หลือเกอะเจ่อ จิเปอะเตรอเกอจ่า บวชภูเขา ต้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์​

22 สิงหาคม 2565

ภาพ: จินตนา ประลองผล​

-แม่ฮ่องสอน- 21 สิงหาคม 2565 ชาวบ้านอำเภอแม่ลาน้อยจัดพิธีกรรม “หลือเกอะเจ่อ จิเปอะเตรอเกอจ่า” บวชภูเขา(บวชป่า) ร่วมการสรรเสริญธรรมชาติ โดยผสมผสานความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ คริสต์โปรเตสแตนต์ คริสต์คาทอลิก และความเชื่อดั้งเดิม ณ พื้นที่เหมืองแร่เก่า ลานป่าชุมชนกลุ่มรักษ์ห้วยมะกอก ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.10 น.​

ซึ่งมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 12 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยมะกอก บ้านห้วยตะพาบ บ้านห้วยตองก๊อ บ้านผาแดงหลวง บ้านโป่งน้ำร้อน บ้านหัวดอย บ้านห้วยมะกอกน้อย บ้านหัวตาด บ้านหัวลา บ้านแม่ลาหลวง บ้านสันติพัฒนา และบ้านสันติสุข อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมรวมกว่า 500 คน ​

โดยผู้ใหญ่บ้านสันติสุขได้ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ดังนี้​
1. เพื่อประกอบพิธีกรรมบวชภูเขา(บวชป่า) “หลือเกอะเจ่อ จิเปอะเตรอเกอจ่า”ร่วมกันบูชาจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติในผืนป่านี้​
2. เพื่อเป็นการรวมพลังของเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ลา ว่าจะคัดค้านไม่เอาโครงการเหมืองฟลูออไรต์ในพื้นที่ตำบลสันติคีรีและแม่ลาหลวง​
3. เพื่อปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขอชุมชนอย่างยั่งยืนสืบไป​

ภาพ: จินตนา ประลองผล​


นายหาญนรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้กล่าวว่า ผมมีโอกาสได้ไปดูสภาพป่า และพื้นที่ที่จะมีการขอสัมปทานเหมืองแร่ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผมมองว่า
1. พื้นที่เหมืองอยู่ติดกับลำน้ำและเป็นแหล่งต้นน้ำ ซึ่งในกฎหมายแร่กำหนดว่าเส้นทางน้ำกับรัศมีการทำเหมืองต้องอยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่า 50 เมตร และไม่สามารถตั้งในพื้นที่ที่เป็นแหล่งซับซึมของน้ำหรือแหล่งต้นน้ำได้​
2. ผมคิดว่าจากการพยายามจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมฯในวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องผิด การทำรายงานเวทีรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมและเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ใช้ประกอบการทำ EIA จะรวมกันไม่ได้ เนื่องจากอยู่คนละกระบวนการซึ่งต้องแยกออกจากกัน​
3. ต้องมีการประชุมเสมอหน้าโดยเป็นวาระพิจารณาไม่ใช่วาระที่แจ้งให้ทราบ​
4. หลักการใช้พื้นที่ต้องผ่านการนำเข้าสู่อบต.ก่อน และหากมีการเข้าพบผู้ใหญ่บ้านให้ยืนยันว่าตัดสินใจไม่ได้ต้องปรึกษาชาวบ้านก่อน ให้ชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจ​
5. ให้พี่น้องคอยสอดส่องดูแลว่ามีคนแปลกหน้าเข้าออกพื้นที่หรือไม่​
6. หากมีการทำประชาคมหมู่บ้านแล้วประชาชนไม่เห็นด้วยก็โหวตไม่เห็นด้วยเลย​

ภาพ: จินตนา ประลองผล​


ทนายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน ได้อธิบายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและรัฐมักจะใช้กับประชาชน กล่าวว่า กฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐ ประกอบไปด้วย 3 ฉบับ ​
1. พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ​
2. กฎหมายสิ่งแวดล้อม (พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535)​
3. กฎหมายป่าไม้ (พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507)​

ซึ่งเครื่องมือที่สามารถใช้ในการต่อสู้ของประชาชนและเป็นสิทธิที่ประชาชนควรต้องได้รับ ประกอบด้วย 4 สิทธิ และ 3 เสรีภาพ ดังนี้​
1. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร​
2. สิทธิที่จะร้อง (อะไรที่ไม่เป็นธรรมเราสามารถร้องเรียนได้)​
3. สิทธิที่จะร่วม (การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่ข้อเสียของการมีส่วนร่วมในประเทศไทย คือ ประชาชนไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ)​
4. สิทธิที่จะฟ้อง (สิทธิที่จะฟ้องเมื่อไม่ได้รับความยุติธรรม)​
และ 3 เสรีภาพ คือ​
1. เสรีภาพในการแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีบัญญัติอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ​
2. เสรีภาพในการรวมกลุ่ม​
3. เสรีภาพในการชุมนุม​

ภาพ: จินตนา ประลองผล​


นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ จากเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวให้กำลังใจพี่น้องว่า “ให้พี่น้องพยายามสร้างเครือข่ายให้เป็นวงกว้าง ต้องแสดงจุดยืนว่าไม่เอาเหมืองให้ชัดเจน และให้มองว่าทรัพยากรไม่ใช่เพียงแค่ของพี่น้องห้วยมะกอกเท่านั้น แต่ทรัพยากรเหล่านี้เป็นของพี่น้องแม่ลาน้อยทุกคน”​

พระมหาฐาน์นดร กล่าวว่า ผลของน้ำท่วมที่เราเห็นในวันนี้ยังสร้างผลกระทบให้เรามากมายขนาดนี้ หากมีการทำเหมืองแร่จะกระทบขนาดไหน ดังนั้นอยากขอบิณฑบาตจากภาครัฐ เอกชน เพราะทุกอย่างที่อยู่ในพื้นที่นี้เป็นชีวิต หากทำลายตรงนี้ก็เท่ากับทำลายชีวิต​

และปิดท้ายด้วยการประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรต์จากตัวแทนเยาวชน​

พวกเรา “ชาวลุ่มน้ำลา” ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งคนปกาเกอะญอ ละว้า และคนเมือง ณ ตำบลสันติคิรี ตำบลแม่ลาหลวงและตำบลแม่โถ ที่มารวมตัวกัน ณ ที่นี่ เพื่อประกอบพิธีกรรม “หลือเกอะเจ่อ จิเปอะเตรอเกอะจ่า” บวชภูเขา(บวชป่า)และร่วมกันบูชาจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ เพื่อสืบทอดคำสอนของบรรพบุรุษที่ให้เรารักป่า รักดิน รักน้ำ และดำรงวิถีชีวิตที่ผูกพัน เกื้อกูล และเคารพต่อธรรมชาติ ผืนป่าและสายน้ำ​

นับตั้งแต่ที่เราได้รับรู้ว่าจะมีโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์เข้ามาในพื้นที่หมู่บ้านห้วยมะกอก ตำบลสันติคีรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาหลวง อันเป็นสายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของเราชาวลุ่มน้ำลามาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษ พวกเราได้ร่วมกันเรียกร้องคัดค้านโครงการต่อหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าหากมีการอนุมัติให้ทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ได้จะมีการขุดเจาะภูเขาและทำลายป่าไม้ อันเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยไม่อาจฟื้นคืนได้อีก แต่เสียงของเรากลับไม่ได้รับการตอบสนองและรับฟังอย่างแท้จริง พวกเขากลับยังคงเดินหน้าดำเนินการเพื่อจะอนุมัติให้มีการทำเหมืองแร่ให้ได้​

เราชาวลุ่มน้ำลาจึงขอประกาศเจตนารมณ์ต่อจิตวิญญาณของภูเขา ป่าไม้และแม่น้ำ อันเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณแห่งบรรพบุรุษทั้งหลายของเราว่า เราจะร่วมกันต่อสู้เรียกร้องคัดค้านโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ อย่างเข้มแข็งและมีพลัง จนกว่าโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์จะยุติลงและออกไปจากพื้นที่ของเราตลอดไป​

ท้ายนี้ ขอให้พวกเราประกาศจุดยืนพร้อมกันว่า “พวกเราชาวลุ่มน้ำลาไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรต์”
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของชุมชน​
21 สิงหาคม 2565​
ณ พื้นที่เหมืองแร่เก่า ลานป่าชุมชนกลุ่มรักษ์ห้วยมะกอก​

ภาพ: จินตนา ประลองผล​


ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง