เมษายน 26, 2024

    การปฏิบัติงานของขบวนการนักศึกษาที่ขยายขอบเขตออกไปมีส่วนร่วมกับ ชาวนา ครู และนักเรียน

    Share

    26/06/2022

    เสวนาบอกเล่าถึงการปฏิบัติงานของขบวนการนักศึกษาที่ขยายขอบเขตออกไปมีส่วนร่วมกับ ชาวนา ครู และนักเรียน โดย เกรียงภพ หน่อรัตน์ : นักศึกษามหาวิทยาลัยครู ,สุทธิศักดิ์ ปวราธิสันต์ : ตัวแทนศูนย์นักเรียน ,สมนึก แพ่งนคร : เล่าเรื่องโครงการชาวนา ,สงวน พงษ์มณี : ประชาบาลเพื่อประชาชน ,จีรวรรณ โสดาวัฒน์ : กลุ่มมังกรน้อย​

    การเสวนาเริ่มต้นโดย สงวน พงษ์มณี โดยเริ่มต้นกล่าวถึงความเกี่ยวข้องระหว่างตน และกลุ่มประชาบาลเพื่อประชาชน โดยกล่าวถึง นิสิต จิรโสภณ ในแง่ของการ “เพิ่มความเคียดแค้น” ให้กับตน เนื่องมาจากตัว นิสิต จิรโสภณ เองนั้นเป็นเพื่อนกับ ชัชวาลย์ นิลประยูร ซึ่งเป็นประธานของกลุ่ม ณ เวลานั้น และยังกล่าวถึงจุดเริ่มต้นการจัดตั้งของตน หลังจากกลับมาจากการเข้าร่วมสงครามเวียดนาม ที่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นระหว่างเขตจัดตั้งต่างๆ ที่ไม่เคยพบหรือรู้จักกับ สงวน จากนั้น สงวน เล่าต่อถึงการเข้าร่วมกับกลุ่มชาวนาระหว่างการเคลื่อนไหว โดยเสริมว่าตนนั้นเป็นน้องของ บุญมา อาลี ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ผู้นำชาวนา​

    สงวน บอกเล่าต่อเกี่ยวกับการจัดตั้งและเข้าป่าในช่วงแรก ว่ากลุ่มตนนั้นไม่ได้มีบทบาทอะไรมากในพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องมาด้วยอายุ และความที่ผู้คนส่วนใหญ่นั้นไม่รู้จักพวกเขา นอกเสียจากบทบาท “กองกำลังรักษาชีวิต” ที่ สงวน ยกขึ้นมากล่าว โดยตนต้องเดินทางเข้ารับการฝึกใน “ซีเหมา” ภายใต้ชื่อกลุ่มที่พวกตนเรียกว่า “หน่วยมีดปลายแหลม” เพื่อกลับมารับหน้าที่คุ้มครองสหายทุกคน​

    สุดท้าย สงวน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวโดยรวมในตอนนั้นว่า ตนไม่รู้สึกได้รับชัยชนะใดๆ เนื่องมาจากที่พวกเขาภูมิใจในการต่อสู้ และชัยชนะ แต่ไม่ได้มีความภาคภูมิใจในผลสัมฤทธิ์ของตัวงาน​

    สงวน ทิ้งท้ายการเสวนาของส่วนของตนด้วยคำกล่าวว่า “สังคมจะเป็นของเด็กๆ” ที่จะเป็นอย่างไรนั้น อุดมการณ์จะเป็นสิ่งที่ทำให้แสดงออกมานั่นเอง​

    การเสวนาดำเนินต่อ โดยต่อไปเป็นการกล่าวของ เกรียงภพ หน่อรัตน์ ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยครู เกรียงภพ เริ่มการเสวนาโดยการกล่าวถึงประสบการณ์ที่ตนได้รู้จักกับ นิสิต จิรโสภณ เป็นครั้งแรกผ่านหนังสือวลัญชทัศน์ ที่มีเพื่อนนำมาให้อ่านในยุคที่มหาวิทยาลัยครูยังเป็นสถาบันอนุรักษ์นิยม โดยจุดเริ่มต้นแรกสุดของการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยครู มาจากการรวมกลุ่มอิสระชนในหัวข้อเชิงธรรมชาติ และกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานในห้องสมุด โดยมีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นจุดเริ่มต้นความตื่นตัวทางการเมือง และมีการร่วมกันเคลื่อนไหวกับกลุ่มศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย​

    เกรียงภพ กล่าวเพิ่มเกี่ยวกับสถานะภาพของกลุ่มนักเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยครู หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็ได้มีการรวมกลุ่มเกิดขึ้นอีกครั้งในมหาวิทยาลัยครู ซึ่งบางส่วนก็มาจากกลุ่มนักศึกษาที่รวมกลุ่มกันในหัวข้อทางธรรมชาติเช่นกัน โดยการรวมกลุ่มกันครั้งนี้จะเริ่มมีการนำหัวข้อทางการเมืองต่างๆมาร่วมพูดคุยกันในกลุ่มอีกด้วย จนภายหลังได้รับการประสานงานจากทางกลุ่มของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกรียงภพ ยังกล่าวเสริมถึงการต่อสู้ภายในมหาวิทยาลัยครู โดยมีการต่อสู้กันกับกลุ่มที่ขัดขวางกลุ่มของตนเช่น กลุ่มคนป่า กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล เป็นต้น จนกระทั่งกลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นผ่านการจัดกิจกรรมการเผยแพร่ประชาธิปไตยในพื้นที่ชนบท ระหว่างช่วงปิดเทอม โดยกลุ่มนักศึกษา ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีพ.ศ. 2517 และยังมีการจัดตั้งกลุ่มภายใน ในชื่อ “กลุ่ม 17” และกลุ่ม “อิสระชน” ที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาภาคค่ำอีกด้วย​

    เกรียงภพ ยังกล่าวถึงการก่อตั้งขบวนการชาวนาที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยครูได้เข้าไปมีส่วนร่วมการขบวนการด้วย จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และนำไปสู่การแยกย้ายของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆในที่สุด​

    สุทธิศักดิ์ ปวราธิสันต์ ตัวแทนศูนย์นักเรียน เป็นผู้ดำเนินการเสวนาคนถัดมา สุทธิศักดิ์ กล่าวถึงผลกระทบและกระแส จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่กระจายไปสู่กลุ่มศูนย์นักเรียน จนมีส่วนนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่างๆในหลากหลายพื้นที่ และกิจกรรมค่ายส่งเสริมประชาธิปไตย “หนองกระทิง” โดย สุทธิศักดิ์ ได้มีโอกาสรู้จักกับศูนย์นักเรียนจากกิจกรรมนี้ จนนำไปสู่การเผยแพร่ประชาธิปไตยจากชุดแนวคิดที่ได้รับมาจากกิจกรรมค่ายประชาธิปไตยดังกล่าว​

    สุทธิศักดิ์ กล่าวเพิ่มถึงความดีงามของช่วงเวลาที่มีการจัดตั้งศูนย์นักเรียน ว่าในขณะนั้นสถาบันต่างๆเริ่มมีการเกิดขึ้นของกลุ่มสภานักเรียนขึ้นมาแล้ว ส่งผลให้การประสานงานการประชุมต่างๆเป็นไปได้โดยง่าย และช่วยสนับสนุนให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังกล่าวถึงบทบาทของศูนย์นักเรียน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การลงพื้นที่ทำงานกับชาวนามากนัก แต่จะมีบทบาทในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมีสมาชิกศูนย์นักเรียนจากพื้นที่ต่างๆเข้ามารับการศึกษาต่อในคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เยอะ ด้วยจำนวนสมาชิกศูนย์นักเรียนที่มีอยู่ในหลากหลายคณะนี้เอง ที่เป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวให้มีความกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นในช่วงปีพ.ศ. 2519 ด้วยความที่สามารถกำหนดรูปแบบ ทิศทาง หรือช่วงเวลาของการเคลื่อนไหวได้โดยไม่มีปัจจัยอื่นมาส่งผลกระทบ เช่นตารางการเรียนการสอนเป็นต้น เนื่องด้วยจำนวนคนที่มากนั่นเอง สุทธิศักดิ์กล่าวปิดท้ายในส่วนของตน ด้วยการกล่าวถึงการ “เชิดชูจิตใจ” ที่ไม่ใช่เพียงแต่การเชิดชูจิตใจของ นิสิต จิรโสภณ เท่านั้น แต่ตนยังเชิดชูจิตใจของทุกๆคน ที่ร่วมต่อสู้ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ชนชั้นที่ไม่มีอะไรให้เสีย แต่เป็นการร่วมต่อสู้ที่พร้อมจะเสียสละ​

    ต่อไปเป็นการเสวนาของ สมนึก แพ่งนคร ที่ออกมาบอกเล่าถึงการทำงานของโครงการชาวนา สมนึก เล่าย้อนไปในสมัยที่ตนยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เสาะหาความหมายในชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนเข้าไปพบกับจุดพลิกผันจากการพบกับศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในช่วงเผยแพร่ประชาธิปไตย ที่มีชาวนา และกรรมกรต่างๆเข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์นิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ นำไปสู่การลงพื้นที่ของ สมนึก ที่ทำให้เห็นถึงปัญหาต่างๆในการใช้ชีวิตของชาวนา และทำให้มองเห็นการเอารัดเอาเปรียบได้ชัดเจนมากขึ้น สมนึก เริ่มศึกษากฎหมายค่าเช่านาหลังจากนั้น โดยการเริ่มศึกษากฎหมายดังกล่าวครั้งแรกนั้น นำ สมนึก ไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเข้าพบกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น ก่อนจะถูกข้อร้องให้กลับไปเรียนหนังสือตามปกติดังเดิมหลังจากที่ได้แสดงเจตนาและความสนใจในปัญหาชาวนาแก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างไรก็ตาม สมนึก กล่าวว่าตนก็ยังไม่หยุดแค่นั้น สมนึก มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนๆในรั้วมหาวิทยาลัย และยังดำเนินการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ชาวนาเกี่ยวกับกฎหมายค่าเช่านาต่อไป จนกระทั่งศูนย์นิสิตนักศึกษาได้ริเริ่มโครงการชาวนาขึ้น โดย สมนึก ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องมาจากที่ตนสามารถใช้ภาษาท้องถิ่นได้ และยังมีเวลาสำหรับการเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านในระหว่างโครงการ ซึ่งได้เวลาดังกล่าวมาจากการที่ตนพักการศึกษาในมหาวิทยาลัยเอาไว้ในช่วงเทอมแรกของปี 1 และอุทิศตนเข้าช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการดังกล่าว จนกระทั่งช่วงปลายปีพ.ศ. 2517 ก็มีการจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ขึ้นโดยกลุ่มชาวนาชาวไร่เอง​

    จีรวรรณ โสดาวัฒน์ ​ ขึ้นเสวนาต่อ โดยได้กล่าวย้อนกลับไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ตอนนั้นตนมีอายุแค่เพียง 14 ปี แต่เนื่องด้วยมาจากที่ตนเป็นลูกหลานชาวนา ที่ตนเรียกว่าเป็น “ชาวนาจน” ที่ถูกกดขี่เอาเปรียบในหลากหลายด้าน ทำให้ตนมองเห็นผลกระทบและซึมซับปัญหาของชาวไร่ชาวนาจากเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ชัดเจน จีรวรรณ กล่าวถึง นิสิต จิรโสภณ ว่าเป็นตัวแทนนักศึกษาที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสังคมชาวไร่ชาวนา หรือแม้แต่สังคมในองค์รวม โดย จีรวรรณ ได้พบเจอกับ สมนึก แพ่งนคร จากการลงพื้นที่เผยแพร่ประชาธิปไตยหลังจากนั้น และได้ซึมซับองค์ความรู้และแนวคิดต่างๆจากกลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่ชนบทในช่วงนั้น และได้มีส่วนช่วยขยายองค์ความรู้ในหัวข้อต่างๆไปสู่ชุมชน เช่นเรื่องของกฎหมาย หรือการปกครอง ซึ่งอยู่นอกเหนือจากสิ่งที่ชาวไร่ชาวนารับรู้ในยุคสมัยนั้น นำไปสู่การสังเกตุการณ์การจัดเสวนาในชุมชนที่ร่วมจัดโดยกลุ่มนักศึกษา ทำให้ จีรวรรณ ได้เริ่มฝึกการพูด การคิด การวิเคราะห์ ในการจัดเสวนา หรือแวดวงศิลปะการดนตรี ​

    จีรวรรณ ค่อยๆ ซึมซับแนวคิดของกลุ่มนักศึกษาผ่านกิจกรรมต่างๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ในขณะนั้น ตนได้ประจำอยู่ในกลุ่มบ้านแสงตะวัน ก่อนจะเกิดเหตุการณ์การเข้าป่าของกลุ่มสหาย​

    จีรวรรณ กล่าวว่าตนได้ใช้ชีวิตในช่วงนั้นผ่านเบ้าหลอมต่างๆ ยาวนานไปถึงการออกจากป่ามาใช้ชีวิตอีกครั้ง ทำหน้าที่ดูแลครอบครัว ดูแลสังคม ตามสิ่งที่ตนได้รับการปลูกฝังโดยเบ้าหลอมดังกล่าว โดยมีกลุ่มนักศึกษาเป็นต้นแบบ จีรวรรณ ทิ้งท้ายการเสวนาในส่วนของตนด้วยการกล่าวถึงบทบาทของตน ที่เป็นผู้ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ในการออกมากำหนดอนาคตของตัวเอง​

    ชาตรี หุตานุวัตร กล่าวสรุปการเสวนาไว้ว่า นิสิต จิรโสภณ นั้นเป็นผู้นำนักเรียนและชาวนาในภาคเหนือ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในยุคสมัยนั้น นำไปสู่การเข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ของขบวนการเคลื่อนไหวในภาคเหนือ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการณ์เมือง การเผยแพร่ประชาธิปไตย และเป็นช่วงที่ขบวนการณ์นักศึกษามีเกียรติภูมิสูงสุด พร้อมทั้งกล่าวเสริมถึงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ว่าไม่ได้ต่อสู้เพื่อแนวคิดหรือพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ต้องการสู้เพื่อประชาธิปไตยและการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ต้องการยึดอำนาจรัฐเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งของสังคมเสียใหม่ให้มีความเป็นธรรม โดยถึงแม้ว่าจะทำไม่สำเร็จ และพวกตนไม่ได้ต่อสู้เป็นขบวนการแบบเดิมแล้ว แต่พวกตนก็ยังสามารถเป็นคนดีของสังคม และส่งต่อเมล็ดพันธุ์ของอุดมการณ์ให้คนรุ่นใหม่ๆต่อไปได้ ​

    การเสวนาในช่วงนี้ ทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า “ถ้าย้อนเวลากลับไปในยุคนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านจะยังกระทำทุกอย่างเหมือนเดิมหรือไม่” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านตอบคำถามดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจะยังกระทำการทุกอย่างเช่นเดิม​

    เสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน รำลึก 47 ปี นิสิต จิรโสภณ “เชิดชูจิตใจ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ”​

    ภาพ: ศรีลา ชนะชัย​

    #Lanner

    Related

    จันเสนก่อนตาคลี เมืองโบราณที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก?

    เรื่อง: ป.ละม้ายสัน บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย...

    รอนานบั่นทอนปอด ศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

    ล่าสุดวันนี้ (24 เมษายน 2567) ทีมทนายความมีความคืบหน้าสำหรับความคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ โดยศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และมีคำสั่งให้ประชาชนผู้ฟ้องคดีทำคำแก้อุทธรณ์คดีตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ยื่นอุทธรณ์คดีฝุ่นภาคเหนือภายใน...

    ‘วาระเชียงใหม่’ เปิดเวทีสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. ดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)...