22 สิงหาคม 2565
หลังการลอบสังหารพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2518 ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในหลายละลอกต่อจากนั้นในเดือนสิงหาคม มีผู้นำชาวนาในภาคเหนือที่ถูกสังหาร ลอบทำร้ายและถูกอุ้มหายในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งหมด 7 คน คือ
1.นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2518 ภายหลังกลับจากงานศพพ่อหลวงอินถา
2.นายมี สวนพลู สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
3.นายตา แก้วประเสริฐ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
4.นายตา อินต๊ะคำ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2518
5.นายนวล สิทธิศรี สมาชิกสหพันธ์ฯ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 (หมายเหตุ – ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันที่ 13 สิงหาคม 2518 ระบุว่าเป็นการถูกยิงครั้งที่ 2 โดยนายนวลเมื่อเดินทางกลับมาจากการชี้ตัวผู้ต้องหา ก็ถูกยิงที่หน้าบ้านและเพื่อนบ้านได้นำส่งโรงพยาบาล “อาการเป็นตายเท่ากัน” แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเสียชีวิตหรือไม่)
6.นายพุฒ ทรายคำ ผู้นำชาวนา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518
7.นายแสวง จันทาพูน รองประธานสหพันธ์ฯ ระดับหมู่บ้าน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกยิงและได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2518
ทั้งนี้ในภาคกลางยังมีนายช้วน เนียมวีระ สมาชิกคณะกรรมการสหพันธ์ฯ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 12 สิงหาคม 2518 อีกด้วย
โดยในช่วงเวลานั้นในงานศพของพ่อหลวงอินถา เพื่อนร่วมขบวนสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 9 คน โดยป้ายสีข้อหาที่ไม่เป็นความจริงคือ การกักขังหน่วงเหนี่ยวเจ้าของเหมืองกับเจ้าหน้าที่อำเภอในอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และการระดมมวลชนให้ฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อนที่จะลุกลามไปสู่การเคลื่อนไหวลุกฮือของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประชาชนในจังหวัดลำพูน ก่อนจะปล่อยตัวทั้ง 9 คนเนื่องจากไม่มีหลักฐาน (ไว้จะเล่าถึงแบบลงลึกในโอกาสต่อไป)
ด้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกรายการพบประชาชนทางสถานีโทรทัศน์ในวันที่ 8 สิงหาคม 2518 ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปราบปรามประชาชน แต่ก็ยอมรับว่าการลอบสังหารผู้นำชาวนานั้น คล้ายมีขบวนการล่าสังหาร โดยในวันที่ 8 สิงหาคม นั่นเองก็มีผู้นำชาวนาในภาคเหนือที่ถูกอุ้มหาย 2 คนด้วยกัน
การลอบสังหาร ลอบทำร้ายและถูกอุ้มหาย ยังคงเป็นปริศนา และไม่สามารถจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุได้ ทั้งยังมีการลอยนวลพ้นผิด พร้อมกันทั้งนี้ยังมีการเบี่ยงประเด็นและบิดเบื้อนสาเหตุการตายของผู้นำชาวนา ทั้งประเด็นชู้สาว เรื่องผลประโยชน์ ตลอดจนการสังหารกันเองในหมู่ชาวนาและนักศึกษา อย่างกรณีของพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ได้มีการปลอมจดหมายเพื่อป้ายสีว่า พ่อหลวงต้องการที่จะลาออกจากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จึงถูกฝ่ายซ้ายจ้างฆ่า เป็นต้น
ถ้ามองจากเหตุการณ์ในห้วงเวลานั้นจะพบว่าช่วงปี 2517 – 2518 ชาวนาและนักศึกษา ร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น ชาวนานำข้อเรียกร้องมายังท้องถนน นักศึกษาก็ลงมาเรียนรู้ร่วมกันกับชาวนาในชนบท เกิดเป็นโครงงานชาวนา เพื่อคลุกคลีกับปัญหา รณรงค์เผยแพร่ข้อมูลเรื่องกฎหมายและประชาธิปไตย จัดค่ายนักศึกษาไปเรียนรู้ชนบท เชื่อมประสานการต่อสู้ จนนำไปสู่การผลักดันให้เจ้าที่ดินยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517
นี่คือความเข้มแข็งของขบวนการประชาชนในห้วงเวลานั้น ก่อนที่จะถูกปราบปรามผ่านการ “ลอบสังหาร” ในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2518 มีสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ถูกสังหารไป 21 คน โดยส่วนมากเกิดขึ้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่ชื่อของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยจะหายไปในทางสาธารณะ และต้องปฏิบัติการแบบใต้ดิน ก่อนจะถูกตัดตอนให้หายไปอย่างเงียบงัน และการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะค่อยๆ ปิดตายประวัติศาสตร์ก่อนหน้านั้น
อ้างอิงจาก
-การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน ชาวนา นักศึกษา กฎหมายและความรุนแรงในภาคเหนือของไทย โดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น
-ความรุนแรงและการลอบสังหาร โดยเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...