เมษายน 27, 2024

    ‘เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มันไม่ง่าย’ เมืองสร้างสรรค์ทำอาชีพสร้างสรรค์อยู่ไม่ได้

    Share

    เรื่องและภาพ : รัชชา สถิตทรงธรรม ,ชัยนิวัตร สิงห์สถิตย์/Activist Journalist

    “คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator)” เราเริ่มได้ยินและเห็นคำนี้ปรากฏบ่อยขึ้นในวงการสื่อสารเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล ยุคที่คนเจเนอเรชั่น Z เริ่มเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงาน คอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอาชีพที่รองรับคนจบการศึกษาจากคณะหรือสายงานด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถนัดด้านการเขียน การพูด ออกแบบ วาดภาพ ถ่ายภาพ หรือทักษะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร

    “คุณคิดว่าตำแหน่งคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำอะไรบ้าง”

    “เขียนบทความ เขียนสคริปต์ คิดแคปชั่นโฆษณา”

    “ถ่ายรูป ถ่ายคลิป ตัดต่อ โพสต์ลง TikTok”

    “ตามข่าว ตามกระแส จับประเด็นที่คนกำลังสนใจแล้วมาปรับใช้กับงานของเรา”

    ฯลฯ

    คำถามและคำตอบที่มักจะพบเจอตอนสัมภาษณ์งานตำแหน่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่อาจถูกมองว่าเป็นการทำงานแบบมัลติสกิล (Multi-skill) ที่คน 1 คนต้องมีทักษะมากกว่า 1 อย่างในการทำงานชิ้นหนึ่ง ลักษณะการจ้างงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์จะมี 2 แบบหลักคือ เป็นพนักงานรับเงินเดือนประจำ (Inhouse) หรือเป็นฟรีแลนซ์รับค่าตอบแทนเป็นชิ้นงานหรือโปรเจกต์

    เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มันไม่ง่าย

    แค่เขียนเก่ง ถ่ายรูปสวย ออกแบบเก๋ก็เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้แล้วจริงหรือ เพราะกว่าจะทำให้ทักษะดังกล่าวพาตัวเองไปถึงจุดนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และกว่าจะสามารถปั้นพื้นที่สื่อของตนให้มีตัวตนจนเป็นที่ยอมรับบนโลกออนไลน์ได้ ก็ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเข้าไปอีก

    ยิ่งเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในเมืองที่ไม่ใช่เมืองเศรษฐกิจหรือเมืองท่องเที่ยวหลัก ยิ่งไม่ง่ายจนแทบจะหาความเป็นไปได้ที่จะอยู่รอดไม่เจอเลย

    “ตอนทำงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่กรุงเทพฯ เงินเดือนเด็กจบใหม่สตาร์ทที่ 15,000 – 16,000 บาท ระดับซีเนียร์ไปจนถึงหัวหน้างานก็จะได้เงินเดือนราว 20,000 – 25,000 บาท โดยที่ยังไม่รวมงานนอก แต่พอลาออกมาทำงานตำแหน่งเดิมที่เชียงใหม่ เรทเงินเดือนลดลงมาเหลือ 9,000 – 15,000 บาท ทั้ง ๆ ที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีความต้องการจ้างงานคนกลุ่มอาชีพนี้มากพอ ๆ กับกรุงเทพฯ แล้วถ้าเรทรายได้คอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือคนทำงานสร้างสรรค์ในเชียงใหม่ยังน้อยขนาดนี้ก็ไม่อยากจะนึกสภาพเลยว่า เมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือจะย่ำแย่ขนาดไหน”

    คอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยให้ฟังถึงข้อแตกต่างของรายได้จากงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด และพูดถึงภาพรวมของแหล่งงานในลำปางซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาอีกด้วยว่า องค์กรและบริษัทในลำปางส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของบริษัทหรือองค์กรของตนได้อย่างไร ทำให้คนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำงานสายนี้เข้าใจว่า ลำปางไม่มีแหล่งงานรองรับคนกลุ่มอาชีพนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนกลุ่มนี้ต้องไปหางานทำในกรุงเทพฯ หรือใกล้สุดที่เชียงใหม่



    จากการสืบค้นข้อมูลการประกาศรับสมัครงานประเภทงานสร้างสรรค์ในจังหวัดลำปางตลอดปี 2566 ตามเว็บไซต์บริษัทจัดหางานยอดนิยม ปรากฏว่าทุกเว็บไซต์ไม่ปรากฏข้อมูลการประกาศรับสมัครงานดังกล่าวในจังหวัดลำปางเลยแม้แต่ครั้งเดียว และเมื่อสอบถามไปยังสำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปางกลับพบกับความประหลาดใจอีกอย่างหนึ่งคือ ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา เพราะจากข้อมูลการประกาศรับสมัครงานในจังหวัดลำปางที่ทางสำนักงานจัดหางานฯ ได้รับตลอดปี 2566 ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการรับสมัครงานตำแหน่งนี้เลย แต่มีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์อยู่บ้าง เช่น มีการประกาศรับสมัครงานตำแหน่งกราฟิกดีไซน์เนอร์ 2 อัตรา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด 3 อัตรา และตำแหน่งแอดมินเพจ 2 อัตรา โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่นับเฉพาะตามที่ประกาศบนเว็บไซต์สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำปางซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการจ้างงานหรือการเข้าถึงคนกลุ่มอาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ในลำปาง ณ ปัจจุบัน

    นับตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายพบว่า คนลำปางเริ่มรับรู้และรู้จักตำแหน่งงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากขึ้นจากความพยายามสร้างการรับรู้โดยกลุ่มสื่อท้องถิ่นและอินฟลูเอ็นเซอร์ในลำปาง เช่น “ลำปาง เมืองต้องห้ามพลาด” “Lampang Variety – ลำปางวาไรตี้ ข่าว,รีวิว” “ที่นี่ ลำปาง” “ตะลอนตะหลอด : ชาติพันธุ์ลำปาง-แพร่” “ก๋าไก่ Next Gen” “ละอ่อน LaOn” เป็นต้น



    พิโรดม จันทนะเสวี ผู้ก่อตั้งเพจ “Lampang Variety – ลำปางวาไรตี้ ข่าว,รีวิว” ในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า การวางตนเป็นสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์ระดับท้องถิ่นมีความน่าท้าทายที่นอกจากจะต้องจับประเด็นหรือกระแสที่คนลำปางสนใจและนำมาสื่อสารต่อคนลำปางให้อินกับเรื่องนั้น ๆ เหมือนกับเราได้อย่างไร การเลือกใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับประเด็นสื่อสารของเรายังเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของสื่อประเภทต่าง ๆ อีกด้วย เพราะด้วยความที่แพลตฟอร์มหลักอย่าง Facebook ในตอนนี้ถูกจำกัดการมองเห็น ลูกเพจที่ติดตามเราเริ่มเบื่อหน่ายข้อจำกัดนี้จนทำให้ลูกเพจส่วนหนึ่งหันไปเสพคอนเทนต์บน TikTok ซึ่งเน้นคอนเทนต์รูปแบบคลิปวิดีโอสั้นแทน

    “พอคนหันไปเล่น TikTok มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่พี่ถ่ายแต่ภาพนิ่งแล้วโพสต์ Facebook วันนี้พี่ต้องหัดถ่ายและตัดต่อคลิปวิดีโอ เพราะคอนเทนต์หลักของลำปางวาไรตี้ส่วนมากจะเป็นรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ และที่พักรีสอร์ท พี่ก็ต้องไปศึกษาแนวการเล่น TikTok เพิ่มอีกว่าต้องทำคลิปแบบไหนถึงจะน่าสนใจ และที่สำคัญคือทำไปแล้วต้องมีผลตอบรับที่ดีจากผู้ชมด้วย”

    “พอพี่เริ่มเน้นแพลตฟอร์ม TikTok มากขึ้น ความคาดหวังจากผู้ชมก็มากขึ้นตามไปด้วย จากเมื่อก่อนที่พี่ไปถ่ายรีวิวแค่คนเดียว มือถือเครื่องเดียวก็ถ่ายได้ แต่ถ้าใครยังมองว่าถ่ายคลิปวิดีโอลง TikTok ง่ายนิดเดียว ใช้แค่มือถือก็ถ่ายได้ ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว พี่ต้องมีทีมงานมาช่วยดูเรื่องการถ่ายทำและตัดต่อคลิปด้วย เพราะงานถ่ายวิดีโอมีขอบเขตงานกว้างกว่าการถ่ายภาพนิ่ง เทคนิค อุปกรณ์ที่ใช้ก็คนละแบบกัน ถ้ายังทำคนเดียวไม่ไหวแน่นอน”



    การหันมาเน้นทำคอนเทนต์ลง TikTok ให้มากขึ้น นอกจากจะเป็นเรื่องที่สื่อทุกประเภทต้องพยายามปรับตัวให้ทันพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ยุคดิจิทัลแล้ว พิโรดมยังมองว่าเป็นการลงทุนกับความคาดหวังของคนด้วย เพราะทุกครั้งที่ลงคลิปแล้วได้ยอดวิวหรือยอดเอ็นเกจที่มากเกินความคาดหมาย สิ่งที่ตามมาคือลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารเริ่มเชิญให้ไปถ่ายคลิปทำรีวิวที่ร้าน และแน่นอนว่าเจ้าของร้านต้องคาดหวังค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นนอกจากการนำเสนอคอนเทนต์ให้น่าสนใจแล้ว พิโรดมยังถือว่าเป็นการขายความเป็นมืออาชีพให้กลุ่มลูกค้าได้รับรู้และเข้าใจการทำงานของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบโปรดักชัน หรือการใช้นายแบบหรือนางแบบมาช่วยสื่อสารคอนเทนต์รีวิว

    คอนเทนต์ครีเอเตอร์ในมุมมองผู้ประกอบการ

    จากการรับรู้อาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในลำปางทำให้ฝั่งผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร คาเฟ่ ที่พัก หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในลำปางเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของครีเอเตอร์ หากแต่จะอาศัยแรงขับเคลื่อนจากทักษะของคนทำงานหรือลูกจ้างอาจทำให้การสื่อสารแบรนด์ของตนยังน่าสนใจได้ไม่พอ ฝั่งผู้ประกอบการเองก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจทักษะดังกล่าวร่วมกับคนทำงานเพื่อนำมาเติมเต็มให้กับการสื่อสารแบรนด์แบบครีเอเตอร์ด้วยเช่นกัน



    “พี่เปิดร้าน ทำอาหารคลีนแบบฟิวชั่น และพยายามสื่อสารว่าทุกเมนูของร้านล้วนมีเรื่องราวและที่มาที่ไปเสมอ แบบนี้จะเรียกว่าเป็นครีเอเตอร์ได้ไหม”

    ชญาดา ศรีมานิตรากูล ผู้ประกอบการร้านอาหาร “ทานคลีน – Taan Clean” ในตัวเมืองลำปาง อธิบายความเป็นครีเอเตอร์ตามความเข้าใจของตนว่า การสื่อสารร้านอาหารไม่ได้มีแค่ภาพอาหารแล้วมีชื่อเมนูประกอบและข้อมูลติดต่อของร้านแล้วก็จบ เพราะทุกองค์ประกอบที่นำมาจัดวางและตกแต่งตามมุมต่าง ๆ ภายในร้านก็เป็นการสื่อสารร้านอาหารอย่างสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกกลั่นกรองโดยกระบวนการคิด ออกแบบ และดูแลเอาใจใส่จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของร้านที่ต้องเขียนแคปชั่นลงบนเพจร้านฯ  การเขียนเกิดขึ้นได้เพราะมาจากการอ่าน การค้นคว้าหาข้อมูลแล้วสกัดออกมาเป็นความเข้าใจที่เราอยากจะสื่อสารกับลูกค้าของเรา



    “ถ้าถามว่าจากคอนเซ็ปต์การสื่อสารแบรนด์ร้านอย่างที่พี่เล่าไป พี่มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ช่วยคิดด้วยไหม คำตอบคือพี่เป็นคนคิด ออกแบบ และลงมือสื่อสารด้วยตนเองทั้งหมด และภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารในลำปางตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดย่อม ผู้ประกอบการจะเป็นคนโพสต์คอนเทนต์ลงบนเพจเองทั้งหมด ด้วยต้นทุนที่มีทั้งวัตถุดิบ อุปกรณ์ และแรงงาน เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดลำปางที่อยู่วันละ 332 บาท (สำรวจล่าสุดปี 2566) ถือเป็นต้นทุนที่มีราคาสูงมาก หากต้องจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำด้วยก็จะทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนด้านแรงงานที่สูงเกินความจำเป็น”

    ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในลำปางต้องพยายามปรับตัวกับความจำเป็นที่ต้องใช้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ งานอะไรที่พอจะทำเองได้ก็ทำเลย เช่น ถ้าจะทำคอนเทนต์โปรโมทเมนูอาหารใหม่ก็ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับกล้องถ่ายรูป DSLR หรือ Mirrorless สำหรับถ่ายภาพนิ่งหรือคลิปวิดีโอโดยศึกษาจากคอนเทนต์ประเภท How to บน YouTube ควบคู่กันไป หรือบางคนที่อาจพอมีกำลังทรัพย์บ้างก็ไปลงคอร์สเรียนถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง หรือยิงแอดบนโซเชียลเอง



    “ผู้ประกอบการในลำปางที่เป็นคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่รู้และเข้าใจดีว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหรือเติมเต็มส่วนที่ธุรกิจต้องการได้มากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยบริบทเมืองลำปางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจระดับเมืองรองทำให้คนลำปางมีกำลังซื้อที่จำกัด การซื้อขายจึงหมุนเวียนเฉพาะในเมืองหรืออำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง ทำให้รายได้หรือยอดขายของผู้ประกอบการยากที่จะเพิ่มสูงไปกว่านี้ได้”

    แม้ชญาดาจะมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนจนต้องทำคอนเทนต์เองแทนการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำ แต่บางงานที่ชญาดาไม่สะดวกทำด้วยตนเอง เช่น งานกราฟิก ออกแบบเมนู ออกแบบโลโก้ หรืองานพิมพ์ ก็จะไปจ้างร้านปรินท์หรือจ้างฟรีแลนซ์มารับเป็นจ๊อบไป



    ในขณะที่ ปราณี รัตนพล ผู้ประกอบการร้านค้าเนื้อสดลำปาง TheButcherMind8Meat ที่จ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์เพื่อออกแบบงานกราฟิกและคิดคำโฆษณา (Copywrite) ลงบนแบนเนอร์สำหรับโปรโมทบนสื่อโซเชียลจนมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ลูกค้าในลำปางเห็นแล้วจำได้เลยว่าเป็นแบรนด์ของใคร

    “พี่จ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบฟรีแลนซ์ประจำ จ่ายเงินเดือนตามความสามารถและจำนวนชิ้นงานที่ได้ในแต่ละเดือน ถ้าเดือนไหนคุณขยันคุณก็ได้มากกว่าตัวเลขที่คุณคาดหวังไว้ เพราะเรทเงินเดือนมาตรฐานสำหรับการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์เริ่มต้นจริง ๆ อยู่ที่ 15,000 บาทซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจในลำปาง แต่พี่อยากจะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีงานทำ ให้เขาได้อยู่บ้านกับครอบครัวที่ลำปาง ไม่ต้องออกไปทำงานจังหวัดอื่น พี่เลยให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์นำเสนอแผนการทำงานแต่ละเดือนเลยว่า เดือนนี้จะทำอะไร จะมีงานออกมากี่ชิ้น งานแต่ละชิ้นมีมูลค่าเท่าไร พี่ก็จะดูคุณภาพงานควบคู่ไปด้วยว่า สมเหตุสมผลกับปริมาณงานและจำนวนเงินที่พี่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนหรือไม่” 



    ปราณีพยายามอธิบายเหตุผลเพื่อสนับสนุนการจ้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในลำปางว่าจำเป็นต่อผู้ประกอบการธุรกิจยุคดิจิทัลอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องกลุ่มลูกค้าที่ตนมองว่า ทำไมต้องจำกัดกลุ่มเป้าหมายแค่ในลำปาง ในเมื่อสินค้าของทางร้านอย่างเนื้อสดเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงและหาซื้อเพื่อนำไปประกอบอาหารได้ 

    “พี่ต้องการเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้ได้มากกว่าในลำปาง เพราะด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์และสินค้าที่มีภายในร้านชัดเจนอยู่แล้วว่าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากกว่า แต่ในขณะที่ร้านค้าอื่น ๆ ในลำปางเขาอยู่ได้เพราะส่วนหนึ่งมาจากฐานลูกค้าแบบปากต่อปากค่อนแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่พี่จ้างก็จะมาช่วยเติมเรื่องการวางแผนสื่อสารแบรนด์และโปรโมทสินค้าในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็นการคิดคำโฆษณาสำหรับออกแบบกราฟิก คิดแคมเปญโปรโมชั่นสนับสนุนการขาย  กว่าพี่จะหาคนสมัครที่ตรงตามสเป็กที่ต้องการ ก็ใช้เวลาเลือกคนอยู่นานพอสมควร เพราะเศรษฐกิจในเมืองไม่ได้เอื้ออำนวยต่อกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์เลย”

    เมืองสร้างสรรค์ แต่อาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์กำลังจะอยู่ไม่ได้

    ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมายังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ หลายภาคส่วนในลำปางพยายามจะขับเคลื่อนให้ลำปางเป็นเมืองสร้างสรรค์ เมืองแห่งการเรียนรู้ (Lampang Creative Learning City) ที่ได้รับการยอมรับจาก UNESCO ผ่านโครงการและงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและวิจัย ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 

    หลายโครงการและงานกิจกรรมที่เกิดขึ้นในลำปางเองก็ต้องการกลุ่มคนสายงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์มาช่วยสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์และโฆษณาเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังไม่สามารถจุดประกายให้เพิ่มการจ้างงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในพื้นที่ลำปางได้

    พิโรดม จันทนะเสวี ผู้ก่อตั้งเพจ “Lampang Variety – ลำปางวาไรตี้ ข่าว,รีวิว”  แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นนี้ว่า ด้วยความที่บริบททางเศรษฐกิจของเมืองลำปางแตกต่างจากกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ที่มีแหล่งงานและความต้องการจ้างงานกลุ่มผู้ผลิตงานสร้างสรรค์เป็นจำนวนมาก แต่ลำปางยังขยายแหล่งงานเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวได้ยากด้วยข้อจำกัดเรื่องกำลังจ่ายของคน เลยมีผลต่อวงการผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ที่ไม่ขยายตัวตาม

    “พอการขยายตัวของกลุ่มคนในวงการสื่อ กลุ่มครีเอเตอร์มาตันที่จุดนี้ เลยทำให้กลุ่มลูกค้าในลำปางที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยมองว่าสื่อหรือกลุ่มคนครีเอเตอร์มีตัวเลือกให้ใช้งานเพียงเท่านี้ ถ้าเลือกใช้คนหรือทีมไหนแล้วผลงานออกมาน่าพอใจก็จะใช้คนหรือทีมนั้นไปตลอด  เป็นข้อกังวลที่อาจทำให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่อยากจะสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้กับเมืองลำปางเข้าไม่ถึงแหล่งงานหรือกลุ่มคนที่สามารถพาเราเข้าไปหาแหล่งงานที่เราต้องการ ก็ทำให้คนหรือสื่อหน้าใหม่ในลำปางที่เข้ามาช่วงหลัง ๆ แจ้งเกิดได้ยากเหมือนกัน”

    ถ้าว่าตามบริบทเมืองเล็กอย่างลำปาง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นสิ่งสำคัญที่ปฏิเสธได้ยากว่าขาดไม่ได้ ทำให้คนทำงานแค่ทำงานเป็น ผลงานเด่นยังไม่พอ การเข้าสังคมหรือไปปรากฏตัวให้คนรู้จักตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีผลที่ทำให้กลุ่มคนที่เรามุ่งหวังให้เป็นลูกค้าในอนาคตได้นึกถึงเราเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยเช่นกัน  ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างพิโรดมเองได้รับโอกาสและมีงานเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าอาจมีบางเดือนที่งานเข้ามามากบ้าง น้อยบ้างก็ตาม



    “ถ้าหวังพึ่งรายได้จากคอนเทนต์รีวิวอย่างเดียวยังไงก็ไม่พอ เพราะงานรีวิวที่เข้ามา 80-90% เป็นงานที่ลูกค้าเชิญให้มารีวิวโดยแลกกับที่พักฟรีบ้าง อาหารฟรีบ้าง ลูกค้าบางคนมีงบให้จำนวนหนึ่งพอเป็นค่าน้ำมันรถ แต่งานรีวิวจริง ๆ มีต้นทุนมากกว่านี้ เช่น กล้องถ่ายรูป เลนส์ แฟลช อุปกรณ์จัดแสงหรืออุปกรณ์ใด ๆ ล้วนมีค่าเสื่อมและซ่อมบำรุงตลอดเวลา คนที่มาช่วยงานเราไม่ว่าจะเป็นช่างภาพหรือนางแบบ เราก็ต้องมีค่าตอบแทนให้ ซึ่งต้นทุนที่ว่ามานี้คือการลงทุนด้วยตนเอง แต่ผลตอบรับที่ได้คือช่วยสร้างการรับรู้ให้แก่คนลำปางว่า นึกถึงคอนเทนต์รีวิวต้องติดตามเพจนั้นเพจนี้ ซึ่งพี่มองว่าคอนเทนต์รีวิวเป็นผลพลอยได้ที่ทำให้มีลูกค้ามาจ้างเป็นงานอื่นที่ใช้ทักษะเดียวกับการรีวิว เช่น งานถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ บางทีก็ไปเป็นมือปืนรับจ้างให้อีกทีมหนึ่งซึ่งสามารถเป็นรายได้จากอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าเราอยากการันตีว่าจะอยู่รอดในสายงานนี้ก็ต้องรับงานอื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้หลักที่ครอบคลุมรายจ่ายประจำเดือนด้วย”

    “ถ้าพูดถึงรายจ่ายที่ไม่อยากให้มีเพราะจะไปกระทบต่อรายจ่ายอื่น ๆ คือค่ารักษาพยาบาล ยิ่งเป็นแรงงานที่ไม่มีประกันสังคมแล้วอาจทำให้เขาถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวเลยก็ได้ ถึงจะมีคนบอกว่าถ้าไม่มีประกันสังคมก็ควรจะซื้อประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตเองไปเลย แต่จำนวนเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายรายปี บางกรมธรรม์ต้องจ่ายเป็นสิบ ๆ ปีก็เป็นจำนวนเงินที่ต้องมีระยะเวลาตัดสินใจ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าประกันดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้วซื้อได้ทันที อย่างน้อยที่สุดถ้ารัฐมีสวัสดิการรองรับการเจ็บป่วยที่ดีกว่าบัตรทองก็ควรจะออกแบบให้แรงงานทุกรูปแบบเข้าถึงอย่างเท่าเทียม”



    เช่นเดียวกับ ชญาดา ศรีมานิตรากูล ในฐานะผู้ประกอบการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวคือ ไม่ใช่แค่กลุ่มอาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ประเภทฟรีแลนซ์เท่านั้นที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐที่รองรับการเจ็บป่วย แต่ยังมีแรงงานนอกระบบอีกมากที่ยังไม่มีสวัสดิการส่วนนี้  ฟรีแลนซ์ผู้ผลิตงานสร้างสรรค์บางคนอาจมีรายได้มากพอที่สามารถทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตได้ แต่ถ้าจะให้แรงงานประเภทลูกจ้างรายวันวันละ 332 บาททำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตอาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าด้วยรายได้รวมที่ไม่ครอบคลุมรายจ่ายจำเป็น

    “ถ้ารัฐจะเข้ามาดูแลสวัสดิการแรงงานควรเน้นรองรับการเจ็บป่วยให้ได้เทียบเท่าประกันสุขภาพของเอกชน เพราะการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง ถ้ารัฐสามารถจัดการส่วนนี้ได้ก็จะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทั้งแรงงานและนายจ้างไปได้มาก”



    ปราณี รัตนพล ในฐานะผู้ประกอบการกล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นนี้อีกว่า นายจ้างหรือเจ้าของกิจการเข้าใจดีว่าลูกจ้างมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ในเมื่อสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และกำลังซื้อขายของคนในลำปางทำให้ไม่สามารถขึ้นค่าแรงให้ครอบคลุมรายจ่ายประจำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หนทางที่นายจ้างหรือเจ้าของกิจการหลายคนพยายามช่วยเหลือลูกจ้างคือการช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง หรือหาที่พักให้ฟรี เพื่อว่าอย่างน้อยที่สุดก็ช่วยลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปได้บ้าง



    เปลี่ยนพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นการสร้างแหล่งงานและจ้างงาน รองรับกลุ่มอาชีพผู้ผลิตงานสร้างสรรค์

    ลำปางเป็นเมืองที่มีจุดเด่นทั้งด้านภูมิประเทศที่ตั้งที่เปรียบเสมือนกับไข่แดงของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สามารถหยิบยกทรัพยากรมาสร้างสรรค์เป็นงานสื่อสารความเป็นลำปางได้หลากหลายรูปแบบ เพียงแต่การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจังหวัดลำปางในช่วงที่ผ่านมายังแก้ปัญหาตามความต้องการบางอย่างได้ไม่ดีพอ เพราะงานโครงการหรือกิจกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านมายังถูกมองว่าสุดท้ายก็เป็นแค่การสาธิตหรือการแสดงบนเวที พองานจบแล้วก็คือจบตรงนั้นเลยโดยที่ไม่ได้คิดกันต่อว่า ผลที่ได้จากโครงการหรืองานกิจกรรมนี้จะสามารถสร้างงานรองรับคนทำงานกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ในลำปางที่ส่วนมากเป็นฟรีแลนซ์ได้อย่างไร

    ชญาดา ศรีมานิตรากูล ในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหารให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การสร้างแหล่งงานให้แก่คนสายงานครีเอเตอร์ควรเริ่มจากการมีพื้นที่ให้พวกเขาได้มาแสดงความสามารถและนำเสนอในสิ่งที่ตนต้องการส่งไปให้ถึงผู้จัดงาน ภาครัฐ หรือภาคธุรกิจในจังหวัดลำปาง โดยที่อาจยังไม่ต้องคิดถึงขั้นลำปางต้องเป็นเมืองเศรษฐกิจระดับเดียวกับเชียงใหม่ แต่จะทำให้เมืองรองมีคุณค่าได้อย่างไร และคนทำงานสร้างสรรค์สามารถอยู่ได้  ลำปางจะเป็นเมืองผ่านก็ได้  แต่ขอให้มีแรงดึงดูดที่ทำให้คนต้องแวะลำปางแล้วมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถเติบโตตามคุณค่าของลำปางได้ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบเงิน แต่อยู่ในรูปแบบการจ้างงานที่ขยายตัว การเกิดอาชีพใหม่ในลำปาง หรือการมีอัตราค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น

    “จริง ๆ แล้วจังหวัดลำปางยังมีคุณค่าที่ถูกซ่อนเร้นอีกมากตามพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก มีสื่ออิสระในจังหวัดลำปางหลายสำนักที่พยายามลงพื้นที่เพื่อหยิบเรื่องราวจากคุณค่าดังกล่าวมาสื่อสารและนำเสนอต่อพื้นที่สาธารณะในลำปางเพื่อนำไปสู่การเปิดพื้นที่สร้างโอกาสใหม่ ๆ แหล่งงาน การจ้างงาน อาชีพใหม่ เพียงแต่รัฐเองควรเข้ามาสนับสนุนเรื่องแหล่งทุน เพราะกลุ่มผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ในลำปางจำนวนหนึ่งได้พยายามสื่อสารจนสามารถยกระดับตนเองเป็นสื่ออิสระได้ แล้วสื่ออิสระเหล่านี้มีอิทธิพลมากพอที่สามารถชักจูงให้คนแวะมาเมืองรองอย่างลำปางด้วยคอนเทนต์ได้”



    พิโรดม จันทนะเสวี  ให้ข้อเสนอแนะทิ้งท้ายว่า สื่อท้องถิ่น อินฟลูเอ็นเซอร์ บล็อกเกอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ หลายคนยังไม่รู้ว่าควรตั้งราคาค่าผลิตงานเท่าไรถึงจะอยู่ในระดับมาตรฐาน เพราะการตกลงราคากับลูกค้าในช่วงที่ผ่านมามักจะอาศัยความใกล้ชิดสนิทสนมคุยกัน ทำให้ผลกระทบที่ตามมาคือเรทราคาที่ได้อาจต่ำกว่าเรทมาตรฐานที่เคยได้รับ แล้วผู้ผลิตงานหน้าใหม่จะทำงานได้ยาก แต่ถ้าในอนาคตมีหน่วยงานจากภาครัฐหรือเอกชนมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการกำหนดเรทราคาค่าผลิตงานให้มีมาตรฐานกลางที่รับได้ทั้งฝั่งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมต่อคนทำงาน การถูกกดราคา และการถูกตัดราคาได้

    รับชมผ่านรูปแบบวิดีโอ

    บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)


    อ้างอิง

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...