เรื่อง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ
ภาพ: Pol-Sci Photo Club CMU
“หากพูดถึงขบวนการชาวนาชาวไร่มักเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงกลับไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องเล่าของขบวนการเคลื่อนไหวเท่าที่ควร ทั้งที่ผู้หญิงก็มีบทบาทมาก พลังของผู้หญิงเองก็เป็นพลังในการเคลื่อนไหว หากไม่มีพลังเหล่านี้ขบวนการเคลื่อนไหวคงไม่มีทางเป็นไปได้”
ประโยคเกริ่นนำของ รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ที่ร้อยเรียงมาจากการวงพูดคุยของ ‘กลุ่มผู้หญิง’ ที่กลั่นมาจากประสบการณ์ตรงภายใต้การเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาชาวไร่เมื่อปี 2517-2519 ในวาระของการรำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสามัญชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานประกอบไปด้วยการพูดคุยถึงขบวนการชาวนาชาวไร่ในหลายแง่มุม ซึ่งวงคุยสุดท้ายนั้นถือเป็นบทสนทนาที่กลั่นจากความทรงจำผ่านผู้หญิงถึงผู้หญิง ก่อนที่เรื่องเล่าของขบวนชาวนาในวันนั้นจะหายสาบสูญในสักวัน
ความทรงจำในวันวานของหญิงชาวนา
ปัญหาของชาวนาชาวไร่ในทศวรรษที่ 2510 คือการต่อสู้เรื่อง ‘ค่าเช่านา’ จากคำพูดของแม่บัวผิน ธรรมพิงค์ จากบ้านสมนะ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน แม่บัวผินกล่าวถึงการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวในขบวนการชาวนาชาวไร่ภาคเหนือของประเทศไทย และความอันตรายหลังจากนั้นที่บีบให้ต้องตัดสินใจพาครอบครัวเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อหนีภัยคุกคามจากโดยรัฐ
ต้นตอของปัญหานี้มาจากปัญหาเรื่องที่ดิน เนื่องจากเจ้าที่ดินส่วนใหญ่ได้กดขี่ขูดรีดจากชาวนาถึง 50% ปัญหาเรื่องที่ดินมีต้นตอจาก “พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2497” ช่วงนั้นคือรัฐได้การเรียกเจ้าที่ดินมาประชุม เพื่อออกกฎหมาย และไม่มีชาวบ้านอยู่ในสมการของกฏหมายฉบับนี้เลย กฏหมายฉบับนี้เป็นกฏหมายที่เอื้อต่อเจ้าที่ดิน และเป็นปัญหาให้กับชาวนาภาคเหนือเป็นอย่างมาก จนเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องค่าเช่านาจนประสบความสำเร็จในปี 2517 คือ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าที่เป็นธรรมทั้งประเทศ
“…เมื่อปี 2517 พ่อใจผู้เป็นสามีของแม่บัวผิน ได้ร่วมกันประกาศเกี่ยวกับกฎหมายค่าเช่านาให้กับชาวบ้านได้รับรู้ แต่เจ้าของนาไม่พอใจจึงจ้างมือปืนมายิงพ่ออาจ (ผู้เป็นบิดาของแม่บัวผิน) พ่อใจจึงคิดว่าอยู่ต่อไปไม่พ่อสินใจจึงตัดสินใจเข้าป่า พวกลูก ๆ ก็ถูกกดดันหลายอย่างทั้งในโรงเรียนและรอบข้าง จึงพาครอบครัวเข้าป่าเพื่อหลบภัย”
หากขยายความต่อไปก็คือ การจัดตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” เป็นครั้งแรกที่มีองค์กรชาวนาชาวไร่ขึ้นมาเอง สิ่งที่เรียกร้องคือ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าที่เป็นธรรมทั้งประเทศ และประกาศใช้ช่วงเดือนธันวาคม 2517 หลังจากประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายในครั้งนี้ จึงมีการร่วมมือกันระหว่างสหพันธ์ชาวนาชาวไร่และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และวิทยาลัยครูเชียงใหม่ เพื่ออธิบายว่ากฎหมายนี้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพ.ร.บ.นี้ว่ามีความสำคัญอย่างไร ในแต่ในท้ายที่สุดผู้นำขบวนการชาวนาชาวไร่ก็ถูกเด็ดหัวไปทีละคน การเคลื่อนไหวครั้งนี้ผู้มีอำนาจจึงไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
หมู่บ้านแม่จ่อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านของประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่คนแรกคือ พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง
โดยแม่แจ่มจันทร์ เดชคุณมาก จากบ้านแม่จ้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ย้อนความเมื่อคราวยังเป็นเด็กสาวตัวน้อย “ตอนนั้นอายุ 13-14 ปีเป็นครั้งแรกที่เข้ามายุ่งกับการเมือง ช่วงปี 2517-2518 พี่ ๆ โครงงานชาวนาที่เป็นนักศึกษา หลังจากพ่อหลวงอินถากับ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน (เลขาธิการพรรคสังคมนิยม) ถูกลอบสังหาร เมื่อปี 2518 นักศึกษาจึงเข้ามาช่วยเหลือในหมู่บ้านนี้การเข้ามาของนักศึกษาทำให้พวกเราได้รับความรู้จากพี่ ๆ ในโครงงานชาวนาเป็นจำนวนมาก จนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไม่สามารถทำงานต่อได้เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนัก ตนและพวกจึงตั้งกลุ่มมังกรน้อยซี่งได้ทำงานแทนพี่ ๆ ในการสื่อสาร แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงปลายปี 2518 ตนเองอยากเข้าไปในป่าซึ่งอยากไปเรียนรู้ในป่า แต่หลัง 6 ตุลา ก็เข้าป่ายาวเลย”
กลุ่มมังกรน้อย เกิดขึ้นจากอุปสรรคในการเคลื่อนไหวโครงงานชาวนา เนื่องจากสถานการณ์คุกคามการเคลื่อนไหวของเหล่านิสิตนักศึกษากำลังตึงเครียด ฝ่ายอำนาจรัฐกำลังคุกคามการเคลื่อนไหวและจับตัวการเคลื่อนไหวระหว่างหมู่บ้านต่าง ๆ ทุกฝีก้าว การติดต่อระหว่างโครงงานชาวนาส่วนกลางและสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ทั่วทั้ง เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เกิดอุปสรรคและต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง การหลบเลี่ยงที่จะให้รัฐไม่สงสัยในกรณีนี้ กลุ่มมังกรน้อยซึ่งเป็นเยาวชนจึงเข้ามาทำงานภายใต้อุปสรรคเหล่านี้แทน
แม่วิไล รัตนเวียงผา บ้านป่าเมี่ยง เวียงผาพัฒนา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สนับสนุนหนุนช่วยการต่อสู้ในขบวนการชาวนาชาวไร่ เธอเล่าประสบการณ์ของเธอว่า“พ่อเป็นหนึ่งในการเข้าร่วมสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ และเข้าป่า ตนมีหน้าที่ดูแลสหายหญิง หลังจากนั้นในปี 2520 แต่ละคนก็พูดกันว่าจะเอายังไงต่อ ป้าหมดกำลังใจ ขึ้นป่าไปช่วยกิจกรรมบนดอยเพราะเอ็นดูนักศึกษาเนื่องจากช่วยเหลือหมู่บ้าน และมีความเป็นธรรมและความยุติธรรมในใจ”
หลัง 6 ตุลาฯ แม่วิไลได้หลบภัยเข้าไปอยู่ที่บ้านโป่งน้ำร้อน อยู่ร่วมกับชาวปกาเกอะญอ และมีโอกาสได้ไปสัมผัสชีวิตพี่น้องชนเผ่าครั้งแรกที่เรื่องชุมชนม้ง แต่ถึงอย่างนั้น หลังออกจากป่าเมื่อต้นทศวรรษที่ 2520 เธอกลับมาบ้านแม่เลียงอีกครั้ง ปัญหาเรื่องที่ดินก็ยังไม่ถึงมือชาวบ้าน
การเคลื่อนไหวกรณีเหมืองแม่เลียง
จากหนังสือ รำลึก 47 นิสิต จิรโสภณ เล่าถึงกรณีการต่อสู้ของชาวบ้านในหลายกรณี ระหว่างปี 2517 ต่อเนื่องถึงปี 2518 ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวกฏหมายค่าเช่านาในเขตที่ราบทั้งในกรณีห้างฉัตร และกรณีแม่เลียง การเคลื่อนไหวดำเนินไปจนกลายเป็นการเดินขบวนไปเรียกร้องที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง จนทางการรับคำเรียงร้องจึงยุติลง
กรณีที่จะกล่าวถึงคือการเคลื่อนไหวเรื่องเหมืองแร่บ้านแม่เลียง ในจังหวัดลำปาง ในมุมของนักศึกษาช่วงเวลานั้นที่เข้าไปช่วยเหลือเล่าว่า “ปี 2518 โครงงานชาวนาขยายตัวสูงมาก ชาวนาชาวไร่ต้องการที่ปรึกษา ป้าวิได้เข้ามาเข้าร่วมการต่อสู้เหมืองแร่ในครั้งนี้ ป้าจึงตัดสินใจดรอปเรียนในช่วงปี 2518 เนื่องจากการเคลื่อนไหวในพื้นที่ตรงนี้ไม่มีใครไปทำอย่างจริงจัง ตนจึงได้ไปสำรวจปัญหา ชาวบ้านก็สุกงอมทางความคิดจึงเดินขบวนประท้วง ในที่สุดที่เกิดผลสำเร็จเพราะรัฐสั่งยุติโครงการ การประท้วงใหญ่เพื่อเรียกร้องจากการยุติการสร้างเหมืองช่วงปี 2518 การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงเป็นผลงานชิ้นเอกของนักศึกษา”
‘ป้าวิ’ ชญาณิฐ สุนทรพิธ อดีตนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2517-2519 กล่าวถึงบทบาทที่นักศึกษาได้เข้าไปทำงานสนับสนุนชาวนาในพื้นที่แม่เรียง เนื่องจากมีปัญหาจากการสร้างเหมืองแร่ หากดำเนินการเหมืองสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อการทำนาของชาวบ้าน โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบชลประทาน
ในมุมผู้อยู่ในเหตุการณ์การต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ในปี 2518 จนกระทั่งทางการสั่งปิดเหมือง และนั่นเป็นสิ่งที่เธอต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย “เมื่อก่อนตอนสร้างเหมืองแร่มาใหม่ น้ำขุ่นน้ำแดงเข้านา นักศึกษาเข้ามาจึงช่วยได้เยอะ แม่เรียงมีทุ่งนาจำนวนมาก เหมืองแร่ได้สร้างผลกระทบ เพราะทำให้น้ำขุ่นทำนาไม่ได้” เสียงของแม่คำปวน บ้านแม่เรียง จังหวัดลำปาง
แม่คำปวน เล่าต่อถึงปัญหาในปัจจุบันนี้ที่เริ่มมีการสร้างเหมืองแร่ที่บ้านแม่เรียง จังหวัดลำปางอีกครั้งหนึ่ง “กลัวประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย จึงฝากความหวังให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแก้ปัญหานี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหา พวกเราก็ทำนาไม่ได้”
สะท้อนย้อนคิดการต่อสู้ของผู้หญิง และต่อสู้ยังไงเพื่อให้ได้รับการยอมรับ?
แม่บัวผิน สะท้อนความคิดของเธอว่า “ไม่เคยเสียใจเลยที่ได้เข้าป่าเป็นต้นมา มันสร้างประสบการณ์ชีวิตอันยิ่งใหญ่ ครอบครัวของแม่เข้าป่าไปทั้งหมด และมันได้ช่วยลูกของแม่ได้เติบโตอย่างกล้าแกร่ง”
แม่แจ่มจันทร์เล่าต่อว่า “แม่ไม่เคยเสียใจในตอนเข้าป่าตอนอายุ 17-18 เลย เธอไม่มีอะไรที่จะสูญเสีย ไม่มีภาระอะไร มีอย่างเดียวคือได้ศึกษาหาความรู้ ได้รับความหล่อหลอมจากพรรคคอมมิวนิสต์อย่างดี”
หลังป่าแตก รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกนโยบาย 66/23 ที่เกิดขึ้นหลังนโยบายการเมืองนำการทหารมาใช้ ก่อให้ผู้ที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ลงจากป่า เสียงสะท้อนของเหล่าแม่ ๆ หลังออกจากป่าได้เล่าต่อว่า “หลังจากลงจากป่ามาแล้ว สามารถสร้างฐานะของตนเองได้ และหากินถ้ามีแรงมาต่อสู้ต่อ ดีใจด้วยซ้ำว่า ไม่เคยเสียใจเลยเพราะเราอยากเห็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้ดีขึ้น คิดว่าถึงรุ่นเราอายุมากแล้วแต่เราก็อยากเห็นคนรุ่นใหม่และสนับสนุนการเปลี่ยนโครงสร้างของสังคม” ป้าวิ เล่าต่อว่าหลังจากป่าแตก “ชาวบ้านปกาเกอะญอเขาก็เฝ้าดูตลอดเวลา หากกลับเข้าไปเขาก็จะมีความสุข” แม่แจ่มจันทร์เล่า
“หลังจากที่พี่น้องนักศึกษาลงมา ก็เป็นห่วงว่าจะเป็นยังไงบ้าง ขอบคุณคณะนักศึกษาที่ลงมาแล้วนำของไปแจก ขอบคุณที่ไม่เคยลืมคนบนดอยและคนบนดอยก็ไม่ลืมนักศึกษา และความดีงามของเหล่านักศึกษายังฝั่งอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน” ความรู้สึกของแม่วิไล
ส่วนการต่อสู้ของผู้หญิงเกี่ยวกับสิทธิของตนเองในขบวนการเคลื่อนไหว “หากยุคก่อนของการเป็นชาวบ้าน เราได้เรียกร้องตลอดสมัยที่อยู่ในป่าก็มีการรณรงค์เรื่องสิทธิ์ความเสมอภาคของผู้หญิง ในบริบทของชาวบ้านเอง มีสามีเป็นนักประชาธิปไตยมีอะไรเราก็คุยกันตลอด เราต้องช่วยกันต่อสู้” ความคิดเห็นของแม่แจ่มจันทร์ ป้าวิในฐานะผู้หญิงที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในป่า เล่าต่อว่า “เธอไม่คิดว่าตนเองเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ใครให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งโดยภารกิจไม่คิดว่าหญิงหรือชาย ขบวนการภาคประชาชนสอนให้เราทำได้หมด จะต่างกันแค่ภาระกำลังเท่านั้นเอง”
ในท้ายที่สุด การต่อสู้ก็มิได้หยุดอยู่เพียงแค่ช่วงทศวรรษที่ 2510 – 2520 แต่เพียงเท่านั้น การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ก็ยังคงสืบเนื่องและมีอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา เรื่องเล่าของพวกเธอจึงมีความสำคัญมากเนื่องจากจะช่วยเป็นบทเรียนในการต่อสู้ได้แล้ว บทบาทของพวกเธอจึงควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ประชาชน เพื่อขยายพื้นที่ในประวัติศาสตร์ให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากประวัติศาสตร์กระแสหลักแทบไม่มีพื้นที่ให้พวกเธอเลย
เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน