เมษายน 27, 2024

    ‘ครรภ์ใต้บงการ’ ในเงาสะท้อนรัฐเจริญพันธุ์

    Share

    เรียบเรียง: ธันยชนก อินทะรังษี

    เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงาน Medical Book Days ครั้งที่ 19 ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาแนะนำหนังสือ “ครรภ์แห่งชาติ: รัฐเจริญพันธุ์ ร่างกาย และเพศวิถี” โดยมีวิทยากรคือ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เล่าถึงความน่าสนใจของหนังสือครรภ์แห่งชาติ: รัฐเจริญพันธุ์ ร่างกาย และเพศวิถี ที่เขียนด้วยตนเองว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่ Cross-case ในเรื่องของชีวกายภาพ และมานุษยวิทยากายภาพ โดยในเนื้อหาพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติกับมดลูกผู้หญิง ในภาวะที่รัฐบาลต้องการให้ผู้หญิงเปิดอู่ และคลอดลูกออกมาจำนวนมาก เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยในการเข้าสู่สภาวะผู้สูงอายุ และจำนวนอัตราการตั้งครรภ์ที่ลดลง เหตุใด ความพยายามและความตั้งใจในตอนนี้ ถึงยังไม่ประสบผลความสำเร็จ ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งนี้มีผลโดยตรงกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ระหว่างความสัมพันธ์ของรัฐกับมดลูกผู้หญิง ดังนั้นมดลูกจึงมิใช่เพียงอวัยวะที่ผู้หญิงมีเท่านั้น แต่เป็นปริมณฑลทางการเมืองมาโดยตลอด

    หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการตั้งคำถามง่าย ๆ ถึงความสัมพันธ์ของรัฐ การก่อร่างสร้างชาติไทยกับมดลูกผู้หญิง มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร จึงได้สืบสาวประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 หรือก่อนรัฐไทยเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ มดลูกนั้นถูกมองอย่างไรในสายตาของรัฐ และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา จนกระทั่งก่อนสงครามเย็น จวบจนถึงยุคปัจจุบันสภาวะเป็นอย่างไร โดยปิ่นแก้ว ให้ข้อเสนอว่า “ครรภ์” ของผู้หญิง ถูกมองโดยรัฐที่เปลี่ยนไปตลอดช่วงประวัติศาสตร์ มีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องสำคัญ ได้แก่ กลุ่มแรก คือกลุ่มนักวิชาการประวัติศาสตร์ กลุ่มที่สอง คือแพทย์ โดยสามารถแบ่งครรภ์ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ครรภ์อารยะ ครรภ์เพื่อผลิต และครรภ์ในฐานะภาวะยากจน ซึ่งครรภ์ทั้ง 3 ชนิด ถูกคั่นกลาง ตัดผ่านด้วยมุมมองของครรภ์ศีลธรรมมาโดยตลอด

    ครรภ์ในเงาสะท้อนความคิดของรัฐ

    แนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์เรื่องครรภ์คือ สายหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) ของ Michel Foucault (1926-1984) ซึ่งมองว่ารัฐมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ผ่านเทคโนโลยีหลายอย่าง โดยเทคโนโลยีที่สำคัญคือ เทคโนโลยีในเชิงชีววิทยา คือชีวกายภาพของมนุษย์เรานั่นเอง ซึ่งในการควบคุมคนของรัฐ ในอดีตรัฐไม่ได้เข้ามายุ่มย่ามกับชีวิตของคนมากนัก แต่สิ่งที่รัฐสนใจอย่างมากคือ รัฐสมัยใหม่ สาเหตุเพราะต้องการคนไปสู้รบ คนปลูกข้าว หรือสร้างผลผลิตให้ชาติ เราจะพบว่ารัฐสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีในการเข้าถึงคนมากขึ้น และหนึ่งในนั้น คือความต้องการที่จะทำให้คนมีชีวิตรอด มีชีวิตที่ยืนยาว และมีชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์ สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยีในเชิงชีววิทยาที่รัฐสมัยใหม่ใช้ ซึ่งแพทย์เป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่นี้ให้กับรัฐได้อย่างดี 

    คำถามที่ว่า “แล้วมันเกี่ยวยังไงกับมดลูก” ก็เพราะมดลูกถูกเอามาจัดวางในเป้าประสงค์ว่า มดลูกของผู้หญิงจะรับใช้ความเจริญเติบโตของรัฐชาติ หรือของประเทศได้อย่างไร ถ้าเราสืบไปถึงยุคก่อนสมัยใหม่ การคลอดลูก การดูแลเด็กทารกหลังคลอด มันเป็นพื้นที่ของผู้หญิงมาโดยตลอด ในยุคเริ่มต้นเราจะเห็นได้ว่ามีความขัดแย้งกันของความรู้สมัยใหม่ กับความรู้พื้นบ้าน ซึ่งอันนี้เกิดขึ้นในราชสำนัก เราจะเห็นว่าการเข้ามาของหมอบรัดเลย์ หรือแดน บีช แบรดลีย์ กับการใช้เทคโนโลยีในการตรวจดูครรภ์ภายใน และการพยายามผลักดันให้เลิกการอยู่ไฟ เป็นความสำคัญที่สร้างสิ่งที่เรียกว่า ครรภ์อารยะขึ้นมา การอยู่ไฟนั้น หากมองโดยมิชชันนารีหมอตะวันตก เป็นเพียงประเพณีปฏิบัติ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงทำให้ผู้หญิงไม่น้อย เสียชีวิตหลังคลอด ซึ่งความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันตอนนี้ ทำให้ช่วงแรกเกิดการปะทะกันอย่างมาก เพราะว่าผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ไม่ยอมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ท้ายที่สุด เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ชนะ เป็นที่มาของการแพทย์สมัยใหม่แบบตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเรียนการสอนในบ้านเรา และกลายเป็นศาสตร์ที่ใช้ในการรักษาพยาบาล ตอนแรกจึงเป็นการเสนอ medicalization of the body คือการทำให้ร่างกายโดยเฉพาะผู้หญิง กลายเป็นพื้นที่ทางการแพทย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอารยะของประเทศ ทำให้กระบวนการก่อร่างสร้างความเป็นรัฐชาติ ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น

    จากเดิมที่รัฐมองว่า การเปลี่ยนวิธีดูแลครรภ์ของผู้หญิง โดยการเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ มันเป็นสัญญะของความมีอารยะ แต่พอเข้าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เราจะพบว่าวิธีคิดค่อย ๆ เปลี่ยนไป ครรภ์กลายเป็นพื้นที่ในการสร้างชาติ เพราะชาติที่รุ่งเรืองในยุคนั้น คือชาติที่มีประชากรจำนวนมาก หากอยากจะเป็นประเทศมหาอำนาจ จะเห็นได้ว่าในยุคนั้นรัฐได้มีนโยบายต่าง ๆ ผลักดันให้ผู้หญิงแต่งงาน คล้ายคลึงในสังคมยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่าง จัดให้มีการนัดพบรักกันสนามหลวง การส่งเสริมลดภาษีให้กับผู้หญิง และผลักดันให้ผู้ชายแต่งงาน

    “ใครไม่แต่งงาน คือเห็นแก่ตัว”

    อีกทั้งพยายามสร้างวาทกรรมใหม่ ๆ มากมาย เช่น การแต่งงานช่วยทำให้ชีวิตมันยืนยาว ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะทำให้ผู้หญิงมีอายุยืนยาว รวมถึงขั้นลงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า ถ้ามีลูก 4 คน จะทำให้สังคมมันดีขึ้น  มีลูกไว้เผื่อสำหรับคนเป็นหมัน เพราะถ้าคนเป็นหมันไม่สามารถมีลูกได้ แต่ถ้ามีลูก 4 คน ก็จะเป็นการสร้างความเจริญให้กับชาติ คือในยุคสมัยนั้น รัฐพยายามเร่งรัดให้มีการแต่งงาน อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะว่าไทยในช่วงนั้นอยู่ในช่วงสงคราม ข้าวยากหมากแพง คนจึงไม่อยากลงทุนกับการมีลูก ต่อให้รัฐมีความพยายามจะสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ปลูกจิตสำนึกถึงความรักชาติมากเพียงไหนก็ตาม เวลาช่วงนี้ได้ดำเนินมาสักระยะจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

    โลกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ช่วงสงครามเย็น อเมริกาหรือโลกตะวันออก พยายามมองโลกทั้งหมดผ่านมุมมองของความด้อยพัฒนา ประเทศที่ด้อยพัฒนา คือประเทศที่มีประชากรมากนำมาซึ่งความยากจน เราจะพบว่ามุมมองเปลี่ยนไป 180 องศา รัฐจากเดิมที่มองว่าครรภ์ คือที่ผลิตกำลังของชาติ เราต้องการมดลูกของผู้หญิงมาช่วยกันสร้างชาติ กลายเป็นแหล่งบรรจุการด้อยพัฒนา ดังนั้นจึงมีวลีที่คุ้นหูอย่าง “มีลูกมาก ยากจน” การมีลูกมากได้กลายมาเป็นสัญญะของความยากจน ครรภ์จึงมิใช่ปริมณฑลของการสร้างความเจริญอีกต่อไป แต่กลายเป็นพื้นที่บรรจุไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความด้อยพัฒนาทั้งหลาย

    ช่วงรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา กลุ่มที่มีบทบาทอย่างมากในการเปลี่ยนมดลูกผู้หญิง คือนักวิชาการประชากรศาสตร์และกลุ่มที่อยู่ในสายสาธารณสุข เช่นเดียวกับยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ว่าอยู่ในฝั่งตรงข้าม เราจะพบนโยบายทั้งหลายที่ออกมาเพื่อบังคับให้ผู้หญิงไม่มีลูก ไม่ว่าจะเป็นงบที่เอามาลงสาธารณสุขจำนวนมากในการทำหมัน การวางแผนครอบครัวคุมกำเนิด โดยในสมัยนั้นอัตราการเกิดลูกของไทยสูงมาก ร้อยละ 3 ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เราจะไม่มีอาหารกินให้กับบรรดาลูกที่เกิดมา จึงมีการตั้งเป้าว่า อยากให้ลดลงมาอย่างน้อย ร้อยละ 2.1 ดังนั้นช่วง พ.ศ.2515 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึง พ.ศ.2530 ประมาณ 2 ทศวรรษ ทาง USAID, องค์การสหประชาชาติ (UN), USOM, ธนาคารโลก (World bank) และรัฐบาลสหรัฐ ฯ ทุ่มเงินมหาศาลให้นักประชากรศาสตร์และนักสาธารณสุข มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปในเขตชนบทมากมาย จัดมหกรรมทำหมันแลกกับกระป๋องน้ำ แลกกับเงินต่อหัว มีงบให้กับหมอทำยอด โดยจะไม่ขอเอ่ยชื่อโรงพยาบาล หมอรับงบเหล่านี้มาในการคุมกำเนิดผู้หญิง ซึ่งมันมีด้านที่เป็น Side story ด้วยว่าเทคโนโลยีในการคุมกำเนิด ที่ประเทศโลกที่หนึ่งไม่ใช้แล้ว เพราะว่ามันสร้างผลข้างเคียงให้กับผู้หญิง จำนวนหนึ่งก็ยกมาใช้ในประเทศโลกที่ 3

    อย่างไรก็ตาม พอรวมกันแล้วผลลัพธ์ที่ได้คือ ทำให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการเกิดของประชากร เดิมตั้งเป้าไว้ ร้อยละ 2.1 โดยในปี พ.ศ.2530 อัตราการเกิดนั้นเหลือเพียงร้อยละ 1.1 เท่านั้น ประเทศไทยได้รางวัลที่รัฐบาลสหรัฐ ฯ มอบให้ เป็นผลจากการประสบความสำเร็จในการลดจำนวนประชากรอย่างฮวบฮาบ ซึ่งรางวัลนี้ทุกคนได้ร่วมแซ่ซ้อง ยินดี แต่แน่นอนว่ามันก็มีมุมมองอีกด้าน เรื่องที่ไม่ได้ถูกเล่าที่ได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านในพื้นที่การศึกษาในยุคนั้นเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนครอบครัว ชาวบ้านคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า เขาก็มีลูกอยู่แล้วประมาณ 2 คน ในระหว่างที่เขาคลอดลูกคนที่ 3 ช่วงที่อยู่บนขาหยั่ง สะลึมสะลือยาอยู่ หมอก็ได้ถามเขาว่า “ทำหมันเลยไหม มีไปก็จะสร้างความยากจนต่อครอบครัว” เขาก็ตอบตกลงไป มันก็จะมีกรณีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นในการทำหมันโดยไม่มีการยินยอมพร้อมใจ (Consent) คือผู้หญิงไม่ได้รับรู้หรือไม่ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ปิ่นแก้ว กล่าวความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แต่ก็เข้าใจได้ ในส่วนหนึ่งคงมาจากเรื่องของการทำยอด เพราะถ้าหมอสามารถทำยอดได้ในการทำหมันให้กับผู้หญิง ก็จะได้งบประมาณ

    อีกประเด็นคือ เรื่องของการเมือง ทำไมกลุ่มเป้าหมาย (Target) ครรภ์ของผู้หญิงในประเทศโลกที่ 3 มีเงินถึงมาลงที่นี่เยอะ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสงครามเย็น อเมริกาเองมองว่า ทางหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อภัยคอมมิวนิสต์ มันจะถูกควบคุมเอาไว้ได้ เราต้องควบคุมประชากร ประชากรที่อยู่ในเขตพวกนี้ไม่ว่าจะเป็นคนภาคอีสานก็ดี ภาคใต้ก็ดี เขตบนดอยก็ดี ชาวบ้านเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะถูกเอาโครงการวางแผนครอบครัวนำไปใช้ โดยในหนังสือเล่มนี้ (ครรภ์แห่งชาติ: รัฐเจริญพันธุ์ ร่างกาย และเพศวิถี) จะมีโควทคำพูด ที่พอนำมาอ่านใน ปี พ.ศ.นี้ จะรู้สึกถึงการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) จากบรรดาแหล่งทุนทั้งหมด ในการมองว่าการเอาประชากรออกนิดหน่อย สำหรับคนพวกนี้มันไม่เป็นไรหรอก เพราะยังไงพวกนี้ก็เป็นส่วนเกินอยู่แล้ว หรือถ้าอเมริกาเอง กลุ่มเป้าหมายก็จะเป็นคนผิวดำ เขาจะอยู่ในเขตพื้นที่ยากจน จะถูกว่าเป็นพวกไม่มีการศึกษา ไม่มีความรู้ ปล่อยให้มีลูกกันเหมือนกับกระต่าย คือผลิตลูกออกมาเยอะแยะมากมาย ซึ่งประเทศไทยเราก็ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ในเขตพื้นที่ที่มีภัยคอมมิวนิสต์จ่ออยู่

    เมื่อปัญหาประชากรระเบิดได้รับการแก้ไขในยุคนั้น สิ่งที่เป็นผลตามมาของนโยบายคุมกำเนิดแบบฮวบฮาบคือ การเปลี่ยนวิธีคิดของครอบครัวด้วย ผู้หญิงภายใต้นโยบายเร่งรัดประชาชนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มองมดลูกตัวเองเปลี่ยนไป หลายคนก็มองว่า มดลูกไม่ใช่ที่สำหรับมีลูกมากมายอีกต่อไปแล้ว คือมันมีผลของการคิดของผู้หญิงในการมองร่างกายของตัวเอง “มีลูกเมื่อพร้อม” ทำไมต้องมีลูก 4 คน ในเมื่อช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเป็นคนดีของรัฐบาล เราก็ทำงานเพื่อที่จะควบคุมประชากรมาโดยตลอด

    ปิ่นแก้ว ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์อาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักประชากรอาวุโส และมีบทบาทอย่างยิ่งในช่วงที่นำนโยบายนี้มาใช้ อาจารย์ท่านนี้ได้บอกว่า “เราก็เร่งรัดเกินไป” ประโยคนี้เป็นประโยคที่สำคัญมาก เป็นประโยคที่เธออยากจะถามกับรัฐบาลตอนนี้ด้วยคือ ในยุคนั้นมันไม่มีการวางแผนหรอกว่า คุณต้องการประชากรเท่าไหร่ อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมสำหรับประเทศ แต่มุ่งอย่างเดียวว่าต้องลดให้ได้ แล้วมันลดฮวบ จากกลุ่มเป้าหมาย ร้อยละ 2.1 กระโดดมาเป็น ร้อยละ 1.1 ผลของการไม่มีแผน มันทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรแบบถดถอยเรื่อย ๆ และเปลี่ยนวิธีคิดของคนจนทำให้คนไม่มีทางที่จะกลับไปมีลูกมากเหมือนในยุคจอมพล ป. อีกต่อไปแล้วโดยเด็ดขาด

