เมษายน 19, 2024

    ชาวบ้านดอยเต่ากว่า 500 คน เดินหน้าคัดค้านเหมืองแร่แบไรต์ ห่วงผลกระทบสุขภาพ-ป่าต้นน้ำ

    Share

    ภาพ: เทวชาติ วิเศษนาเรียง

    เมื่อวาน (วันที่ 22 ธันวาคม  2565) เวลา 11.00 น. ชาวบ้าน อ.ดอยเต่า กว่า 500 คน ตัวแทนชุมชน พระภิกษุ สามเณร และนักเรียนเยาวชน ได้รวมตัวกันคัดค้านการทำเหมืองแร่ ในพื้นที่หมู่ 8 และหมู่ 9 ตำบลโปงทุ่ง โดยได้มีการยื่นหนังสือขอคัดค้านและให้ยกเลิกการประทานบัตรเหมืองแร่ ให้กับนายอำเภอดอยเต่า เพื่อให้ยื่นเรื่องไปต่อยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ต่อไป 

    ชาวบ้านให้เหตุผลในการคัดค้านในครั้งนี้ ว่าการสร้างเหมืองในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งบริเวณที่จะมีการสร้างเหมืองนั้นเป็นต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายของชาวตำบลโปงทุ่ง ที่ชาวบ้านที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค โดยมีผลกระทบต่อพี่น้องชาวบ้านทั้ง 4 ตำบล กว่า 20,000 คน อีกทั้งชาวบ้านยังกังวลถึงผลกระทบที่เกิดจากกระบวนการผลิตแร่ มลพิษทางฝุ่นต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน


    เสียงตัวแทนชาวบ้านและพระภิกษุในพื้นที่กล่าวว่า

    “ทุกวันนี้ เราก็อนุรักษ์ป่า ไว้เป็นชีวิตจิตใจของเรา ทุกวันนี้ ต้นน้ำลำธาร ทุกอย่างเราก็อนุรักษ์ไว้ เวลาเราจะเข้าป่า เก็บเห็ดเก็บผักยังต้องมีใบอนุญาต แต่การขุดป่าทั้งเขาเพื่อไปเอาแร่มันถูกต้องแล้วหรือ วิงวอนหน่วยงานช่วยเหลือ”

    “มันกระทบทั้งส่วนมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ดินเสียหาย มันกระทบถึงสวนลำไย พอผลกระทบเต็ม ๆ พวกเราอยู่ได้ด้วยลำไย การทำเกษตร เวลาเราไม่ได้ทำเกษตร เราจะอยู่กินอย่างไร ผลกระทบเรื่องน้ำ น้ำจากป่า ป่าต้นน้ำที่ไหลลงมายังห้วยแม่ตูบ มายังเขื่อนแม่ตูบ พอเขื่อนแม่ตูบมันได้รับผลกระทบก็ส่งผลต่อชุมชนด้วย และสุดท้ายมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควันจากการทำเหมืองแร่ปลิวลงยังชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งโลกนี้เขารณรงค์ให้รักษาทรัพยากรไว้ ไม่เข้าใจว่าคนที่ทำเหมืองแร่แลกกับทรัพยากรมันคุ้มจริงหรือไม่”

    “หากมีทำเหมืองแร่ขึ้นมา เขาบอกว่าจะกระทบกับพี่น้อง 4 ตำบล 37 หมู่บ้าน แต่หากว่ามีสารพิษลงแม่น้ำจริง จะไม่ใช่เพียง อ.ดอยเต่าที่จะกระทบเท่านั้น แต่มันจะกระทบลงไปถึงแม่น้ำสายอื่น ๆ จึงอยากฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนด้วย”

    จากข้อเท็จจริงพบว่าทางบริษัท พี.แอนด์ เอส. แบไรท์ ไมน์นิ่ง จำกัด ได้ขอประทานบัตรที่ 19/2539 ชนิดแร่แบไรต์กับทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่มาปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.โป่งทุ่ง อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 หากไม่มีผู้ใดร้องคัดค้านภายใน 30 วัน เจ้าพนักงานฯ จะดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นชุมชนต่อไป ตามพ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 56 วรรคสองต่อไป

    Related

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน”...

    จากบ่อน้ำบำบัดความกระหายจนถึงดินแดนเสรีภาพทุกตารางนิ้ว: ประชาธิปไตยจะงอกงามอย่างไรในรั้วมหาวิทยาลัยไทย

    เรื่อง: อติรุจ ดือเระ /Activist Journalist “ต่อไปนี้นักศึกษาจะจัดกิจกรรมชุมนุมรวมกลุ่มกัน จะต้องได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอีกสารพัด นี่หรือมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันทางวิชาการ แม้แต่การรวมตัวยังต้องขออนุญาต...