พฤษภาคม 19, 2024

    ศาลจังหวัดเชียงราย ยกฟ้องจำเลย 7 คน คดี “ตั้งโต๊ะปิดสวิทซ์ ส.ว.” ​

    Share

    05/07/2022

    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ​วันที่ 4 ก.ค. 2565 ศาลแขวงเชียงรายนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและประชาชนรวม 7 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีการจัดและร่วมกิจกรรมตั้งโต๊ะเขียนจดหมายเรียกร้อง “ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่โหวตนายกฯ” ที่ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562​

    แม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท แต่คดีนี้ก็ใช้เวลายืดเยื้อมากว่า 3 ปี 1 เดือนเศษ แล้ว สำหรับประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ได้แก่ การยืนยันว่ากิจกรรมดังกล่าวที่มีเป็นการตั้งโต๊ะเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงชื่อเรียกร้องต่อ ส.ว. ซึ่งมีที่มาไม่ชอบธรรม ไม่เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะที่ต้องมีการแจ้งการชุมนุม และผู้ถูกกล่าวหาหลายคนยังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงผู้ไปร่วมกิจกรรม แต่กลับถูกกล่าวหาเป็นผู้จัดกิจกรรมไปด้วย โดยที่ตำรวจก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานชัดเจนที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้ประสงค์จะจัดกิจกรรมตามกฎหมาย​

    นอกจากนั้น ทางตำรวจก็ได้จัดกำลังเข้ามาดูแลความเรียบร้อยของกิจกรรมนี้เป็นจำนวนมาก และกิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวายและปัญหาการจราจร ทำให้ถือได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของการแจ้งการชุมนุมสาธารณะแล้ว​

    ศาลแขวงเชียงรายได้อ่านคำพิพากษาต่อหน้าจำเลยทั้ง 7 คน ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ รับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 7 เข้าร่วมการชุมนุมกิจกรรมปิดสวิตซ์ ส.ว.จริง และตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กิจกรรมดังกล่าวก็เข่าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม มีการแสดงความคิดเห็น การถ่ายภาพชู 3 นิ้วร่วมกัน เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง แม้ผู้ร่วมชุมนุมจะไม่มากนัก และไม่มีเหตุความวุ่นวาย ถือว่าเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะ​

    พิเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 เรื่องการแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนการชุมนุม มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการชุมนุมและคุ้มครองประชาชนที่ใช้สถานที่สาธารณะอื่นๆ เจ้าพนักงานมีหน้าที่สำคัญ ได้แก่ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้สถานที่สาธารณะ และดูแลผู้ชุมนุมอำนวยความสะดวกให้ใช้สิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งจัดการจราจรให้ผู้สัญจรไปมา เพื่อไม่ให้การชุมนุมกระทบต่อประชาชนคนอื่นๆ​

    อีกทั้งในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ไม่ใช่การขออนุญาต แต่มีลักษณะเป็นการแจ้งเพื่อให้ทราบ​

    เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะมีการชุมนุมตามฟ้องดังกล่าว และ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ การแจ้งการชุมนุมก็เพื่อให้เจ้าพนักงานทราบก่อนการชุมนุม เพื่อให้ดูแลความสงบเรียบร้อย อำนวยความสะดวก เมื่อ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ทราบก่อนแล้วไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และกิจกรรมก็เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้ว​

    ส่วนในเรื่องจำเลยทั้ง 7 จะเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ไม่จำต้องพิเคราะห์ เพราะไม่ทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 7​

    สำหรับจำเลยทั้ง 7 คน ในคดีนี้ ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” นักกิจกรรม, ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยา ตันติภูวนารถ, สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์, สมสิน สอนดา, มะยูรี ธรรมใจ และจิตต์ศจีฐ์ นามวงค์​

    กิจกรรมปิดสวิตช์ ส.ว. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ในช่วงก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภา สิรวิชญ์และธนวัฒน์ สองนักกิจกรรม ได้เดินทางไปตั้งโต๊ะเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเขียนข้อความในจดหมายส่งถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ทั้งหมดถูกแต่งตั้งโดย คสช. เรียกร้องให้ไม่ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กล่าวหาว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะ และไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ทั้งยังมีการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากจังหวัดเชียงรายอีก 5 คน ด้วย ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมสาธารณะดังกล่าวแต่อย่างใด​

    คดีนี้ นับตั้งแต่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 7 คน และส่งสำนวนคดีให้กับอัยการเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2562 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงรายได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาต้องเดินทางเข้ารายงานตัวเดือนละครั้ง ทำให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายมีภาระในการไปรายงานตัวในแต่ละเดือน จนถึงการสั่งฟ้องคดีรวมจำนวน 10 ครั้ง ก่อนที่อัยการจะส่งฟ้องจำเลยทั้ง 7 คนต่อศาล เนื่องจากคดีใกล้จะหมดอายุความ​

    ขอบคุณข้อมูลและภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน​

    #Lanner

    Related

    “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ความฝันกะเบอะดิน

    เรื่อง: นลินี ค้ากำยาน ภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี “เราเชื่อว่าถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีความฝันร่วมกันและยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เอาเหมือง เขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้วเพราะเขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เราโดนพูดอยู่เสมอว่าเราสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นคนใหญ่คนโต...

    ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร กระจกสะท้อนความเลื่อมล้ำผ่านความเป็นเมือง

    เรื่องและภาพ: ธันยชนก อินทะรังษี ท่ามกลางตึกสูงตั้งตะหง่าน และความวุ่นวายในเมืองหลวง  การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากมาย แต่นั่นก็ตามมาซึ่งปัญหาทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำทางรายได้ ความเป็นอยู่...

    อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง: ทำไมผมต้องข้ามจังหวัด​เพื่อไปดูหนัง และจะเป็นไปได้ไหมที่ผมจะได้เห็นโรงหนังอิสระทั่วไทย

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย รถยนต์​ก็​ยัง​ไม่มี​ รถเมล์ก็​มา​ไม่ถึง​ เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลงสาวดอย 4x4 ที่ขับร้องโดยคาราบาว เล่าถึงความยากลำบากของชีวิตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ผ่านการไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีขนส่งสาธารณะ​ที่เข้าถึงได้ง่าย...