    คำถามต่อมาคือ แล้วในยุคปัจจุบัน รัฐบาลอยากจะเพิ่มอัตราการเกิดเท่าไหร่ และต้องการให้มันสูงขึ้นเท่าไหร่ต่อปี ถึงแก้ไขปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยได้กี่ปี และหากว่าอัตราการเพิ่มมันเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะไปเจอกับสภาวะเหมือนกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามหรือเปล่า หรือหลังจอมพล ป. ขึ้นมา ซึ่งมีภาวะอัตราการประชากรล้นเกิน ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นหน้าที่ของนักประชากรศาสตร์ นักสาธารณสุข รวมถึงแพทย์ด้วยที่ต้องตอบคำถามนี้ ไม่งั้นก็จะเกิดภาวะแกว่งไปมา กลายเป็นว่าบางครั้งครรภ์เป็นพื้นที่ของความยากจน บางครั้งครรภ์เป็นพื้นที่การสร้างชาติ

    ครรภ์ที่ไม่พร้อม

    ถ้ารัฐต้องการที่อยากจะให้ผู้หญิงหันมามองมดลูกในฐานะประสิทธิผล (Productive) รัฐต้องตอบคำถามให้ได้ว่าสังคมมดลูกที่มีผลิตภาพอยู่จะเป็นสังคมที่ดี ปิ่นแก้ว  กล่าวเน้นย้ำ เราจะไว้ใจได้ยังไง ตราบเท่าที่เรายังมีความกังวล ไม่ไว้วางใจในสังคมว่าจะสามารถทำให้มดลูกผู้หญิงเราเป็นมิตรกับการผลิตในอนาคต ถ้าถามว่าเอกลักษณ์ของสงครามเย็นที่รัฐมาเกี่ยวข้องการแปะป้ายว่ามันด้อยพัฒนา มาใช้ในการชักจูงให้ผู้หญิงเปิดอู่อีกครั้งหนึ่ง มันเป็นไปไม่ได้ และไม่สมเหตุสมผล โดยในปัจจุบันมีนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 โดยจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 800 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ซื้อนม 1 กระป๋องก็หมดแล้ว ดังนั้นการเลี้ยงลูกคนนึงต้องลงทุนอย่างมากมาก ต้องมีการศึกษา มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมายก่ายกอง

    “มันไม่ใช่แค่เรื่องการมีลูก แต่มันเป็นเรื่องการสร้างสังคม” 

     สังคมที่มีสวัสดิการที่ดีพร้อม จึงจะสามารถจูงใจให้กับผู้หญิงพร้อมเปิดอู่อีกครั้งหนึ่ง โดยที่เราต้องเป็นสิ่งหนึ่งของ เทคโนโลยีชีวญาณ ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมก็คือ ผู้หญิงก็มีความยินยอมพร้อมใจที่จะจัดการร่างกายตัวเอง เวลาเราบอกว่าอยากให้ผู้หญิงมีลูกเพิ่มขึ้น รัฐต้องคุยกับผู้หญิง สิ่งแรก คือต้องสำรวจความต้องการ นักประชากรศาสตร์เคยบอกกับปิ่นแก้วว่า ในยุคที่ผู้หญิงคุมกำเนิดจ้าละหวั่น หรือเรียกว่าความต้องการที่ไม่ได้บรรลุเป้าประสงค์ (Unmet Need)   ผู้หญิงชนบทในยุคที่มีการวางแผนครอบครัวกันอย่างเข้มข้น ผู้หญิงเองก็มีความต้องการอยากจะกำเนิดลูกอยู่แล้ว เพราะว่าอาชีพที่ทำอยู่ภาคเกษตร มันก็ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นพอมีลูกมากมันก็เป็นภาระ เขาก็อยากเข้าถึงเทคโนโลยีคุมกำเนิดอยู่แล้ว

    ปัญหาคือไม่ใช่ผู้หญิงไม่อยากคุมกำเนิด ปัญหาคือเทคโนโลยีที่เอามาลงกับผู้หญิง มันเป็นเทคโนโลยีที่บ้าระห่ำในช่วงนั้น ทำนองเดียวกัน ปัจจุบันถ้าคุณอยากให้ผู้หญิงมั่นใจและปลอดภัย อยากที่จะมีลูกอีกครั้งหนึ่ง คุณต้องถามผู้หญิงก่อน ต้องมีการสำรวจในยุคช่วงที่วางแผนครอบครัวไปใช้ อย่างอำเภอโพธาราม จังหวัดลพบุรี หมู่บ้านที่มีการสำรวจทำการศึกษาเรื่องนี้ มีข้อสรุปมาว่าผู้หญิงต้องการที่จะเข้าถึง สิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) ของการวางแผนครอบครัว

    ในทางกลับกัน ถ้าคุณอยากให้ผู้หญิงมีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่ครอบครัวขนาดเล็ก คุณถามผู้หญิงหรือยัง สำรวจผู้หญิงแต่ละกลุ่มมากน้อยแค่ไหน ผู้หญิงกลุ่มไหนที่คุณคิดว่าสามารถหรืออยากที่จะมีครอบครัวขนาดใหญ่ ผู้หญิงกลุ่มไหนที่เขาคิดว่าชีวิตเป็นโสดเป็นตัวเลือกที่ดี และก็ไม่ควรที่จะไปบังคับเขา ถ้าเขาอยากจะเป็นโสด เราไม่เคยได้ยิน ไม่เคยมีการศึกษาว่าผู้หญิงกลุ่มไหน เขาอยากมีลูกแต่ว่ามีลูกไม่ได้ เพราะว่าสวัสดิการมันไม่เพียงพอ ดังนั้นย้อนไปสู่คำถามที่ว่า ทำยังไงเราจะหลุดพ้นจากเทคโนโลยีชีวญาณของรัฐ มองอีกด้านหนึ่งคือว่า ทำยังไง เราจึงจะสามารถเป็นผู้ซึ่งกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองภายใต้เทคโนโลยีชีวญาณของรัฐ ทำให้รัฐได้ยินเสียงเรา เรามักจะได้ยินแต่เสียงหมอบอกอย่างเดียวว่า “มีลูกนะ มีลูกนะ” เมื่อไหร่ผู้หญิงจะมีลูกสักที แต่ไม่เคยได้ยินเสียงผู้หญิงเลยว่า “เฮ้ย เขาอยากมีลูกหรือเปล่า”

    ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงคิดเยอะ เมื่อต้องมีลูกออกมาในสภาวะแวดล้อมแบบนี้ เพราะผู้หญิงมีอำนาจในการปกป้องตัวเองน้อยมาก ความรุนแรงทางเพศ ใครมีลูกสาวจะรู้ดีถึงความหวาดกลัวของพ่อแม่ การคุกคามทางเพศตอนนี้ มันไม่ได้เป็นแบบเดินเข้าซอยเปลี่ยว  แต่รวมไปถึงการเข้ามาของระบบอินเทอร์เน็ต ความกังวลใจอีกเรื่องคือ โรงเรียนไม่เคยเป็นพื้นที่มันปลอดภัย ไม่ใช่แค่ผู้ชายกลั่นแกล้งผู้หญิง แต่กระทั่งผู้หญิงกลั่นแกล้งด้วยกันเอง ดังนั้นเวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าสวัสดิการ คือเราต้องการสร้างสังคม ที่มันเป็นสังคมมันดีสำหรับสมาชิกคนไหนเข้ามาอยู่ สังคมนั้นควรจะมีต้นแบบ ควรจะมีระบบคุ้มครองสวัสดิการของผู้หญิงแบบไหน ทำให้ผู้หญิงสามารถที่จะคุ้มครองเนื้อตัวร่างกายของตัวเองได้ แต่เราจะพบว่าในสังคมมีความอ่อนแอในเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะถ้ามันไม่อ่อนแอเราคงไม่เห็นการใช้ความรุนแรงทางเพศที่เห็นข่าวแทบทุกวัน การตบตีผู้หญิง ผู้หญิงถูกทำร้ายทางกายภาพ ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแปลกใหม่ มันเป็นเรื่องที่คุ้นชินตา ดังนั้นจึงเป็นสภาวะที่สะท้อนความล้มเหลวของการสร้างสังคมซึ่งมันมีความคุ้มกันทางเพศ

    ประเด็นสุดท้ายที่พูดในหนังสือกล่าวถึงครรภ์อีกประเภทหนึ่ง คือครรภ์ในเชิงศีลธรรม เราจะพบว่าในท่ามกลางในการพยายามของรัฐในการควบคุมครรภ์เพื่อทำให้ผู้หญิงมีลูก มันย้อนแย้งกับครรภ์ประเภทหนึ่งในทางศีลธรรมคือ รัฐเองก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงอย่างน้อยที่สุดก็เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ตั้งครรภ์และยุติการตั้งครรภ์ของตัวเอง ประเด็นเรื่องศีลธรรมเป็นประเด็นซึ่งกลไกอันหนึ่ง ซึ่งควบคุมร่างกายผู้หญิง จนกระทั่งผู้หญิงจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมา พยายามเคลื่อนไหวให้สามารถที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ ก่อนหน้านี้ประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้ง เป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นตรรกะใหญ่ซึ่งชี้ให้เห็นในหนังสือเล่มนี้คือว่า มันไม่ใช่เรื่องการตั้งท้องไม่พร้อม ไม่อยากจะมีลูก อันนี้มันคู่กันมาในช่วงที่ว่า มีการวางแผนครอบครัว พยายามยุติผู้หญิงในการเปิดอู่

    ในขณะเดียวกัน รัฐก็มีกฎหมายที่เข้มแข็งที่จะไม่ยอมให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ถามว่าความขัดกันเป็นเรื่องของอะไร เป็นเรื่องที่ว่ารัฐและสังคมมองว่า การที่ผู้หญิงมีอำนาจการทำแท้งได้เอง มันละเมิดศีลธรรมทางเพศ เพราะในบ้านเราการทำแท้งถูกมองว่า ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งเป็นผู้หญิงที่สำส่อนทางเพศ หากเราไปดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งมีนโยบายตรงกันข้าม คือเขาพยายามควบคุมประชากร ดังนั้นการทำแท้งเป็นเรื่องถูกตามกฎหมาย รัฐบังคับให้มีได้แค่ 2 คน อาจจะมีอะลุ่มอล่วยให้กับชนกลุ่มน้อย แต่ว่าโดยหลักแล้วผู้หญิงที่เป็นพลเมืองหลักเชื้อชาติ อนุญาตให้มีลูกแค่สองคน หากเขาเกิดมีลูกหรือตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นมา เขาสามารถที่จะทำแท้งได้ ประเด็นเรื่องศีลธรรมแน่นอนว่าสังคมต้องมีการประณาม แต่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือใช้ประเด็นทางศีลธรรมในการควบคุมร่างกายของผู้หญิง ของไทยมันตรงข้ามการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่ง ณ เร็ว ๆนี้ พึ่งมีการแก้กฎหมาย การยุติการตั้งครรภ์ ตามเนื้อหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2564 ไม่ให้สามารถเอาผิดกับผู้หญิงถ้าหากไปทำแท้ง ตัวนี้ชี้ให้เห็นว่าครรภ์ ก็ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ทางศีลธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงพื้นที่ของการพัฒนา

    ในปัจจุบันผู้หญิงสามารถตั้งครรภ์แล้วทำแท้งได้ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ถ้าเกิน 12 สัปดาห์ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญ หรือคลินิกเปิดสำหรับผู้หญิงจะเข้าไปทำการรับบริการพวกนี้ได้ แต่จากการสัมภาษณ์เราจะพบว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ผู้หญิงหลายคนที่เข้าคลินิกทำแท้ง มักพบหมอผู้ให้บริการ ทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่ ยังมองเธอด้วยสายตาที่ประณามว่าเป็นพวกไม่รักนวลสงวนตัวปล่อยให้ท้องขึ้นมาได้ยังไง แล้วก็มาทำแท้งนี่มันผิดบาป ก็เป็นมิติทางศีลธรรมที่ยังคงมีมากพอสมควรในการควบคุมร่างกาย

    ครรภ์ของแรงงานสตรี

    มดลูกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบทุนนิยมไม่ใช่เพียงแค่รัฐอย่างเดียว เวลาพูดถึงแรงงานผู้หญิงก็ประเด็นที่มีความสำคัญมาก เราจะพูดว่าการที่ผู้หญิงโสดหรือแต่งงาน มีลูกหรือไม่มีลูกนั้นมีผลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชนชั้นล่าง ในการที่จะได้งานหรือไม่ได้งาน ย้อนกลับไปคำถามที่ว่า แบบไหนที่ผู้หญิงจะรู้สึกว่าปลอดภัยพอที่จะตั้งครรภ์ได้ มีได้ยินข่าวว่า เวลาไปสมัครงานที่นิคมอุตสาหกรรม แล้วถูกถามว่าแต่งงานหรือยัง เป็นคำถามใหญ่สำหรับผู้หญิง ถ้าเพิ่งแต่งงานก็มีแนวโน้มว่า เขาจะไม่รับ เพราะถ้าคุณเพิ่งแต่งงาน เดี๋ยวไม่นานคุณก็จะใช้สิทธิ์ลาคลอด เพราะเขาจะเสียเวลาผลิตภาพไป 3 เดือน ดังนั้นเขาก็เลือกผู้หญิงยังไม่แต่งงานดีกว่า โดยรัฐต้องคิดเรื่องเหล่านี้ให้ละเอียดและสร้างหลักประกัน สิ่งที่จะคุ้มครองของผู้หญิงที่มากกว่าเป็นอยู่

    ปัจจุบันผู้หญิงมีสิทธิ์ลาคลอดก็จริง เป็นเพราะผลพวงจากการต่อสู้กลไกแรงงานผู้หญิงในสมัยก่อน นักสตรีนิยมตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่แค่สิทธิ์ลาคลอด รวมไปถึงเรื่องค่าแรงที่มีอัตราที่สูงขึ้น รวมถึงสิทธิ์ที่พอแต่งงานแล้ว สามารถที่จะมีนามสกุลเป็นของตัวเอง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าในปริมณฑลของการทำงานของผู้หญิงนั้นจะเท่าเทียม ระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ขูดรีดผู้หญิง จะเห็นว่าแม่บ้านที่อยู่ตามรอบ ๆ นิคมอุตสาหกรรมได้รับเหมารายชิ้น ด้วยข้ออ้างวาทกรรมที่ว่าผู้หญิงเลี้ยงลูกเฉย ๆ ไม่มีอะไรทำ อย่างเช่น พวกแบบเสื้อกีฬายี่ห้อทั้งหลาย นี่เป็นการขูดรีดมดลูกผู้หญิงแบบหนึ่ง ก่อนคุณมีลูกก็จะกีดกันไม่ให้เข้ามาทำงาน หลังมีลูกแล้ววิธีการขูดรีดแรงงานให้ได้มากที่สุดคือ Outsource งานในสิ่งนั้น ให้กับบรรดาผู้หญิงเหล่านี้ทำ ปัญหาไม่ใช่ว่าผู้หญิงอยู่บ้านว่าง ๆ คือมีแรงงานผู้หญิงเกิน เพราะว่าในช่วงเวลาที่มันสูงสุดจริง ๆ ให้ทำตามออเดอร์ให้ทัน เขาให้ค่าจ้างคนดูแลลูก แต่ค่าจ้างที่ทำตามรายชิ้น ไม่เคยขึ้นเลย เป็น 10 ปีมาแล้ว สรุปแล้วก็คือ มันไม่ใช่รัฐเพียงอย่างเดียวที่ใช้เทคโนโลยีชีวญาณ ระบบทุนนิยมเองก็พยายามที่จะขูดรีดแรงงานผู้หญิงอย่างเข้มข้น ทั้งผู้หญิงที่ไม่มีครรภ์และผู้หญิงที่มีครรภ์

    ขั้นสุดท้ายเป็นครรภ์ที่เรียกว่า ครรภ์เพื่อการพาณิชย์ หลายคนอาจจะทราบถึงข่าวเมื่อหลายปีที่แล้ว “น้องแกรมมี่ ทารกเพศชายชาวออสเตรเลีย วัย 6 เดือน ที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยวิธีการอุ้มบุญ” โดยผู้หญิงจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชนชั้นล่าง มีร่างกายอุดมสมบูรณ์ เปิดรับจ้างการตั้งครรภ์แทนคนที่ซึ่งมีปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของมดลูก กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา อย่างบางกรณีคลอดลูกออกมาแล้วลูกเป็นพิการ ซึ่งคนที่รับจ้างไม่เอาลูก จนเมื่อ ปี พ.ศ. 2558 รัฐได้ออกกฏหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ช่วยให้มีลูกได้ โดยรัฐต้องการคุ้มครองไม่ให้การตั้งครรภ์ประเภทนี้แพร่กระจายโดยปราศจากการควบคุม นั่นก็หมายความว่า มีระเบียบเงื่อนไข 2-3 อย่าง เช่น คุณจะตั้งครรภ์แทนได้ คุณต้องมีความเชื่อมโยงกับพ่อแม่ทางสายเลือด หรือได้รับการอนุญาติเป็นพิเศษจากคณะกรรมการ

    อย่างข่าวใหญ่โตเมื่อหลายปีที่แล้ว ผู้หญิงทั้งหมู่บ้านรับจ้างท้อง เกิดอุตสาหกรรมการอุ้มบุญเกิดขึ้น ปัจจุบันก็เป็นปัญหาข้ามชาติมากขึ้น เพราะว่ากลุ่มคนจีนเข้ามามีบทบาทในการทำเรื่องนี้ด้วย โดยพวกนักสตรีนิยมเองก็แตกเป็นสองเสียง ระหว่างฝ่ายหนึ่งบอกว่า ทำแบบนี้เราก็ตกเป็นเหยื่อของทุนนิยมประเภทหนึ่ง คล้ายกับการผลิตซ้ำเรื่องการใช้ผู้หญิงเป็นสินค้าตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ กับอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นงานที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าสู่กระบวนการนี้เข้าไปด้วยความยินยอม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยมีลูกมาอยู่แล้ว แน่นอนว่าการเข้าสู่กระบวนการมันก็ไม่ง่าย ต้องฉีดวิตามิน ฉีดยา เพื่อให้พร้อมเสมอในการตั้งครรภ์ ถ้าลูกติดแล้วแต่ว่ายังไม่ดีก็ไปเริ่มใหม่ กระบวนการมันก็ค่อนข้างทารุณในเชิงกายภาพสำหรับผู้หญิง แต่พอจบแล้วก็ได้ค่าตอบแทนที่ดีพอสมควร เท่าที่คุยกับชาวบ้านผู้หญิงส่วนใหญ่เค้าก็จะพูดปกป้องตัวเอง (Defend) ว่านี่เป็นการทำบุญแบบหนึ่ง เขาได้ช่วยคู่คนที่เขาไม่สามารถมีลูกได้ ในบางประเทศเขาก็ทำกัน

    อย่างไรก็ตาม ถ้ายังอยู่ในสภาวะที่ควบคุมกันอย่างหนัก คำถามก็คือว่าแล้วรัฐไทยมองเรื่องนี้อย่างไร ในขณะที่อยากจะผลักให้คนมีลูก เมื่อมีครอบครัวที่เขาอยากมีลูกแต่เขามีไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันมีกฎหมายขวางอยู่ เช่น ต้องมีสายเลือดเชื่อมโยงกัน การที่คุณจะไปขอให้ใครคนนึงสามารถอุ้มลูกให้แทบจะเป็นไปไม่ได้ และกฎหมายฉบับนี้ แน่นอนว่ามีคนวิจารณ์ ว่าเป็นเพียงทางเพศ (Sexual) คือเอาใจซึ่งผู้ที่เป็นเพียงชายหญิง หากพูดถึงสมรสเท่าเทียมงั้นเพศเดียวกัน ซึ่งแต่งงานแล้วเขาอยากมีลูก มันไม่มีตัวเลือกที่ต้องหาคนอุ้มบุญ จากข้อความข้างต้น รัฐมองว่ามันผิดศีลธรรมการเอามดลูกผู้หญิงไปขายอุ้มบุญให้กับคนอื่น ฝ่ายหนึ่งผู้หญิงก็บอกว่าฉันเป็นเจ้าของมดลูก ทำไมฉันจะทำไม่ได้ ต่อให้ฉันตัดมดลูกขาย ก็เป็นสิทธิ์ของฉัน รัฐมายุ่งอะไรด้วย ดังนั้นสองข้อนี้ก็ยังเป็นที่ถูกเถียงกันอยู่

    (ภาพ: Book Re:public)

