พฤษภาคม 19, 2024

    รถแห่: วัฒนธรรม(ประชาชน)บันเทิงของคนชั้นกลางใหม่​

    Share

    8 กันยายน 2565

    30 สิงหาคม 2565 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “รถแห่: วัฒนธรรม(ประชาชน)บันเทิงของคนชั้นกลางใหม่” โดยมีคุณจารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร​

    คุณจารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ กล่าวถึง “รถแห่อีสาน” ในฐานนะที่เป็น สหรสพสัญจร ข้ามพรมแดนวัฒนธรรมที่มีความเป็น “อีสานใหม่” ​

    “รถแห่ : วัฒนธรรม(ประชาชน)บันเทิงของคนชั้นกลางใหม่”​

    คุณจารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ กล่าวถึงวัฒนธรรมรถแห่ ที่ถ้ามองด้วยมุมมองของชนชั้นกลางใหม่ ก็จะเห็นได้ว่า “รถแห่” สามารถเติบโต และพัฒนาฐานทุนทรัพย์ของตัวเองได้ โดยมีทั้งทุนทางเศษรฐกิจ และทุนทางสังคม จนกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ๆของสังคมได้ภายในเวลาช่วง 5 ถึง 10 ปี นอกจากนี้ รถแห่ยังเติบโตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมอีสาน หรือแม้ได้ประวัติศาสตร์สังคมของประเทศในช่วงปัจจุบันจากการแพร่กระจายของตัววัฒนธรรมออกไปในหลายทิศทางและพื้นที่ กลายเป็นบันทึกความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน และวัฒนธรรมดนตรีในช่วงเวลาหนึ่งไป และในแง่มุมของประวัติศาสตร์สังคม ก็ทำให้เห็นบทบาทของผู้คนที่ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมด้วยเช่นกัน ​

    “อีสาน กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์”​

    จากประวัติศาสตร์กว่าร้อยปีในพื้นที่ภาคอีสาน จารุวรรณ กล่าวว่านั่นทำให้เห็นว่าดินแดนอีสานนั้นมีผู้คนเคลื่อนย้าย และรับส่งวัฒนธรรมไปมาอยู่ตลอด ซึ่ง “ความเป็นอีสาน” ที่ถูกจำกัดความโดย จารุวรรณ ว่าเป็นวัฒนธรรมลาวที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสำนึกร่วมในความเป็นลาว แต่อาศัยอยู่ในไทย ก็เป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากทั้งของลาวและไทย ถูกสร้าง และส่งต่อมาด้วยเช่นกัน​

    “ดนตรีรถแห่ : ท่วงทำนองที่สะท้อนความเป็นอยู่ของผู้คน”​

    จารุวรรณ กล่าวต่อถึงวัฒนธรรมทางดนตรีของอีสาน ที่มักจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์และการใช้ชีวิตของคนอีสาน ที่ถึงแม้อีสานจะเป็นดินแดนที่มีความหลากหลาย และผู้คนก็ทั้งรับวัฒนธรรมจากภายนอกและส่งออกไป แต่ก็ยังเลือกฟังแนวดนตรีที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของตน อย่างเช่นแคน ที่เป็นเครื่องดนตรีที่มีความเชื่อมโยงกับชีวิตของคนอีสาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านความบันเทิง พิธีกรรมทางจิตวิญญาณ หรือแม้แต่วัสดุที่ใช้ทำแคนก็สามารถหาได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ จารุวรรณ ยังกล่าวถึงความเชื่อมโยงของแคนและแรงงานพลัดถิ่น ที่ถูกพูดถึงโดย ไพบูลย์ แพงเงิน ในฐานะที่เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้แรงงานพลัดถิ่นรู้สึกเสมือนได้กลับบ้านเกิดเมื่อได้ยินเสียงของแคน​

    “ดนตรีรถแห่ กับการสร้างตัวตนในยุคสมัยใหม่”​

    ต่อมาจารุวรรณ กล่าวถึงพัฒนาการของรถแห่ เพื่อการหาอัตลักษณ์ของตัวเองในยุคสมัยใหม่ โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านต่างๆที่ช่วยส่งเสริมให้ดนตรีของรถแห่เด่นชัดขึ้นมาได้ในสังคมนอกพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้จากความโด่งดังผ่านคำถามที่ทุกคนก็น่าจะเคยได้ยินและนึกขึ้นเองว่าบทเพลงที่เราได้ฟังอยู่ “ในเวอร์ชั่นรถแห่” มันเป็นยังไง นอกจากนี้ในช่วงปี 2550 ผู้ประกอบการรถแห่ก็เริ่มที่จะใช้ประโยชน์จากดนตรีสมัยใหม่ ผนวกเข้ากับทั้งดนตรีแห่กองยาว และหมอลำซิ่งสำเร็จรูป ที่ทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชม และเป็นที่ยอมรับทั้งจากคนใน และนอกอีสาน ​

    “คอนเสิร์ตรถแห่” ความบันเทิงจากอีสานส่งตรงสู่เมืองกรุงฯ​

    หลังจากที่ได้อธิบายรูปแบบ และขอบเขตการทำงานของรถแห่ในพื้นที่อีสาน จารุวรรณ ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของรถแห่ ที่เข้ามามอบความบันเทิงให้กับคนในเมืองใหญ่นอกพื้นที่อีสานในรูปแบบของ “คอนเสิร์ตรถแห่” โดยจะเปิดเป็นพื้นที่ที่แสดงดนตรีด้วยรถแห่ และเก็บค่าเข้างานจำนวน 120-140 บาท ซึ่ง จารุวรรณ กล่าวว่ามีจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ใช้เวลาที่ไม่ได้รับงานในพื้นที่เข้ามารวมตัวจัดงานแสดงในเมืองใหญ่ เพื่อชดเชยความเสียหายจากวิกฤตการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ รถแห่ยังมีการเติบโตในพื้นที่ออนไลน์ ที่ช่วยประหยัดทรัพยากรของผู้ประกอบการรถแห่ ส่งผลให้สามารถรับงานได้มากกว่า 20 งานภายใน 1 เดือน ซึ่งความโด่งดังจากการรับงานจำนวนมากนี้ยังช่วยส่งผลให้มีกลุ่มทุนสนใจเข้าเป็นสปอนเซอร์ในการจัดคอนเสิร์ตรถแห่ที่ จารุวรรณ ได้กล่าวไปข้างต้นอีกด้วย ซึ่ง จารุวรรณ ได้สรุปในส่วนนี้ไว้ ว่าการมาถึงของยุคดิจิตอล ไม่ได้ผลักวัฒนธรรมหรือคนอีสานให้ออกห่างไปจากส่วนกลางมากเหมือนแต่ก่อน แต่กลายเป็นความเชื่อโยงระหว่างโลกออนไลน์และพื้นที่การแสดงที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เป็นพื้นที่พิเศษที่ผู้ประกอบการรถแห่ใช้รวมกลุ่มกัน และยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้อุปสงค์ และอุปทานมาบรรจบกันได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องผ่าน “นายหน้า” เหมือนอย่างแต่ก่อนอีกด้วย​

    จารุวรรณ ได้สรุปในช่วงท้ายของการบรรยายว่า “รถแห่” ได้เผยความเป็นตัวตนของตัวเองผ่านรากวัฒนธรรมเก่าที่ซ้อนทับกับวัฒนธรรมใหม่ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยผสานเข้ากับดนตรีอีสาน สร้างสุนทรียทางดนตรีที่มีความเฉพาะตัวของตัวเองได้สำเร็จ และยังช่วยให้รถแห่สามารถปรับตัว เพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ และกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งหลังผ่านพ้นวิกฤตเหล่านั้นไป​

    ภาพ : Bus & Truck​

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...