พฤษภาคม 18, 2024

    ป้าแสงเดือน เหยื่อของปฏิบัติการยึดที่ดินทำกินจากนโยบายทวงคืนผืนป่ายุค คสช.

    Share

    15 กันยายน 2565

    “คดีป้าแสงเดือน”: โฉมหน้าการแย่งยึดที่ดินใต้บงการนโยบายทวงคืนผืนป่ายุค คสช. กับการเขม็งเกลียวกฎหมายทรัพยากรโดยรัฐราชการ

    เธอเคยเล่าว่า “เขาบอกว่าถ้าไม่ตัดเขาจะเอาคดีมาให้ ตอนนั้นต้นยางก็ใกล้จะกรีด ลูกก็เรียนอยู่ ต้องตัดไปทั้งน้ำตา”

    ป้าแสงเดือนหรือนางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หญิงชาวบ้านแม่กวัก จังหวัดลำปาง คืออีกหนึ่งเหยื่อของปฏิบัติการยึดที่ดินทำกินที่มีนโยบายทวงคืนผืนป่ายุค คสช.และหน่วยงานรัฐใช้เป็นฉากหน้า อันปูทางสู่อภิโปรเจคแย่งยึดทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น ตอกเสาเข็มอำนาจการปกครองผืนป่าและเปลี่ยนความเขียวให้เป็นสินค้าสร้างกำไร

    เธอถูกบังคับให้ตัดทำลายต้นยางพาราอันเป็นรายได้เลี้ยงดูครอบครัวถึง 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 เพื่อแลกกับความหวังว่าจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่แล้วในเดือนกันยายน 2561 เธอถูกโขยงเจ้าหน้าที่เข้าแจ้งข้อกล่าวหาบนที่ดินทำกินสิบกว่าไร่ของตัวเอง ว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมเรียกค่าเสียหายหลักล้านบาท

    บ้านของเธอ คือหนึ่งในอีกหลายพันหมื่นชุมชนของประเทศที่ถูกรัฐเข้ามาประกาศเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติในปี 2514 และแม้จะมีหลักฐานทำกินตามโครงการของรัฐในอดีตทั้งแบบ สทก.1-2 เรื่อยมา แต่แทนที่จะได้รับสิทธิความมั่นคงในที่อยู่อาศัยที่ทำกินมากขึ้น แต่มันกลับตรงกันข้าม เมื่อปี 2535 ชุมชนของเธอกลายเป็นพื้นที่เตรียมประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติและคนในชุมชนก็ได้เริ่มสัมผัสกับการถูกตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ นับจากนั้น

    ปี 2561 ป้าแสงเดือนได้โล่งใจเปราะใหญ่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวนฯ ไม่ได้มีเจตนาตามกล่าวหาและชุมชนมีการดูแลจัดการทรัพยากรร่วมกันลักษณะโฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐตั้งแต่ยุค 2553

    แต่นั่น ไม่สามารถหยุดความมุ่งมั่นของบางหน่วยงานได้ คดีของเธอเดินหน้าต่อในชั้นศาลอุทธรณ์และต่อมาได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อปี 2563 สั่งจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนาและเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมทั้งให้เธอออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เธอจำเป็นต้องต่อสู้ต่อในชั้นศาลฎีกา ซึ่งจะได้ตัดสินในวันที่ 28 กันยายนนี้

    เรื่องราวของเธอกลายเป็นกรณีสำคัญที่ฉายภาพความวิปริตบิดเบี้ยวของสังคมที่แทบไม่หลงเหลือลมหายใจให้ผู้คนที่ไร้อำนาจในสังคม กระบวนการยุติธรรมที่แสนไกลจากคนจน ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วในการเข้าถึงทรัพยากร นโยบายกฎหมายป่าไม้ที่ไม่ใช่ของประชาชน รวมถึงความพยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของป้าแสงเดือนเองและการร่วมผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นวาระทางสังคมของผองเพื่อนหลายองค์เครือข่ายที่ยังยืนเคียงข้างเธอ

    เขียนมาถึงตรงนี้ อีกโลกหนึ่ง ข่าวว่าคดียึดครองที่ป่า 6,000 กว่าไร่ ที่เกี่ยวพันกับบริษัทเจ้าสัวใหญ่ครอบครอง ซึ่ง DSI ได้สั่งฟ้องไปเมื่อปี 2563 ในวันนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่ง “ไม่ฟ้องคดี”…

    เรื่อง : ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

    ภาพ : พชร คำชำนาญ

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...