    ครรภ์ของชาติไทย

    ปิ่นแก้วได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ครรภ์แต่ละประเภทล้วนสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐชาติกับผู้หญิงซึ่งเป็นเจ้าของมดลูก ในแต่ละยุคสมัย ‘ครรภ์อารยะ’ ได้เปลี่ยนผ่านระหว่างสังคมประเพณีเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นที่อู่มดลูกของเรา ไม่ได้เป็นของเราอีกต่อไปแล้ว พอการแพทย์ตะวันตกเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดลูก การอยู่ไฟกลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งหลัก ถึงแม้ปัจจุบันมีการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์มาใช้ แต่ก็ไม่ได้เสมอไป เพราะเราพบว่าในหมู่บ้านมีจำนวนผู้หญิงไม่น้อยที่เชื่อเรื่องของการอยู่ไฟ เพราะวิธีมองมดลูกที่ต่างกัน ในช่วงที่ปิ่นแก้วยังเรียนอยู่สหรัฐอเมริกา มีคนกัมพูชาที่อาศัยอยู่ที่นั่นค่อนข้างมาก ทางแพทย์ก็ได้ขอให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปช่วยเหลือทำงาน เพราะว่าคนเขมรหลังคลอดลูกแล้วจะก่อเตาไฟใกล้ ๆ เตียง แพทย์ตะวันตกจึงต้องพยายามทำความเข้าใจในวัฒนธรรม วิธีคิดในการมองมดลูกในระหว่างแพทย์ตะวันตกกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งก็ต้องคุยกันอย่างประณีตประนอม โดยการอยู่ไฟคงไม่มีอิทธิพลใหญ่ในการกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้หญิงตลอดไป ซึ่งแปลว่าผู้หญิงก็เป็นเจ้าของครรภ์ของตัวเองน้อยลงหลังจากนั้น

    ครรภ์เพื่อการผลิต คือรับใช้ความร่วมมือของชาติ เปิดอู่ให้มีทารกจำนวนมาก ไปสู่การมองว่าครรภ์เป็นที่มาของความยากจน ปัจจุบันเราจะพบสิ่งที่มันเถียงอยู่ในสังคมในครรภ์ศีลธรรม ในครรภ์เพื่อการพาณิชย์ ถามว่าเราอยู่ตรงไหนในบรรดาครรภ์เหล่านี้ ในฐานะผู้หญิงก็มองมดลูกตัวเองในทรรศนะต่าง ๆ เหล่านี้ เวลามีการถกเถียง มักจะหันมาดูมดลูกตัวเองตลอดเวลาว่า คงมีโมเมนต์ที่เราอยากจะมีลูก มีช่วงเวลาของการพิจารณาสิ่งมีชีวิตซึ่งอยู่ในครรภ์ของเราตลอดเวลาอยู่แล้ว เราจะความสัมพันธ์ยังไงดี จะสร้างชีวิตหรือจะปล่อยมันตาย ดังนั้นผู้หญิงมีการสนทนาครรภ์ตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะครรภ์เพื่อการผลิต ครรภ์มีแล้วมันจะยากจน หรือเป็นครรภ์ทางศีลธรรม เกิดว่าฉันทำแท้งมันจะบาปไหม ลูกจะคิดยังไงกับฉัน ประสบการณ์เหล่านี้เป็นอุดมการณ์ที่สะท้อนว่าภายใต้เทคโนโลยีชีวญาณ ที่รัฐพยายามจะเข้ามาควบคุมครรภ์ผู้หญิง จริง ๆ แล้ว รัฐไม่สามารถเอาประสบการณ์ระหว่างผู้หญิงกับครรภ์ตัวเองออกได้ ดังนั้นการที่รัฐจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว จะผลักดันให้มดลูกเปิดอู่หรือไม่เปิดอู่ สิ่งที่เป็นตัวตัดสินเลยก็คือตัวประสบการณ์นี่แหละ สิ่งที่ผู้หญิงมองแล้วเข้าใจ

    ประเด็นท้ายที่สุด คือเรื่องของการทำแท้ง เนื่องจากศีลธรรมเป็นเรื่องใหญ่อย่างมากในสังคมไทยในทุก ๆ เรื่อง ปริมณฑลการทำแท้ง เป็นสงครามใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ถ้าใครจำเหตุการณ์เมื่อหลาย 10 ปีก่อน กลุ่มพุทธศาสนาก็ไม่ยอมให้มีการทำแท้ง จนกระทั่งพวกบรรดาผู้หญิงทั้งหลายออกมาเคลื่อนไหว เปลี่ยนวาทกรรมเดิมที่การทำแท้งทำให้เกิดความสะเทือนใจในศีลธรรม มันเป็นการฆ่าทารก จึงเปลี่ยนแนวคิดการทำความเข้าใจมดลูก มันไม่ใช่เรื่องการพยายามจะไปฆ่ามดลูก แต่เป็นการ “ท้องไม่พร้อม” เมื่อท้องไม่พร้อมแล้วมีลูกออกมามันจะสร้างปัญหาอะไรต่อเนื่องยาวนานขนาดไหน รัฐเองก็ไม่มีปัญญาที่จะโอบอุ้มสิ่งนี้ได้ นำมาสู่ความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงมีพื้นที่มากขึ้นในการดูแลครรภ์ตัวเอง เมื่อมองย้อนกลับมา ครรภ์แต่ละประเภทนั้น ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนถึงการที่รัฐจะอนุญาตหรือใช้อำนาจในการตัดสินให้ครรภ์สามารถมีชีวิตต่อหรือไม่ แต่ในความพยายามนั้น ผู้หญิงล้วนต่อรองกับมันมาโดยตลอด

    Related

    อยู่-ระหว่าง-เหนือล่าง : เหนือล่างกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ภูมิภาคเหนือตอนล่างคือพื้นที่ระหว่างภาคกลาง (กล่าวโดยนัยคือกรุงเทพฯ) กับภาคเหนือ ภายใต้ประพัฒนาการของรัฐไทยที่เริ่มต้นในช่วงรัชการที่ 5 มาจนถึงตอนนี้ ภูมิภาคเหนือตอนล่างถูกละเลยไปจากการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไปจนหาความต่อเนื่องได้ยาก...

    ล้านนาบ่แม่นก้าคนเมือง : สังคมพหุวัฒนธรรมในล้านนา

    เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner ร่วมกับภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา...

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...