เมษายน 27, 2024

    อีหล่าก้อนคำ จากการกระจายอำนาจ สู่ปัญหาของระบบทุนนิยม

    Share

    เขียนโดย ไรโซม 1917

    ชีวิตของผู้คนจากดินแดนที่เรียกว่า “อีสาน” มักจะถูกบอกเล่าผ่านเรื่องราวที่หลากหลาย แต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “ชีวิตที่ยากลำบาก” ของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ ยังเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง

    “อีสาน” ดินแดนแห่งความสนุกสดใส สถานที่แห่งความรุ่มรวมทางวัฒนธรรมและความบันเทิง ที่ผู้คนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายขอเพียงมีบ้าน มีที่ดิน มีนา มีไร่ มีรถไถ มีรถขับ มีหน้ามีตาในสังคมและมีเงินใช้จ่าย และ “สาวอีสาน” ไม่เพียงแต่มีหน้าตาที่สะสวยและรอยยิ้มที่มีเสน่ห์แต่พวกเธอยังเก่งเรื่องการดูแลบ้านเรือนและความเป็นอยู่ของครอบครัวแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยงานหนักที่ถาโถมแต่ก็ไม่สามารถจะทำลายเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ครอบครัวอยู่สุขสบายได้

    “ไผวาอีสานแล้ง สิจูงแขนเข้าไปเบิ่ง..” การแสดงชิ้นนี้จะจูงแขนผู้ชมทุกท่านเข้าไปดูอีกด้านของความสนุกสนาน เบื้องหลังความสำเร็จและการต่อสู้กับความแห้งแล้งของสถานะทางการเงินที่ผู้สาวไทบ้านจะต้องฝ่าฝันและก้าวข้ามนั้นจะเป็นเช่นไร


    ภาพ : จิร อังศุธรรมทัศ

    อิหล่าก้อนคำ ละครรูปแบบ Movement and Text-based performance กำกับการแสดงโดย ประภัสสร คอนเมือง สมาชิกของกลุ่มลานยิ้มการละคร อีกหนึ่งเรื่องราวที่บอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนในอีสาน โดยหยิบยกภาษา ดนตรี และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมานำเสนอ พร้อม ๆ กับปรากฎการณ์ทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาของผู้คนในอีสานที่จะต้องเดินทางออกจากบ้านเกิดไปทำงานในต่างแดนเพื่อกลับมาดูแลชีวิตของคนในครอบครัว โดยประภัสสร คอนเมือง บอกว่าเนื้อหาที่อยู่ในละครล้วนมาจากประสบการณ์ตรงที่พบเจอมาตลอดตั้งแต่วัยเยาว์ เนื่องจากผู้กำกับเป็นคนอีสาน

    ฉากหนึ่งที่สำคัญ คือฉากที่น้ำเสียงของแรงงานถูกทำให้ผู้รับชมได้ยิน เป็นเสียงคล้ายการสัมภาษณ์หรือสารคดีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในต่างแดน น้ำเสียงนั้นเป็นน้ำเสียงของชีวิตที่ต้องแบกรับความเสี่ยงมหาศาล เป็นน้ำเสียงที่เข้ามาทำลายความสนุกสนานของเรื่องราวในช่วงแรก เมื่อเราได้รับฟังน้ำเสียงนี้ กลับทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดร่วม เนื่องจากเรากำลังรับรู้เรื่องราวของผู้ใช้พลังแรงงานที่จำเป็นต้องอยู่กับความเสี่ยง เพื่อแลกมากับการมีชีวิตที่ดี เพื่อคนในครอบครัว หรือเพื่อคนอื่นๆ การโหยหากลับคืนสู่บ้านเกิด อาจเป็นสำนึกร่วมของแรงงานพลัดถิ่นหลายต่อหลายคน และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน



    ละครเรื่องนี้จึงชวนให้นึกถึงข้อเสนอทางการเมืองอย่าง “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” เนื่องจากอำนาจการปกครองที่ถูกรวมศูนย์ไว้ที่รัฐส่วนกลาง ได้นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นที่ยากลำบาก ไร้ทางเลือกในชีวิต “การย้ายถิ่นฐานของแรงงาน” เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ ที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ จนทำให้เกิดการย้ายถิ่นของคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ดินแดนอีสานเป็นอีกส่วนหนึ่งของการเกิดขึ้นของปรากฎการณ์ทางสังคมนี้

    ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งปัญหาที่เผยตัวอย่างชัดแจ้ง แต่ซุ่มซ่อนอย่างแนบเนียนในอิหล่าก้อนคำ คือปัญหาของ “ระบบทุนนิยม” ระบบเศรษฐกิจหลักของโลก ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่สร้างความเป็นชนชั้นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ระหว่างผู้มั่งคั่งที่สามารถบริโภคได้อย่างไม่มีวันหมด กับผู้ใช้แรงงานที่จะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นความตายในทุกขณะ

    ปัญหาในอิหล่าก้อนคำ คือผลพวงจากระบบทุนนิยม ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง เช่น การที่ตัวละครบอกกับลูกหลานว่า อยากให้ได้เป็นตำรวจหรือทหารมากกว่าเป็นศิลปิน เพราะอาชีพอย่างข้าราชการได้รับสวัสดิการที่มั่นคงจากรัฐมากกว่าการเป็นศิลปินที่ไร้สวัสดิการใดๆ ดูแลหรือปัญหาหลักอย่างแรงงานพลัดถิ่น เกิดขึ้นจากการที่โรงงานขนาดใหญ่ ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากเพื่อเข้าไปทำการผลิต แรงงานข้ามชาติจากต่างแดน เป็นกลุ่มก้อนแรงงานที่สำคัญ เนื่องจากสามารถทำให้ทุน ขูดรีดกำไรจากแรงงานได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ลดต้นทุนการจ้างงาน ไร้สวัสดิการ และตัดขั้นตอนการรวมตัวกันของสหภาพแรงงาน แรงงานจากอีสานที่จะต้องย้ายถิ่นไปทำงานในต่างแดน จะต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง และถูกระบบทุนนิยมทำลายชีวิตของพวกเขา

    ฉากล็อตเตอรี่ เป็นฉากที่สะท้อนถึงระบบทุนนิยมได้มากที่สุด การต้องอยู่ในโลกที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจ ความหวังที่ว่าสักวันเราจะกลายเป็นเศรษฐี หากถูกรางวัลที่ 1 อาจทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ภายใต้ความหวังนี้ ความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ หรือไม่ได้กลายเป็นฉากจบของอิหล่าก้อนคำ เช่น การประท้วงเรียกร้องต่อรัฐบาล การสร้างกลไกการกระจายอำนาจ การเรียกร้องค่าแรง การวิพากษ์ระบบทุนนิยม การสร้างรัฐสวัสดิการ หรือการจินตนาการถึงระบบการปกครองที่มุ่งเน้นจะสร้างความเท่าเทียมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิฐ


    ภาพ : จิร อังศุธรรมทัศ

    ปัญหาที่เกิดขึ้นในละครอิหล่าก้อนคำ จึงไม่ใช่เพียงปัญหาของดินแดนอีสาน หรือการขาดการกระจายอำนาจเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาในอิหล่าก้อนคำ คือปัญหาสากลที่ทำลายชีวิตของพวกเราทุกคน เป็นปัญหาของระบอบทุนนิยมที่ไม่สามารถทำให้เราจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ หรือไม่สามารถทำให้เราจินตนาการถึงโลกใบใหม่ได้ ทางเลือกจึงมีแค่สองทาง ระหว่างการรอคอยโชคชะตาแห่งความมั่งคั่ง กับการทำให้ความมั่งคั่งกลายมาเป็นของส่วนรวม

    สุดท้าย อีหล่าก้อนคำ ได้เดินทางไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ จนถึงเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา แต่อีหล่าก้อนคำ กลับไม่ได้แสดงในอีสาน ราวกับว่าอีหล่าก้อนคำ ไม่สามารถเดินทางกลับสู่อีสานได้เช่นกันกับตัวละคร และยังมีผู้คนอีกมากมายที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ จนกว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาถึง

    ผู้เขียน : ไรโซม 1917
    ผู้สนใจงานเขียน บทกวี ดนตรี ศิลปะ และสังคมนิยมสุดขั้ว

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...