พฤษภาคม 5, 2024

    “นักประวัติศาสตร์จะสำนึกอยู่ตลอดเวลา ว่าตัวเองเป็นนักเขียน รู้ว่าการเป็นนักประวัติศาสตร์คือการเขียน การเล่า ซึ่งมันไม่เหมือนกับการเล่าในแบบของการใช้สื่อ”

    Share

    14 กันยายน 2565

    รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร เปิดการเสวนาด้วยการเปรียบเทียบงานศิลปะกับงานเขียนเชิงวิชาการ ในแง่ของการสื่อสาร งานศิลปะช่วยเพิ่มความรับรู้ที่ผู้รับสื่อมีต่อโลก ในแบบที่งานเขียนไม่สามารถทำได้ หนึ่งในวิธีการสร้างสื่อศิลปะที่ รศ.ดร.ยุกติ กล่าวถึง คือการ “เล่าซ้ำประสบการณ์ของศิลปิน” แบบที่ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี ใช้สร้างสรรค์ผลงานที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ ซึ่งสามารถทำในสิ่งที่งานเขียนทำไม่ได้ สิ่งที่งานเขียนทำได้ดีที่สุด ตามคำกล่าวของ รศ.ดร.ยุกติ คือการ “ถกเถียงทางความคิด” ซึ่งถูกเรียบเรียงออกมาผ่านตัวอักษรต่างจากภาพวาด ​

    “สิ่งที่สื่อศิลปะทำได้ดี คือการนำพวกเราเข้าไปสู่อารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของ ผศ.ดร.ทัศนัย คือการเล่าอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ตรงต่ออดีต ที่จะพาไปสู่ห้วงยุคสมัยของสงครามเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่งานเขียนทางประวัติศาสตร์ต้องการจะทำ แต่ไม่สามารถทำได้”

    รศ.ดร.ยุกติ กล่าวต่อถึงข้อจำกัดของงานเขียน คือการไม่สามารถเขียนถึงประสบการณ์ตรงของร่างกายของผู้เขียนได้ พร้อมยกตัวอย่างงานภาพยนตร์ ที่สามารถนำผู้รับสื่อให้เข้าไปถึงอารมณ์ของตัวละคร หรือเข้าไปสู่ห้วงเวลาต่างๆได้ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการนำประสบการณ์ของผู้สร้างเข้ามาใส่ในภาพยนต์ โดยผู้แสดงต้องมีความเข้าใจในประสบการณ์ดังกล่าว เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้สร้าง และทำให้ผู้ชมได้รับรู้ราวกับมีประสบการณ์ร่วมกัน รศ.ดร.ยุกติ เรียกกระบวนการนี้ว่า “การลอกเลียนเรือนร่างของกันและกัน” ซึ่งอาจจะไม่ตรงไปตรงมา แต่ตนเชื่อว่าทำได้ดีกว่างานเขียนแน่นอน

    รศ.ดร.ยุกติ ยก “เสียง” ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งระดับของสื่อ โดยกล่าวว่าเป็นการสร้างชุดความเข้าใจชุดหนึ่ง ก่อนจะนำมาถ่ายทอดผ่านการบันทึกเสียงที่ผู้บันทึกได้รับ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์การฟัง ให้ผู้รับสารได้รับรู้เสียงที่ผู้ถ่ายทอดได้ยิน ทำให้ “เสียง” เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเขียนออกมาได้ แม้ว่าผู้ถ่ายทอดจะมีความรู้ทางดนตรีแค่ไหนก็ตาม

    “การนำเอาเสียง ที่เป็นประสบการณ์ของการได้ยินมานำเสนอ มันก็จะทำให้เราได้รับรู้ประสบการณ์ในแบบที่มันพ้นไปจากงานเขียน”

    อีกหนึ่งระดับของสื่อ ที่ รศ.ดร.ยุกติ ยกขึ้นกล่าว คือ “กลิ่น”

    “สมัยที่ผมยังเรียนอยู่เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว ผมไม่ได้เรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นะ แต่มีโอกาศได้รู้จักกับ มณเฑียร บุญมา แกเป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะที่ใช้กลิ่น ตอนไปดูงานแกก็ได้กลิ่นฟางข้าว กลิ่นธูป ฟุ้งเลย”

    สิ่งเหล่านี้ คือการผลิตซ้ำความรับรู้ที่ศิลปินอยากเสนอ โดยใช้งานเขียนเป็นส่วนเสริมได้ อีกทั้งกลิ่น ยังเป็นสิ่งที่มีตัวตนอยู่ในอดีต และอาจจะไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งตนเชื่อว่างานทัศนศิลป์สามารถนำผู้รับสื่อไปสู่กลิ่นต่างๆ ในอดีตได้ดีกว่างานเขียน เช่นงานศิลปะของ ผศ.ดร.ทัศนัย ที่ถูกจัดแสดงเป็นต้น

    “คุณเดินดูงานของอาจารย์ทัศนัย ได้กลิ่นอะไรหรือปล่าว ? กลิ่นมันลอยมาในความสำนึกของเรา ผ่านการกระตุ้นเร้าของภาพต่างๆ”

    สุดท้าย รศ.ดร.ยุกติ กล่าวถึงการ “เข้าไปมีประสบการณ์ตรง” ซึ่งถือเป็นการเลียนแบบการรับรู้ประสบการณ์ของผู้เล่า ไม่ว่าจะเป็นจากผู้คน พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ หรือชีวิตที่ถูกเล่า คล้ายกับงานภาพยนตร์ ก่อนจะเล่าเหตุการณ์ที่ตนได้พานักศึกษากลุ่มหนึ่งไปเดินลงพื้นที่ที่ประเทศเวียดนาม ทำให้นักศึกษาได้สัมผัสถึงผิวดิน บรรยากาศ เสียง และชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องใช้ความตั้งใจในการรับรู้สื่อเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการพานักศึกษากลุ่มดังกล่าวเข้ามารับรู้ประสบการณ์ตรง ที่ตนเคยได้รับในตอนที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่วิจัย

    รศ.ดร.ยุกติ ปิดการเสวนาด้วยการชวนตั้งคำถามในงานศิลปะของ ผศ.ดร.ทัศนัย ว่าการเผชิญหน้ากับวัตถุ แสง สี องค์ประกอบ ขนาด หรือรูปทรงที่อยู่ในงานศิลปะของ ผศ.ดร.ทัศนัย บอกอะไร ? รศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่านี่คือการบีบอัดประสบการณ์ของ ผศ.ดร.ทัศนัย ออกมาเป็นผลงาน

    “อดีต หรือเรื่องราวต่างๆ ที่อาจารย์ทัศนัยเล่า มันจึงไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องราว แต่เป็นอารมณ์ ความรู้สึก ชุดประสบการณ์ และชุดความหมายต่างๆ เป็นปฏิกิริยาทางความคิด เป็นคำถามต่ออนาคต เป็นตัวตนของอาจารย์ทัศนัย”

    ส่วนหนึ่งจากเสวนา“ทัศนาสงครามเย็น ปริศนา และการปิดบังอำพราง” ภายในงานรับเรือนสหายทางศิลปะและนิทรรศการ “Cold War : the mysterious” เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่

    Related

    นัดแสดงออกหน้าสถานกงศุลสหรัฐฯ เชียงใหม่ ร้องหยุดสนับสนุนสงครามในปาเลสไตน์

    4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. เกิดการแสดงออกเรียกร้องเพื่อให้สหรัฐฯ ยุติการสนับสนุนการอิสราเอลทำสงครามในปาเลสไตน์ ณ...

    และนี่คือเสียงของ We are the 99% ฟังเสียง 6 แรงงานที่อยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี

    เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว 1 พฤษภาคม ของทุกปีคือวันแรงงานสากล (International Workers’...

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...