คณะก่อการล้านนาใหม่และราษฎรหยุด APEC 2022 แสดงจุดยืนหน้ากงสุลสหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ ลั่นอเมริกาต้องรับผิดชอบการละเมิดสิทธิและกดดันรัฐบาลไทย

ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

29 พฤศจิกายน 2565 คณะก่อการล้านนาใหม่ กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กป.อพช.ภาคเหนือ และประชาชน ได้ร่วมแสดงจุดยืนไม่เอาความรุนแรงของรัฐบาลประยุทธ์กรณีการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 ณ สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้สถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อกดดันรัฐบาลไทยให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 และประเทศสหรัฐอเมริกาต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ APEC 2022

เวลา 10.20 น. คณะก่อการล้านนาใหม่และราษฎรหยุด APEC 2022 ได้มีการขึ้นป้ายแสดงออกบริเวณวงเวียนเจดีย์ขาว ติดกับสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา  โดยมีข้อความเขียนว่า “BloodyAPEC ต้องมีคนรับผิดชอบ” ”Police Everywhere Justice Nowhere”  “A.C.A.B” และสวมหน้ากากพายุ บุญโสภณ-นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน สามัญชน ที่ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ดวงตาจนสูญเสียดวงตา จากการใช้ความรุนแรงในสลายการชุมนุมของวันที่18 พฤจิกายน 2565 บริเวณถนนดินสอ  กรุงเทพมหานคร

10.50 น. มีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าสถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นได้มีผู้แทนของกงสุลสหรัฐอเมริกามารอรับหนังสือ โดย พชร คำชำนาญ ตัวแทนจากคณะก่อการล้านนาใหม่และราษฎรหยุด APEC 2022 ได้มีการอ่านแถลงการ ใจความว่า 

ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

เราขอเรียกร้องผ่านทางสถานทูต ให้ประเทศของท่านที่เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นในการประชุม APEC2022 ด้วยการกดดันรัฐบาลไทย ให้ทำตามข้อเรียกร้องของ กลุ่มราษฏรหยุดเอเปค โดยเรามีข้อเรียกร้องดังนี้

1. สํานักงานตำรวจแห่งชาติต้องออกมาแสดงการยอมรับผิดและออกมาขอโทษกับกรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565

2.ให้สํานักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และชดใช้ค่าเสียหายทั้งร่างกายและสิ่งของที่สูญเสียไป

3. สํานักงานตำรวจแห่งชาติและส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการหาตัวผู้สั่งการและผู้กระทำความผิดในการสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ จากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พ.ย 65 และมาลงโทษ ทั้งทางวินัยและทางอาญา

4. ปฏิรูปการควบคุมการชุมนุมให้สนับสนุนการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมแก่ประชาชน โดยรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงกับประชาชนอีก โดยอย่างน้อยต้องมีการเปิดเผยรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมทุกนาย ทุกครั้ง และเจ้าหน้าที่ทุกคนทั้งในเครื่องแบบ และนอกเครื่องแบบ ต้องถูกระบุตัวตนได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเป็นผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงเสียเอง และให้ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนในการชุมนุมตามหลักสากลและปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เอื้อต่อประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม 

ภาพ : ภูวิวัชร์ อินต๊ะวงค์

ทั้งนี้เราขอยืนยันว่า การชุมนุมของเราเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธตามหลักสากลโดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ในขณะนั้นคือ

1. ประยุทธ์ต้องยกเลิกนโยบาย BCG รวมถึงระเบียบกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ ที่พยายามนำเสนอให้ที่ประชุมเอเปครับรอง ด้วยเป็นแนวคิดที่กำลังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศเท่านั้น แต่กลับจะสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับประชาชนไทยและประชาคมโลกในอนาคต

โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามอย่างยิ่งในการผลักดันให้ประเทศในเขตเศรษฐกิจ APEC รับรองเพื่อให้บรรลุ ‘เป้าหมายกรุงเทพ ฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ นั้น ได้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ “(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: BCG Model) พ.ศ. 2564 – 2570” โดยผู้บริหารและขับเคลื่อน BCG คือการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ กลุ่มอดีตข้าราชการระดับสูง ร่วมกับเครือข่ายของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ จึงไม่แปลกใจที่แผนการที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน BCG นั้นจะเน้นไปที่ประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่และรัฐราชการเป็นหลัก สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชาชน กล่าวคือ

1)นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นการเปิดทางให้กับการโจรกรรมพันธุกรรม ทำให้นายทุนสามารถเข้ามาผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์หรือการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น จีเอ็มโอ ได้อย่างง่ายดาย ผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.ความหลากหลาย พ.ศ. …  รวมถึงความพยายามในการแก้ไขแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เพื่อผูกขาดเมล็ดพันธุ์

2) นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการเปิดทางให้กับการปลูกพืชพลังงานและการทำ   โรงไฟฟ้า นำมาซึ่งการลดการปลูกพืชอาหาร เกิดปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร และปัญหาด้านมลพิษในสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อประชาชน รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลมหาศาล และการนำเข้าขยะพลาสติก และ       

3) นโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐสามารถผลักดันนโยบายการค้าคาร์บอนเครดิตโดยอ้างวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยทุนอุตสาหกรรมที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงของการปล่อยคาร์บอนนั้นไม่ต้องถูกควบคุม แต่ผลักภาระมาที่ชาวนา แรงงาน และคนจนทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ แต่กลับแย่งชิงที่ดินของประชาชนไปเข้าสู่โครงการปลูกป่าเพื่อเป็นพื้นที่คาร์บอนเครดิตของกลุ่มทุน โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีแนวนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ตามแผนของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งก็ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนอยู่แล้ว

2. ประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่มเอเปค และจะต้องยุติบทบาทในการเป็นประธานการประชุมเอเปคโดยทันที เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อประชาชนและต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ          

3. ประยุทธ์ต้องยุบสภาและเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง อันจะทำให้ได้มาซึ่งผู้นำการบริหารประเทศที่สง่างามและคู่ควรกับการเป็นเจ้าภาพในการประชุมเวทีประชาคมโลกต่อไปในอนาคต

“เราไม่ใช่แค่ผู้บริโภค แต่เราคือผู้ได้รับผลกระทบด้วย”

โดยหนึ่งในผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์การการสลายการชุมนุม กล่าวว่า วันนั้นตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากเข้าไปใช้ความรุนแรง และโดนทุบตี ถูกกระบองฟาด ขณะที่เพื่อนถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ดวงตา และมีพี่น้องที่ร่วมชุมนุมบาดเจ็บอีกหลายคน โดยเจตจำนงของเราวันนั้นคือการแสดงออกไม่ได้มีความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น และตัวผู้เล่าเองก็ถูกดำเนินคดีอีกหลายคดี 

ในเวลา 11.00 น. คณะก่อการล้านนาใหม่และราษฎรหยุด APEC 2022 ยังคงยืนยันหลักการว่า พวกเราได้ใช้สิทธิเสรีภาพในนามประชาชน พวกเราควรจะมีสิทธิในการแสดงออก มีสิทธิ์ในฐานะประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒา จากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ฟอกขาวตัวเองและฟอกเขียวให้นายทุน  ผ่านการใช้ประเทศเขตเศรษฐกิจ APECและในอีกหลายๆ ประเทศเป็นเครื่องมือของตัวเอง และยืนยันการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่18 พฤจิกายน 2565 ที่ผ่านมาเป็น การสลายการชุมนุม: การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 1. การสลายการชุมนุมขัดต่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ภายหลังการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

 2. การสลายการชุมนุมฝ่าฝืนหลักความได้สัดส่วนและความจำเป็น 

 3. การใช้อาวุธร้ายแรงผิดหลักสากล

 4. ตำรวจขัดขวางและโจมตีสื่อมวลชน

 5. การละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เช่นการพูดจาที่ส่อไปในการล่วงละเมิดทางเพศกรณีที่ผู้ชุมนุมหญิงถูกเจ้าหน้าที่คฝ.พูดใส่ตน

และเสร็จสิ้นกิจกรรมในเวลา 11.15 น.

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง