พฤษภาคม 9, 2024

    ไกล ศูนย์ กลาง: ‘รักเก่าที่บ้านเกิด’ ถึง ‘สมศรี 1992’ และ ‘วิท’ลัยหลายใจ’ จินตภาพแช่แข็งชนบทไทยในเพลงลูกทุ่ง

    Share

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน

    ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา แม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่าครึ่งปีแล้ว และผลเลือกตั้งจะเป็นที่พอใจของใครหลาย ๆ คนแต่บางพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถนำกลุ่มอำนาจเก่าออกไปทั้งหมดได้ การดำรงอยู่ของกลุ่ม “บ้านใหญ่” ที่มักมีฐานเสียงจากต่างจังหวัด แม้การเลือกตั้งในครั้งปัจจุบันบ้านใหญ่ในหลายที่จะล้มหลายตายจากไปจากการเมือง แต่ก็ไม่หายไปทั้งหมด

    ดังนั้น ผู้คนที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดต้องตกเป็นเป้าโจมตีจากชนชั้นกลางในเมืองหรือ ผู้มีการศึกษาว่าเป็นพวกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไปรับเงินเพียงแค่ 300-500 บาท โดยไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นการมองชนบทในฐานะที่ห่างไกลต่อความเจริญ เป็นเขตแดนที่พ้นออกไปจากเมืองหลวง เป็นชายขอบ และเป็นอื่น กระทั่งเลวร้ายที่สุดคือการขจัดออกไปจากพื้นที่สังคม ไม่มีแม้แต่พื้นที่ชายขอบให้อยู่อาศัย[1]

    ภาพเหล่านี้อยู่ในความคิดของผู้คนไม่มากก็น้อย สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการผลิตซ้ำภาพแบบนี้ได้อย่างดี นั่นคือสื่อที่ผลิตภาพของชนบทอย่างต่อเนื่อง อาทิ วรรณกรรม ละคร เพลง[2] ผู้เขียนเลือกสื่อหยิบยกสื่อที่สามารถจรรโลงผู้คนในสังคมได้ค่อนข้างมากคือเพลง โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบท กล่าวคือ เพลงลูกทุ่งคือสื่อที่ผลิตในเมือง และมิได้เป็นภาพสะท้อนของผู้คนในชนบทโดยตรง แต่เป็นการสร้างภาพแทนชนบทผ่านเงื่อนไขของชีวิตผ่านคนในเมือง (นิธิ , 2557, น 22-24)

    เพลงที่ผู้เขียนหยิบมาใช้เพื่ออธิบายต่อจินตภาพของชนบท คือ เพลงรักเก่าที่บ้านเกิด ของเอกชัย ศรีวิชัย สมศรี 1992 ขับร้องโดย และ 3 วิด’ลัยหลายใจ ของ วิด ไฮเปอร์ เหตุที่เลือกเพลงเหล่านี้เนื่องจากเห็นภาพขั่วตรงข้ามระหว่างเมืองกับชนบทในสังคมได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการนำเสนอภาพของชนบทที่ออกมาคล้ายกันคือภาพของชนบทผู้โง่เขลา ชนบทผู้ใสซื่อ ชนบทที่ถูกรังแกจากเมือง สองเพลงนี้จึงชี้ให้เห็นจินตภาพของชนบทที่ค่อนข้างชัดเจน

    เพลงรักเก่าที่บ้านเกิด นำเสนอภาพของผู้หญิงในต่างจังหวัดที่รับไม่ไหวกับความทุกข์ทรมานในเมือง จึงหนีกลับมาที่บ้านในชนบท ดังเนื้อเพลงที่ว่า ..ได้ข่าวว่าสาวไปบวชเป็นชี สูญเสียความดีพี่น้องเมินหน้า ถูกมารสังคมหลอกขาย รอดตาย กลับมา อยากไปเยี่ยมไปหา…กลัวเอาน้ำตาไปอวดแม่ชี …สุขเถิดแม่ชี อยู่ดีเถิดหนา…พลอยโมทนาหมู่มารอย่ามี…เจอแสงพระธรรมชี้นำเห็นทาง เจอแสงสว่างสิ้นเวรกันที ลาแล้ว แม่ชี ชาตินี้ขอโมทนา”

    หรืออีกเพลงที่นำเสนอภาพของผู้หญิงต่างจังหวัดที่เข้าไปในเมืองจนหลงแสงสีอย่างเพลง สมศรี 1992 ดังเนื้อหาที่ว่า “…กลับนาเถิดศรี หนีไปด้วยกัน แล้วไปสร้างสวรรค์ อยู่บ้านท้องนาน่าม อย่าหลงไฟแดง ส่งสีแสงเผาหน้าเหี่ยวย่น จะพาไปรดน้ำมนต์ ล้างคาวเป็นดาวบ้านนา”

    ส่วนเพลงวิด’ลัยหลายใจ ได้ให้ภาพของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานคร มีเนื้อหาค่อนข้างคล้ายกับสองเพลงด้านบน กล่าวคือ เป็นภาพของผู้หญิงผู้หลงแสงสี โดยท่องหนึ่งร้องว่า มองเห็นเธอโยกกลายกลางไฟหลากสี ใจจะขาดตรงนี้ คนเดิมของพี่ไปไหน”

    ภาพของชนบททั้งสามเพลงนี้นำเสนอภาพชนบท ผ่านตัวแทนอย่างผู้หญิงที่เป็นตัวแบบสำคัญของผู้คนในชนบท ภาพชนบทผู้โง่เขลาทั้งสองเพลงนี้คือการชี้ให้เห็นภาพของผู้หญิงในการดำเนินเรื่องของทั้งสามเพลงที่ถูกเมืองเป็นผู้กระทำ เมืองจึงเป็นสิ่งที่เลวร้าย

    สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจินตภาพของเมืองไทยนี้ดี ถูกสร้างผ่านชีวิตในชนบท ผู้คนมีคุณธรรมและระบบความเชื่อ ตลอดจนจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายคุ้มครองคนในชนบท เรามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญดูแลความป่วยไข้ของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ย

    นอกจากนี้แล้ว เมืองไทยในชนบทยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีธรรมชาติสวยงามภาพความเป็นไทยจึงเป็นชนบทอันดีงามสืบเนื่องมาจากพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี การผลิตสร้างอุดมการณ์ความเป็นไทยในลักษณะนี้เป็นไปเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ความรักความหวงแหนต่อบ้านเกิด[3]

    อย่างไรก็ตาม ภาพเมืองไทยนี้ดีเป็นภาพที่ลดทอนปัจจัยทางเศษฐกิจ สังคม การเมือง หรือลดปัญหาโครงสร้างเหลือเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม แต่ศีลธรรมนั้นใครเป็นผู้กำหนดและกำหนดด้วยวัตถุประสงค์ใดจินตภาพเมืองไทยนี้ดีจึงมักถูกละทิ้ง ลดทอน ซึ่งบางครั้งเป็นปัญหาต่อสังคมไทยอย่างใหญ่หลวงนำมาสู่การแก้ปัญหา และทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน[4]

    มายาภาพของชนบทผู้โง่เขลาหรือชนบทที่โง่จนเจ็บ มักกลับมาเกือบทุกครั้งช่วงการเลือกตั้ง บทเพลงทั้งสองเรื่องนี้ได้เสนอภาพของชนบทผู้โง่เขลา ชนบทผู้ทุกข์ยาก ชนบทผู้ถูกกระทำจากคนเมือง แต่อีกแง่หนึ่งเพลงก็นำเสนอภาพของชนบทที่สวยงาม สงบเย็น

    ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยภาพของชนบทมีลักษณะที่ผันแปรไป เพราะชนบทเป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับเมือง โดยเฉพาะการเข้ามาของถนน สิ่งที่รัฐได้กระทำการเหล่านี้ได้นำไปสู่ภาพของชนบทในลักษณะเมือง และเมืองที่มีความเป็นชนบท เพราะฉะนั้น ชนบทจึงมิใช่พื้นที่ที่เป็นอื่นอีกต่อไป[5]

    ถึงที่สุดแล้ว ในปัจจุบัน สื่อต่าง ๆ ที่ผลิตภาพของชนบท อาทิ ภาพยนต์ ละคร เพลง มีความลักษณะที่หลุดออกจากจินภาพที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้จากจักวาลไทบ้านที่มีน้ำเสียงของชนบท หรือแม้แต่เพลงอีสานหลากหลายบทเพลงก็แทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก และพยายามตอบโต้วาทกรรมหลักที่มักกล่าวว่าชนบทเป็นสิ่งที่ “โง่ จน เจ็บ” แต่ก็ไม่สามารถหลุดออกจากกรอบที่ผู้เขียนพยายามอธิบายมานี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งสามารถเห็นได้ในทุกฤดูกาลเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง


    อ้างอิง

    [1] สามชาย ศรีสันต์, บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย รื้อ-สร้าง-ทบทวน สำนึกและมายาคติต่อความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำของชนบทกับเมือง ตั้งแต่ไพร่ ชาวนา คนเสื้อแดง ถึงชนชั้นกลางใหม่ (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2563) หน้า14-15.

    [2] ทับทิม ทับทิม, “ ลูกทุ่งหรือลูกกรุง?: ความเป็นเมืองในชนบทไทย,” วรสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา , กรกฎาคม-ธันวาคม2554.

    [3] สามชาย ศรีสันต์, บทสำรวจวาทกรรมชนบทและบ้านนอกในความเป็นไทย รื้อ-สร้าง-ทบทวน สำนึกและมายาคติต่อความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำของชนบทกับเมือง ตั้งแต่ไพร่ ชาวนา คนเสื้อแดง ถึงชนชั้นกลางใหม่ (กรุงเทพฯ: สมมติ,2563) หน้า92.

    [4] ชัยพงษ์ สำเนียง, “เมืองไทยนี้ดี: จิตนภาพสังคมและวัฒนธรรมประเทศในฐานะหมู่บ้าน”,ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2021/04/92635, (เข้าถึงเมื่อ 23/12/2566).

    [5] สามชาย ศรีสันต์, “มโนทัศน์การพึ่งตนเองของชนบท: การลดทอนชนบทให้เป็นขั้วตรงข้ามกับเมือง,” มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ , พฤษภาคม-สิงหาคม 2558.

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...