งบน้ำท่วมภาคเหนือ: 500 ล้านรับมือน้ำท่วมภาคเหนือ 2567 มาจากไหน จัดสรรยังไง แต่ละจังหวัดได้เท่าไหร่?

ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลกว่า 500 ล้านบาท ในการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรองรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ซึ่งคิดเป็นกว่า 7% ของงบประมาณกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568

แต่เงินจำนวนมหาศาลนี้จะสามารถแก้ปัญหาภัยน้ำท่วมได้จริงหรือ? นับเป็นคำถามที่น่าสนใจ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้การจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดการน้ำในบางพื้นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้บ้าง แต่ผลลัพธ์โดยรวมกลับสวนทางกัน สถานการณ์น้ำท่วมยังคงเกิดขึ้นซ้ำซากอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ

งบน้ำท่วมมาจากไหน มีการจัดสรรงบประมาณยังไง และกระจายไปยังหน่วยงานไหนบ้าง

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น งบประมาณสำหรับการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในปี 2567 จำนวน 533.84 ล้านบาท นั้นมีที่มาจาก ‘งบฯ กลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568’ ซึ่งมีวงเงินรวม 7,606.4972 ล้านบาท โดยได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยงบ 533.84 ล้านบาทนี้ คิดเป็น 7.02% ของงบทั้งหมด 7,606.4972 ล้านบาท และถูกกระจายไปยัง 4 กระทรวง 9 หน่วยงาน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบฯ รายกระทรวง พบว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทเป็นหลักในป้องกันเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งในส่วนของพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ชุมชน ได้รับงบประมาณมากที่สุดถึง 395.72 ล้านบาท สำหรับ 75 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 73.94% ซึ่งสูงที่สุดของงบประมาณทั้งหมด

รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย 135.58 ล้านบาท สำหรับ 132 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 25.40% โดยส่วนใหญ่ของงบประมาณในกระทรวงมหาดไทย ถูกจัดสรรให้กับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลตำบล เพื่อดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 16.20 ล้านบาท สำหรับ 28 โครงการ คิดเป็นสัดส่วน 3.03% และกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า 1.53 ล้านบาท สำหรับ 1 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.29% เท่านั้น

ขณะเดียวกันหากขยับมาในส่วนรายละเอียดของโครงการจะพบว่า โครงการส่วนใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนคือ ‘โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์’ จำนวน 98 โครงการ คิดสัดส่วนเป็น 41.53% ของจำนวนโครงการทั้งหมด 236 โครงการ โดยกระจายตัวอยู่ในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งมีโครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์จำนวนมากถึง 86 โครงการ ในขณะที่เทศบาลตำบลมี 9 โครงการ และ อบจ. มีเพียง 3 โครงการเท่านั้น

รองลงมาคือ โครงการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เช่น ขุดลอกคู คลอง หนอง ลำน้ำ ฝาย และแก้มลิง จำนวน 28 โครงการ คิดสัดส่วนเป็น 11.86% ด โดยกระจายตัวอยู่ใน กรมชลประทาน 19 โครงการ อบต. 6 โครงการ อบจ. จังหวัด และกรมเจ้าท่าอีกหน่วยงานละ 1 โครงการ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำบาดาลเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 27 โครงการ คิดสัดส่วนเป็น 11.44% และโครงการปรับปรุงซ่อมแซมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยกรมชลประทาน จำนวน 25 โครงการ คิดสัดส่วนเป็น 10.59%

ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำ ทั้งการปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและธรรมชาติ รวมถึงกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการระบายน้ำ จำนวน 22 โครงการ คิดสัดส่วนเป็น 9.32% โดยกระจายตัวอยู่ใน กรมชลประทาน 15 โครงการ อบต. 5 โครงการ และเทศบาลนคร 2 โครงการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกจำนวน 64 โครงการ คิดสัดส่วนเป็น 27.12%

การกระจายงบจัดการน้ำ 2567: จังหวัดภาคเหนือได้งบเท่าไหร่ โครงการอะไรบ้าง

หากพิจารณาจากงบฯ กลางปี 2567 ข้างต้นจะพบว่า จังหวัดที่ได้งบประมาณไปสูงที่สุดคือ จังหวัดพิจิตร ได้รับงบประมาณสำหรับ 3 โครงการ 101.00 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.92% ของงบฯ กลางทั้งหมด โดยได้รับจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการอาคารบังคับน้ำ 2 โครงการ (82.00 ล้านบาท) และโครงการขุดลอก 1 โครงการ (19.00 ล้านบาท)

รองลงมาคือ จังหวัดนครสวรรค์ 2 โครงการ 86.00 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.11% โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 2 โครงการ (86.00 ล้านบาท) ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการทั้งสองแห่งนี้ มาจากงบประมาณของกรมชลประทานทั้งหมดเช่นกัน

จังหวัดพะเยา 4 โครงการ 61.50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.51% โดยโครงการทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน ประกอบด้วย โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง และซ่อมแซมฝาย 3 โครงการ (54.50 ล้านบาท) และโครงการก่อสร้างแก้มลิง 1 โครงการ (7.00 ล้านบาท)

จังหวัดเชียงราย 50 โครงการ 58.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.97% ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 38 โครงการ (11.74 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น 4 โครงการ (2.00 ล้านบาท) โครงการขุดลอก 3 โครงการ (8.79 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างและวางท่อระบายน้ำ 2 โครงการ (4.76 ล้านบาท) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ 2 โครงการ (25 ล้านบาท) และโครงการปรับปรุงตลิ่งลำน้ำแม่ห่าง 1 โครงการ (6.27 ล้านบาท)

จังหวัดน่าน 56 โครงการ 42.93 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.04% ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 42 โครงการ (8.00 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างลำเหมืองและดาดลำเหมืองคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 โครงการ (8.92 ล้านบาท) โครงการขุดลอก 3 โครงการ (4.27 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างพนังกั้นตลิ่งและซ่อมแซมตลิ่งพัง 2 โครงการ (11.60 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 2 โครงการ (1.66 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างรางระบายน้ำ 2 โครงการ (8.15 ล้านบาท) และโครงการขุดอ่างเก็บน้ำ 1 โครงการ (0.33 ล้านบาท)

จังหวัดลำพูน 15 โครงการ 37.22 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.96% ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำบาดาลเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 3 โครงการ (1.77 ล้านบาท) โครงการขุดลอก 2 โครงการ (2.40 ล้านบาท) โครงการกำจัดวัชพืช 2 โครงการ (1.23 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมอาคารควบคุมอ่างเก็บน้ำและป้องกันตลิ่ง 2 โครงการ (2.01 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างฝายดินซีเมนต์ 1 โครงการ (0.92 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างพนังกันดินคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 โครงการ (1.20 ล้านบาท) โครงการปรับปรุงระบบผันน้ำ 1 โครงการ (25.90 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมระบบควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ 1 โครงการ (0.176 ล้านบาท) โครงการป้องกันการกัดเซาะอ่างเก็บน้ำ 1 โครงการ (1.41 ล้านบาท) และโครงการซ่อมแซมตะแกรงท่อระบายน้ำปากคลองฝาย 1 โครงการ (0.20 ล้านบาท)

จังหวัดเชียงใหม่ 19 โครงการ 30.84 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 5.77% ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำบาดาลเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 18 โครงการ (10.64 ล้านบาท) และโครงการขุดลอก 1 โครงการ (0.22 ล้านบาท)

จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 โครงการ 30.00 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.62% ประกอบด้วย โครงการขุดลอก 2 โครงการ (30 ล้านบาท)

จังหวัดลำปาง 6 โครงการ 27.32 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.11% ประกอบด้วย โครงการป้องกันตลิ่ง 2 โครงการ (14 ล้านบาท) โครงการขุดลอก 1 โครงการ (0.45 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมท้ายคลองอ่างเก็บน้ำ 1 โครงการ (0.37 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมท้ายอาคารระบายน้ำ 1 โครงการ (3 ล้านบาท) และโครงการซ่อมแซมด้านท้ายฝาย (9.50 ล้านบาท) 

จังหวัดแพร่ 31 โครงการ 25.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.72% ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 17 โครงการ (14.71 ล้านบาท) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำบาดาลเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 6 โครงการ (2.77 ล้านบาท) โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น 3 โครงการ (2.71 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำและฝาย 3 โครงการ (2.80 ล้านบาท) และโครงการขุดลอก 2 โครงการ (2.21 ล้านบาท)

จังหวัดสุโขทัย 10 โครงการ 24.87 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.66% ประกอบด้วย โครงการซ่อมแซฒเสริมคันคลอง 5 โครงการ (5.40 ล้านบาท) โครงการกำจัดวัชพืช 3 โครงการ (0.33 ล้านบาท) โครงการขุดบึง 1 โครงการ (10.39 ล้านบาท) และโครงการซ่อมแซมระบบควบคุมประตูระบายน้ำ 1 โครงการ (9.66 ล้านบาท)

จังหวัดกำแพงเพชร 18 โครงการ 22.71 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.25% ประกอบด้วย โครงการขุดลอก 7 โครงการ (3.47 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมท่อระบายน้ำ 4 โครงการ (3.28 ล้านบาท) โครงการซ่อมเสริมและซ่อมแซมคันคลอง 3 โครงการ (3.52 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมคันดิน 2 โครงการ (1.64 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมฝาย 1 โครงการ (10 ล้านบาท) และโครงการซ่อมแซมท่อลอด 1 โครงการ (0.80 ล้านบาท)

จังหวัดที่ได้รับงบประมาณสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 น้อยที่สุด 3 ลำดับคือ 1. จังหวัดอุทัยธานี 12 โครงการ 10.19 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.91% ประกอบด้วย โครงการซ่อมแซมคันคลองและคันคลองระบายน้ำ 5 โครงการ (4.25 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมการกัดเซาะฝายและลำห้วย 3 โครงการ (2.45 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมท่อลอด 2 โครงการ (1.8 ล้านบาท) และโครงการซ่อมแซมคันดิน 2 โครงการ (1.69 ล้านบาท) 2. จังหวัดตาก 5 โครงการ 7.41 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.39% ประกอบด้วย โครงการขุดลอก 3 โครงการ (5.80 ล้านบาท) โครงการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ 2 โครงการ (1.61 ล้านบาท) และ 3. จังหวัดอุตรดิตถ์ 3 โครงการ 2.36 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.44% ประกอบด้วย โครงการขุดลอก 2 โครงการ (0.72 ล้านบาท) และโครงการก่อสร้างคลองระบายน้ำ 1 โครงการ (1.65 ล้านบาท) ทั้งนี้ จังหวัดที่ไม่ปรากฏข้อมูลการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน มี 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ฝายแกนดินซีเมนต์คืออะไร ทำไมถึงได้งบเยอะ แล้วแก้น้ำท่วมได้จริงหรือ?

ในช่วงที่ผ่านกระแสของ ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากกรณีการตัดงบฯ โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ของพรรคเพื่อไทยที่ถูกนำมาถกเถียงกันอีกครั้งในสภา และเมื่อย้อนกลับมาสำรวจโครงการทั้งหมดในงบฯ กลาง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 พบว่า โครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ได้รับการสนับสนุนมากที่สุด โดยมีจำนวนโครงการมากถึง 98 โครงการ หรือ 41.53% ของโครงการทั้งหมด  236 โครงการ และคิดเป็นเงินกว่า 29.56 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ฝายแกนดินซีเมนต์คืออะไร? ทำไมโครงการนี้ถึงได้รับงบประมาณมาก และสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่?

ฝายแกนดินซีเมนต์’ คืออะไร? ฝายแกนดินซีเมนต์เป็นฝายที่มีแกนเป็นร่องลึก สามารถกักเก็บและสะสมน้ำในชั้นใต้ดินเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำมากกว่าฝายแบบทั่วไป ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากคำอภิปรายของ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2567 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าข้อมูลฝั่งหนึ่งเชื่อว่า ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ นั้นสามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมภายในพื้นที่ภาคเหนือได้ และทำให้มวลน้ำเหล่านี้ไม่ไหลลงไปท่วมภาคกลาง โดยอิงจากการทดสอบทำฝายฯ ที่ออกแบบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งใช้เงินงบประมาณไม่มาก แต่ได้ผลลัพธ์ที่คงทนกว่ากระสอบทรายที่ใช้แต่เดิม และใช้งบท้องถิ่นไม่สูง

วรวัจน์ ได้ยกตัวอย่างจังหวัดแพร่ ซึ่งมีลำห้วยสาขาย่อย 48 สาขา และสาขาหลัก 16 สาขา เมื่อฝนตกหนัก ดินจะไหลลงมาท่วมทั้งจังหวัด อย่างไรก็ตาม หลังจากสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ที่บ้านน้ำโค้ง ตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งมีความยาว 92 เมตร กว้าง 12 เมตร และสูง 1.5 เมตร ฝายนี้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในฤดูฝนสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 552,000 ลูกบาศก์เมตร ป้องกันน้ำป่าไหลหลาก และในฤดูแล้งสามารถปล่อยน้ำลงสู่พื้นที่การเกษตรได้ 2,062 ไร่ อีกทั้งยังสามารถส่งน้ำเข้าระบบประปาส่วนภูมิภาค จ่ายน้ำให้ประชาชนได้ถึง 13,799 ราย

อย่างไรก็ดี คริษฐ์ ปานเนียม สส.พรรคประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีที่ สส.พรรคเพื่อไทย โจมตีอดีตพรรคก้าวไกลเรื่องการตัดงบประมาณก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในปีงบประมาณ 2567 โดยอ้างว่าสิ่งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมมีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน คริษฐ์มองว่าข้อกล่าวหานี้ย้อนแย้งในตัวเอง ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการสร้างฝายมานานกว่า 8 ปี คริษฐ์อธิบายว่าฝายแกนดินซีเมนต์โดยพื้นฐานแล้วสร้างในระดับที่ต่ำกว่าตลิ่ง ดังนั้น เมื่อปริมาณน้ำมามากกว่าระดับของฝาย น้ำก็จะไหลผ่านไปตามปกติ ฝายไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันน้ำท่วม แต่ช่วยชะลอน้ำให้อยู่ในพื้นที่ได้นานขึ้นจนถึงช่วงฤดูแล้ง

ดังนั้น วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของฝายแกนดินซีเมนต์จึงไม่ใช่เพื่อชะลอน้ำท่วม แต่เพื่อชะลอน้ำในช่วงที่น้ำขาดแคลน โดยการยืดระยะเวลาที่น้ำจะยังคงอยู่ในพื้นที่จนถึงหน้าแล้ง ฝายเหล่านี้เป็นโครงสร้างชั่วคราว ไม่ใช่โครงสร้างถาวรแบบเขื่อน จึงไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ฝายมีประโยชน์ในสถานการณ์และบริบทเฉพาะเท่านั้น และไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกแหล่งน้ำทั่วประเทศ

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับบทความ “เมื่อฝายไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน แต่รัฐบาลกำลังปูพรมสร้างฝายทั่วประเทศ” โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ จาก 101world ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ฝายแกนดินซิเมนต์มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากเป็นฝายกึ่งถาวรที่สร้างโดยการเรียงหินและใช้คอนกรีตเสริมเหล็กหรืออิฐปูน ซึ่งถือเป็นการนำวัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นธรรมชาติเข้าไปกั้นลำน้ำในระบบนิเวศ เมื่อสร้างฝายเหล่านี้ในป่า ระดับน้ำอาจสูงขึ้นในฤดูฝน ทำให้เกิดน้ำท่วมพืชและสัตว์บริเวณนั้น โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีอายุนาน ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาให้อยู่รอดได้ในสภาพน้ำท่วมนาน ๆ ส่วนในฤดูแล้ง น้ำในฝายอาจหยุดไหล เกิดสภาพน้ำนิ่งที่ส่งผลให้น้ำเน่าและขาดออกซิเจน ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำลดลง อีกปัญหาที่ตามมาคือ ขยะที่สะสมจากกระสอบทรายและเศษปูน เมื่อฤดูฝนผ่านไป ฝายส่วนใหญ่จะพัง ทำให้ขยะเหล่านี้กระจายตัวทั่วบริเวณและก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเพิ่มเติม

เช่นเดียวกันกับบทความ “เหรียญอีกด้านของ ‘ฝายชะลอน้ำ’ กิจกรรมอนุรักษ์ป่าหรือคร่าชีวิตลำธาร” โดย สมาธิ ธรรมศร จาก waymagazine ที่ระบุว่า เมื่อน้ำถูกฝายชะลอให้ไหลช้าลงหรือถูกปิดกั้นจนไม่สามารถไหลผ่านได้ ระดับน้ำที่ด้านหน้าฝายจะยกตัวสูงขึ้น เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘น้ำเท้อ’ (backwater) ซึ่งจะเอ่อท่วมพืชพรรณริมฝั่งลำธารจนต้นไม้เหล่านั้นอาจยืนต้นตาย อีกทั้งยังขัดขวางการเคลื่อนย้ายของสัตว์ลำธารระหว่างบริเวณต้นน้ำและปลายน้ำ การที่สัตว์ลำธารถูกกักขังอยู่ภายในฝายบางครั้งถูกตีความผิด ๆ ว่าฝายช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของสัตว์เหล่านั้น

ฝายแกนดินซีเมนต์อาจมีความเหมาะสมเมื่อสร้างในพื้นที่แห้งแล้ง เพื่อช่วยกักเก็บน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดิน แต่ในทางกลับกัน ฝายไม่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว การสร้างฝายในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ดังนั้น การสร้างฝายจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในบริบทของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ส่งผลกระทบในทางลบ

อ่านข้อมูลงบน้ำท่วมภาคเหนือได้ที่ https://www.lannernews.com/29082567-04/

อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง