พฤษภาคม 19, 2024

    คนเหนือเดือนตุลา: การรำลึกถึง “คนเดือนตุลา” และชาวไร่ชาวนาที่มักถูกหลงลืม

    Share

    เรื่อง: สุรยุทธ รุ่งเรือง
    ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว



    รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ที่เป็นขบวนการที่เชื่อมกับนิสิตนักศึกษา ภาพรวมของขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาฯ โดยมีประเด็นที่พูดถึงทั้งหมด 4 ประเด็นคือ คือ 1.การรำลึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่สมควรต้องนึกถึงขบวนการชาวนาชาวไร่ด้วย 2.ทำไมถึงต้องทำความเข้าใจในการต่อสู้ของขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ 3.การเชื่อมประสานการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษากับชาวนา และ 4.ผลกระเทือนของขบวนการเคลื่อนไหว

    ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ประเทศไทยในตอนนั้นยังนับว่าเป็นประเทศที่มีโครงสร้างหลักเป็นภาคชนบท กว่า 80% ของพลเมืองในประเทศประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังประสบพบเจอกับความยากลำบาก จากการถูกขูดรีดที่ดินทำกิน การเช่าพื้นที่ทำนา เป็นวัฏจักรที่ชาวนาชาวไร่ในยุคสมัยนั้นต้องเผชิญ จนเกิดการตื่นตัวขึ้นของชาวนาชาวไร่ เกิดเป็นการเคลื่อนไหวในช่วงปีพ.ศ.2516

    ภายหลังชัยชนะของนิสิตนักศึกษาในเดือนตุลาคม การเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวนาชาวไร่ก็ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีการแต่งตั้งตัวแทนชาวนาชาวไร่ในจังหวัดต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีอำนาจหารือต่อรองกับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด จึงได้นำมาสู่การก่อตั้งองค์กรของชาวนาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2517 โดยใช้ชื่อว่า “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” โดยมี นายใช่ วังตะกู เป็นประธานสหพันธ์ในตอนนั้นเอง

    “ชาวนาชาวไร่” คนเดือนตุลาอีกกลุ่มที่ไม่ถูกนับ


    (ภาพ: บันทึก 6 ตุลา ผู้นำชาวนา 8 รายและนักศึกษา 1 ราย เดินทางมาพบกับผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกวาดล้างจับกุมในเดือนสิงหาคม 2518)

    ประเด็นแรก ภาพรวมของการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 มีการงานรำลึกถึงเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมากและยิ่งใหญ่ขึ้นเนื่องคนรุ่นใหม่เองก็หันมาให้ความสนใจและเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งทำให้มีงานวิชาการจำนวนมากขึ้นตามมา จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลเช่นหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ หรือโครงการบันทึก 6 ตุลา นอกจากนั้นคนเดือนตุลา ที่ในปัจจุบันก็เป็นวัยปลดเกษียณ จึงมีเวลาให้มารำลึก รวมตัวจัดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น

    การรำรึกขบวนการเคลื่อนไหว 14 ตุลา และ 6 ตุลา นำมาซึ่งการพูดถึงชื่อ “คนเดือนตุลา” ที่มักจะใช้เรียกถึงนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น และกลายมาเป็นบุคคลสำคัญ มีตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ รัฐมนตรี และรวมไปถึงรองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน แต่ “คนเดือนตุลา” กลับไม่ได้ควบรวมชาวนาชาวไร่ในช่วงเวลาเดียวกันแต่อย่างใด และการพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา ที่มักจะถูกพูดถึงในพื้นที่ของส่วนกลางหรือในกรุงเทพฯ และไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงส่วนภูมิภาคอื่นๆ มากเท่าไรนัก

    อย่างไรก็ตาม ตามคำพูดของ สมชาย หอมลออ ในการอภิปรายนำ 50 ปี 14 ตุลา เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมาได้กล่าวไว้ว่า “ขบวนการ 14 ตุลา หรือที่เรียกกันว่า คนเดือนตุลา คงต้องหมายถึงกลุ่มคนหนุ่มสาว กรรมกร ชาวนา และประชาชนด้วย” รวมไปถึงการจัดงานรำลึกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่มีบ่อยครั้งขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวในปัจจุบันอย่างสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  

    อุดมการณ์ “ที่ดินต้องอยู่กับผู้ถือคันไถ” ความสำคัญของการเคลื่อนไหวจากเกษตรกร

    ในประเด็นถัดมา รศ.ดร.ขวัญชีวัน กล่าวถึงความสำคัญในการรำลึกถึงและความเข้าใจในขบวนการชาวนาชาวไร่ และการตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในในประเทศไทยในปี พ.ศ.2517 เนื่องจากเป็นขบวนการที่มีความแตกต่างจากขบวนการขบถต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต มีลักษณะของการเคลื่อนไหวที่มีระบบระเบียบและมีลักษณะการเรียกร้องในระดับโครงสร้างอย่างชัดเจน ด้วยอุดมการณ์ “ที่ดินต้องอยู่กับผู้ถือคันไถ” นำไปสู่แนวคิดการจัดตั้งโครงสร้างสมัยใหม่ในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นสหพันธ์ระดับประเทศ ระดับภาค ไปจนถึงระดับตำบล ซึ่งถึงเป็นการวางโครงสร้างการเคลื่อนไหวแบบสมัยใหม่ครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐออกกฏหมายเรื่องค่าเช่านา ซึ่งในช่วงนั้นเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก 

    “เฉพาะเชียงใหม่ในปีพ.ศ.2513 พื้นที่นาที่ให้เช่าเป็น 35% ของพื้นที่ทำนาทั้งหมด หมายถึงว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่เป็นของเจ้าที่ดิน แล้วสัดส่วนชาวนาเช่ามีเกือบ 40%”

    ชาวนาชาวไร่ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือมีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนครอบครัว ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย (รวมพะเยา) และแม่ฮองสอน ประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาค่าเช่านา ที่นาในภาคเหนือมีขนาดเล็กและกระจุกตัวอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ดินส่วนน้อยซึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าเมือง และนายทุน โดยตัวเลขในปี พ.ศ.2513 เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่นาที่ให้เช่ามีขนาดร้อยละ 35.1 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด สัดส่วนของชาวนาเช่าบางส่วนร้อยละ 39.4 ของชาวนาทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแย่งยึดที่ดินสารธารณะปัญที่ดินทำกิน ปัญหาการกดราคากรณีใบยาสูบ และเหมืองแร่

    โครงงานชาวนา การผนึกกำลังเคลื่อนไหวของคนสองกลุ่ม

    ศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ เป็นการทำงานร่วมกันกับสถาบันต่างๆ อย่างวิทยาลัยครู มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิด เมื่อมีคนเข้ามาทำงานขึ้นก็กลายเป็นการตั้งโครงงานชาวนา ผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยดูแลชาวนาที่เข้ามาเรียกร้องความไม่เป็นธรรม หลังจากนักศึกษาได้เข้าไปช่วยเหลือก็ไม่สามารถออกมาได้เนื่องจากปัญหาของชาวนามีเยอะมาก เมื่อปลายปี พ.ศ.2518 มีการเรียกร้องให้แบ่งข้าวตามพระราชบัญญัติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มเจ้าที่ดินนั้นไม่แบ่ง หลังจากนั้นก็เกิดการเผชิญหน้าและการลอบสังหารเหล่าผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่

    นอกจากนั้น การทำงานร่วมกันของนิสิตนักศึกษาและชาวไร่ชาวนาในรูปแบบของ “โครงงานชาวนา” ยังมีการจัดอบรม จัดค่าย รวมไปถึงการเสวนาที่มีการเชิญวิทยากรเข้ามาบรรยายให้ความรู้ต่างๆ ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้เป็นการทำงานเต็มเวลาที่นิสิตนักศึกษามักถูกเรียกว่า “นักศึกษาที่ตื่นตัว” มาร่วมเคลื่อนไหวไปพร้อมกับชาวไร่ชาวนา ซึ่งจะประกอบไปด้วยนักศึกษาที่ทำงานเต็มเวลากับชาวนา คลุกคลีกับปัญหาด้วยการอยู่กินกับชาวไร่ชาวนา กลุ่มที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา แต่จะเข้ามาทำงานช่วงที่มีการเคลื่อนไหวใหญ่ และกลุ่มที่จะเตรียมค่ายในหมู่บ้านให้นักศึกษามีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้ชนบททุกสุดสัปดาห์

    การเชื่อมประสาน แรงสะเทือน และความทรงจำของขบวนการชาวไร่ชาวนา

    ในประเด็นที่สาม รศ.ดร.ขวัญชีวัน กล่าวว่าเมื่อชาวไร่ชาวนาและสามัญชนทั้งหลายไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนเดือนตุลา เรื่องการลอบสังหารผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ 30 กว่าคนก็ไม่มีการรื้อฟื้นหรือรำลึกใดๆ อีกทั้งยังไม่มีการสอบสวน ซึ่งผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คือกลุ่มที่ท้าทายอำนาจ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวนา หากไม่มีการพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ ก็จะไม่มีความยุติธรรมแก่พวกเขา

    ความรุนแรงในตอนนั้น เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของชาวนา ที่ทำให้รัฐบาลต้องยอมปรับปรุงนโยบายหลายข้อ เช่นการตราพระราชบัญญัติการเช่านา พ.ศ.2517 การจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และการตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ใน พ.ศ.2518 เพื่อหาทางตั้งโครงการปฏิรูปที่ดินแก้ปัญหาชาวนา หรือนโยบายของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในพ.ศ.2518 ที่ผันเงินไปสู่ชนบทเพื่อสร้างการจ้างงาน แต่ปรากฏว่าในระยะต่อมา มาตรการเหล่านี้ก็กลายเป็นเพียงมาตรการในการผ่อนปัญหา ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถแก้ปัญหาให้กับชาวนาได้อย่างแท้จริง การเคลื่อนไหวและตื่นตัวของชาวนา ได้สร้างความวิตกต่อชนชั้นนำอนุรักษนิยมและผู้นำระดับท้องถิ่น นำไปสู่การตอบโต้ที่มาในรูปแบบของการจับกุมและการตั้งขบวนการลอบสังหารผู้นำชาวนา ทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

    สุดท้าย รศ.ดร.ขวัญชีวัน การรวบรวมความทรงจำผู้ปฏิบัติงานโครงงานชาวนา ได้รวบรวมความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับขบวนการชาวนาชาวไร่ไว้ในหนังสือเรื่อง “ให้เรื่องเล่าของเราเป็นตำนาน” เพื่อรำลึกถึงและอยากให้เห็นความสำคัญทางวิชาการ

    “นอกจากเรื่องการแบ่งข้าวในช่วงต้นปี 2518 แล้ว อีกเรื่องก็จะเป็นการเผชิญหน้าและการลอบสังหาร ซึ่งเมื่อเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคนเดือนตุลาหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนตุลา การลอบสังหารผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ 30 กว่าคนก็ไม่มีการรื้อฟื้น ไม่มีอนุเสาวรีย์ให้พวกเขา ไม่มีการรำลึก เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องพวกนี้ มันก็จะไม่ได้รับความสนใจมากมาย เป็นข่าวแล้วก็จบไป ทั้งๆ ที่เรารู้กันว่ามีการลอบสังหาร แต่ความยุติธรรมจะอยู่ตรงไหน? จะทำยังไงที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ตายและครอบครัวที่ยังอยู่?”

    การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเสวนาในวาระครบรอบ 50 ปี ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 “ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์การต่อสู้กึ่งศตวรรษ เดือนตุลา และการเมืองเรื่องของความทรงจำ” ร่วมบรรยายโดย ดิน บัวแดง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มมังกรน้อย ลูกหลานชาวนาที่เคลื่อนไหวในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร มาลินี คุ้มสุภา และอาจารย์ ดร วันพัฒน์ ยังมีวิทยา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยลัยเชียงใหม่

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...