เริ่มแล้ว ยืนหยุดขัง อุตรดิตถ์ อัพเดทอาการตะวันและแบมหลังถูกนำตัวเข้ารักษาใน ร.พ.ธรรมศาสตร์

26 มกราคม 2566


เมื่อวาน (25 มกราคม 2566) กลุ่มเยาวชนอุตรดิตถ์ปลดแอก คณะก้าวหน้าจังหวัดอุตรดิตถ์ และประชาชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้จัดกิจกรรมยืนหยุดขังขึ้น ที่หน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เพื่อแสดงออกถึงการให้กำลังใจตะวันและแบม ตั้งแต่เวลา 16.30 – 17.42 น.


โดยกิจกรรมดังกล่าวผู้ร่วมกิจกรรมได้ยืนนิ่งเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที มีการถือป้ายแสดงออกถึง การยกเลิกมาตรา 112 การคืนสิทธิ์ประกันตัว และให้กำลังใจตะวันและแบม 


ระหว่างที่ทำกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ปกครองของจังหวัด เข้ามาเฝ้าสังเกตการณ์ พร้อมบันทึกภาพผู้ที่มาร่วมกิจกรรม 


ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรมได้มีตัวแทนอ่านบทกวีของ อานนท์ นำภา

อัพเดทอาการตะวันและแบม

อาการล่าสุดของตะวันและแบม หลังถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยมตะวันและแบม พร้อมทั้งได้เข้าพูดคุยปรึกษาอาการกับแพทย์ที่เป็นผู้ดูแลทั้งคู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

ทนายความของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และอรวรรณ ขอชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดอาการและรายละเอียดการเข้าพบตะวันและแบม ในวันที่ 25 มกราคม 2566 ต่อสาธารณชนดังต่อไปนี้  

ทนายความได้เข้าพบตะวันและแบมในเวลา 14.52 น. ในห้องของโรงพยาบาลซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เฝ้าอยู่ในห้องด้วยตลอดเวลาจำนวน 4 คน พบทั้งคู่นอนอยู่บนเตียงเดี่ยว ตะวันมีลักษณะผอมลงเป็นอย่างมากและเห็นรูปโครงหัวกะโหลกจากศีรษะค่อนข้างชัด ทั้งคู่ใส่เสื้อหนาวสีสันสดใสเป็นลายคู่กันนอนข้างกันอยู่บนเตียง

จากการสอบถามปรากฏว่าเมื่อวานขณะมาถึงและได้รับการตรวจ ตะวันมีอาการหัวใจจะหยุดเต้นจากการขาดโพแทสเซียม จึงตัดสินใจรับโพแทสเซียมจากพยาบาลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่ทั้งคู่ยังคงยืนยันว่าจะทำตามความตั้งใจเดิมและมั่นใจในการดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ คืออดน้ำ อดอาหาร ไม่ใส่สายน้ำเกลือ ไม่กินเกลือแร่ ไม่กินวิตามิน ไม่กินน้ำหวานและอื่นๆ

ในวันนี้สภาพจิตใจของทั้งคู่ดีขึ้นมาก แบมแสดงอาการตื้นตันใจเมื่อได้รับทราบว่าพ่อแม่ของแบมไปยืนหยุดขัง

จากการปรึกษาอาการกับแพทย์ โดยภาพรวม ทั้งคู่มีการรู้สติในเกณฑ์ปกติ มีอาการอ่อนเพลีย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้ทำการเจาะเลือดตรวจและทำการเอกซเรย์ โดยในเกณฑ์นี้ยังไม่มีอะไรเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งสำหรับการอดอาหารแบบไม่รับยา ไม่ทานยานั้น จะมีอาการปวด ทุกข์ทรมานโดยไม่มีอาการบรรเทา ซึ่งเมื่อคนไข้ปฏิเสธรับยาและการรักษา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็จะเคารพการตัดสินใจของคนไข้ และทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จะใช้วิธีการดูแลคนไข้ด้วยการตามมาตรฐาน เช่นในกรณีที่คนไข้ไม่รับการรักษา โรงพยาบาลจะดูแลด้วยการตรวจจับสัญญาณชีพตามมาตรฐาน คือทุก 4 – 6 ชั่วโมง

ภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดยสิ่งที่เริ่มเห็นจากร่างกายของคนไข้ คือการขาดเกลือแร่ และเกลือแร่บางตัวเช่นโพแทสเซียม หากต่ำไปจะทำให้หัวใจหยุดเต้น ซึ่งในขณะนี้คนไข้มีอาการดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ หากอาการยังคงเป็นไปเช่นนี้ โดยคนไข้ยังปฏิเสธการรับเกลือแร่ อาการก็จะไม่ดีขึ้น แต่สาเหตุของการไม่ดีขึ้นหรือมีอันตรายถึงชีวิตต่อร่างกายจะเกิดขึ้นได้โดยหลายปัจจัย

โดยแพทย์ และตะวันกับแบมได้ยืนยันกับทนายตรงกันว่า ทั้งคู่รับทราบถึงอาการของร่างกายของตนเองเป็นอย่างดี มีความเข้าใจว่าจะสามารถเกิดอะไรขึ้นได้กับร่างกายของตน โดยตะวันได้บอกว่า หากเมื่อร่างกายเข้าขั้นวิกฤตแล้วจริงๆ รับทราบดีว่าสามารถมีอาการหัวใจวายได้ “ถึงตอนนั้นก็คือหนูก็จะไม่รู้อะไรแล้ว”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง