พฤษภาคม 7, 2024

    ชวนทุกคนมองหาอนาคตและการพัฒนาขนส่งสาธารณะเพื่อคนเจียงใหม่​

    Share

    23 สิงหาคม 2565

    ชวนทุกคนมองหาอนาคต และการพัฒนาขนส่งสาธารณะเพื่อคนเจียงใหม่​

    ปัญหาการบริหารจัดการและพัฒนาที่ไม่สอดรับกับประชาชนชาวเชียงใหม่นั้นเรื่อรังมาอย่างยาวนาน ผู้ว่าฯ คนแล้วคนเล่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองให้ตอบโจทย์กับคนในพื้นที่ไม่เคยมีเสียงของประชาชนชาวเชียงใหม่ที่สอดแทรกไปในนโยบายในการพัฒนาเมืองเลย​

    เขียวเคลื่อนเมือง , กลุ่มขนสุขสาธารณะ , wonderjuey. , กลุ่ม SYNC SPACE และ Lanner จึงคิดก่อการ ร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่อยากเชื่อมโยงให้ประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันค้นหาข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ขนส่งสาธารณะในแบบที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ให้ดีกว่าที่เป็น จนเกิดเป็นกิจกรรมมองหาอนาคต: ทิศทางและการพัฒนาขนส่งสาธารณะเพื่อคนเจียงใหม่ กิจกรรมที่จะชวนผู้ที่มาร่วมสวมบทบาทเป็นผู้ว่าฯ ลงพื้นที่จริง แลกเปลี่ยนจริง เพื่อร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะตลอดช่วงเช้า โดยช่วงบ่ายจะมีกิจกรรม “ขนส่งคาเฟ่” วงคุยสบายๆ ในประเด็นขนส่งสาธารณะจากกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการออกแบบคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขนส่งสาธารณะ พร้อมทั้งนิทรรศการภาพถ่ายรถที่ (ควร) มีทุกย่าน บูธกิจกรรมจากเครือข่ายต่างๆ และการแสดงดนตรีจากศิลปิน​

    Lanner ร่วมสนทนากับ ศุภเกียรติ เมืองแก้ว , สิตานันท์ กันทะกาศ และ วัชรพล นาคเกษม ตัวแทนผู้จัดงานในครั้งนี้ ร่วมสำรวจวิธีคิดและที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และพบกันในวันที่ 27 สิงหานี้ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 09.00 เป็นต้นไป​

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    เขียวเคลื่อนเมือง , กลุ่มขนสุขสาธารณะ , wonderjuey. , กลุ่ม SYNC SPACE และ Lanner จึงคิดก่อการ ร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่อยากเชื่อมโยงให้ประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกันค้นหาข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์ขนส่งสาธารณะในแบบที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ให้ดีกว่าที่เป็น จนเกิดเป็นกิจกรรมมองหาอนาคต: ทิศทางและการพัฒนาขนส่งสาธารณะเพื่อคนเจียงใหม่ กิจกรรมที่จะชวนผู้ที่มาร่วมสวมบทบาทเป็นผู้ว่าฯ ลงพื้นที่จริง แลกเปลี่ยนจริง เพื่อร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะตลอดช่วงเช้า โดยช่วงบ่ายจะมีกิจกรรม “ขนส่งคาเฟ่” วงคุยสบายๆ ในประเด็นขนส่งสาธารณะจากกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการออกแบบคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องขนส่งสาธารณะ พร้อมทั้งนิทรรศการภาพถ่ายรถที่ (ควร) มีทุกย่าน บูธกิจกรรมจากเครือข่ายต่างๆ และการแสดงดนตรีจากศิลปิน

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    ทำไมถึงอยากจัดงานนี้​

    บอย : เริ่มแรกเดิมทีเกิดจากความสงสัยว่า ทำไมเชียงใหม่มี Mega Project เยอะแยะมากมาย แต่สุดท้ายมันก็สูญหายละลายไปกับแม่น้ำ เป็นความสงสัยส่วนตัวว่าพอจะมีแล้วกลับไม่ตอบโจทย์หรือว่าอะไร มันเลยเกิดเป็นโครงการเขียวเคลื่อนเมือง ผมมีไอเดีย มีความคิด แต่ด้วยศักยภาพทีมของสภาลมหายใจเอง เราคิดว่าจะก่อการอะไรใหญ่ๆ ให้มันเป็น Talk of the town หรือเป็น Viral ได้ เราต้องสร้างพื้นที่และดึงเครือข่ายเข้ามาเพื่อมาร่วมกันออกแบบและกำหนดทิศทาง​

    เราอยากรู้ว่าคนในพื้นที่เชียงใหม่ คนที่หาเช้ากินค่ำหรือคนที่ใช้ชีวิตธรรมดา เขาคิดเห็นอย่างไร เขามีความคิดยังไงกับขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่ จึงได้เกิดกิจกรรมนี้เพื่อเป็นเหมือนพื้นที่ในการส่งเสียง แสดงออกทางความคิดเห็นว่ากลุ่มคนธรรมดาเหล่านี้เขามีความคิดเห็นยังไง ต้องการขนส่งสาธารณะในแบบไหน เราอยากรู้ว่าคนเชียงใหม่ต้องการอะไรกันแน่ แล้วขนส่งสาธารณะที่ผ่านมามันไม่ต้องตอบโจทย์เขาเลยเหรอ​

    อีกประเด็นคือการถกเถียงเรื่องขนส่งสาธารณะ โดยปกติเราจะเห็นแค่ใน Online เราก็จะเห็นคนไปตั้งกระทู้ว่า ทำไมเชียงใหม่ไม่มีขนส่งสาธารณะ เราเห็นคนถกเถียงกันอย่างเมามัน ก็เลยเกิดเป็นไอเดียว่าสร้างพื้นที่ทางกายภาพให้คนมาเจอกัน มาถกเถียง มาแลกเปลี่ยนบนความเข้าใจร่วมกัน เป็นพื้นที่ที่ให้แต่ละคนมีความคิดเห็นต่างๆมาคุยกันและเสนอว่าเชียงใหม่ของเรามันควรจะเป็นยังไง และมันอาจจะโยงไปประเด็นผู้ว่าฯด้วยว่า ถ้าเชียงใหม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดของเราเอง การพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องขนส่งสาธารณะเนี่ยมันจะเกิดเป็นรูปแบบไหน เหมือนกรุงเทพฯหรอ? แตกต่างกันยังไง เลยไปชวนกลุ่มเพื่อนๆ ที่คาดว่าจะสนใจเรื่องนี้ มาร่วมออกแบบกิจกรรมไปด้วยกัน​

    เราไม่ได้สร้างพื้นที่แค่พื้นที่ของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่เรายังสร้างพื้นที่ให้คนทั่วไป ชาวบ้านในพื้นที่ หรือใครๆ ก็ตาม ได้ส่งเสียง ได้บอกต้องการของตนว่า อยากให้เมืองเชียงใหม่พัฒนาไปในรูปแบบไหน โดยประเด็นหลักในงานนี้มันอาจจะเป็นเรื่องของขนส่งสาธารณะ แต่ก็ไม่ได้จำกัดแค่ขนส่งสาธาณะ แต่อยากให้งานตรงนี้มันเป็นเหมือน Platfrom สำหรับทุกคน ทั้ง กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรื่องคลองแม่ข่าหรืออะไรก็แล้วแต่ สามารถเข้ามาร่วมพูดคุยถกเถียงกันในวงนี้ได้เพื่อให้มันเป็นพื้นที่ในการมองหาอนาคตของเมืองเชียงใหม่ของเราครับ

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    งั้นอยากชวนทุกคนแนะนำตัวและบทบาทในกิจกรรมครั้งนี้กันหน่อย​

    ฟ้าใส : สวัสดีค่ะชื่อ ฟ้าใส จากกลุ่มขนสุขสาธารณะ บทบาทในงานคือ เป็นส่วนหนึ่งในการคิดกิจกรรมและร่วมจัดนิทรรศการภาพถ่าย เป็นวิทยากรชวนพูดคุยในกิจกรรม ”ขนสุข คาเฟ่” เกี่ยวกับเรื่องขนส่งมวลชนกับคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ​

    โดยตัวนิทรรศการรูปภาพเนี่ย เราตั้งชื่อว่า “รถที่มีทุกย้าน” ขนส่งมวลชนเนี่ยจริงๆ หัวใจสำคัญของมันคือ เราอยากให้คนได้สื่อสารออกมาว่าขนส่งที่ต้องการให้เป็นเนี่ยมันเป็นแบบไหน? ซึ่งการแสดงออกมาเป็นนิทรรศการภาพถ่ายมันจะทำให้การถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นเห็นชัดเจนขึ้น​

    อีกส่วนหนึ่งก็คือกิจกรรมขนสุขคาเฟ่ เป็นกิจกรรมพูดคุยแบบสนุกๆ สบายๆ ว่าด้วยการพัฒนาขนส่งมวลชนกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ส่วนตัวเชื่อว่าคนที่ควรออกมาพูดเรื่องขนส่งมวลชนมากที่สุด คือคนที่ใช้งาน คือประชาชนในเชียงใหม่เอง ถึงแม้ว่าสุดท้ายเราจะอยากได้คนที่มีศักยภาพในการพัฒนาเมือง อยากได้ผู้ว่าหรือใครซักคนที่เก่งๆ เข้ามาพัฒนา แต่ก็ต้องไม่ลืมเรื่องการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเหมือนกัน คือมันควรจะพัฒนาไปพร้อมๆ กันกับระบบเลือกตั้งหรือว่าระบบผู้นำที่เข้ามา ถ้าเราไม่เปล่งเสียงของเราออกมา สุดท้ายนโยบายที่เขาออกมามันก็คือการ Top-Down อยู่ดี เราไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขหรือออกความคิดเห็นเชิงนโยบายได้เลย เราก็อยากให้ประชาชนในเชียงใหม่ได้ออกมาพูดและแสดงความต้องการของตัวเองเกี่ยวกับขนส่งมวลชนที่เขาจะใช้ในเมืองนี้จริงๆ แบบที่ไม่ต้องมีใครมาครอบงำและโน้มน้าวทางความคิด

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    นุ๊ก : อาจจะงงเนาะว่า สำนักข่าว Lanner มีส่วนร่วมในการทำยังไง ต้องบอกก่อนว่า Lanner อาจจะไม่ใช่สำนักข่าวที่แค่นำเสนอข่าวหรือแง่มุมต่างๆ แต่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันผลักดันและเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการสร้างการเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่การนำเสนอข่าวสารในแบบสำนักข่าวเป็น คราวนี้ก็เลยได้รับการชักชวนจากบอยและทีมเขียวเคลื่อนเมือง ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรม​

    บทบาทของ Lanner เนี่ยนอกจากการนำเสนอข่าวแล้ว เรายังช่วยในการออกแบบกิจกรรมของวันที่ 27 ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย​

    นี่เป็นการออกแบบกิจกรรมร่วมกันของ เขียวเคลื่อนเมือง ขนสุขสาธารณะ และ Lanner เราออกแบบบนฐานที่อยากจะทำให้คนที่อยู่เชียงใหม่ หรือคนที่สนใจ ได้ลองสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ตัวเองอาจจะไม่เคยคุ้นเคย กับการเรียนรู้และจัดกิจกรรมแบบนี้ ชวนทุกคนมาสวมบทบาทเป็นผู้ว่าราชการเชียงใหม่ มาเรียนรู้ มาลงพื้นที่จริง และมาค้นหาแนวทางในการแก้ไขที่ยั่งยืนและออกมาจากปากเสียงของประชาชน เราเชื่อว่าพลังของประชาชนเนี่ยก็มีส่วนในการพัฒนาเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตที่มันยั่งยืนและสืบต่อไปได้​

    วันที่ 27 ก็เริ่มกันตั้งแต่ช่วงเช้า ก็ไปลงพื้นที่ ทำกิจกรรมต่างๆ ที่อยู่ประจำพื้นที่ ที่รถของผู้ว่าฯ จะพาไป กลับมาก็มาแลกเปลี่ยนและตกผลึกกันว่าปัญหาเรื่องต่างๆ เนี่ยเราจะช่วยกันแก้ได้ยังไง มันควรจะมีแนวในการดำเนินการยังไงในช่วงบ่าย หากใครไม่สะดวกในการเริ่มกิจกรรมในช่วงเช้า ก็สามารถร่วมกิจกรรมขนสุขคาเฟ่ในช่วงบ่ายได้ และก็มีกิจกรรมจากซุ้มกิจกรรมต่างๆ ที่มาร่วมกันหลายๆ เครือข่ายไม่ว่าจะเป็น Wonderjuey. SYNC SPACE เขียวสวยหอม และอีกเพียบ

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    คิดว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะส่งผลยังไงบ้าง?​

    บอย : กิจกรรมครั้งนี้มันจะเป็นเหมือนแรงกระเพื่อม เป็นเสียงเล็กๆ ที่ดังไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แน่เลยก็คือเทศบาลนะครับ ที่เขาจะต้องรับรู้แล้วว่าคนเชียงใหม่เขาจัดกิจกรรมแบบนี้ มีความคิดเห็นแบบนี้ มันจะไปกระตุกจิตกระชากใจเขา (ฮา) ว่าเขาควรจะออกมา Take Action หรือควรออกมาจัดการกับปัญหานี้ยังไง ก็คือเป็นพื้นที่ส่งเสียงไปถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า อาจจะเป็นพื้นที่ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเดินรถเอกชนที่เขามีแผนจะมาลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การประกอบการและการลงทุนของเขาเนี่ย ตอบโจทย์กับ Lifestyle หรือวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่อย่างแท้จริง กิจกรรมนี้อาจจะเป็นคลังข้อมูล ​ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนกับคนในพื้นที่ว่าเขาต้องการอะไร ต้องออกแบบการให้บริการกับคนพื้นที่ยังไง ผมก็เชื่อว่ารัฐก็ควรเป็นคนที่จัดการเรื่องนี้อยู่ดี

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    ภาพของเชียงใหม่ที่อยากไปให้ถึงเป็นยังไงบ้าง​

    นุ๊ก : จริงๆ ไม่อยากให้มันเป็นอุดมคติ อยากให้มันเป็นแนวทางปฏิบัติที่มันสามารถทำได้จริงๆ ถ้าภาพที่อยากเห็นจริงๆ คือ ทุกจังหวัดมันมีศักยภาพและอำนาจในการบริหารจัดการของมันอยู่แต่ปัญหาของประเทศไทยก็คือ มันเป็นรัฐรวมศูนย์ ทุกอย่างไปรวมอยู่กรุงเทพฯ แน่นอนว่าศูนย์กลางและอำนาจในการบริหารจัดการเนี่ย มันลดอำนาจของจังหวัดหรือท้องถิ่นลง​

    มันเลยทำให้เราเห็นและก็ตั้งคำถามว่าทำไม กรุงเทพฯ ถึงมีรถไฟฟ้า มีระบบขนส่งที่ดี รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งเราในฐานะคนที่อยู่ต่างจังหวัดเนี่ย เราตั้งคำถามกับมันอยู่ตลอด ว่าทำไมเราถึงไม่มี ในขณะที่เราก็เสียภาษีเท่ากัน ซึ่งมันก็เป็นได้แค่เรื่องที่เราได้แต่คุยและถกเถียง แต่ว่าเราไม่มีแนวทางที่เราจะทวงคืนหรือบอกว่าเราก็มีอำนาจในการตัดสินใจ เราก็มีสิ่งที่เราอยากได้แต่ทำรัฐถึงไม่ทำแน่นอนว่ามันจะถูกตั้งคำถามไปกับรัฐฯ ช่วงที่ผ่านมาก็มีกระแสเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ แน่นอนว่ามันไม่ได้ส่งผลแค่กรุงเทพฯ ถ้าเราได้เห็นหรืออ่าน Comment ก็จะมีคำถามขึ้นมาว่า ทำไมชัชชาติไม่ช่วยจังหวัดอื่นเลย? ซึ่งถ้าจังหวัดอื่นๆ มีอำนาจหรือให้อำนาจต่างๆ อย่าง อบจ. ในการจัดการเนี่ย คุณภาพชีวิตของผู้คนก็จะดีขึ้นเอง ​ เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะไม่เกิดภาวะสมองไหล เรียนจบมาก็ต้องย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ กันหมดเพราะไม่มีงานทำ​

    แน่นอนกิจกรรมในครั้งนี้อาจจะไม่ได้มุทะลุไปถึงภาพฝันแบบนั้นโดยเร็วเนาะ แต่ว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกิดการตั้งคำถาม เกิดบทสนทนาใหม่ๆ เกิดวิธีคิดและไอเดียต่างๆ ถ้ามันไม่เกิดบทสนทนาหรือไอเดียเนี่ย เราก็คงไม่มีแนวทางที่เราจะไปสนับสนุนความฝันหรือสิ่งที่เราอยากเห็น เพราะฉะนั้นกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขยายภาพฝันเชื่อมโยงผู้คน แล้วพัฒนาความคิดความเข้าใจนำไปสู่แนวทางการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป​

    ฟ้าใส : อันดับแรกเลยเราอยากให้ประชาชนคนที่อยู่จังหวัดเชียงใหม่มีปากมีเสียงในการแสดงความต้องการของเขาออกมาจริงๆ อันนี้คือจุดเริ่มต้นของการเป็นขนสุขสาธารณะ เพราะที่ผ่านมาเนี่ย เราเห็นขนส่งมวลชนที่จัดโดยรัฐ จัดโดยเอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ มันไม่เคยมีประชาชนอยู่ในนั้น มันไม่เคยมีพ่อค้าแม่ค้า ไม่มีชุมชนโดนไล่รื้อ หรือแม้กระทั่งนักเรียนนักศึกษายังไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งในนั้นเลยในการที่จะออกเสียง เรารู้สึกว่าสิ่งแรกที่เราอยากเห็นเลยก็คือ คนเหล่านั้นมีปากมีเสียงที่จะออกมาพูดว่าเขาต้องการอะไร แล้วมีปากมีเสียงก็ต้องมีปากมีเสียงจริงๆ ไม่ใช่แค่ว่าการบ่นได้หรือพูดในที่สาธารณะได้อย่างเดียว แต่คำพูดของเขาเหล่านี้มันต้องส่งผลไปถึงระดับนโยบายของรัฐ นี้คือสิ่งที่เราต้องการ​

    เชียงใหม่ที่ผ่านมามันไม่เคยเป็น เวลาเราลงแคมเปญ มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นเยอะมาก มีคนออกบ่น เวลาการจัดนิทรรศการหรือสิ่งที่เขาเขียนได้ก็จะมีเรื่องขนส่งมวลชน เรื่องเลือกตั้งผู้ว่า มีเรื่องความเจ็บปวดของเชียงใหม่เต็มไปหมดแต่เสียงเหล่านี้ไม่เคยไปถึงรัฐเลย เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละคือสิ่งที่เราอยากจะผลักดันให้เกิดขึ้น ภาครัฐจะต้องรับฟังเสียงของคนเหล่านี้ซักที​

    ที่ผ่านมาขนส่งมวลชนที่มันไม่ได้ยั่งยืนก็เพราะว่ารัฐไม่ได้ทำเพื่อตอบโจทย์คนที่เดินทางจริงๆ ในเชียงใหม่ นี้ยังไม่พูดถึงทางเท้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ ป้ายรถเมย์ที่มันยังไม่ดี หรือแม้กระทั่งสายรถเมล์ที่มันมีน้อย แค่เรื่องง่ายๆ ที่สุดการออกแบบเส้นทางการเดินรถที่มันสอดคล้องกับคนใช้งานจริงๆ อะ ไม่เคยมีเลย​

    ฉะนั้นเราจึงมองเชียงใหม่ที่อยากให้เป็น มี 2 ประเด็น คือคนเชียงใหม่ต้องมีปากมีเสียงในระดับนโยบายจริงๆ และเชียงใหม่ต้องมีความยั่งยืนที่จะจัดการสิ่งเหล่าให้คนได้เพราะไม่งั้นสุดท้ายพอเราพูดไปเท่าไหร่รัฐไม่เคยฟัง ไม่มีประสิทธิภาพสักที สุดท้ายเราเลือกที่จะหนีย้ายไปอยู่ในเมืองที่มันรับฟังมากกว่าและมีสิ่งแวดล้อมที่มันโอบรับเรามากกว่า เราไม่อยากเห็นเชียงใหม่เป็นแบบนั้น เราไม่อยากเชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่ทุกคนมองว่าเปลี่ยนไปก็เท่านั้น เราเคยคุยกับคนหลายๆคนที่อยากเปลี่ยนเชียงใหม่ซึ่งหลายๆคนก็ท้อไปแล้ว เพราะระบบโครงสร้างมันไม่ได้เอื้อให้คนออกมาพูดจริงๆเนื่องด้วยการเมืองต่างๆหรือท้องถิ่นต่างๆ​

    บอย : เชียงใหม่มันต้องเป็นของทุกคนไม่ได้เป็นของรัฐ เป็นของชาวบ้านของอิป้ออิแม่ ของคนหาเช้ากินค่ำ ทุกคนสามารถร่วมออกแบบเมืองได้ สามารถกำหนดว่าเมืองควรจะเป็นแบบไหน กำหนดการพัฒนาให้มันสอดคล่องกับวิถีชีวิต ไม่ใช่นโยบายของส่วนกลางที่เข้ามาโดยไม่ได้สนใจประชาชนคนในพื้นที่คนหาเช้ากินค่ำได้รับผลกระทบ ดูอย่างปัญหาคลองแม่ข่าหลายคนต้องถูกไล่ที่ก็ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ทุกคนสามารถร่วมกันกำหนดทิศทาง ร่วมกันออกแบบ สามารถพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ทางเท้า การจัดการภาษี ชาวเชียงใหม่ต้องมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็น ด้วยตัวบอยเองที่เกิดเชียงใหม่ โตเชียงใหม่ ก็ไม่อยากไปทำงานที่อื่นเลย อยากเห็นเชียงใหม่ที่ดีกว่านี้ อยากให้ทุกคนอยู่ได้ด้วยความภาคภูมิใจของตัวเอง

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    งั้นเชิญชวนคนมาร่วมกิจกรรมนี้หน่อย​

    นุ๊ก : ก็เชิญชวนทุกคนมาเนาะวันที่ 27 นี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ถ้าใครสนใจมาเป็นผู้ว่าก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนทางเพจ เพื่อลมหายใจเชียงใหม่ มาเจอกันในช่วงเช้า สำหรับคนที่มาตั้งแต่เช้าก็จะมีรถพาพวกเราชาวผู้ว่าไปทัวร์สถานที่ เราอยากให้ทุกคนไปสัมผัสประสบการณ์ถ้าหากเราทุกคนสามารถจัดการตัวเองได้เองจะเป็นยังไง ส่วนใครที่ไม่สะดวกในช่วงเช้า ก็สามารถมาร่วมงานในช่วงบ่ายได้นะครับ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่เดิมนะครับที่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ก็จะมีบูธเครือข่ายของเราที่มาร่วมกันจัดกิจกรรม มาเจอกันในกิจกรรมขนสุขคาเฟ่ ที่อยากจะชวนพวกเรามาร่วมพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ ก็อยากจะบอกว่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบชีวิตของเมืองเชียงใหม่ ที่พวกเราคิดว่ามันจะทำให้เมืองนี้มันดูมีชีวิตและเต็มไปด้วยความคิดของผู้คนที่กระจายตัวอยู่ในที่ต่างๆทั่วเชียงใหม่ และทั่วประเทศ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวแวะมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วเบื่อๆ ไม่อยากไป ช้างมอย เบื่อแล้ววัด เบื่อแล้วดอยสุดเทพ ก็เชิญชวนมาที่นี้ได้นะครับ​

    ฟ้าใส : กิจกรรมช่วงบ่ายก็จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น พูดคุยถกเถียงนโยบายอะไรก็ได้ที่เราต้องการ กิจกรรมในช่วงบ่ายของเราก็จะแบ่งเป็นสองมุม ทั้งหมด 4 คาเฟ่ ก็จะแบ่งเป็นตามความสนใจของแต่ละคน ซึ่งแต่คนก็สามารถเลือกได้คนละ 2 คาเฟ่ ซึ่งหัวข้อที่ว่าไปปก็ประกอบไปด้วย 4 หัวข้อ 1.ขนส่งมวลชนกับรัฐสวัสดิการ 2.ทำยังไงให้คนเชียงใหม่ออกมาแสดงความต้องการที่จะมีขนส่งมวลชนได้ซักที 3.ถ้าเชียงใหม่สามารถจัดการตัวเองได้จะเป็นยังไง 4.ผลพวงจากมลภาวะทางอากาศที่เราเผชิญอยู่ทุกช่วงฤดูร้อนในพื้นที่เมืองเชียงใหม่มันจะเป็นยังไง เราสามารถเลือกหัวข้อได้เอง ซึ่งเราก็จะมีผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้นๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน เราก็เชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความต้องการของตัวเอง เราเชื่อว่าทีมงานของเราเนี่ยไม่สามารถสะท้อนเสียงของความต้องการของคนเชียงใหม่ได้ด้วยแค่ทีมงานของเราเท่านั้น เราต้องการเสียงของทุกๆคนในการร่วมออกแบบและมีส่วนร่วมในกิจกรรมและกระบวนการนี้ ฝากงานทั้งช่วงเช้าและบ่ายด้วยให้ทุกๆคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกัน รับรองว่างานนี้ออกมาสนุกแน่นอน​

    บอย : สำหรับทุกความคิดเห็นและข้อเสนอที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้นะครับ เราจะรวบรวมและจัดทำเป็นรายงานแผนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ โดยเฉพาะเทศบาลนครเชียงใหม่ให้มีการจัดการบริการขนส่งสาธารณะเพื่อพวกเรา ขนส่งสาธารณะเพื่อคนเจียงใหม่!!!!

    เรื่อง : ปรัชญา ไชยแก้ว​

    ภาพ : วรรณพร หุตะโกวิท

    Related

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...

    โทษทีพี่ ‘ติด’ งาน

    เรื่อง: การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์*  คุณติดโซเชียลมีเดียหรือไม่ หากคำถามนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เฟซบุ๊กนำปุ่มกดถูกใจมาใช้งาน คนส่วนใหญ่จะตอบปฏิเสธ หรือไม่ก็บอกว่าตัวเองก็แค่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ถึงกับขั้น “เสพติด”...

    ชีวิตบนเส้นด้ายของเกษตรกรหลังบ้านอีอีซี

    เรื่อง: กัมปนาท เบ็ญจนาวี เกษตรกรหลังบ้านอีอีซีส่วนใหญ่ถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจหลังการปิดล้อมใหม่ โดยเฉพาะการขาดการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกำหนดภูมิทัศน์การพัฒนาในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีเงื่อนไขที่จำกัดในการคาดเดาและกำหนดอนาคตของตนเอง จนนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของสถานการณ์ความขัดแย้งและความแตกต่างทางสังคม มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม...