รวบยอดประเด็น ‘เขื่อนปากแบง’ หลัง กฟผ.เซ็นผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า พลังงานเพื่อประชาชนหรือสิ่งแปลกปลอมที่ซ้ำเติมแม่น้ำโขง

เรื่อง: กองบรรณาธิการ Lanner

เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่บริเวณแม่น้ำโขง เป็นที่ตั้งของเขื่อนมากมายที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและความเป็นอยู่ของผู้คนใกล้เคียง อีกทั้งยังมีการต่อสู้ของภาคประชาชนเพื่อส่งเสียงของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ถึงความเดือดร้อนจากผลกระทบที่พวกเขาได้รับ แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีข่าวใหญ่ถูกพูดถึง นั่นคือการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนปากแบงโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลายเป็นเรื่องที่ทั้งน่าจับตามองและน่าเป็นห่วงถึงผลกระทบที่ประชาชนต้องได้รับ โดยเฉพาะผู้คนในจังหวัดเชียงรายและอีกหลายจังหวัดที่แม่น้ำโขงพาดผ่าน


ภาพ: Mymekong.org

ข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าครั้งนี้ถูกพูดถึงเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมาผ่านการชี้แจงของ บัณพร ทศธรรมรัตน์ ผช.ผอ.ฝ่ายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ผู้แทนหน่วยงานรัฐ และผู้นำท้องถิ่น ณ ที่ว่าการอำเภอเชียง จังหวัดเชียงราย โดยการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน ซึ่งจะเริ่มขายไฟฟ้าแก่ไทย ปี พ.ศ. 2576 ราคาค่าไฟต่อหน่วย 2.76 บาท โดยเป็นสัญญาซื้อขายระยะเวลา 29 ปี หลังมีการเรียกร้องจาก กลุ่มฮักเชียงของ ขอให้ตรวจสอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ณ จ.เชียงราย


ภาพ : https://www.nhrc.or.th/News/Activity-News/23267.aspx

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Beng Hydropower Project) หรือเขื่อนปากแบง ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน กิโลเมตรที่ 2188 ในพื้นที่บ้านปากเงย เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ห่างจากจุดสิ้นสุดเขตแดนไทยบนแม่น้ำโขง คือ แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ลงไปเป็นระยะทางเพียง 97 กิโลเมตร โดยมีสันเขื่อนสูง 340 ม. มีกำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่รับซื้อ 897 เมกะวัตต์ ซึ่งมีผู้รับซื้อหลักคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามข้อมูลข้างต้น โดยโครงการดังกล่าวมี บริษัท Pak Beng Power Company Limited (PBPC) เป็นผู้พัฒนา และผู้ถือหุ้น 2 รายได้แก่ บริษัท ไชน่าต้าถังโอเวอร์ซี (China Datang Oversea) บริษัทสัญชาติจีนถือหุ้นอยู่ 51% และ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf Energy Development) บริษัทสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ 49% 

โครงการดังกล่าวถูกตั้งคำถามและจับตามองจากภาคประชาชนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งประเด็นการซื้อขายที่มีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลในปี 2565 บ่งบอกว่าประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินกว่าความต้องการของระบบอยู่ถึง 33% หรือประเด็นผลกระทบที่ประชาชนต้องได้รับที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนมากพอ อย่างไรก็ตามทั้งโครงการเขื่อนพลังงานดังกล่าวและความเป็นกังวลของภาคประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่สามารถย้อนกลับไปได้ถึงช่วงปี 2552

ในเดือนสิงหาคม 2552 ได้มีเอกสารสรุปข้อมูลโครงการเขื่อนปากแบงสำหรับชุมชน โดยเป็นข้อมูลจากการศึกษาของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) มีผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่

1. น้ำท่วมริมตลิ่งตลอดฝั่งน้ำชายแดนไทย-ลาว ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ของหมู่บ้านริมน้ำ เช่น หมู่บ้านในฝั่งประเทศไทย คือ บ้านห้วยลึก บ้านแจ๋มป๋อง บ้านท่าข้าม บ้านดอนมหาวัน บ้านทุ่งอ่าง บ้านเต๋น บ้านปากอิงใต้ บ้านศรีดอนชัย บ้านหาดไคร้ บ้านวัดหลวง และ บ้านเวียงแก้ว หมู่บ้านในฝั่งประเทศลาว คือ บ้านห้วยแคน บ้านปากเงย บ้านห้วยคูณ บ้านห้วยสิด บ้านคกกะ บ้านลุ่มโต่ง บ้านน้ำแย่ง บ้านปากครอบ บ้านห้วยผะลำ บ้านก้อนตื้น บ้านห้วยลำแพน บ้านห้วยสะงึก บ้านน้ำทา บ้านปากทา บ้านคกหลวง และบ้านด่าน

2. พันธุ์ปลาถูกทำลาย สูญเสียอาชีพประมง เขื่อนจะปิดกั้นเส้นทางการอพยพวางไข่ของ พันธุ์ปลาธรรมชาติในแม่น้ำโขง เช่น ปลาบึก ที่อพยพมาจากทางตอนล่างของแม่น้ำโขง รวมไปถึง พันธุ์ปลาในแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำอิง แม่น้ำกก ตลอดจนห้วยสาขาต่างๆ และทำลายระบบนิเวศ การขึ้น-ลง ของระดับน้ำตามฤดูกาล

3. ทำลายอาชีพเรือโดยสารและเรือท่องเที่ยว เขื่อนจะปิดกั้นเส้นทางการเดินเรือโดยสาร ที่เดินทางจากอำเภอเชียงของ และเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ไปเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ทำลายแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำโขง

4. พี่น้องในฝั่งไทย-ลาว มีการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เนื่องจากการก่อสร้าง โครงการเขื่อนปากแบง


ภาพ: เอกสารสรุปข้อมูลโครงการเขื่อนปากแบงสำหรับชุมชน 2552

โครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงพ.ศ. 2538  เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และครบระยะเวลา 6 เดือน วันที่ 19 มิถุนายน 2560  ขณะนั้นกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง แบ่งเป็นในจังหวัดเชียงราย 2 ครั้ง จังหวัดหนองคาย 1 ครั้ง และจังหวัดอุบลราชธานี 1 ครั้ง

การจัดเวทีให้ข้อมูลในครั้งนั้นสร้างความกังวลแก่ชาวบ้านในพื้นที่ถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการสร้างเขื่อนอย่างภาวะ ‘น้ำเท้อ’ อีกทั้งในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็ยังไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนด้วย นำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองของตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของจำนวน 4 คนและตัวแทนเครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ที่ได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 โดยขอให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากแบง และความเห็นต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เนื่องจากการจัดกระบวนการับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมและละเลยดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลลาวจะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง หรือก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอันเป็นล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542


ภาพ: นักข่าวพลเมือง ทรายโขง ณ ผาถ่าน

แม้ว่าศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีของเขื่อนปากแบง แต่ทางกลุ่มรักษ์เชียงของก็ได้มีการยื่นอุทธรณ์ นำไปสู่การนัดรับฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีเขื่อนปากแบง โดยให้เหตุผลว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ซึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐไทยไปลงนามเป็นภาคีไว้ จึงไม่อาจจำเอากฎหมายไทยมาบังคับใช้และรัฐไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต เพิกถอนโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่อยู่ในอธิบไตย (โครงการอยู่ในสปป.ลาว), การฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดี ออกข้อบังคับต่างๆ ในกรณีผลกระทบข้ามพรมแดน เช่น การออกกฎหมายการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 2535ไม่มีการบัญญัติเรื่องการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนไว้และหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ใช่หน่วยงานตามกฎหมายที่จะออกได้ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ปฏิบัติงานในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งประเทศไทยดำเนินนการในฐานะตัวแทนของรัฐบาล การทำความเห็นเกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ตามที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องนั้น ถือเป็นการดำเนินการตามอำนาจบริหารของรัฐบาลไม่ถือเป็นการกระทำทางปกครอง  ที่ศาลปกครองจะรับฟ้องได้คำขอที่ให้สทนช.มีข้อแนะนำ หรือข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภายใน กฟผ. และหน่วยงานอื่น ให้พิจารณาการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเขื่อนปากแบงก็ไม่ใช่เป็นการกระทำทางการปกครองที่จะรับฟ้องได้ จึงถือว่าคดีถึงที่สุด

หลังจากที่คดีความสิ้นสุดลง ท่าทีของการสร้างเขื่อนตามโครงการดังกล่าวก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จนเมื่อปี 2562 รัฐบาลลาวได้ระงับโครงการเขื่อนปากแบงและเขื่อนปากลายไว้ก่อน เนื่องจากต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมข้ามพรมแดนให้ละเอียดครบถ้วน

ประเด็นการสร้างเขื่อนปากแบงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ จนกระทั่งมีการชี้แจงการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมาตามที่ข้อมูลข้างต้น ที่ปลุกความกังวลของชาวบ้านในจังหวัดแถบลุ่มแม่น้ำโขงขึ้นมาอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ร่วมกับเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ทำหนังสือด่วนถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เขื่อนปากแบง เนื่องจากความกังวลใจหลายประการที่ชาวบ้านตั้งคำถามไปกับหน่วยงานราชการยังไม่ได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงใดๆ สวนทางกับกฟผ. ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนปากแบงแล้ว

นอกจากจะตั้งคำถามเพื่อผ่อนคลายความกังวลต่อการก่อสร้างในพื้นที่แม่น้ำโขงที่ถูกยกขึ้นถามทุกครั้งที่มีประเด็นการสร้างเขื่อนดังกล่าวในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแล้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ร่วมกับเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยังได้ชี้แจงประเด็นความไม่จำเป็นและความบกพร่องของเขื่อนปากแบงไว้ด้วย

หนังสือระบุว่าโดยความไม่สมบูรณ์ของเอกสารรายงานการศึกษาผลกระทบทั้งหมดของโครงการเขื่อนปากแบง มีการใช้ข้อมูลเก่า ไม่เป็นปัจจุบัน ส่งผลกระทบทำให้เกิดการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและมาตรการที่จะป้องกัน ติดตามและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และไม่มีมาตรฐาน และประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอไม่เคยได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะน้ำเท้อจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง ว่าน้ำจะท่วมเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนตนอย่างไร มีระดับสูงขนาดไหนและจะเสียหายอย่างไร ระยะเวลาเท่าใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่พิจารณาทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ขอให้คำนึงถึงเสียงและสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่ต้องแบกรับภาระผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นกลุ่มแรก ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบข้ามพรมแดนดังกล่าวในอนาคตต่อไป รวมทั้งประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนที่ต้องแบกภาระต้นทุนจากเขื่อนที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ

ประเด็นเขื่อนพลังงานพลังน้ำปากแบงนั้นอยู่สร้างความกังวลใจให้ประชาชนในแถบลุ่มน้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาวมาอย่างยาวนาน แต่ข่าวคราวการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของกฟผ.ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างความวิตกให้แก่ประชาชนไม่น้อยกว่าที่ผ่านมา แม้ว่าบางหน่วยงานจะยืนยันว่าจะยังไม่มีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากต้องรอแผนรับรองผลกระทบเสร็จสิ้น รวมถึงยังต้องใช้ข้อมูล EIA ที่ฝั่งลาวกำลังทำการศึกษาอยู่ แต่นั่งก็ยิ่งสนับสนุนข้อสงสัยของภาคประชาชนโดยเฉพาะใน 8 จังหวัดแถบลุ่มน้ำโขงมากขึ้นว่าเหตุใด กฟผ.จึงต้องรีบร้อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครั้งนี้นัก เพราะแม้การก่อสร้างจะยังไม่เริ่มต้นขึ้น แต่การลงนามในสัญญาดังกล่าวก็เป็นสัญญาณว่าสิ่งปลูกสร้างที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและความเป็นอยู่ของผู้คนในอาณาบริเวณนั้นเข้ามาใกล้ขึ้นทุกขณะ


อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง