เรื่องและภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว
หลายคนรู้จัก อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอที่มีหัตถกรรมที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างบ่อสร้าง แต่ใครจะรู้ว่าในตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง นั้นเป็นพื้นที่ที่มี ‘จิ้งหรีด’ แมลงสร้างรายได้ สร้างอาชีพ รวมไปถึงการสร้างกลุ่มในการพัฒนาผลผลิตให้เติบโตในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน โดยมี พล-สิริพล เพ็งโฉม ผู้ก่อตั้ง มีรักฟาร์ม (MeRuk) เป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาและต่อยอดต้นทุนที่มีอยู่ของชุมชนที่ปัจจุบันมีสมาชิกวิสาหกิจที่ยังคงเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่กว่า 53 ชีวิต
“ทุกวันนี้คนรู้จักมีรักฟาร์มในฐานะฟาร์มเกษตร ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด และคนทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผมคอยบอกตลอดว่าไม่ได้ทำแค่อินทรีย์หรือจิ้งหรีดครับ เราแค่ผลิตอาหารที่เราและคนในชุมชนสามารถกินได้ อร่อย แล้วก็เอาไปขายแค่นั้นเอง”
จากคนหนุ่มที่เกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กในกรุงเทพมหานคร จับพลัดจับผลูได้มาเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาโท อดีตพนักงานในเมืองหลวงและจังหวัดลำพูน ก่อนออกมาเริ่มต้นชีวิตใหม่เพราะความหลงใหลในธรรมชาติและรักสัตว์ ด้วยที่ดินของครอบครัวในอำเภอสันกำแพงหลังจากที่ครอบครัวอพยพจากกรุงเทพฯ มาปักหลักที่สันกำแพง และเริ่มต้นเส้นทางเกษตรกรในปี 2559 ด้วยการเข้าไปเรียนรู้ในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่
มีรักฟาร์ม-วิสาหกิจ พื้นที่ ‘เรียนรู้-เข้าใจ-รวมกลุ่ม-ชุมชน’
“เรากลับมาอยู่บ้านตอนปี 2559 ตอนนั้นเรากลับมาอยู่บ้านสันกำแพง เราเริ่มเข้าชุมชน เข้าไปเรียนรู้ชุมชน เข้าไปรับฟังชุมชน จนเข้าใจชุมชนในหลากหลายมิติ”
หลังจากพลเข้าไปเรียนรู้ชุมชนในตำบลห้วยทรายจึงพบว่าพื้นที่นี้มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีพืชที่เป็นรายได้หลัก คือ ลำไย ข้าวหอมมะลิ และพืชผักอื่น ๆ อีกประปราย นอกจากนี้ในชุมชนยังมีการทำหัตถกรรม อย่างหัตถกรรมจากไม้มะม่วง รวมไปถึงการรับจ้างเย็บปักผ้า และหลังจากพลเข้าไปคลุกคลีกับสมาชิกในชุมชนหลายเดือน จึงได้มีการรวมกลุ่มกันก่อตั้งเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด’ มีสมาชิกเริ่มต้น 10 ชีวิต ช่วงเริ่มต้นของวิสาหกิจนั้นเริ่มด้วยข้าวอินทรีย์ เนื่องจากในอดีต พื้นที่ตำบลห้วยเป็นนาข้าวเป็นข้าวหอมมะลิ แต่ด้วยตลาดข้าวอินทรีย์นั้นมีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก พลจึงเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จึงมาเจอกับ ‘จิ้งหรีด’ ผ่านการสืบค้นในอินเทอร์เน็ตในปี 2560
“ประมาณปี 2560 เราได้ไอเดียในการขายจิ้งหรีดจากการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเทรนด์ในสมัยนั้น ตอนนั้นเรารู้สึกว่าราคามันขายได้ แถมระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นบวกกับต้นทุนในการเลี้ยงถูก เราเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ ด้วยความอยากเลี้ยงอย่างเดียว”
ในช่วงเริ่มต้นของการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น ไข่ของจิ้งหรีดราคาถ้วยละ 300 บาท ส่วนราคาขายเป็นตัวนั้น กิโลกรัมละ 350 บาท บวกกับระยะเวลาเลี้ยงที่สั้นเพียง 2 เดือน และราคาของอาหารที่ใช้แค่อาหารไก่ซึ่งมีต้นทุนต่ำ ตนจึงสนใจในการเลี้ยงจิ้งหรีด และเริ่มชักชวนสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจและในชุมชนประมาณ 20 คนเข้ามาอบรมและเริ่มต้นในการเลี้ยงจิ้งหรีด เริ่มต้นเป็นการทำชุดกล่องเลี้ยงแบบพลาสติกให้สมาชิกในการเลี้ยงจิ้งหรีด แต่ก็ยังติดเงื่อนไขเรื่องเงินทุนในการต่อยอด
จนกระทั้งปี 2561 วิสาหกิจได้รับทุนจากโครงการของ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เป็นทุนที่มีค่าฝึกอาชีพ และสามารถซื้อครุภัณฑ์ได้ เป็นโครงการกึ่งวิจัยกึ่งพัฒนา พลจึงเริ่มต้นในการเข้าไปทำงานและชักชวนสมาชิกในชุมชนเกือบทุกชุมชนในตำบลห้วยทราย มีการนำบ่อเลี้ยงจิ้งหรีดไปมอบให้กับสมาชิก จนได้สมาชิกวิสาหกิจเพิ่มขึ้นกว่า 170 คน เริ่มเป็นที่รู้จักและมีช่องทางทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นหลังจบโครงการในปี 2563
“อาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตรไม่ใช่การลงไปทำแปลงเกษตรอย่างเดียว ขนส่งก็ใช่ แปรรูป เอาไปขาย ส่งออก คนกลาง ทำมาร์เก็ตติ้งก็ใช่ อยู่ที่ว่าคุณจะทำอะไร”
พลเสริมว่า ‘มีรักฟาร์ม’ เป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจของชุมชน เป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานภายนอกที่ต้องการเข้ามาหาชุมชน ผ่านการสอบถามความเห็นของชาวบ้านว่าต้องการหรือไม่ต้องการอะไร มีรักฟาร์มยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการพัฒนา ต่อยอด และทดลองจิ้งหรีดในพื้นที่ของมีรักฟาร์ม รวมไปถึงการกำหนดคุณภาพของจิ้งหรีด เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่เซนซิทีฟกับสารเคมี มีรักฟาร์มก็จะควบคุมวิธีกระบวนการผลิตผ่านการให้ความรู้กับสมาชิก นอกจากนี้มีรักฟาร์มยังเป็นพื้นที่ในการทำการตลาด ทั้งการรวบรวมสินค้า การสต๊อกสินค้าก่อนส่งขาย และการหาตลาด
“เราเป็นคนกลางที่มีจริยธรรม มีธรรมาภิบาล เพราะเราโตมากับชุมชน เราโตมาพร้อมกัน”
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด ทำการตลาดแบบการขายส่งจิ้งหรีดเป็นหลัก พลเล่าว่าจิ้งหรีดส่วนใหญ่ที่รับมาจากชุมชนจะนำมาสต๊อกสินค้าโดยการใส่ถุงซิปล็อคและแช่แข็งในตู้แช่ โดยมีเกณฑ์ในการตัดเกรดขนาดของจิ้งหรีดด้วยการใช้น้ำหนักกับจำนวนตัวในการวัด และสามารถแบ่งขนาดตัวของจิ้งหรีดได้เพื่อแยกไซส์ ขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก
โดยในปี 2567 วิสาหกิจได้มีการร่วมหุ้นและจัดตั้งเป็นบริษัท ‘ชุมชนเกษตรนวัตลานนาไทย จำกัด’ และมีการขอจดแจ้ง เลขทะเบียน อย. ในการเตรียมรีแพคเกจจิ้งเพื่อขายปลีกในรูปแบบสินค้าแปรรูปผ่านห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
“วิสาหกิจไม่ใช่ของผม วิสาหกิจคือของทุกคน”
ก้าวต่อไปของวิสาหกิจ เก้าอี้สามขาจุดนั่งพักเสริมพลังชุมชน
“เก้าอี้สามขา” คือก้าวต่อไปของมีรักฟาร์มที่ต้องการให้พื้นที่ของมีรักฟาร์มเป็นพื้นที่ในการซัพพอร์ตชุมชนทั้งตำบลห้วยทรายใน 3 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
ในการซัพพอร์ต ด้านอาชีพ ที่เป็นขาแรกของชุมชน มีรักฟาร์มได้เริ่มต้นทำไปแล้ว อย่างการส่งเสริมด้านการขายจิ้งหรีดที่จะพัฒนาต่อยอดให้สินค้ามีคุณภาพและหลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีรักฟาร์มยังต้องการที่จะส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว มีการทำแผนที่ชุมชน และการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการทำงานกับชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่ตำบลห้วยทรายให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยววิถีชุมชนรวมไปถึงท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
ส่วนขาที่สอง ด้านสุขภาพ ปีนี้มีรักฟาร์มได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านโครงการของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ในการผลักดันเรื่องสุขภาพในชุมชน ด้านการลดปัจจัยเสี่ยงด้านเหล้าและบุหรี่ มีการลงพื้นที่และได้ข้อมูลจาก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อค้นหาว่าในชุมชนนั้นมีปัญหาด้านไหน รวมไปถึงจุดเสี่ยงอยู่ตรงไหนในชุมชนบ้าง มีรักฟาร์มจึงเป็นพื้นที่ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้มีรักฟาร์มยังแบ่งโซนภายในฟาร์มไว้สำหรับเป็นแปรงสมุนไพรและแพทย์แผนไทย
“มีที่ไหนที่จะดูแลเขาได้บ้าง มีรักฟาร์มอยากเข้าไปเติมตรงนั้น มีรักฟาร์มอยากเป็นพื้นที่ปลอดภัยตรงนั้น อยากเป็นโซนพักผ่อนและออกกำลังกาย”
และขาสุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่สันกำแพงต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทุกปี จึงอยากส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านในตำบลห้วยทรายมีห้องปลอดฝุ่น และเนื่องจากพื้นที่ตำบลห้วยทรายนั้นมีผู้สูงอายุและเด็กเยอะ การทำระบบขนส่งสาธารณะก็จะเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุในชุมชน รวมไปถึงการจัดการขยะที่เทศบาลเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะเป็นจำนวนมาก จึงอยากส่งเสริมเรื่องการคัดแยกขยะ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมที่มีรักฟาร์มอยากให้เกิดขึ้นคือสิ่งแวดล้อมแห่งความหลากหลาย เนื่องจากตำบลห้วยทรายมีคนต่างพื้นที่เข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในหลาย ๆ ครั้งเกิดการแบ่งแยกระหว่างชุมชน ตนจึงอยากให้เกิดพื้นที่ในการเข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงด้านสุขภาพที่คนในตำบลชุมชนห้วยทรายเห็นเป็นภาพฝันเดียวกัน
หากเก้าอี้สามขานี้สำเร็จ ในอนาคตก็อาจจะมีการตั้งกองทุนขึ้น และมองการหารายได้ให้กับกองทุน เพื่อที่จะเห็นเป็นภาพรวมของทั้งตำบลในการให้หน่วยงานภายเข้ามาสนับสนุน
“หมุดหมายเราคือเก้าอี้สามขา กองทุนที่เราจะตั้งขึ้นมาจะเป็นตัวเชื่อมโยงกับหมุดหมายดังกล่าว มีรักฟาร์มอาจจะเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยให้เก้าอี้สามขานี้แข็งแรง เพื่อให้คนในชุมชนได้มานั่งพักร่วมตรงนี้”
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