พฤษภาคม 7, 2024

    ประมงพื้นบ้าน กก-โขง ถกทางออกท่ามกลางวิกฤติน้ำโขง

    Share

    26 ธันวาคม 2565

    เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต จัดเวทีประชุมตัวแทนชาวประมงกกโขง จาก 6 ชุมชน 3 อำเภอ บ้านดอนที่ บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น บ้านเชียงแสนน้อย สบกก สบคำ อำเภอเชียงแสน จำนวน 40 คน ณ หอประชุมบ้านสบคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำกก-โขง

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    “แต่ก่อนผมไม่ไปก่อสร้างหรอก หาปลาตอนเช้าได้คิวสองคิวก็ขายได้ปลา 500-600 บาท ตอนนี้หาปลาไม่ได้แล้วต้องไปก่อสร้าง” คำพูดส่วนหนึ่งในวงแลกเปลี่ยนผลกระทบการหาปลาจากการพัฒนาแม่น้ำโขง และแนวทางการปรับตัวของคนหาปลาจะอยู่กับสายน้ำโขงภายใต้วิกฤติการพัฒนาจากเขื่อนได้อย่างไร จากสาเหตุร่วมคือระดับน้ำ ที่ขึ้นลงไม่เป็นปกติ ส่งผลกระทบในภาพรวมของชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำโขง

    นายสุขใจ ยานะ ชาวบ้านเชียงแสนน้อย กล่าวว่า “น้ำขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้ปลาสับสนคนก็หาปลาไม่ได้ ตอนนี้เหลือคนหาปลาไม่กี่คนส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มไม่มาหาปลาแล้ว มันหาปลาไม่ได้”

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    ระหว่างการแลกเปลี่ยนได้มีการพูดคุยปัญหาการลดลงของปลาทั้งในแม่น้ำโขงและการหาปลาผิดวิธี

    “การหาปลาผิดวิธีโดยเฉพาะการจี้ปลาช็อตปลา จากประเทศเพื่อนบ้าน เครื่องมือเขาทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก เราแก้ไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลาหายาก เขาเข้ามาถึงในแม่น้ำกกเลยนะ ไม่มีใครมาคอยดูแลเข้มงวดเรื่องนี้” คำพูดของ นายสาคร พลสวัสดิ์ ชาวประมงบ้านสบคำ

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    ส่วนการปรับตัวจะอยู่ได้อย่างไรภายใต้สถานการณ์ปัญหาจากเขื่อนและการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ทั้ง 6 ชุมชนได้ทดลองอาชีพการปรับตัวที่จะอยู่กับวิถีประมง ประมงบ้านห้วยลึกสมาชิกประมงได้ทำการทดลองเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดินจำนวน 10,000 ตัว บ้านดอนที่พัฒนาลั้งหาปลาเป็นศูนย์เรียนรู้คนหาปลาปรับปรุงพื้นที่เลี้ยงไก่เป็นอาชีพเสริมยามว่างระหว่างหาปลา และทุกชุมชนมีความสนใจเพาะผสมพันธุ์ปลา เพื่อเพาะเลี้ยงในชุมชนเป็นรายได้เสริมจากการหาปลา เนื่องจากกลุ่มประมงพื้นบ้านเหล่านี้ไม่สามารถปรับตัวไปทำอาชีพอื่นได้แล้ว การเพาะพันธุ์ปลาเพื่อเพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำสาธารณะในชุมชนสร้างรายได้อีกทาง

    นายอุ่นคำ สุวรรณดี ประมงบ้านสบกก กล่าวว่า “ไม่รู้จะไปทำอาชีพอื่นละ หาปลาก็พอได้กิน อยู่กับแม่น้ำมาทั้งชีวิต ทำเกษตรบ้าง เลี้ยงวัวริมน้ำบ้าง ทำอาชีพเหล่านี้แหละ”

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    นอกจากนี้ชาวประมงยังยืนยันว่าปากน้ำกกก็ยังพอหาปลาได้อยู่ เป็นพื้นที่หาปลาที่สำคัญของชุมชน และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนาก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยหากินอยู่ปากแม่น้ำกก

    ผลกระทบนอกจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำจากเขื่อน น้ำขึ้นลงปลาลดลง การหาปลาผิดวิธี ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำกก ส่งผลต่อคนหาปลาโดยตรง การรวมตัวของเครือข่ายประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำกก-โขง ของคนหาปลาเพื่อร่วมกันส่งเสียงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจชีวิตคนเล็กคนน้อยที่หากินกับแม่น้ำบนวิถีพึ่งพาธรรมชาติ เรื่องราวแม่น้ำและชุมชนต่อไป เมื่อแม่น้ำไม่มีปลา การพัฒนาที่ไม่ได้ฟังเสียงชาวบ้านริมโขง

    ภาพ : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

    Related

    ชิวๆ กับความไม่แน่นอน: อารมณ์สายมูกับระบอบเวลาที่ยืดหยุ่น

    เรื่อง: ณีรนุช แมลงภู่* ในยุคสมัยที่การดิ้นรนทำมาหากินเพื่อให้อยู่รอดภายใต้เศรษฐกิจที่ผันผวนและอากาศแบบละติจูดเดียวกับ ‘สวรรค์’ เป็นประสบการณ์สามัญของคนทั่วไป เคยสงสัยไหมว่าทำไมเพื่อน ‘สายมู’ ของเราถึงยังมีเวลาไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระดังทั่วไทย สวมชุดขาวร่วมพิธีกกรรมเสริมแต้มบุญ...

    โทษทีพี่ ‘ติด’ งาน

    เรื่อง: การัณยภาส ภู่ยงยุทธ์*  คุณติดโซเชียลมีเดียหรือไม่ หากคำถามนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่เฟซบุ๊กนำปุ่มกดถูกใจมาใช้งาน คนส่วนใหญ่จะตอบปฏิเสธ หรือไม่ก็บอกว่าตัวเองก็แค่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ถึงกับขั้น “เสพติด”...

    ชีวิตบนเส้นด้ายของเกษตรกรหลังบ้านอีอีซี

    เรื่อง: กัมปนาท เบ็ญจนาวี เกษตรกรหลังบ้านอีอีซีส่วนใหญ่ถูกจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรและอำนาจหลังการปิดล้อมใหม่ โดยเฉพาะการขาดการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงอำนาจในการมีส่วนร่วมกำหนดภูมิทัศน์การพัฒนาในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีเงื่อนไขที่จำกัดในการคาดเดาและกำหนดอนาคตของตนเอง จนนำไปสู่การก่อตัวขึ้นของสถานการณ์ความขัดแย้งและความแตกต่างทางสังคม มากกว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม...