พฤษภาคม 3, 2024

    ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย ผ่านแล้ว แต่ยังมีข้อบกพร้องในบางมาตรา​

    Share

    31 สิงหาคม 2565

    ภาพ : Amnesty International

    31 สิงหาคม 2565 เนื่องในวันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวัน ผู้สูญหายสากล คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ความเห็นว่า มติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ร่างพระราชบัญญัติ ฯ) ในวันที่ 24 สิงหาที่ผ่าน นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในกระบวนการทางกฎหมายในการป้องกันและเยียวยาความเสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้ หากแต่ ทั้งสององค์กรรู้สึกผิดหวังที่ยังคงมีข้อบกพร่องในบางมาตราที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์ ​

    เอียน เซเดอร์แมน (Ian Seiderman) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบายของ ICJ เผยว่า การผ่านร่างกฎหมายเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประเทศไทยจริงจังกับการดำเนินการตามหน้าที่ในการปฏิรูปกฏหมายเพื่อนำความยุติธรรมมาสู่เหยื่อของอาชญากรรมที่ร้ายแรงเหล่านี้และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ​

    “อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ยังไม่มีบทบัญญัติครบถ้วนหรือถูกต้องตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทำให้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติในลักษณะที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ UNCAT) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)”​

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ICJ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะมากมายเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย​

    ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของ UNCAT และ ICCPR เมื่อปี พ.ศ.2555 ประเทศไทยยังได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) ซึ่งสะท้อนถึงคำมั่นที่จะป้องกันและยับยั้งอาชญากรรมการบังคับให้บุคคลสูญหาย อย่างไรก็ตาม คำมั่นของประเทศไทยที่จะให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี ICPPED ให้แล้วเสร็จกลับยังไม่ถูกดำเนินการจนกระทั่งปัจจุบัน​
    ร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นผลมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สมาชิกรัฐสภา และผู้เชี่ยวชาญ ที่ผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดความผิดทางอาญาแก่การทรมาน การปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการบังคับบุคคลให้สูญหายมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ ฯ เริ่มแรกนั้นประกอบด้วยบทบัญญัติที่เป็นปัญหาจำนวนมาก แต่บุคคลเหล่านี้ได้ร่วมกันผลักดันจนเกิดการปรับปรุงข้อบกพร่องที่สำคัญบางประการ ​

    องค์กรทั้งสองยังเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการตามคำมั่นว่าจะทำการให้สัตยาบันแก่อนุสัญญา ICPPED โดยไม่ล่าช้า พร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร้องในร่างพระราชบัญญัติเพื่อรับประกันการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน ​

    ความเป็นมา​
    สิบห้าปีหลังจากที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีอนุสัญญา UNCAT สภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทยได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามที่วุฒิสภาเสนอ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565​

    ร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ คาดว่าจะได้รับการลงนามพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมีผลบังคับใช้เมื่อครบกำหนด 120 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา​

    ในปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติฯ ยังคงประกอบด้วยบทบัญญัติบางมาตราที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ข้อกังวลหลัก ได้แก่​
    นิยามของอาชญากรรมการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่สมบูรณ์หรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และ ‘การกระทำให้สูญหาย’ โดยผู้กระทำการที่ไม่ใช่ภาครัฐ ตามที่ระบุในมาตรา 3 ของ ICPPED ไม่ได้ถูกกำหนดไว้​

    การตัดมาตราที่ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมออกจากร่างพระราชบัญญัติฯ​
    การขาดตัวแทนเหยื่อการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในองค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และการถอดถอนหน้าที่ของคณะกรรมการในการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัว​
    การถอดถอนบทบัญญัติเกี่ยวกับการไม่รับฟังคำให้การหรือข้อมูลอื่นอันได้มาจากการทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี และ​
    การขาดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดอายุความของอาชญากรรมการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย อันสอดคล้องกับอนุสัญญา UNCAT และ ICPPED โดยสมบูรณ์​

    Related

    ค่าแรงมันร้าย กดขี่ขั้นโหด ถึงเวลา ‘สหภาพแรงงาน’

    เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว ถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ร้อนแรงไม่แพ้อากาศประเทศไทย สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ในงานเวทีวาระเชียงใหม่ Chiangmai...

    กลุ่มศึกษาแรงงานฯลำปาง จัดงาน MAY DAY วอนรัฐตระหนักถึงแรงงานและสิทธิของพวกเรา

    วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. กลุ่มศึกษาแรงงานและสวัสดิการลำปาง ประสานงานเพื่อจัดงานวันแรงงานสากล...

    We Watch ชวนลงชื่อคัดค้านระเบียบ กกต. ในการเลือก สว.  หยุดปิดปากประชาชน-สื่อ

    สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก...