เมษายน 25, 2024

    ถ้านโยบายสาธารณะดีไร้การรวมศูนย์ ลมหายใจจะดีไปด้วย พูดคุยกับหนุ่ย–ชนกนันทน์ นันตะวัน ในวันที่ฝุ่นมาเราอาจจะตายกันหมด

    Share

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

    วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หลายคนเริ่มมีอาการหายใจไม่คล่อง แสบตา ทัศนวิสัยในการมองที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ฝุ่นสีเทาขาวปะปนลอยในอากาศ เมื่อเปิดแอปพลิเคชัน AirVisual เช็คคุณภาพมลพิษทางอากาศก็พบว่าหลายพื้นที่ในภาคเหนือต่างครอง Top 10 พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงที่สุดในประเทศไทยแทบทุกวัน

    ซึ่งประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤตนี้มาอย่างต่อเนื่องหลายปีไร้ซึ่งการแก้ปัญหา หรือหากมีก็ไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการจัดการอย่างตรงจุด เช่น การฉีดน้ำรอบเมือง การแจกหน้ากาก 20,000 ชิ้น และอีกหลายวิธีการที่ล้วนเป็นการผ่อนส่งมากกว่า

    หนุ่ย–ชนกนันทน์ นันตะวัน จาก สม-ดุล เชียงใหม่ หนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง มาพูดคุยให้ความเห็นท่ามกลางฝุ่นที่ยังคงฟุ้งอยู่ในชั้นบรรยากาศ

    สถานการณ์ฝุ่นภาคเหนือที่วิกฤตในปัจจุบันที่มันกระทบกับประชาชน รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีแนวทางจัดการยังไงบ้าง?

    ต้องบอกก่อนว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนในพื้นที่ปัญหานี้มีมากกว่า 10 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น ที่ผ่านก็มีงานวิจัย การระดมการแก้ปัญหามามากแล้ว แนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สถานการณ์ฝุ่นในปัจจุบันสำหรับเราแบ่งเป็น 2 แบบคือ ระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือ มีการจัดแบ่งกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบกับฝุ่นมากที่สุดก่อน เช่น เด็กเล็ก ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหรือหยุดเรียน งดกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นว่ามันก็มีกิจกรรมกลางแจ้งอยู่ตลอด ๆ ซึ่งการ Work from Home หรือเรียนออนไลน์ที่บ้านก็เป็นการช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการใช้รถได้อีกด้วย ซึ่งปัญหาฝุ่นที่ผ่านมามันก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง ในช่วงที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนมีนาคม เราไม่เคยเห็นมาตรการอะไรเลยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้เลย

    ภาพ : Sarakadee สารคดี

    ในส่วนของระยะยาวเราต้องมาคุยกันถึงปัญหาทั้งระบบ ต้องดูว่าแหล่งกำเนิดของฝุ่นมันมาจากที่ไหนบ้าง หลัก ๆ เลยคือไฟป่า พื้นที่เกษตรกรรม และฝุ่นข้ามแดน การทำงานแบบระบบราชการรวมศูนย์ ทั้งตัวงบและวิธีการทำงานไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ งบประมาณที่ไปถึงคนที่ปฏิบัติหน้าที่ก็กลายเป็นเศษเงินแล้ว เราจะเห็นว่าพื้นที่ปัญหามันกว้างมาก แต่สวนทางกับคนทำงานที่น้อยมาก ในส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเกษตรกรรมแบบพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย ข้าวโพด และข้าว ซึ่งหลังจากการเก็บเกี่ยวมันจะต้องใช้ไฟในการเผา ซึ่งตรงกับช่วงที่ฝุ่นควันมากพอดี รัฐทราบถึงปัญหานี้ดีแต่ไร้ก็ยังมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม การกำจัดเศษซากเหล่านี้มันมีค่าใช้จ่ายที่สูง เราคิดว่ารัฐและกลุ่มทุนที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะเข้ามา อุดหนุนและช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากสนับสนุนให้เขาปลูกแล้ว เราคิดว่าควรช่วยเกษตรกรทั้งกระบวนการคือ ก่อนปลูก ระหว่างปลูก และหลังจากการปลูก อาจจะเป็นแบบความรับผิดร่วมระหว่างรัฐและกลุ่มทุนที่ได้ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมนี้อย่างมหาศาล ไม่อยากให้เป็นเหมือนทุกวันนี้ที่บ่นว่าแต่เกษตรกร แต่เรากลับไม่ด่าหรือว่าถึงกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ต่อเรื่องนี้เลย

    แล้วการแก้ไขปัญหาของผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ในการแจกหน้ากากอนามัย 20,000 ชิ้นในวันนี้ มีความคิดเห็นยังไงบ้าง? ช่วยได้จริงไหม?

    จริง ๆ คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่ปลายเหตุอยู่ เราเห็นการแจกหน้ากากอนามัยของรัฐมา 1-2 ปี แล้ว ซึ่งปัจจุบันมันก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม กลับมาที่การแจกหน้ากากอนามัย 20,000 ชิ้น หากเทียบกับประชากรชาวเชียงใหม่มันถือว่าน้อยมาก ซึ่งหน้ากากอนามัยต่อชิ้นสามารถก็ใช้ได้แค่ 1-2 ครั้ง หน่ำซ้ำฝุ่นควันไม่ได้อยู่กับพวกเราแค่ 1-2 วัน เราจะอยู่กับปัญหานี้มากกว่า 2 เดือนแล้ว แน่นอนว่ามันต้องใช้มากกว่า 20,000 ชิ้น ซึ่งมันก็ดีนะการแจกอะ แต่มันไม่พอ ซึ่งถ้าหากอยากเห็นการแก้ปัญหาจริง เราคิดว่า ผู้ว่าฯและหน่วยงานควรจะลงพื้นที่ไปดูกลุ่มเปราะบาง เราคิดว่าทุกคนสำคัญนะ แต่กลุ่มเปราะบางทีมันอาจจะเร่งด่วนกว่า ไปหาเขาช่วยเหลือเขา

    ภาพ : PR Chiangmai

    ประเด็นต่อมา การแจกหน้ากากเนี่ยประชาชนต้องขับรถไปเอาเองใช่ไหม แสดงว่าทุกคนก็ต้องขับรถเพื่อสร้างมลภาวะเพิ่มขึ้นเพื่อไปเอาหน้ากาก จะดีกว่าไหมถ้าคนที่แจกเดินสายแจกเลย ดีกว่าให้คนอีก 20,000 ชีวิต เข้าไปเอาหน้ากากเอง

    คิดเห็นยังไงกับเรื่องที่ผู้ว่าฯเชียงใหม่ยังไม่ประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ เนื่องจากกลัวกระทบกับการท่องเที่ยว

    อารมณ์เสีย มันเสียใจนะคำเหล่านี้มันออกมาจากภาครัฐ มันสะท้อนได้หลายอย่าง เบื้องต้นเราไม่เห็นด้วยกับการจัดการนี้ เราคิดชีวิตของประชาชนต้องมาก่อน มูลค่าการท่องเที่ยวถ้ามาเทียบกับสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญอยู่ มันสะท้อนความคิดของผู้นำระดับภูมิภาคที่แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่เลย คือนักท่องเที่ยวเขารู้ว่าปัจจุบันเชียงใหม่ไม่ได้น่าเที่ยวขนาดนั้นเนื่องจากเป็นฤดูแล้ง (Low Season) ถ้าบอกว่ามันจะกระทบการท่องเที่ยวมันอ้างไม่ขึ้นเลย ถ้ามองระยะยาวถึงการท่องเที่ยวจะดีแค่ไหนแต่สุขภาพประชาชนแย่มันก็ไม่ยั่งยืนเลย ถ้าผู้ว่าฯ เห็นว่าการท่องเที่ยวในปัจจุบันมันบูมมาก

    ลองคิดดูแล้วกันว่าถ้านักท่องเที่ยวมาเที่ยวและเจอสภาพอากาศที่ย่ำแย่แบบนี้ และเขากลับไปรีวิว มันจะกลายเป็นรีวิวที่แย่แน่นอน ฟังยังไงก็ฟังไม่ขึ้นว่ามันจะกระทบกับการท่องเที่ยว

    ข้อเสนอสำหรับการจัดการปัญหาฝุ่นในภาคเหนือ?

    ข้อแรกเราคิดว่าควรจะประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ ซึ่งก็มี พ.ร.บ. และกฎหมาย ที่ดูเรื่องนี้อยู่ เพื่อให้ พ.ร.บ. หรือกฎหมายนั้นได้ออกมาตรการในการดูแลและเยียวยาประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรวมไปถึงให้ประชาชนมีสิทธิหยุดงานสำหรับคนที่เขาทำงานกลางแจ้งที่มีความเสี่ยงในการรับฝุ่นควันสูง และมาตรการในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นฟรีหรืออาจจะถูกลงมาก ๆ 

    ข้อที่สองเป็นเรื่องที่เราคุยกันมา 4-5 ปี แล้ว คือการเรียกร้องให้มีกฎหมายขึ้นมาสักหนึ่งฉบับเพื่อบังคับใช้ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันจะช่วยการันตีว่ารัฐมีความจริงใจมากพอในการแก้ไขปัญหาฝุ่น ซึ่งปัจจุบันเรายังบ่ายเบี่ยงอย่างรัฐบาลที่มีอำนาจในการผลักดันกฎหมายแต่ก็ไม่ได้ทำ ซึ่งเราก็รณรงค์เรื่องนี้มาอยู่ตลอดก็คือ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ของ Thailand Can 2-3 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ตัวนี้ก็ยังถูกแช่อยู่ในรัฐสภาอยู่ มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้จริงจังเลยต่อการจะแก้ปัญหานี้

    ภาพ : iLaw

    ส่วนข้อที่สามก็คือการกระจายอำนาจและงบประมาณในการบริหารจัดการพื้นที่ที่เสี่ยงไฟป่า ปัจจุบันอำนาจตัวนี้มันยังเป็นอำนาจของรัฐรวมศูนย์อยู่ หากเกิดปัญหาต้องรอประกาศจากทางส่วนกลาง  เราอยากเห็นการมีส่วนร่วมภาพของท้องถิ่นและชุมชน แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่ารัฐเป็นคนสั่งชาวบ้านก็ต้องทำตาม ประกอบกับงบประมาณที่น้อยทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ

    ต่อมาข้อที่สี่คือเรื่องขนส่งสาธารณะ ฝุ่นควันจากรถเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นควันในปัจจุบัน ซึ่งเราไม่เคยเห็นรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะผลักดันให้มันเกิดขนส่งสาธารณะขึ้น เราอยากให้มีการออกแบบของหน่วยงานและประชาชนในการหาขนส่งสาธารณะที่ช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและลดฝุ่นควัน 

    สุดท้ายก็เป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะสุข เราคิดว่าในระยะยาวภาคเหนือจะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดหรือโรคทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้น เราก็อยากให้การรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพสำหรับประชาชนทุกคน ซึ่งจะเห็นว่าถ้าเกิดเราเจ็บป่วยขึ้นมามันกระทบไปหมดตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงเศรษฐกิจ 

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...