิกระจกเงาที่อำเภอเทิงและตัวเมืองเชียงราย ดังนั้นต้องสร้างพรมแดนการอยู่ร่วมกันแบบใหม่ที่ Inclusive คนให้เข้ามามากขึ้น และที่สำคัญจะเห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้ไหลรวมไปที่องค์กรที่มีรูปแบบการทำงานที่รวดเร็วและยืดหยุ่นมากกว่าองค์กรราชการ ซึ่งในทางปฎิบัติแล้วนั้นหน่วยงานราชการได้มีการเปิดระดมทุนเช่นเดียวกันแต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก  สืบสกุลจึงได้ตั้งคำถามไปยังหน่วยงานภาครัฐว่า “เมื่อไหร่หน่วยงานภาครัฐจะนำเงินตรงนี้ไปช่วยเหลือให้ถึงประชาชนซึ่งคำตอบคืออีกนานเพราะต้องรอประชุม ตรวจสอบ ยืนยันว่าได้หรือไมได้ก่อน”   

โดยสืบสกุลเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมใหม่ทั้งหมดให้มองว่าแม่น้ำไม่ได้วางอยู่บนวิธีคิดแบบกับดักเขตแดนรัฐชาติควรมองน้ำว่ามีพรมแดนและน้ำมีชีวิตเป็นของตนเอง  เพื่อนำมาสู่การสร้างความรู้และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกันกับประเทศไทยซึ่งจะทำไม่ได้หากยังไม่สามารถสลัดกับดักเขตแดนรัฐชาติออกเสียก่อน ถัดมาเสนอให้มีการกระจายอำนาจที่มากขึ้นซึ่งไม่เป็นเพียงแค่กระจายอำนาจแต่ต้องเป็นการกระจายอำนาจที่มาพร้อมกับการเพิ่มทรัพยากร งบประมาณ ความรู้ เทคโนโลยี เครื่องมือ ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผลมาจาก อปท.ยังมีข้อจำกัดในแง่ของความรับผิดชอบในเขตพื้นที่ตนเองแต่ในความเป็นจริงนั้นน้ำท่วมไม่สนใจขอบเขต อีกทั้งเสนอให้ อปท.ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงกันมีแผนการทำงานร่วมกันมากกว่าแผนการทำงานที่แยกกันของหลาย ๆ องค์กรที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ และสุดท้ายเสนอให้มีการวางผังเมืองที่ต้องคำนึงถึงน้ำว่ามีพรมแดนเป็นของตนเองที่คำนึงถึงชีวิตของน้ำท่วมและการอยู่ร่วมกับน้ำอย่างยืดหยุ่น ดังนั้นการวางผังเมืองและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินต้องคิดคำนึงถึงน้ำท่วม รวมถึงต้องคำนึงถึงประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ว่าบางพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมอาจไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้น 

“ประชาชนอยู่กับระบบราชการมาเป็นเวลานานมากแล้วจนในบางครั้งลืมไปว่าหน่วยงานที่ดูแลประชาชนจริง ๆ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็น  อบต. และ เทศบาล”   

สืบสกุลส่งท้ายว่า ประชาชนจำภาพว่าต้องเป็นผู้ว่าฯ เท่านั้นในการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผู้ว่าฯ อาจจะเป็นหัวหน้าของหลาย ๆ องค์กร แต่ในทางปฏิบัติแล้วนั้นผู้ว่าฯ ทำได้อย่างเดียวคือเรียกประชุมและให้รายงานผลซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้เป็นพื้นที่กระจายตัว ดังนั้นแล้ว อปท.จึงมีบทบาทมากกว่าเพราะอยู่ใกล้ชิดกับปัญหามากกว่า ในขณะเดียวกันผู้ว่าฯ ก็ต้องถามข้อมูลจาก อปท.และได้ข้อมูลมือสองกลับไป สุดท้ายแล้วกลไกทางสถาบันและโครงสร้างในการบริหารที่ยึดติดกับระบบราชการและการปกครองส่วนภูมิภาคซึ่งไม่มีความหมายอะไร ไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ ดังนั้นแล้วหากต้องการให้ผู้ว่าฯมีอำนาจและตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหามากขึ้นต้องร่วมกันผลักดันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งและยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าฯ

เด็กฝึกงานจากสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่มาเรียนในจังหวัดที่ค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์ทุกปี และขอทายว่าถึงแม้จะเรียนจบแล้วค่าฝุ่นก็ไม่น่าลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง