ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คดีฟ้องร้องต่อผู้รับผิดชอบฝุ่น PM2.5 ไม่คืบ

22 พฤศจิกายน 2566 ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีการนัดไต่สวน โดยเรียกตัวผู้ถูกฟ้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในคดีฟ้องฝุ่น PM2.5 ต่อ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ณ ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ เวลา 10.00 น. 

โดยก่อนการเข้าพิจารณาคดี วัชลาวลี คำบุญเรือง ทนายความผู้รับดำเนินการในคดี อธิบายว่า ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง โดยวันนี้เป็นการนัดไต่สวนมีผู้ฟ้องคดีทั้งหมด 10 คน ซึ่งในวันนี้ศาลได้เรียกผู้ถูกฟ้องคดีมาชี้แจงเพิ่มเติมในวันนี้ซึ่งการพิจารณาคดีในวันนี้เป็นการพิจารณาคดีแบบพิเศษที่ต่างจากการพิจารณาคดีแบบปกติ โดยในวันนี้มีข้อเรียกร้องทั้งหมด 3 ประการ ดังนี้

1.ในสถานการณ์เร่งด่วน PM2.5 นายกรัฐมนตรีจะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นอำนาจสั่งการในสถานการณ์วิกฤต ต้องมีคำสั่งใดก็ตามให้ค่า PM2.5 ลดลง สั่งให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนช่วยกันในการจัดการปัญหาฝุ่น

2.ตามแผนฝุ่นแห่งชาติฯ เมื่อสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นเกิน 100 ไมโครกรัม เกิน 3 วัน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีมาตราการอย่างเร่งด่วนเพื่อสั่งการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมต้องทำงานตามแผนฝุ่นแห่งชาติฯ

3.สถานการณ์ฝุ่นที่ใกล้เข้ามาอีกครั้งในปีหน้า นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะต้องมีแผนรับมือ โดยการสั่งแผนจะต้องไม่เป็นไปตามระเบียบราชการแผ่นดิน ต้องเป็นแผนที่ฉุกเฉินและมีส่วนร่วมของประชาชนหลายภาคส่วน

ในแผนฝุ่นแห่งชาติฯ ค่า PM2.5 ยังคงใช้มาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาตรเมตร แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ได้มีการประกาศว่า PM2.5 ใหม่เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาตรเมตร จึงเรียกร้องให้แผนฝุ่นปรับตามมาตรฐานดั่งเดิม

ด้าน นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ด้านโรคหัวใจ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี เล่าว่า กว่า 2 ทศวรรษที่ประชาชนต้องทนทุกข์กับเรื่องนี้มาตลอด ประชาชนอยากจะเห็นการขับเคลื่อนของภาครัฐที่เป็นรูปธรรม การทำงานของภาครัฐที่ผ่านมาเป็นการตอบสนองแบบชั่วครั้งชั่วคราวไม่ได้มีการวางแผนระยะยาว ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษเป็นเรื่องที่จะต้องจัดการในหลายมิติ ต้องใช้ทรัพยากร ต้องใช้ความจริงใจ ต้องใช้เจตจำนงทางการเมืองสูงมากในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ การเรียกร้องความยุติธรรมแก่สิทธิของประชาชนที่จะมีอากาศในการหายใจเป็นสิ่งที่เครือข่ายฯ อยากจะผลักดันถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จนเกิดการเปลี่ยนแปลง วิธีนี้ก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยผลักดันขับเคลื่อนให้ภาครัฐตื่นตัวและขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิพื้นฐานของประชาชน

หลายคนมองผลกระทบต่อฝุ่นในระยะสั้นนั้นมีผลกระทบน้อยมาก แต่หากเปรียบเทียบเหมือนสูบบุหรี่วันนี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่ถ้าหากสูบบุหรี่ทุกวันในระยะยาวก็มีผลกระทบสูงตามมา เช่นเดียวกับฝุ่น PM2.5 การที่มีค่าฝุ่นสูงเกินค่าเฉลี่ยมากเกินกว่ามาตรฐาน WHO ในปัจจุบันนั้นลดลงมาเท่าระดับ 5 ไมโครกรัมต่อปี จังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 30 ไมโครกรัม ซึ่งต่อปีเกินกว่ามาตรฐาน อัตราการเสียชีวิตของเชียงใหม่สูงกว่ามาตรฐานถึงประมาณ 20 เปอเซ็นต์ ถ้าหากเราสูดดม PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สิ่งนี้คือผลกระทบระยะยาว 

“ซึ่งหลายครั้งกระทรวงสาธารณะสุขมักจะตอบว่าผลกระทบต่อฝุ่นมีค่าเฉลี่ยน้อย นี้คือสิ่งที่ชี้ว่ากระทรวงสาธารณะสุขไม่มีความเข้าใจต่อเรื่องนี้เลย หากเราละเลยปัญหานี้เราก็จะเห็นคนที่มีสุขภาพที่แย่ลงอย่างมากมาย นอกจากสุขภาพประชาชนจะสูญเสียไปแล้ว งบประมาณต่างๆ ที่เข้ามาดูแลคนไข้เหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งปอด ภาคเหนือมีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดสูงที่สุด และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้”

หลังจากมีการไต่ส่วนคดีเสร็จสิ้น วัชลาวลี คำบุญเรือง อธิบายเพิ่มเติมว่า ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งยังไม่สิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องรอคำสั่งศาลต่อไปและยังไม่มีการนัดพิจารณาคดีเนื่องจากหน่วยงานรัฐจะต้องส่งเอกสารชี้แจงเพิ่ม ซึ่งในคดีดังกล่าวมีการฟ้องทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องในจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นก็คือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​คณะกรรมการกำกับตลาดทุน เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของศาลปกครองสูงสุดว่าจะรับหรือไม่รับในการดำเนินคดี ซึ่งเป็นการแยกคดีเพื่อทำให้การดำเนินงานในชั้นศาลมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ชนกนันทน์ นันตะวัน ผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคประชาชนอยากเรียกร้องให้มีการทำงานของรัฐที่มีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น การจัดการปัญหาฝุ่นของหน่วยงานภาครัฐยังมีปัญหาอยู่ เช่น การจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น การจัดให้มีพื้นที่อากาศสะอาด ยังเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ การจัดการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโดยเฉพาะจุดเผาไหม้ในพื้นที่ภาคเหนือ ยังพบจุด Hot spot เพิ่มขึ้น รวมไปถึงพบการเผาไหม้เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า จะเผชิญปัญหาภัยแล้ง เอลนีโญ ก็จะทำให้ปัญหา PM2.5 ทวีคูณเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหา PM2.5 เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี แต่ยังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เลย 

“รัฐใช้งบไปกับการป้องกันฝุ่นแบบฟุ่มเฟือยและผิดวิธีอย่างมาก ยกตัวอย่างการพ่นน้ำ การแจกหน้ากากอนามัยที่ไม่สามารถกรองฝุ่นได้ เป็นการตำนั้ำพริกละลายแม่น้ำ ถ้าหากมีการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เชื่อมั่นว่าก็จะสามารถเกิดการแก้ปัญหาได้”

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี เผยว่า หน่วยงานของรัฐจำนวนมากที่สามารถออกมาตรการแก้ไขเรื่องฝุ่นได้ ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ว่าหน่วยงานเหล่านี้ยังไม่มีอิสระมากเพียงพอ หากมีการประกาศว่าเขตควบคุมมลพิษก็กลัวว่าจะกระทบกับการท่องเที่ยว ซึ่งนี่คือปัญหาในเชิงโครงสร้างที่นายกรัฐมนตรีควรจะต้องประกาศใช้อำนาจ เพื่อให้อำนาจในการจัดการเรื่องฝุ่นมีเจ้าภาพและสั่งการแบบบูรณาการ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ใหญ่มาก ใหญ่เกินกว่า หน่วยงาน กรม กอง ของราชการต่างๆ ที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง และไร้ประสิทธิภาพมาก ข้อเสนอของพวกเราคือการใช้อำนาจตามมาตรา 9 เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ มันจะทำให้เกิดการกระตุ้นต่อคนในสังคมว่านี่คือเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข 

“ปัญหาโครงสร้างที่เป็นอยู่ก็ทำให้เรื่องฝุ่น PM2.5 ไม่ไปไหน ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดจึงไม่กล้าตัดสินใจปกป้องผู้คนในพื้นที่ของตนเอง เพราะว่าผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีมหาดไทยมากกว่าประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ต้องคิดในระยะยาว”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง