มีนาคม 28, 2024

    “สมชาย” เปิดข้อถกเถียงสำคัญทางกฎหมายกรณี 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา​

    Share

    21 สิงหาคม 2565

    ภาพ: ประชาไท

    สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข้อถกเถียงสำคัญทางกฎหมายกรณี 8 ปี ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลประยุทธ์สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้เกินวาระ มีเนื้อหาว่า​

    “ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ 51 คณาจารย์ที่เห็นว่าวาระของคุณประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 สิงหาคม และได้มีการถกเถียงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ผมมีความเห็นว่าประเด็นที่เป็นใจกลางของข้อถกเถียงมีดังต่อไปนี้​

    ประเด็นแรก ในตอนเริ่มต้นผมมีความเห็นว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญค่อนข้างมีความชัดเจนที่กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี แต่ในภายหลังได้เกิดการโต้แย้งและความเห็นแย้งอย่างมาก ดังนั้น จึงอาจอนุโลมได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้ไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ดังนั้น ในการอธิบายความหมายของมาตรานี้จึงต้องค้นหา “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญ ว่าบทบัญญัติที่เกิดขึ้นควรมีความหมายอย่างไร​

    ประเด็นที่สอง คำถามสำคัญที่ติดตามมาและถือเป็นหัวใจของข้อถกเถียงก็คือ จะค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เป็นที่รับรู้กันว่าเมื่อต้องการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย การให้ความหมายหรือการถกเถียงของผู้ร่างในกระบวนการจัดทำถือเป็นแหล่งที่มาสำคัญอันหนึ่ง (แม้การให้ความหมายของผู้ร่างในภายหลัง เช่น การให้สัมภาษณ์ในเวลาปัจจุบันก็ไม่มีน้ำหนักเทียบเท่า) กรณีของบทบัญญัติเรื่องวาระ 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีก็มีความชัดเจนในรายงานการประชุมว่าให้ครอบคลุมถึงการดำรงตำแหน่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ​

    เพราะฉะนั้น ก็ควรรวมไปถึงการดำรงก่อนหน้า พูดให้ชัดมากขึ้นก็คือ ถ้า พล.อ. เปรม ยังไม่ถึงแก่ความตาย ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีก เพราะดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปีแล้ว​

    ประเด็นที่สาม เมื่อการโต้แย้งเป็นเรื่องการค้นหาเจตนารมณ์ จึงเป็นการให้คำอธิบายว่ากระบวนการค้นหาเจตนารมณ์จะทำอย่างไรจึงเข้าถึงได้มากที่สุด มันไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับการจำกัดวาระ 8 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการให้เหตุผลของบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ ผมยังยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือ ปัญหาสำคัญของสังคมไทยปัจจุบัน ​ ​

    ประเด็นที่สี่ มีการหยิบยกว่าบทบัญญัตินี้ไม่อาจเทียบเคียงกับกรณีคุณสิระ เจนจาคะ เพราะกรณีดังกล่าวมีคำว่า “เคย” กระทำในสิ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้าม แต่กรณีนายกฯ ไม่ได้มีคำว่า “เคย” เป็นนายกฯ ผมเห็นว่าการมีคำว่าเคยหรือไม่มีคำนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะมีเจตนารมณ์บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจนแล้ว ย่อมไม่อาจนำเอาถ้อยคำมาเปลี่ยนแปลงความหมายถ้าไม่ชัดเจนเพียงพอ หากพยายามตีความด้วยการใช้ถ้อยคำบางถ้อยคำก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นว่าเป็นการตีความเพื่อสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมให้สามารถดำรงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ​

    ประเด็นที่ห้า การโต้แย้งว่าบทบัญญัติ 8 ปี เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบประธานาธิบดี ไม่ควรนำมาใส่ไว้ในระบบรัฐสภา ความเห็นนี้อาจมีจุดอ่อนบางประการคือ อะไรคือแก่นแกนของระบบรัฐสภา เรากำลังพูดถึงระบบรัฐสภาในศตวรรษที่ 17 หรือศตวรรษที่ 21 ระบบรัฐสภามีพลวัตไปอย่างมาก กลไกหลายอย่างไม่เคยมีอยู่ในระบบรัฐสภา เช่น ถ้าเอาอังกฤษเป็นต้นแบบ ศาลรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมอย่างแน่นอน รวมถึงหลายประเทศก็รับเอาศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบการเมืองของตน​

    ในประเด็นนี้ ผมคิดว่าแกนกลางสำคัญที่จำแนกระหว่างระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีก็คือ รัฐบาลในระบบรัฐสภามาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภาทำให้มีการถ่วงดุลค่อนข้างใกล้ชิด ส่วนระบบประธานาธิบดี ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจึงมีความเป็นอิสระจากกันค่อนข้างมาก ส่วนกลไกอื่น ๆ สามารถที่จะดัดแปลง เพิ่มเติม แก้ไข ตามความต้องการของแต่ละสังคม กรณีของการจำกัดวาระนายกฯ ก็ถือควรถือว่าอยู่ในส่วนนี้​

    ที่กล่าวมานี้เป็นความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติม นี่ไม่ใช่การตีความหรือใช้กฎหมายตามใจชอบเพื่อเล่นงานคุณประยุทธ์ แต่เป็นเรื่องของหลักการทางกฎหมายเฉพาะอย่างยิ่งการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ความเห็นทั้งหมดนี้เป็นความรับผิดชอบของผมแต่เพียงผู้เดียวไม่เกี่ยวกับคณาจารย์อีก 50 ท่านแต่อย่างใด”​

    Related

    อยู่ระหว่างเหนือล่าง ‘เซ็นทรัลนครสวรรค์’ เมื่อ “ห้างใหญ่มีชื่อ” กลายเป็นมาตรวัดการพัฒนา

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนครสวรรค์ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและตื่นตัวแกบรรดาผู้คนในจังหวัดนครสวรรค์รวมถึงผู้คนในจังหวัดรอบข้างอย่างมาก ประกอบกับการโปรโมทห้างเซ็นทรัลนครสวรรค์ที่เราจะพบเห็นได้ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ...

    ต่า โอะ มู วิถีชีวิตปกาเกอะญอ

    เรียบเรียง: กรองกาญจน์ เกี๋ยงภาลัก, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย, อิทธิเดช วางฐานภาพ: จิราเจต จันทร์คำ,...

    เวียงแก้ว : พระราชวังล้านนา คุกข่มดวงเมือง และมรดกโลกที่ยังมาไม่ถึง

    เรื่อง: สิตานันท์ สุวรรณศิลป์  นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  *บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาเครือข่ายการประกอบสร้างความรู้ทางโบราณคดีภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์...