พฤษภาคม 14, 2024

    บาดแผลไม่มีวันจาง…ความรุนแรงของผู้หญิงผ่านกระบวนการ (อ) ยุติธรรม

    Share

    เรื่อง ภัทรภร ผ่องอำไพ

    การเป็นผู้ถูกกระทำจึงทำให้ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดลุกขึ้นสู้เพื่อทวงความยุติธรรมที่สมควรได้รับ เรื่องราวของอิซาเบลล่าเป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกเป็นจำนวนมากให้ลุกขึ้นสู้ แต่ปัญหาของผู้หญิงรายอื่นๆ ที่เข้าไม่ถึงความยุติธรรมไม่ใช่เพราะพวกเธอไม่กล้า แต่เป็นเพราะระบบที่กีดกันไม่ให้พวกเธอเข้าถึงสิทธิที่ควรได้รับ

    “เราเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรม สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้” เสียงของอิซาเบลล่า (นามสมมุติ) ผู้เสียหายชาวกัมพูชาเชื้อสายอังกฤษวัย 20 ปี  นักศึกษาต่างชาติในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของไทยบอกถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม 

    เธอเล่าย้อนเหตุการณ์ที่จะลืมไม่ลงไปตลอดชีวิตว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2566 ที่กิติกร (นามสมมุติ) เชิญให้เข้าไปหาที่บ้านเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจและชักชวนให้ร่วมทำงาน ตอนแรกเธอก็รออยู่หน้าบ้าน กระทั่งเขาเชิญเข้าไปภายในบ้าน 

    กฎหมาย SLAPP ภัยคุกคามต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ

    มิ้นท์ นาดศิลปฏิวัติ : เมื่อนักเคลื่อนไหวหญิงถูกขู่ฆ่า ถึงเวลาต้อง “หนี”

    คุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องตลก อย่าให้เหยื่อต้องมีตราบา

    “เขาถือแก้วแชมเปญมาให้เพื่อเฉลิมฉลองให้กับธุรกิจของเขา รวมทั้งบอกข่าวดีว่า ได้ทำงานร่วมกับเขาแล้ว เราก็ดีใจ จากนั้นเขาก็ขอให้เราดื่มแชมเปญที่เขาถือมา ซึ่งปรกติเราไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์ แต่เขาก็บอกว่า เขาไม่เคยขอร้องใคร ที่ผ่านมาเขาก็ไม่เคยขอร้องอะไรจากเรา ด้วยความที่ก็เคารพเขาในฐานะคนรู้จัก ในฐานะของครู เราจึงดื่ม”

    เธอเล่าอีกว่า แม้ว่าไม่เคยดื่มแอลกอฮอลล์ แต่เวลาไปร่วมงานเลี้ยงก็มักจะสังเกตพฤติกรรมของผู้ร่วมงานเสมอ ซึ่งปกติการดื่มแชมเปญไม่ใส่น้ำแข็ง แต่ก่อนส่งเครื่องดื่มให้เธอ กิติกรนำช้อนมาคนในแก้วและใส่น้ำแข็งให้เธอ แต่เธอก็ดื่มด้วยความเกรงใจ 

    หลังจากดื่ม เธอมีอาการหายใจไม่ออกเหมือนจะเป็นลมจึงขอให้เขานำส่งโรงพยาบาล แต่กิติกรปฏิเสธ

    “เขาบอกว่า มันเป็นเรื่องปรกติ ไม่เป็นไร แต่ตอนนั้นในหัว คือ รู้แล้วว่าอาการแบบนี้มันไม่ปรกติเลย ต้องเกิดอะไรขึ้นแน่ๆ”เธอเล่าวินาทีที่เกิดขึ้นในขณะนั้น 

    จากนั้นเธอก็พยายามจะลุกออกจากบ้าน แต่เขาก็ใช้กำลังกระชากแขนและบังคับให้เข้าไปข้างในบ้าน แต่เธอบอกว่า หายใจไม่ออกเหมือนโลกหมุนไม่สามารถควบคุมร่างกายได้  

    “ตอนนั้นเขาวิ่งเข้าไปในบ้าน บอกให้เราดื่มน้ำที่เขาเตรียมไว้ให้ พอเราปฏิเสธที่จะไม่ดื่ม เขาก็ตะคอกใส่ พอเราจะลุกออกไปหายใจ เขาก็ตะโกนห้ามไม่ให้เราออก”เธอเล่าเป็นฉากๆ เหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน 

    ภาพประกอบจากเว็บ UN Women

    จากนั้นอิซาเบลล่าพยายามตั้งสติและหาจังหวะวิ่งหนีออกไปขอความช่วยเหลือจากบ้านตรงข้ามให้พาเธอส่งที่โรงพยาบาล เมื่อไปถึงได้มีการตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดพบว่า มีสารเสพติดในร่างกาย 

    “จริงๆ ตกใจมากเลยที่พบสารเสพติดในร่างกาย เพราะเราไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สารเสพติดทุกประเภท ตอนที่คุณหมอมาบอกพบสารเสพติดในร่างกายมีถึง 9 ชนิด ถือว่าเยอะและมีปริมาณมากมีความเสี่ยงที่จะเกินขนาด (Overdose) อาจทำให้สลบหรือเสียชีวิตได้ โชคดีที่เรายังรู้ตัว มีสติและพยุงร่างกายไปโรงพยาบาลทัน”เธอเล่า

    หลังจากนั้นเธอรักษาตัวเป็นระยะเวลานานเพื่อฟื้นฟูร่างกายและรักษาบาดแผลในใจที่เป็นผลเกิดขึ้นจากอาการหวาดกลัว (Panic Disorder) โดยเฉพาะเวลาได้ยินเสียงคนวิ่งเข้ามาใกล้ๆ จะทำให้ตกใจ หวาดกลัว เพราะภาพจำสุดท้ายของเธอเป็นภาพขณะวิ่งหนี แล้วมีเสียงของเขาวิ่งตามไล่หลัง หลังจากนั้นเธอก็ไม่กล้ารับน้ำดื่มจากใคร จะพกขวดน้ำใส่กระเป๋าและดื่มเฉพาะที่พกไปเท่านั้น

    ก้าวข้ามความกลัวสู่กระบวนการยุติธรรม

    “ช่วงแรกรู้สึกหวาดกลัวมาก ไม่กล้าบอกใคร รู้สึกอาย คนแรกที่ขอคำปรึกษา คือ พี่ชาย ซึ่งพอพี่ชายได้ฟังจึงคุยกับพ่อแม่ทันทีและประสานกับทาง รอง ผบ.ตร. เพื่อไปให้ปากคำและรวบรวมหลักฐานตอนนี้อัยการได้ส่งไปยังชั้นศาลแล้ว”เธอกล่าวและว่า”

    “ช่วงที่ผ่านมาครอบครัวของผู้ก่อเหตุพยายามทุกทาง ทั้งผ่านครอบครัวเพื่อน และคนที่รู้จักแต่ไม่แน่ใจเจตนาว่าต้องการอะไร ซึ่งทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยและเหนื่อยล้ามาก”เธอกล่าวพร้อมกับถอนหายใจ 

    แต่สาเหตุที่ทำให้เธอสามารถกล้าเดินหน้าดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดนั้นเป็นเพราะหลายฝ่ายให้สนับสนุนและยังมีความช่วยเหลือจากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ให้กำลังใจ เพื่อไม่รู้สึกกลัวและรู้สึกอาย ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาสู้กล้าเผชิญหน้า 

    “ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ที่โดนกระทำความรุนแรง ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัวที่จะแจ้งความหรือต่อสู้ เพราะพวกคุณไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง เราเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรม สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้”เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

    กรกนก คำตา (ปั๊บ) นักกิจกรรมเรื่องสิทธิพลเมือง 

    รัฐโยนงานจนปฏิเสธไม่รับเคส 

    กรกนก คำตา (ปั๊บ) นักกิจกรรมเรื่องสิทธิพลเมือง อีกบทบาทหนึ่งเธอเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคสามัญชน กล่าวว่า ขณะนี้ยังขาดกลไกที่เข้ามาสนับสนุนเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสียหาย อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดในส่วนของการเชื่อมโยงประสานกันจึงทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไข

    “ไม่ใช่ว่า เคสความรุนแรงไม่ค่อยเกิดขึ้น พอหน้างานมีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความ หน่วยงานดำเนินการไม่เป็น หน่วยสนับสนุนก็ไปต่อไม่ได้ โยนไม้ต่อกันไปกันมา เพราะขาดผู้ชำนาญการ กระทั่งปฏิเสธไม่รับตรวจผู้เสียหายแบบนี้ก็ไม่ได้”กรกนก กล่าวด้วยน้ำเสียงทอดถอนใจ

    ความรุนแรงคดีที่ไม่ควรยอมความ 

    เธอกล่าวอีกว่า สิ่งที่ท้าทาย คือ บางครั้งคนไม่เข้าใจว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จนไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่แสดงความคิดเห็นจนกลายเป็นเรื่องเพิกเฉย 

    “เราไม่ควรปล่อยและยอมความ เพื่อการสร้างความตระหนักรู้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับ ชุมชน หมู่บ้าน นักกิจกรรมทางการเมือง มหาวิทยาลัยให้มีพื้นที่บรรยากาศการพูดคุยประเด็นนี้อย่างจริงจัง”

    กรกนก เสนอว่า หากชุมชนตระหนักรู้ ช่วยเหลือ เฝ้าระวังและให้ความสำคัญถึงประเด็นความรุนแรงว่าด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง ทั้งการทำร้ายร่างกาย การกระทำชำเรา ข่มขืน การฆาตกรรม ไม่ว่าเพศใดๆ ระบบยุติธรรมจะต้องเข้ามามีบทบาทในการปกป้อง คุ้มครอง รักษาสิทธิให้กับผู้เสียหายทั้งหลายอย่างยุติธรรม ไร้ซึ่งการเลือกปฏิบัติ

    “กฏหมายที่มีความเย็นชาขาดการรับฟัง มันจึงกลายเป็นภาพท้อนสะท้อนถึงการขาดความเห็นอกเห็นใจในความเป็นเพื่อนมนุษย์ ในขณะที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเพิ่มขึ้นไม่เว้นวัน แต่ความช่วยเหลือกลับเข้าไปไม่ถึงพวกเขาอยู่ดี”

    จอมเทียน จันสมรัก นักขับเคลื่อนในประเด็นส่งเสริมประเด็นสุขภาพจิต แบ่งความรุนแรงแห่งเพศออกเป็น 3 ข้อ 1.ทัศนคติของคนรัฐ ซึ่งมักจะมีทัศนคติที่มี มายาคติทางเพศที่ใช้ความเอนเอียงของตัวเองในการตัดสินว่าผู้เสียหายที่เดินเข้าไปแจ้งความหรือมาขอความช่วยเหลือควรได้รับการสนับสนุนหรือไม่ 

    จอมเทียน จันสมรัก นักขับเคลื่อนในประเด็นส่งเสริมประเด็นสุขภาพจิต

    สำหรับประเด็นที่ 2 นั้นเธอมองว่า เกิดจากศักยภาพของคนทำงาน เช่น  ตำรวจไม่รู้กฎหมาย ไม่ได้รับการอบรมให้เข้าใจประเด็นในปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นต้น

    “ประเด็นเกี่ยวกับเพศต้องมีการอบรม แต่ตำรวจหญิงบางสถานีตำรวจก็ไม่มี ตำรวจชายก็ไม่ได้รับการอบรมให้มีความเข้าใจเรื่องเพศ สิ่งที่เจอจึงเป็นปัญหาในระดับเชิงระบบที่คนทำงานไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่ได้รับการสนับสนุนทำให้กฎหมายที่เขียนไม่ถูกนำมาใช้”เธอบอกเล่าถึงปัญหาที่พบเจอ 

    ประเด็นที่ 3 ที่เธอเห็นว่า เป็นประเด็นใหญ่ที่สุด คือ การร่างกฎหมายของแบบไทยไม่ได้นำองค์ความรู้ด้านอื่นเข้าไปเกี่ยวเป็นกฎหมาย เป็นมุมมองของคนเขียนกฎหมายที่มีอำนาจ ทำให้ไม่ได้สัมผัสถึงข้อท้าทายในการใช้กฎหมายนั้นในพื้นที่จริง ไม่ได้รับตอบรับจากประชาชนเท่าที่ควร ทำให้หลายครั้ง กฎหมายจึงออกมามีเนื้อหารายละเอียดที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง 

    “ยกตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดเลยจะเป็นกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวที่มองว่าต้องยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลางและเน้นการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันได้ ซึ่ขัดกับหลักการสากลขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องยึดผู้เสียหายไปเป็นศูนย์กลาง”เธอยกประเด็นปัญหามาอธิบายให้เห็นภาพ 

    ที่ผ่านมากฎหมายของรัฐขาดการรับฟังเสียงจากประชาชนหรือฟังก็ไม่นำเสียงไปปรับใช้ อีกทั้งในประเด็นเฉพาะก็ไม่ดึงผู้เชี่ยวชาญเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน 

    “กฎหมายไทยจึงเป็นกฎหมายที่เย็นชาและขาดความเข้าใจมนุษย์”เธอกล่าว 

    จอมเทียน จันสมรัก นักขับเคลื่อนในประเด็นส่งเสริมประเด็นสุขภาพจิต

    เธอ เล่าต่อว่า กรณีที่เป็นกฎหมายเรื่องเพศ แนวทางการสอบสวนไม่ได้นำกระบวนการรักษาบาดแผลทางจิตใจของเคสนำมาใช้จึงกลายเป็นว่า ผู้เสียหายเสมือนได้รับการกระทำข่มขืนซ้ำจากหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นในชั้นสอบสวนและในชั้นศาล หรือกรณีเคสอายุมากกว่า 18 ปี ยังขาดทีมวิชาสหาวิชาชีพเข้ามาช่วยดูแล ทำให้เคสมักจะถูกกล่าวโทษ เกิดเป็นการตัดสินโทษเหยื่อจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เข้าใจในประเด็นงานความรุนแรงทางเพศ

    “ในประเด็นงานที่ขาดผู้เชี่ยวชาญ รัฐจึงควรจะมองเห็นปัญหาและยอมรับในประเด็นที่ไม่เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะดึงคนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาปรับปรุงต่อยอด เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนไม่ใช่ผลประโยชน์ของตน” เป็นสิ่งที่จอมเทียนเน้นย้ำ

    ผู้เสียหายคดีทางเพศต่อกระบวนการยุติธรรม

    เมื่อปี 2538 ประเทศไทยริเริ่มการมีพนักงานสอบสวนหญิง พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว เป็น 1 ใน 15 คนนั้น เธอทำงานในฝ่ายสอบสวน กระทั่งเกษียณในตำแหน่งผู้กำกับการสอบสวนกลุ่มงานสอบสวนกองบังคับการ ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกและได้รับความสนใจจากหลากหลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน 

    “สิ่งสำคัญในฐานะคนทำงานไม่ว่าจะเพศชายหรือเพศหญิง ต่อประเด็นการทำงานความรุนแรงว่าด้วยเหตุแห่งเพศ จึงเป็นในส่วนของอคติของคนทำงานที่มีต่อผู้เสียหาย การไม่ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวไปตัดสินเคสและการมีองค์ความรู้ ความเข้าใจในประเด็นงานเพื่อสนับสนุน ประสานช่วยเหลือเคสจึงสำคัญ”เธอเล่า 

    พ.ต.อ.หญิงฉัตรแก้ว กล่าวเสริมว่า บางครั้งความหวาดระแวง อคติ สามารถเกิดขึ้นได้จากมุมมองของผู้เสียหายเองเช่นกัน การที่ผู้เสียหายสามารถเลือกที่จะคุยกับพนักงานสอบสวนหญิง เพราะวางใจ สบายใจที่จะเปิดเผยข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เสียหายหญิงสามารถร้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่จัดหาพนักงานสอบสวนหญิงได้ภายใต้ข้อกฎหมายไทย แต่ในทางปฏิบัติจริงกระบวนการจัดหาพนักงานสอบสวนหญิงนับได้ว่ายาก ยาวนาน และซับซ้อนมาก

    พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว วรรณฉวี อดีตผู้กำกับการสอบสวนกลุ่มงานสอบสวนกองบังคับการ

    ตำรวจหญิงสำคัญไฉน? 

    ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติตำแหน่งระบุว่า พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ มีกว่า 10,000 คน ในส่วนนี้มีตรำวจหญิงประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ 

    พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว อดีตผู้กำกับการสอบสวนกลุ่มงานสอบสวนกองบังคับการ บอกว่า บางจังหวัด บางพื้นที่ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิง ซึ่งขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจที่เขาใช้วิธีการบรรจุเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนหญิงไปลงประจำการนั้นๆ 

    เมื่อย้อนดูข้อมูลเมื่อปี 2563 จากรายงานศึกษาผู้หญิงในการบังคับใช้กฎหมายจัดทำโดย United Nations Office on Drugs and Crime, UN Women และ INTERPOL มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพศชาย 84% และเพศหญิง 16% ถือว่าสัดส่วนไม่เท่ากัน 

    “จุดประสงค์เดิมของพนักงานสอบสวนหญิง คือ ให้บริการในคดีความรุนแรงว่าด้วยเหตุแห่งเพศ คดีความรุนแรงในเด็กเยาวชนและครอบครัว ซึ่งเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อน ทุกครั้งที่มีการแจ้งความในประเด็นความรุนแรงก็จะมีแต่พนักงานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิงที่มีความชำนาญประเด็นความรุนแรงทางเพศ เรียกได้ว่า ขาดแคลนและไม่สมดุล บางแห่งผู้หญิงก็ถูกโยกไปเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการเท่านั้น”เธอกล่าว 

    แยกหน่วยงานแก้ปัญหาสอบสวนคดีละเอียดอ่อน

    ปัจจุบันระบบการทำงานของตำรวจยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก จากประสบการณ์ พ.ต.อ.หญิง ฉัตรแก้ว เล่าว่า เคยนำเสนอข้อปัญหาเพื่อผลักดันนำไปสู่การแก้ไข แต่ไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ 

    “คดีละเอียดอ่อน อย่างคดีด้วยเหตุแห่งเพศมองว่า ควรที่จะแยกออกมาเป็นหน่วย กรมหรือกองแยกออกมาเพื่อทำคดีและสร้างพนักงานสอบสวนชำนาญการขึ้นมาโดยเฉพาะ ถ้าให้พนักงานสอบสวนรับคดีทุกรูปแบบพร้อมๆ กัน ทำให้ไม่ชำนาญเลยสักเรื่อง”เธอเสนอทางออก 

    อดีตผู้กำกับการสอบสวนฯ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ระบบโรงพัก เจ้าหน้าที่ที่เข้าเวร ณ เวลาเกิดเหตุจะเป็นคนรับคดี ซึ่งเหมือนเป็นการเสี่ยงดวงว่า เจอพนักงานสอบสวนแบบไหน 

