ลอยกระทงในล้านนา มาเมื่อไหร่?

ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ มาจากคำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วนคำว่า เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา ซึ่งตรงกับเดือนสิบสองของไทย โดยชื่อ ‘ยี่เป็ง’ สามารถย้อนการปรากฎกลับไปได้ไกลถึงปีพ.ศ.2339 โดยเป็นการจารึกไว้บนศิลาจารึกวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นการบันทึกการยกพลกลับเมืองเชียงใหม่ตามประเพณีโบราณของ พระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว (พระเจ้ากาวิละ) เพื่อฟื้นฟูเมืองครั้งเมื่อเมืองเชียงใหม่มีอายุได้ครบ 500 ปี โดยในปีเดียวกันนั้น ‘วันยี่เป็ง’ ตรงกับ วันจันทร์ เพ็ญเดือนยี่ พระเจ้ากาวิละ พร้อมกับพระกรรโลงรักอรรคราชมารดา พระราชกนิษฐา พร้อมพระญาติวงศ์ เสด็จไปยังวัดพระธาตุลำปางหลวง เพื่อบูชา ‘พระวรชินธาตุเจ้าลามพะกะบุรีเรือง’ 


ภาพ : Lan Na Epigraphy ACCL CMU

การลอยกระทงในล้านนา ประเพณีที่จัดตามแบบประเพณีไทย?

ด้านประเพณีลอยกระทง ตามข้อมูลจากหนังสือ ‘สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ’ ได้กล่าวถึงประเพณีลอยกระทงไว้ว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพิธีตามประทีปหรือทีปาวลี ของอินเดีย ซึ่งจะมีการลอยกระทงเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์ คือพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์และประเทศไทยได้รับเอาคติความเชื่อนี้ เข้ามาปรับกับความเชื่อของท้องถิ่น เกิดเป็นประเพณีการลอยกระทง เพื่อขอขมาลาโทษ พระแม่คงคาขึ้น ทั้งนี้เพราะชาวไทยสมัยก่อนประกอบอาชีพเกี่ยวกับ การกสิกรรมซึ่งจะต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยภายหลังกลายเป็นประเพณีที่ชาวไทยถือปฎิบัติ

การลอยกระทงในล้านนานั้น เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแบบประเพณีไทย ผู้ที่เริ่มการลอยกระทงในเชียงใหม่เป็นคนแรกคาดว่าเป็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในช่วงประมาณ พ.ศ.2460 – 2470 ซึ่งได้รับแบบอย่างมาจากสยาม โดยการจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมทั่วไป เพราะชาวล้านนายังปฏิบัติตามจารีตประเพณีเดิม ด้วยการประดับประทีปโคมไฟตามบ้านเรือน และมักจัดตั้งธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน “เพ็ญเดือนยี่” ตามประเพณีดั้งเดิมอยู่


เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 (ภาพ : AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA) 

ส่วนเทศกาลลอยกระทงของเชียงใหม่ หรือประเพณียี่เป็ง เริ่มขึ้นครั้งแรกในสมัย นายทิม โชตนา ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ.2490 ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวโดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมในการลอยกระทงมากขึ้น และมีการเฉลิมฉลองบริเวณถนนท่าแพโดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน ประเพณีการลอยกระทงที่จังหวัดเชียงใหม่มีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.2512 โดยจัดให้มีการลอยกระทงสองวันคือในวันยี่เพงหรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบสอง จะมีการลอยกระทงขนาดเล็ก และในวันแรม 1 ค่ำ จะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มกันที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปถึงสะพานนวรัฐ แต่ภายหลังมีการยอมรับและนำไป “ลอยกระทง” กันทั่วไป


การปล่อยโคมลอยในเวลากลางคืน หรือที่เรียกว่า ‘โคมไฟ’ ตามธรรมเนียมปฎิบัติของประเพณียี่เป็ง (ภาพ : https://www.govivigo.com/ideas/194-thailand-ประเพณียี่เป็งแห่งดินแดนล้านนา)

ภายหลังประเพณียี่เป็งถูกลดทอน และนำเพียงภาพสัญลักษณ์บางอย่างออกจากวัดและชุมชนไปสู่หน่วยงานราชการ และส่วนกลางของจังหวัด เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยขาดการเชื่อมโยงที่มาของพิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิม เช่น การขอความร่วมมือหน่วยงานจัดทำซุ้มประตูป่า การแข่งขันปล่อยโคม การแห่ขบวนรถกระทง เป็นต้น หัวใจสำคัญของประเพณียี่เป็งล้านนาด้วยการฟังธรรมในพิธีตั้งธัมม์หลวงจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากชุมชน เปลี่ยนเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริงในการพบปะสังสรรค์ ร้องรำทำเพลง และลอยกระทงริมฝั่งน้ำ ตามสมัยนิยมที่พัฒนาไปพร้อมกับสังคม


อ้างอิง

  • การเข้ามาของประเพณีลอยกระทง
  • จารึก 1.6.1.1 วัดพระธาตุลำปางหลวง 2339 / 1796 คลังข้อมูลจารึกล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง