พฤษภาคม 18, 2024

    เทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 Eat Healthy, Breathe Happily

    Share

    30 พฤศจิกายน 2565



    25-27 พฤศจิกายน 2565 ณ สวนป่าในเมือง แม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม สม-ดุล เชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ กรีนพีซ ประเทศไทย และเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้ร่วมจัดงานเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 (Eat Healthy, Breathe Happily) งานนี้จัดเพื่อการแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ในเรื่องพฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของคนในสังคม โดยการสร้างข้อเรียกร้องไปยังภาครัฐให้ทราบถึงผลกระทบและรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น



    โดยในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09:00-10:00 น. มีการพูดคุยวงเสวนา “ฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร” โดย ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ , ปริศนา พรหมมา หัวหน้าแผนงานเสริมความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ และรัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย

    ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ อธิบายถึงการมองปัญหาแบบองค์รวมไม่ชี้ไปที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่าเป็นผู้ก่อมลพิษไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ เพราะต้นเหตุคือการบริโภคของคนในสังคม อุตสาหกรรมอาหาร และนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวของรัฐบาลที่บีบบังคับให้เกษตรกรต้องใช้วิธีการเผาซ้ำ ๆ คือวิฤตที่สำคัญที่ทุกคนต่างต้องช่วยกันแก้ไขและเร่งสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ผู้ที่เป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ



    รายงาน “เติบโตบนความสูญเสีย : ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย” ที่ออกเผยแพร่โดยกรีนพีช ประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นแบบแผนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในรายงานพบว่าระหว่างปี 2545-2565 พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือตอนบนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า และมีอัตราคงที่หลังจากปี 2550 แต่พบว่ามีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัฐฉาน เมียนมา และภาคเหนือของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมายาวนานเรื้อรัง แต่ยังไร้ภาระรับผิดจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในภูมิภาค



    ปริศนา พรหมมา หัวหน้าแผนงานเสริมความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวต่อว่าพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวนั้นเมื่อปลูกซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ผลผลิตจะค่อย ๆ ลดลง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น นี่เป็นวงจรที่เข้าแล้วออกยากที่สุด เนื่องจากหนี้สินเกษตรกรที่กำหนดให้เกษตรกรต้องอยู่ในวงจรนี้ ประกอบกับปัจจัยทางสภาพภูมิศาสตร์ และนโยบายของรัฐที่เอื้อกับทุนอีกด้วย

    รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย อธิบายว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ตามนโยบายของรัฐต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งมลพิษทางอากาศที่ส่งผลข้ามพรมแดน ความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ภาครัฐเองก็ต้องสร้างกลไกทางกฎหมายและดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

    เจตนารมณ์ของเสวนาฝุ่นเขา ฝุ่นเรา ฝุ่นใคร ก็คือ “ราวสองทศวรรษที่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนต้องรับความเสี่ยงทางสุขภาพจากปัญหามลพิษทางอากาศ แต่กลับไร้การแก้ปัญหาอย่างจริงจังจากรัฐบาล อุตสาหกรรมผู้ได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องและเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ควรมีภาระรับผิด และถึงเวลาที่รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงเจตนารมณ์และดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการกำหนดมาตรการและนโยบายเพื่อเอาผิดภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อต่อกรกับความเร่งด่วนของวิกฤตสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือตอนบนของไทย”



    ภายในงานยังมีการจัดแสดง Installation Art ในชื่อ “กระสอบพันธสัญญา” โดยกลุ่มศิลปิน Haze Boundary Lap ด้านกลุ่มศิลปินได้กล่าวว่า การที่เห็นวัสดุที่เกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญาและได้นำกระสอบมาเป็นองค์ประกอบในการสื่อสาร กระสอบในฐานะที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ที่ได้มีการถูกเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปเรื่อย ๆ เกษตรกรยังต้องซื้อปุ๋ยจากทุนใหญ่และหลังจากการเก็บเกี่ยวก็ยังเหลือซังข้าวโพดที่รอการเผา พอเก็บเกี่ยวแล้วยังต้องนำเมล็ดกลับคืนไปยังทุนใหญ่จากเงื่อนไขการรับประกันราคาสินค้า จากนั้นทุนใหญ่จึงได้นำเมล็ดเหล่านี้ไปจำหน่ายต่อให้เกษตรกรอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และรับเนื้อสัตว์มาจำหน่ายต่อในรูปแบบอาหารแปรรูป กระสอบจึงถือเป็นลักษณะของโครงสร้างของทุนที่ซ้อนทับเป็นชั้นบนสังคมไปเรื่อย ๆ จุดนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการกินรวบของกลุ่มทุนไม่กี่เจ้า ข้อมูลบนกระสอบที่ถูกทำให้มีหลากหลายแบบก็ยังทำให้เห็นว่าผู้บริโภคนั้นมีเสรีภาพในการเลือกซื้ออาหารในการบริโภคแต่ในความเป็นจริงนั้นคุณภาพของอาหารที่ถูกนำมาจำหน่ายโดยทุนใหญ่นั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก เป็นเพียงการตลาดที่ทำให้เราคิดว่าเราสามารถเลือกคุณภาพของอาหารที่เราบริโภคได้

    ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่ม สม-ดุล เชียงใหม่ กล่าวกับทาง Lanner ว่า เทศกาลเพื่อลมหายใจครั้งที่ 2 ถูกจัดขึ้นเพื่อพูดถึงเรื่องง่าย ๆ ตามธีม Eat Healthy, Breathe Happily เป็นเหมือนกับการค้นหาว่าสิ่งที่เรากินนั้น เราต้องกินทุกอย่างที่เรารู้แหล่งที่มา แต่ในปัจจุบันเราบริโภคโดยไม่ทราบถึงแหล่งที่มาว่าอาหารที่เราทานมันอาจเกิดจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาฝุ่นควัน งานนี้เลยมีจุดประสงค์ในการรณรงค์ว่า สิ่งที่เราทานนั้นสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เราเลยอยากชวนผู้เข้าร่วมให้ตระหนักถึงการกินและบริโภคว่าต้องรู้ที่มาของแหล่งอาหารทุกจานที่รับประทาน และเป็นการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่มาเปิดบูทจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้ที่มาร่วมว่ายังมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ ในปัจจุบันตลาดเหล่านี้พบเห็นได้น้อยมากและหลายคนเลือกที่จะซื้อจาก Super Store หรือตลาดทั่วไปที่มาจากกระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง



    ทั้งนี้ ชนกนันทน์ อธิบายต่อว่า ปัญหาคือในเรื่องของการใช้พื้นที่สาธารณะนั้นสาธารณะจริงหรือไม่ เพราะพื้นที่สาธารณะรัฐเป็นผู้ครอบครองและดูแลอยู่การจะเข้าไปดำเนินกิจกรรมมันเป็นเรื่องที่ยาก เหตุผลที่เลือกพื้นที่อุทยานเพราะอยากที่จะสร้างการรับรู้ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะได้ จากประเด็นที่ขับเคลื่อนอยู่นี้เกี่ยวพันถึงนโยบายรัฐและยุทธศาสตร์ของกลุ่มทุนใหญ่ เราจึงทำให้เป็นประเด็นที่รัฐยอมรับได้จนเกิดเป็น เทศกาลสภาลมหายใจเชียงใหม่ครั้งที่ 2 แต่เนื้อหาในงานเป็นการวิพากษ์นโยบายของอุทยานและกรมทรัพยากรว่ายังไม่ดีพอ ทำให้เป็นปัญหาต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและฝุ่นควัน เพราะบางพื้นที่ที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่รัฐกลับเลือกที่จะเพิกเฉยปัญหาเหล่านี้ในขณะที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจและกลุ่มทุนได้รับผลประโยชน์ตรงนี้ โดยประเด็นนี้เป็นการจิกกัดในการนำพื้นที่ของรัฐมาใช้วิจารณ์หรือตั้งข้อสงสัยในการทำงานทำงานของรัฐว่าในบางพื้นที่กลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่านี้ แต่กลับไปเข้มงวดกับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่มีวิถีชีวิตดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ วิถีดั่งเดิมไม่ถูกยอมรับในระดับนโยบาย แต่วิถีอะไรก็ตามที่ทุนให้การสนับสนุนและกระแสบริโภคนิยมรัฐกลับที่จะสนับสนุน ภายในงานยังมี วงเสวนาปัญหาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร บูทให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม workshop งานฝีมือจากวัสดุธรรมชาติ บูทจัดจำหน่ายสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ และการแสดงดนตรีในสวน สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอื่น ๆ ได้ทางเพจ สม-ดุล เชียงใหม่ และ Greenpeace Thailand


    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...