    “ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการที่จะให้ทำงานเป็นรูปแบบของทีมหรือเครือข่ายระหว่างเจ้าพนักงานสอบสวน นักสังคมสงเคราะห์ และโรงพยาบาล ในการดูแลให้บริการและเยียวยาผู้เสียหาย เพื่อลดขั้นตอนที่ผู้เสียหายต้องไปติดต่อตามที่ต่างๆ”เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เธอถอดจากประสบการณ์ และว่า “คดีทางเพศเป็นคดีกระทบจิตใจคน คนที่เข้ามาทำก็ต้องเป็นคนที่มีใจที่อยากจะทำด้วยเช่นกัน”

    เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญบุคคลเหล่านั้นต้องไม่มีมายาคติและไม่สนว่า เป็นคดีเล็กหรือใหญ่ ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ปัญหาตรงส่วนนี้ได้ เชื่อว่าก็จะทำให้การบริการดีขึ้นและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

    จากมุมมองของผู้เขียนในประเด็นความรุนแรงว่าด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence: GBV) ที่รอเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานที่ไร้ซึ่งหัวใจ กฎหมายที่แสนเย็นชา แท้จริงแล้วหาเพียงแต่สู้เพื่อ เพศหญิง ไม่ แต่เพื่อพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ ปวงประชา ที่อยู่ภายใต้การบริหารตามหลักอันชอบธรรมเท่านั้นเอง..

    อ้างอิง

    • ธีรนัย จารุวัสตร์. คดีทางเพศมีทุกวัน แต่ ‘พนักงานสอบสวนหญิง’ ยังเป็นอาชีพที่ขาดแคลน. https://prachatai.com/. (2565) . แหล่งที่มา:  https://prachatai.com/journal/2022/04/98108. ค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566.
    • รัตนาพร เขม้นกิจ และกิตติยา อรอินทร์. ‘ตำรวจหญิง’ นั้นสำคัญไฉน: คุยกับ ‘อดีตผู้กำกับหญิง’ ถึงความท้าทายของเพศสภาพในวงการสีกากี. https://prachatai.com/. (2564). แหล่งที่มา: https://prachatai.com/journal/2021/11/96130. ค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2566.
    • วารุณี สิทธิรังสรรค์. “หมอวิชัย เทียนถาวร” เผยทิศทาง สบช. ปี 66 ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้โอกาสเด็กพื้นที่ห่างไกล. https://www.hfocus.org/. (2566). 
    • พฤภัทร ทรงเที่ยง. ผู้หญิงต้องทนกับอะไรบ้าง? UN Women เปิดสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลก. (2561). https://thestandard.co/. แหล่งที่มา: https://thestandard.co/un-women-violence-against-women/. ค้นเมื่อ 16 เมษายน 2566. 
    • ทอฝัน ช่วยชู. ‘พนักงานสอบสวนหญิง’ กลไกสำคัญให้เพศหญิงเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม. (2564). https://prachatai.com/. แหล่งที่มา: https://prachatai.com/journal/2021/12/96408. ค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2566.
    • วงเสวนาตีแผ่ปัญหาเหยื่อละเมิดทางเพศ ขอหยุดตีตรา โยนบาปผู้หญิง อ้างแต่งตัวโป๊. (2565). https://prachatai.com/. แหล่งที่มา: https://prachatai.com/journal/2022/07/99390. ค้นเมื่อ 16 เมษายน 2566.

    Related

    แรงงานกลางแจ้งเชียงใหม่ต้องเผชิญกับอะไร ในภาวะที่โลกเดือดและฝุ่นพิษ

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ปี 2566 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ...

    หมดยุค สว. แต่งตั้ง ถึงเวลาความหวัง สว. ประชาชน

    เรื่อง : วิชชากร นวลฝั้น ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2567) ถือเป็นวันสุดท้ายที่ สว....

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...