เจาะเวลาหา ‘ผู้ว่า CEO’ ก่อนกลับมาในรัฐบาลเศรษฐา จะได้ไหมกระจายอำนาจ?

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

“ผู้ว่า CEO” คือนโยบายที่รัฐบาลเศรษฐา แถลงต่อรัฐสภาส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ปรับเปลี่ยนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นแบบ CEO ซึ่งจากการสืบค้นระบุว่า นโยบายนี้จะสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็ยังไม่เห็นข้อมูลและรายละเอียดของนโยบายนี้ชัดเจนว่าจะมีทิศทางไปทางไหน

ซึ่งการแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาที่ผ่านมายังไม่เห็น นโยบาย “เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่พร้อม” ที่เคยพูดไว้เมื่อตอนหาเสียงก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งการเข้ามาแทนที่นโยบายเมื่อตอนหาเสียงของนโยบาย ผู้ว่า CEO ได้สร้างความมึนงงทั้งฝ่ายค้าน นักวิชาการ รวมไปถึงประชาชนที่พร้อมจะหย่อนบัตรเลือกผู้นำจังหวัดของตนเอง

Lanner ชวนทำความเข้าใจและตั้งคำถามถึงนโยบาย ผู้ว่า CEO ว่ามีติดขัดตรงไหน มีความเป็นมายังไง และที่ผ่านมาภาคประชาชนมีความพร้อมต่อการกระจายอำนาจมากน้อยแค่ไหน 

นายกรัฐมนตรี แห่งจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา พริษฐ์ได้อภิปรายต่อนโยบายทางการเมืองและการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนอกจากประเด็นสำคัญอย่างประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยังมีหนึ่งประเด็นสำคัญที่ พริษฐ์ได้อภิปรายคือประเด็น “รัฐราชการรวมศูนย์และการกระจายอำนาจ”

พริษฐ์ ระบุว่านโยบายของรัฐบาลเศรษฐาต่อประเด็นการกระจายอำนาจนั้นเป็นคำพูดกว้างๆ และมีแค่สิ่งเดียวที่สามารถจับต้องและรัฐบาลก็ยืนยันที่จะเดินหน้าต่อคือ “ผู้ว่า CEO”

โดยเพจของพรรคก้าวไกลได้เรียบเรียงคำอภิปรายของ พริษฐ์ ต่อประเด็น “ผู้ว่า CEO” ไว้ดังนี้

หาก “ผู้ว่า CEO” นี้คือการรื้อฟื้นแนวคิดจากสมัยรัฐบาลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตนก็ต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้จะจริงจังและจริงใจแค่ไหนในการผลักดันวาระการกระจายอำนาจ เพราะในมุมหนึ่งผู้ว่า CEO เป็นแนวคิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจหรือการทำให้ประชาชนอยู่ในสมการของการคัดเลือกหรือตรวจสอบผู้ว่าราชการจังหวัดได้เลย และหากมองโลกในแง่ร้าย นโยบายผู้ว่า CEO นี้ กลับถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลและข้ออ้างในการเพิ่มความชอบธรรมให้มีการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางมากกว่าเดิม

หัวใจของการกระจายอำนาจคือการทำให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตตนเอง ที่อาจแบ่งออกได้เป็น 3 องค์ประกอบหลักๆ ซึ่งนโยบายผู้ว่า CEO ไม่ได้ตอบโจทย์สักข้อ อันได้แก่

1) หลักการที่ว่าผู้บริหารสูงสุดในแต่ละพื้นที่ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้บริหารสูงสุดของแต่ละจังหวัดในประเทศไทยยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะแม้ประชาชนจะมีสิทธิในการเลือกตั้งนายก อบจ. แต่ผู้บริหารสูงสุดในแต่ละจังหวัด กลับยังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง การที่รัฐบาลเลือกจะทำนโยบาย ผู้ว่า CEO จึงเป็นการยืนยันว่าท่านไม่ได้เชื่อว่าผู้บริหารสูงสุดในแต่ละจังหวัด ควรมาจากการเลือกตั้ง

เพราะแนวคิดเดิมเรื่อง ผู้ว่า CEO ไม่ได้เป็นแนวคิด ที่จะทำให้ผู้บริหารต้องยึดโยงหรือรับผิดรับชอบกับประชาชนในพื้นที่ผ่านคูหาเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงแนวคิดที่จะกระชับอำนาจและปรับรูปแบบการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ยังคงมาจากการแต่งตั้งเหมือนเดิม

พริษฐ์ยังกล่าวต่อไป ว่านอกจากนโยบายผู้ว่า CEO จะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจแล้ว ตนต้องถามต่อว่า นโยบายผู้ว่า CEO นี้ได้มาแทนที่นโยบาย “เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่พร้อม” ที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้แล้วหรือไม่ ถ้าท่านบอกว่าจะไม่ทำแล้วเพราะจังหวัดไม่พร้อม ตนว่าฟังไม่ขึ้น เพราะความเป็นจริงวันนี้ประชาชนพร้อมมากแล้วที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่นายกรัฐมนตรีเองต่างหากที่ไม่พร้อมจะสู้กับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อปกป้องนโยบายของพรรคตนเอง

2) การเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ แม้ท่านยังคงจะยืนยันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้ง แต่ท่านพร้อมแค่ไหนที่จะโอนถ่ายอำนาจจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

นายกรัฐมนตรีพร้อมหรือไม่ ที่จะลงนามรับรองร่างแก้ไข พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ที่พรรคก้าวไกลเสนอและตอนนี้รอเพียงแค่การลงนามของท่าน ให้ร่างนั้นได้กลับเข้ามาสู่สภาแห่งนี้ เพื่อมาถกกันถึงเรื่องการเพิ่มอำนาจท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ และพร้อมหรือไม่ที่จะประกาศเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะเร่งถ่ายโอนภารกิจที่ยังติดค้างกับท้องถิ่น เช่น รพ.สต. ให้สำเร็จหมดภายในเมื่อไหร่

“แต่ถ้าท่านยังไม่พร้อมที่จะยืนยันในรัฐสภาแห่งนี้ว่าท่านจะเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น อย่างน้อยท่านยืนยันได้ไหม ว่าการที่ท่านไปเจิมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศด้วยตำแหน่งเท่ๆ อย่างผู้ว่า CEO จะเป็นเพียงการจัดสรรอำนาจภายในราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยไม่มาลดทอนกระทบความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน” พริษฐ์กล่าว

3) การเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่ แม้รัฐบาลเคยตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี 2542 ว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลให้เป็น 35% ภายในปี 2549 แต่ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา เป้าหมายนี้ก็ถูกลดทอนลงมาอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขยังค้างอยู่แค่เพียง 29% 

ดังนั้น ท่านพร้อมแค่ไหนที่จะโอนถ่ายงบประมาณจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รายได้ที่ท้องถิ่นต้องสูญเสียกว่า 7 หมื่นล้านบาทจากมาตรการลดภาษีที่ดินของรัฐบาลช่วงโควิดจะจ่ายคืนให้ทั้งหมดเมื่อไหร่ นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ที่เคยประกาศช่วงเลือกตั้งว่าจะให้ประชาชนมีสิทธิเลือกส่ง 30% ของภาษีที่ต้องจ่ายกลับไปที่ท้องถิ่นตนเองจะเริ่มทำเมื่อไหร่ และท่านจะป้องกันความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นอย่างไร เป้าหมายสัดส่วนรายได้ท้องถิ่น 35% ที่เคยถูกตั้งไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ท่านจะทำให้สำเร็จภายใต้รัฐบาลชุดนี้หรือไม่

“แม้ท่านยังไม่พร้อมจะยืนยันในรัฐสภาแห่งนี้ว่าจะเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่น อย่างน้อยท่านช่วยยืนยันได้ไหมว่างบประมาณที่จะประเคนให้ผู้ว่า CEO ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านการเพิ่มงบจังหวัดหรืองบกลุ่มจังหวัด ท่านจะไม่ไปดึงมาจากกระเป๋าของท้องถิ่นที่ก็มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว จนเป็นการลดงบประมาณที่ท้องถิ่นมีในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าตนยังจำได้ว่านายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ว่าท่านต้องการเป็น “นายกรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง” แต่จากนโยบายเรื่องรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจ ตนคิดว่าวันนี้ท่านเป็นได้แค่ “นายกรัฐมนตรีแห่งจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไป” ทั้งจากคำสัญญาว่าจะ “จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” ตอนนี้ก็เหลือเพียงแค่การ “หารือแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญ” จากคำสัญญว่าจะ “เลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดนำร่อง” ตอนก็นี้เหลือเพียงแค่การ “ฟื้นคืนชีพผู้ว่า CEO”

ผู้ว่า CEO ขัดกับกระแสโลก?

นโยบายผู้ว่า CEO ของรัฐบาลเศรษฐาไม่ได้เป็นนโยบายที่ใหม่เลย แต่เป็นนโยบายที่เกิดสมัยรัฐบาลไทยรักไทย (ทรท.) เมื่อปี 2544 เป็นนโยบายการบริหารจัดการราชการส่วนจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการหรือผู้ว่า CEO มีการนำร่อง 5 จังหวัดเมื่อปี 2544 โดยมีแนวคิดหลักคือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจผูกขาดอยู่แค่เพียงตัวผู้ว่าฯเท่านั้น ทั้งทางด้านงบประมาณ บุคลากร และการจัดการ  แผนนโยบายผู้ว่า CEO สิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากรัฐบาลจากคณะรัฐประหารปี 2549

ภาพ: ศูนย์สารสนเทศสิทธิมนุษยชน

ซึ่ง ณ ห้วงเวลานั้นหลังจากมีการทดลอง ได้มีบทวิเคราะห์ต่อประเด็นนี้ โดย วิรัช วิรัชนิภาวรรณ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ใน บทวิเคราะห์ผู้ว่าฯซีอีโอ (CEO) รัฐสภาสาร ปีที่ 50 ฉบับที่1 (มกราคม 2545) หน้า 1 – 10

วิรัช ได้วิเคราะห์และตั้งข้อสังเกต ต่อนโยบายของผู้ว่า CEO ของรัฐบาลไทยรักไทยนั้นขัดกับกระแสโลก ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองการปกครองและการบริหารของไทย เป็นระบบที่ปิดที่จำกัดการเข้ามาของผู้ว่าฯ CEO จากแค่กระทรวงมหาดไทย และการดึงแนวคิด CEO จากภาคธุรกิจนำเข้ามาบริหารหน่วยงานภาครัฐอาจจะไม่เหมาะสม กล่าวคือ หน่วยงานภาคเอกชนต้องการแสวงหาผลกำไรสูงสุด แต่หน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานที่ต้องให้บริการสาธารณะแกประชาชนและสังคม ซึ่งขัดแย้งกันอย่างชัดเจน

บทวิเคราะห์มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่คือ แนวคิดผู้ว่า CEO ของรัฐบาลไทยรักไทยไม่อาจจะนำไปสู่การกระจายอำนาจได้ เนื่องจากเป็นการรวมอำนาจให้แก่ผู้ว่า CEO เพียงคนเดียว วิรัช ได้วิเคราะห์ว่าหากมีการรวมอำนาจไว้ที่บุคคลคนเดียว ย่อมไม่เกิดหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือการกระจายอำนาจ ที่ตรงกันข้ามคนละขั้วกับแนวคิดผู้ว่า CEO

นอกจากนี้ .เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการผู้ติดตามด้านการกระจายอำนาจมาตลอดหลายสิบปี ได้ให้ความเห็นว่า ผู้ว่าราชกาลจังหวัดที่ผ่านมานั้นอ่อนแอ มีชื่อเรียกในยุคนั้นว่าผู้ว่า ‘โปลิโอ’ มีหน้าที่คือ “รับแขก แดกเหล้า เข้าสนามบิน” ซึ่งพอก้าวเข้ามาสู่อำนาจของรัฐบาลไทยรักไทย ในปี 2544 ได้มีนโยบายผู้ว่า CEO ทำให้การบริหารจังหวัดแต่ละจังหวัดมีความแข็งแรงมากขึ้น

.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง

ธเนศวร์ เล่าว่าผู้ว่า CEO จะได้รับคำสั่งจากทางนายกรัฐมนตรีโดยตรง ว่าแต่ละจังหวัดต้องอะไรแบบไหนบ้าง เช่น จังหวัดใกล้ทะเลต้องจัดการยังไง จังหวัดใกล้ภูเขาต้องทำยังไง นี้คือการทำ Get things done ซึ่งผลงานก็เป็นของพรรค ผลงานก็เป็นของกระทรวง ประชาชนก็ได้ประโยชน์ นี้คือหัวใจของผู้ว่า CEO เป็นการบริหารแบบเบื้องบนลงมาข้างล่าง

ซึ่งในแง่หนึ่งก็มีข้อดีตรงที่ ก่อนจะดำเนินการทำอะไรซักอย่าง ผู้ว่า CEO จะต้องถามประชาชนในจังหวัดว่าต้องการอะไร เพียงแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ซึ่งการทำงานของผู้ว่า CEO เป็นการทำงานตามนโยบายของพรรคที่ส่วนกลาง ในแง่หนึ่งคือเป็นความต้องการบรรลุภารกิจ ที่ประชาชนในพื้นที่เสนอและยืนดู แต่จุดอ่อนของผู้ว่า CEO คือประชาชนไม่ได้เลือกผู้นำจังหวัดของตนเอง

ธเนศวร์ ได้เสนอปัญหาของผู้ว่า CEO คือ การที่ผู้ว่า CEO จะดำเนินการพัฒนาจังหวัดของตนให้เจริญได้ต้องใช้เวลา 10-20 ปี แต่ปัญหาคือรัฐบาลไทยรักไทยที่มีนโยบายผู้ว่า CEO นั้นถูกยึดอำนาจในปี 2549 เสียก่อน 

กระแสกระจายอำนาจของภาคประชาชน

เป็นที่น่ากังวลอยู่ว่าหากนำนโยบายผู้ว่า CEO กลับมาจะสร้างผลกระทบต่อทิศทางการกระจายอำนาจไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจจะสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนที่มีความต้องการเลือกผู้นำจังหวัดของตนเองมาโดยตลอด

การเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจของภาคประชาชนได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี และยังดำเนินมาถึงปัจจุบันโดยกลุ่มคณะก่อการล้านนาใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่การเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและได้จัดกิจกรรมเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 1ปีที่ผ่านมา อาทิ กิจกรรม “แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 รวมไปถึงเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-การกระจายอำนาจ “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ณ โรงแรมไอบิสสไตล์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 

นอกจากกลุ่ม คณะก่อการล้านนาใหม่ก็ยังมีกลุ่มภาคประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจเช่นเดียวกันด้วยกระแสของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ในปี 2565 ทำให้การรวมกันของสมาชิกและจัดตั้งเป็นกลุ่ม ‘ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (ก.ร.ช.)’ โดยกลุ่มก็ได้ทำรณรงค์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมหย่อนบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (จำลอง) คู่ขนานไปกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 

ซึ่งแกนนำและคณะผู้ทำงานของ ภาคีฯเป็นชุดเดียวกันกับผู้ที่ขับเคลื่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เมื่อปี 2556 ที่สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้มากกว่า 12,000 รายชื่อ และยื่นเข้าสู่สภาฯ ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.จะถูกพูดถึงในสภาฯ ก็เกิดการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557 เสียก่อนทำให้ ร่าง พ.ร.บ.ชุดนี้ถูกฝั่งกลบดินไป

การรณรงค์กระจายอำนาจของภาคประชาชนไม่ได้มีแค่กลุ่ม คณะก่อการล้านนาใหม่ หรือ ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เท่านั้น ยังมีภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มหลายเครือข่ายที่ออกมาเรียกร้องและจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ เพจ The Voters ที่ผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วทุกจังหวัด เครือข่ายผู้รักประชาธิปไตยแพร่และ ABO+ Phrae Creative Wisdom Space ได้จัดกิจกรรม เสวนา ‘121 ปี กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ สู่การกระจายอำนาจ’ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 สภาพลเมืองเชียงใหม่และสมัชชาสุขภาพ จัด เสวนา “อู้จ๋าเลือกตั้งผู้ว่าเจียงใหม่” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เป็นต้น

ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต่อการกระจายอำนาจนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ข้อเรียกร้องที่เห็นภาพชัดและเป็นรูปธรรมมีหลักๆ อยู่ 2 ข้อ ดังนี้ 

-ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ใช้ระบบราชการท้องถิ่นในทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงอำนาจในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ด้วยตัวเอง

-การจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ใหม่จาก ท้องถิ่น 30% คืนให้ส่วนกลาง 70% เป็น ท้องถิ่น 70% คืนให้ส่วนกลาง 30% เพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ให้แก่ประชาชนในจังหวัดของตนเองได้มากขึ้น 

ซึ่งจะเห็นได้ว่านโยบายการดำเนินงานของผู้ว่า CEO ในอดีตนั้นไม่ตอบโจทย์กับข้อเสนอของภาคประชาชนเลย ทั้งเรื่องของการจัดการงบประมาณรวมไปถึงการยกเลิกส่วนภูมิภาคและการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเอง

จากการอภิปรายในรัฐสภาของ พริษฐ์ วัชรสินธุ บทวิเคราะห์และความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ทั้งสองท่าน ต่อนโยบายดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่านโยบายผู้ว่า CEO มีปัญหากับการกระจายอำนาจอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าหากรัฐบาลเศรษฐานำนโยบายผู้ว่า CEO กลับมาดำเนินการอีกครั้งโดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนและยังคงรูปแบบการทำงานแบบเดิมก็สร้างความน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตทิศทางของการกระจายอำนาจนั้นจะถูกตัดตอนไปอย่างแน่นอนตลอดการทำงานของรัฐบาลเศรษฐา 

อ้างอิง

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง