เมษายน 25, 2024

    สกน. บุกเวทีเอเปคป่าไม้ เชียงใหม่ ยื่น 7 ข้อเรียกร้อง ถึง วราวุธ รมว. ทรัพยากรฯ จี้เอาเข้าคุยผู้นำนานาชาติ​

    Share

    23 สิงหาคม 2565

    สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ บุกยื่นหนังสือถึง รมว. ทรัพยากรฯ จี้เอาเข้าคุยผู้นำนานาชาติ เวทีเอเปคป่าไม้ ปลัดกระทรวงฯ รับเรื่อง ย้ำดำเนินการตามกฎหมาย ไม่คุยเรื่อง “ฟอกเขียว” ​

    23 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ หรือ สกน. ในนามเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน จำนวนประมาณ 20 คน เดินทางไปที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ยื่น 7 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ ถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จี้ให้นำเข้าที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดการประชุมในระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. นี้ โดยมี จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนรับหนังสือ​


    ถาวร หลักแหลม ผู้แทน สกน. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค. 2565 นั้น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามเครือข่ายประชาชน เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของรัฐไทย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน มีความห่วงกังวลต่อการประชุมดังกล่าว ​


    “เนื่องจากเป็นการประชุมที่จะมีแถลงนโยบายด้านเดียวโดยรัฐบาลไทย ซึ่งประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้มีส่วนร่วม โดยที่ผ่านมาแม้นจะมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหามาหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับและได้รับแก้ไขปัญหาตามเท่าที่ควร ซ้ำร้ายยังปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนเผ่าและชาติพันธุ์ การละเมิดสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น” ถาวรกล่าว​

    โดยข้อเรียกร้องในหนังสือมีทั้งสิ้น 7 ข้อ ดังนี้​

    1.เราขอยืนยันหลักการ “สิทธิชุมชน” ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ​

    2.ให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ​ ทั้งนี้เพื่อเยียวยาแก้ไขประชาชนที่ได้ผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาลเผด้๗การทหาร และในระหว่างรอการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรม โดยให้สามารถกลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ และห้ามนำที่ดินที่ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมเข้าสู่กระบวนการปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตโดยเด็ดขาด​

    3.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายดังกล่าวโดยชุมชน บนหลักการคนอยู่กับป่า ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างสมดุล​

    4. ให้เดินหน้าธนาคารที่ดินและกลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน เพื่อตอบโจทย์การกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน​

    5. หยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” โดยข้ออ้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วมาแย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชน และจงหยุดโครงการที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาของรัฐและเอกชนทั้งหมดที่เข้ามาแย่งยึดทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น ซึ่งกำลังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทันที​

    6. หยุดนโยบายมาตรการห้ามเผาอย่างไร้สติปัญญา เหมารวมการใช้ไฟตามความจำเป็นของนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนตามปรกติฤดู โดยที่ไม่เคยมีมาตรการใดๆ กับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ และไม่เคยมีมาตรการดูแลชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบมาตรการประจำฤดูของรัฐ​

    7. ให้รัฐไทยปฏิบัติตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และขอให้สนับสนุนโดยการเร่งรัดในนายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง (ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 16,559 รายชื่อ) โดยรัฐไทยจะยอมรับ “หลักการคุ้มครองพื้นที่วัฒนธรรม” และการดำรงอยู่ของ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย​


    ด้าน จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จะรับข้อเรียกร้องไว้หารือ หากไม่ติดขัดข้อกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามยังไม่รับปากว่าจะสามารถนำเข้าพูดคุยในการประชุมเอเปคป่าไม้ตามที่ประชาชนร้องขอได้หรือไม่ และยืนยันว่าไม่ได้จะมีการพูดคุยเรื่องการฟอกเขียวในเวทีดังกล่าว​

    ก่อนจบกิจกรรม สกน. ได้แขวนป้าย 7 ข้อเรียกร้อง ในหัวข้อ “จากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้-ที่ดิน ถึง เอเปค (Thai Peasant & Indigenous Victims’ voice to APEC)” ไว้ที่หน้าโรงแรมเลอ เมอริเดียน ท่ามกลางการจับตาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด​

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...