เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
ภาพ: ศรีลา ชนะชัย, สิริไพลิน สิงห์อินทร์ ,กนกพร จันทร์พลอย
ครบ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย 24 มิถุนายน 2475 พอดีเป๊ะเลยวันนี้ แม้ว่าตลอด 90 ปีที่ผ่านมาจะมีทั้งช่วงเบ่งบานของประชาธิปไตยบ้าง ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบเวลา 90 ปี เพราะไหนจะมีการยึดอำนาจ รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญกันเป็นว่าเล่น ก็ได้แต่คิดและก็สงสัยว่าทำไมประเทศไทยมันดูเหมือนละครชิงรักหักสวาทเสียเหลือเกิน
แม้ว่าประชาธิปไตยจะมาเป็นช่วงๆ เดี๋ยวผลุบ เดี๋ยวโผล่ แต่ก็ได้สร้างความหวังที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมจากรุ่นสู่รุ่นอยู่ตลอด แน่นอนว่าห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เองก็ไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เพียงที่เดียว แต่กระจายและปรากฏอยู่ในภูมิภาคด้วยเช่นกัน
Lanner ลองอาสาเป็นไกด์ชวนทุกคนไปเที่ยวตามรอยมรดกคณะราษฎรในเชียงใหม่และที่ต่างๆ ในภาคเหนือเป็นบางส่วน เพื่อบันทึกบางส่วนของร่องรอยสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมถึงสะท้อนถึงความใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ที่ยังดำรงอยู่ข้ามเวลามาในปัจจุบัน
สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญบนหน้าจั่ววัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ หรือวัดอุโมงค์อารยมณฑล
วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ วัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ แม้ว่าจะสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1839 – 1840 ก่อนการมาถึงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เนิ่นนาน แล้ววัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นส่วนหนึ่งของมรดกคณะราษฎร ได้ยังไง?
ถ้าเดินเข้าไปในวัดแล้วแหงนขึ้นไปดูบนหน้าจั่วก็จะเห็นสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญอยู่ตรงกลางเลย ดูจากข้อความที่จารึกบนหน้าจั่วแล้ว พานรัฐธรรมนูญบนหน้าจั่วสร้างขึ้นในช่วงปี 2486 โดยมีจารึก 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษาจีนว่า “พ.ศ. 2486 นายฮะเสง นางคำปัน โต๋วถ่ายลัง”
จากงานศึกษา สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกับประติมานวิทยาทางการเมืองในเขตวัฒนธรรมล้านนา พ.ศ. 2475 – 2490 โดยว่าที่ ร้อยตรี ชาญคณิต อาวรณ์ อธิบายไว้ว่าสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะราษฎรในการสถาปนาหลักการใหม่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง พ.ศ. 2476 – 2490 สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญถูกผลิตซ้ำอย่างเด่นชัด และเป็นที่รับรู้ของสังคมล้านนาอันเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแบบมหาดไทยในส่วนภูมิภาค ช่างล้านนาและผู้อุปภัมป์ในช่วงนั้นจึงผสานสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญร่วมกับงานประดับอาคารทางพุทธศาสนา สะท้อนให้เห็น ผลของการเปลี่ยนแปลงความคิดวัฒนธรรมการเมืองภายใต้นโยบายรัฐนิยมได้เป็นอย่างดี
ตาลปัตรทรงหน้านางที่ปักชื่อคณะราษฎร วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
มาต่อกันที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อีกวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ก็มีตาลปัตรทรงหน้านางที่ปักชื่อคณะราษฎร พร้อมทั้งวันเดือนปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 2475) ตาลปัตรนี้เป็นรูปสมอเรือ ประดับอยู่บนแท่นด้านหลังฝั่งซ้ายของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในภาพถ่ายที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
จากข้อมูลในบทความ ลายเซ็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ที่ระลึกวันมอบรัฐธรรมนูญให้เมืองเชียงใหม่ (จบ) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ระบุว่า ตาลปัตรทรงหน้านางที่ปักชื่อคณะราษฎร นั้น สะท้อนถึงความตั้งใจของบุคคลในกลุ่มคณะราษฎร (อาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงพระยาพหลพลพยุหเสนาเพียงคนเดียว) ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับวงการสงฆ์ จึงได้ถวายพัดของคณะราษฎรให้แก่พระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ตามหัวเมืองต่างๆ และรวมถึงครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วย ตาลปัตรนี้เป็นรูปสมอเรือ ประดับอยู่บนแท่นด้านหลังฝั่งซ้ายของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในภาพถ่ายที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
จากการสำรวจก็เห็นตาลปัตรในรูปถ่ายภายในวัด ที่อยู่ข้างๆ ครูบาเจ้าศรีวิชัย น่าเสียดายที่เห็นแค่ในรูปเล็กๆ และไม่พบตาลปัตรของจริง
ลายเซ็นของพระยาพหลพลพยุหเสนาบนแผ่นซีเมนต์ ทางเข้าน้ำตกห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
แน่นอนว่าดอยสุเทพถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ ใครมาเที่ยวเชียงใหม่ก็ต้องไปดอยสุเทพ และมรดกที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรก็อยู่แค่ตีนดอยสุเทพ!!! อยู่ตรงน้ำตกห้วยแก้วนี่เอง
หลายคนอาจจะงงแน่ ๆ ว่ามันอยู่ตรงไหน ไปมาแล้วไม่รู้ตั้งกี่รอบก็ไม่เคยเห็น เราเลยอยากจะบอกว่ามันเป็นแค่แผ่นซีเมนต์ไม่ได้ใหญ่โตมาก แถมยังกลมกลืนไปจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันเลย มันคือลายเซ็นของพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในแผ่นซีเมนต์ระบุ “พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี” ๒ ธ.ค. ๗๗” ซึ่งเป็นลายเซ็นของที่พระยาพหลพลพยุหเสนาสลักเอาไว้ เป็นที่ระลึกเนื่องในวันที่นำรัฐธรรมนูญจากส่วนกลางขึ้นมามอบให้กับประชาชนในภาคเหนือ
จากการเดินสำรวจพบว่าเป็นแค่บนแผ่นซีเมนต์ที่แทบจะกลืนไปกับก้อนหิน โดยตัวอักษรที่สลักเอาไว้เมื่อเกือบ 88 ปีก่อน แทบจะเลือนลางไปจนมองไม่ออกว่า นี่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจากบทความ: ลายเซ็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ที่ระลึกวันมอบรัฐธรรมนูญให้เมืองเชียงใหม่ (จบ) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ
เยี่ยมชมวัดที่มีสัญลักษณ์ ”พานรัฐธรรมนูญ” ทั่วภาคเหนือ
นอกจากที่วัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ที่มีพานรัฐธรรมนูญบนอยู่บนหน้าจั่วแล้ว อีกหลายวัดในภาคเหนือเองก็มีสัญลักษณ์ของพานรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งเหมือนกัน วัดน้ำบ่อหลวง ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ที่มีพานรัฐธรรมนูญตั้งสวยเด่นสะดุดตา ที่น่าสนใจคือตรงหน้าจั่วกุฏิเจ้าอาวาสก็มีตรารัฐธรรมนูญเช่นกัน แม้จะไม่มีเวลาและข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ได้สืบค้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลต่อ
อีกวัดที่มีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ ก็คือวัดคันธาวาส ตำบลยางคราม อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ และคาดว่าน่าจะมีอีกหลายวัดที่ยังคงมีสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ อย่างในจังหวัดลำปาง ที่อุโบสถวิหารวัดปงหอศาล อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ที่มีกลางหน้าบันเป็นแผ่นไม้แกะสลักเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้แล้วในจังหวัดลำปางเองก็มีสัญลักษณ์ลายพานรัฐธรรมนูญอยู่ในอีกหลายวัด เช่น วัดปงสนุก, วัดสบทะ, วัดนากว้าว, วัดปงสนุกเหนือ และวัดล้อมแรด
แน่นอนว่ายุคสมัยของคณะราษฎรเองก็ไม่ยืดยาวนัก แม้ว่าจะพยายามวางโครงสร้างรากฐานตามวิถีทางประชาธิปไตยยังไง สุดท้ายกลุ่มขั้วอำนาจเก่าก็กลับมามีอำนาจ และครอบครองประเทศอีกครั้ง และมีความพยายามในการลบทำลายสัญลักษณ์ที่เป็นมรดกของคณะราษฎรในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...