มีนาคม 29, 2024

    เวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน”ครั้งที่ 6​

    Share

    19/06/2022

    วันที่ 17 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ​ สมัชชาคนจนและภาคีเครือข่ายได้จัดเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน”โดยเวทีสัญจรในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ประเด็นหลักในเวทีคือเรื่องของสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง,แนวคิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น,LGBTQ และรัฐสวัสดิการ​

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดและกล่าวต้อนรับว่าพรรคการเมืองคือตัวแทนประชาชน ต้องฟังเสียงของประชาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่าการพูดคุยเพื่อรื้อปรับระบบให้เอื้อกับประชาชน เพื่อเข้าให้ถึงกลไกของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ควรทำ ถึงแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่การเมืองคือการรับฟังตลอดเส้นทางตามวิถีทางประชาธิปไตย​

    มีการเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนประชาชนได้พูดถึงข้อเสนอต่อพรรคการเมืองโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้​

    1.สิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากร โดย พรชิตา ฟ้าประทานไพร เสนอในประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัย สิทธิสถานะบุคคล การมีส่วนร่วมในโครงการของรัฐ สิทธิการเสรีภาพการรวมกลุ่ม สิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และข้อเสนอสิทธิในที่ดินของประชาชน​

    2.สิทธิทางการเมือง พินิจ ทองคำ ตัวแทนกลุ่มสิทธิทางการเมือง เสนอเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนและการตรวจสอบอำนาจของรัฐ ยุติการใช้อำนาจของรัฐที่มิชอบ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะได้อย่างมีอิสระรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ ทุกหมวด ทุกมาตรา ให้ความสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญและต้องบัญญัติเรื่องของการต่อต้านการรัฐประหาร​

    3.การกระจายอำนาจ กาญจนา นัดอู่ทรัพย์ ย้ำว่าต้องมีเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อปท.มีอิสระในการกำหนดนโยบาย มีการกระจายอำนาจในการจัดการที่ดินและทรัพยากร แบ่งภาษีอย่างเป็นธรรม​

    4.ความหลากหลายทางเพศ ชนาธิป เพ็งตะคุ นำเสนอว่าทุกพรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิความหลากหลายทางเพศ การสมรสเท่าเทียม​

    5.แรงงานและสวัสดิการ สุชาติ ตะกูลหูทิพย์ จากเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ เสนอในเรื่องของสิทธิแรงงานที่ควรได้รับการปฏิบัติเท่ากัน โดยไม่มีการแบ่งแยก เพราะแรงงานคือกลไกสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมเคลื่อนไปได้​

    6.สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดย วิไลลักษณ์ เยอเบาะ สนับสนุนกฎหมายชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาและจัดการตนเอง ที่นำไปสู่การสร้างความยุติธรรมและการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม​

    มีตัวแทนจากพรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย, พรรคไทยสร้างชาติ, พรรคประชาชาติ, พรรคประชาธิปัตย์, และพรรคสามัญชน เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอในประเด็นต่างๆ โดยทุกพรรคการเมืองเห็นว่าทั้ง 6 ประเด็นที่เสนอ เป็นปัญหาสำคัญและต้องนำไปแก้ไขในระบบรัฐสภาต่อไป​

    มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนที่ร่วมเวทีได้พูดถึงปัญหา ข้อเสนอในประเด็นต่างๆ และการตั้งคำถามต่อพรรคการเมือง โดยมีสาระสำคัญคือ สภาพลเมือง,รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า,การแก้ปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตร การเปิดโอกาสเรื่องสุราชุมชน,กฎหมายการรวมกลุ่มที่เป็นอุปสรรคในการรวมกลุ่มเรียกร้องของชาวบ้าน,การลดความเหลื่อมล้ำ,ยุติการสร้างเขื่อนและการพัฒนาในโครงการของรัฐที่เอื้อผลประโยชน์ในกับนายทุน,ย้ายอำนาจให้ผู้ว่าสามารถเถิกถอนสิทธิที่ดินเหมือนแต่ก่อน,การกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในพรรคการเมืองและรัฐมนตรี ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิในทุกๆ เรื่อง ,สิทธิชาติพันธุ์ การได้รับสัญชาติและสวัสดิการ สิทธิในที่ดินและที่อยู่อาศัย ,รัฐธรรมนูญประชาชน,สิทธิในการเรียนฟรี บำนาญถ้วนหน้า,สิทธิชุมชน,พนักงานบริการทางเพศ​

    รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปะกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปแนวนโยบายรัฐธรรมนูญประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 3 ใจความสำคัญได้แก่ 1.รัฐธรรมนูญที่อยู่บนฐานของสิทธิของผู้คนที่ถูกละเลย คนที่ถูกละเลยไม่ใช่คนกลุ่มเล็กๆ แต่มีจำนวนมหาศาล นี่คือคนที่รัฐไม่เห็นหัว ทุกคนคือคนที่ทำให้สังคมเดินไปได้ 2.ทุกคนกำลังเรียกร้องอำนาจที่ถูดเอาไปโดยรัฐ รัฐทำให้มันออกไปจากมือประชาชน เราต้องมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง 3.ข้อเสนอของพวกเรามีความสำคัญคือความเสมอภาคอย่างเท่าเทียม​

    “รัฐธรรมนูญที่เราเรียกร้องคือรัฐที่มีบทบาทปรับความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชน ประชาชนต้องได้รับความสำคัญจากรัฐ นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายในโครงสร้างรัฐแบบนี้ เราต้องคิดถึง สว. องค์กรอิสระ ที่เป็นภาระของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนไปไม่ได้กับรัฐธรรมนูญปี 60 มันเหลืออยู่ทางเดียวคือเราต้องทำรัฐธรรมนูญประชาชน เราต้องปักหมุดหมายเอาไว้ รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องเกิดจากบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ เราต่างได้รับกลิ่นอายของการเปลี่ยนแปลง”​

    “แผ่นดินนี้พวกเราเป็นผู้สร้าง​
    ร่วมถากทางงอกงามตามวิสัย​
    หล่อฝันเลี้ยงรดด้วยเหงื่อไคล​
    แผ่นดินใหม่ที่เราฝันมันต้องมา”​

    โดยสามารถรับชม Facebook Live ​ ย้อนหลัง ตลอดทั้งงานได้ที่ https://www.facebook.com/lanner2022/videos/479121097317231​



    ภาพ: สุรยุทธ รุ่งเรือง​

    #Lanner

    Related

    ‘ครรภ์ใต้บงการ’ ในเงาสะท้อนรัฐเจริญพันธุ์

    เรียบเรียง: ธันยชนก อินทะรังษี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดงาน...

    อยู่ระหว่างเหนือล่าง ‘เซ็นทรัลนครสวรรค์’ เมื่อ “ห้างใหญ่มีชื่อ” กลายเป็นมาตรวัดการพัฒนา

    เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนครสวรรค์ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและตื่นตัวแกบรรดาผู้คนในจังหวัดนครสวรรค์รวมถึงผู้คนในจังหวัดรอบข้างอย่างมาก ประกอบกับการโปรโมทห้างเซ็นทรัลนครสวรรค์ที่เราจะพบเห็นได้ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ...

    ต่า โอะ มู วิถีชีวิตปกาเกอะญอ

    เรียบเรียง: กรองกาญจน์ เกี๋ยงภาลัก, สุทธิกานต์ วงศ์ไชย, อิทธิเดช วางฐานภาพ: จิราเจต จันทร์คำ,...
    บทความก่อนหน้านี้
    บทความถัดไป