14 พฤษภาคม 2566 ในวันที่ใครหลายคนต่างตบเท้าเข้าคูหาเพื่อกาอนาคต ภายหลังจากแทรกแซงทางการเมืองโดยกลุ่มอำนาจเหนือที่กินเวลาร่วม 9 ปี นี่คือโอกาสสำคัญที่ ‘สื่อ’ จะต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศให้ก่อนที่จะถึงวันจับปากกาเลือกตั้ง และต้องพูดถึงในความถี่ที่ว่า ถ้าพูดได้ทุกวันก็ต้องทำ ย้ำว่าต้องทำ! โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคนมาบอก แต่มันเป็นไปโดยสัญชาตญาณ แน่นอน เราเห็นสื่อทุกสื่อต่างเข็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Lanner ก็ไม่ต่างกัน เราพยายามผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของการเลือกตั้งเหมือนกัน แต่จนแล้วจนรอด มันไม่ประสบผลตามที่คาดหวังไว้เท่าไหร่ แถมยังดูเหมือนกับการเดินตาม ‘สื่อกระแสหลัก’ โดยไม่หันกับมามองต้นทุนที่มีไม่มาก แต่ดันทุรังขูดเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น
ก่อนจะตกผลึกตัวเองได้ว่า ท่ามกลางการสื่อสารในวาระนี้ เราไม่ใช่หนึ่งในจำนวนนับ การกระโดดเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่พูดเรื่องเดียวกันเท่ากับการกัดกินตัวเองโดยที่ไม่มีแม้แต่พื้นที่ให้จดจำ เรากำลังหลงทาง ลืมตัวตน หลงลืมคุณค่าในแบบที่เราเชื่อ เชื่อว่าจะมีสถานะเป็นสื่อท้องถิ่น สื่อภาคเหนือที่มุ่งจะเป็นปากเสียงในพื้นที่ ซึ่งเวลาที่สูญเสียไปกว่า 5 เดือนก็เป็นเวลามากพอที่ทำให้เราเสียโอกาสและลดทอนตัวตนไปอย่างน่าใจหาย เราตัดสินกันไปเลยว่าที่ผ่านมามันคือการทำงานแบบไล่ตามยักษ์ ไล่ตามสื่อกระแสหลัก ไล่ตามกรุงเทพฯ
ก่อนที่จะล้อมวงก้มหน้ามองเงา สดับฟังเสียงสะท้อนจากผู้คนมากมาย ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาจนเสร็จสิ้น ก็ถึงคราว ‘ล้างเนื้อหา’ ที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วแทนที่ด้วยสิ่งที่เราอยากสื่อสารนั่นคือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน 17 จังหวัดภาคเหนือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่นและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อคนในพื้นที่ รวมไปถึงเรื่องประวัติศาสตร์ในดินแดนล้านนาและพื้นที่เหนือตอนล่าง ศิลปวัฒนธรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมในภาคเหนือ โดยมุ่งสู่วาระของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นสำคัญ
ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในขณะที่เริ่มต้นเราก็คิดต่อไปกับมันว่าจะรอดไหม เราจริงจังกับการพัฒนาเนื้อหามากขึ้น ใช้เวลาอยู่กับมันอย่างจดจ่อ ที่สำคัญคือด้วยขนาดทีมที่เล็ก เราไม่สามารถเข็นประเด็นในหลายพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม ทางออกของเรื่องนี้คือการชักชวนเหล่าคอลัมนิสต์ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ มาร่วมเปิดประเด็นไปร่วมกันกับเรา เพราะเราเชื่อว่าถ้าเรื่องไหนไม่รู้จริง ก็ให้คนในพื้นที่ทำ
จากการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่าผลที่เกิดขึ้นได้นำพาเราไปในทิศทางที่ควรจะเป็นแล้วหรือยัง? เรื่องแบบนี้ต้องติดตามเป็นระยะ ๆ ไป แต่ในความเบาหวิว สิ่งที่โล่งขึ้นกว่าเดิมคือการที่ไม่ต้องไล่ตามใครให้เหนื่อย นอกจากตามกันเองนี่แหละ ทั้งนี้ปี 2566 เองก็ชักชวนให้เราได้ทดลองทำในอีกหลายสิ่งที่มากกว่าแค่การทำข่าว Lanner ทั้ง Workshop หรือการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่าการสื่อสารไม่จำเป็นต้องเป็นการนำเสนอเพียงไม่กี่รูปแบบ ไม่ตายตัว มีเสรีภาพ
1 ปี กับอีก 7 เดือน ยังคงมีเรื่องให้ได้ฝึกฝนพัฒนาอีกมาก ความเยาว์ของเด็กที่กำลังหัดเดิน เปิดผัสสะ ลองผิดลองถูก ในวันที่หลงทางซ้ำแล้วซ้ำเล่าอาจจะเดินกลับทางเดิมแล้วเริ่มใหม่ได้อีกหลายครั้ง
โจทย์ใหญ่ของปีหน้านี้ 2567 ‘2024’ น่าจะเป็นการประคับประคองคุณค่าและเนื้อหาในแบบที่พวกเรากำลังสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการจับตานโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน(ที่มาจากการเลือกด้วยระบอบรัฐสภา) ว่าจะนำพาชะตากรรมของคนเหนือ(และประเทศไทย)ไปในทิศทางไหน
ขอขอบคุณผู้ติดตามทุกคนที่ติดตาม สนับสนุนให้ Lanner ยังคงมีชีวิต ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกคนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเดินต่อไปได้ และขอขอบคุณทีมงาน คอลัมนิสต์ Partner และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Lanner ทุกคนเช่นกัน
ปีหน้ารุ่งอรุณฟ้าใหม่ เราอาจกำลังคลำทาง และสร้างจำนวนนับในแบบของเรา
วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการ Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...