พฤษภาคม 2, 2024

    เงี้ยวเมืองแพร่ ‘กบฏหรือวีรบุรุษ’ ประวัติศาสตร์ของความย้อนแย้ง(4)​

    Share

    28/07/2022

    โครงเรื่องประวัติศาสตร์กระแสท้องถิ่นชาตินิยม ตราประทับความเป็น “กบฏ” ที่ต้องการปลดปล่อย​

    ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทำให้เกิดสำนึกของ “ความเป็นคนท้องถิ่น” นำมาสู่การสร้างประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่าง ๆ ​ เช่น อ้างการกำเนิด การมีตัวตนที่เก่าแก่ของเมือง หรือความสำคัญของเมืองตั้งแต่โบราณกาล เพื่อให้เห็นพลวัตของเมือง ๆ หนึ่ง ​ เมืองแพร่ตกอยู่ภายใต้กระแสนี้ และนำมาสู่การผลิตงานของคนกลุ่มต่าง ๆ ในเมืองแพร่ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของเมือง และจุดเน้นที่สำคัญอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ก็คือ เหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445 ที่แสดงออกมาในรูปการอธิบายปรากฏการณ์นั้น ๆ ใหม่ แต่เดิมเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากอธิบายหรือพูดถึงเพราะถือเป็นเรื่องเกือบต้องห้ามสำหรับคนเมืองแพร่ ภายใต้ความคิดครอบงำของเมือง “กบฏ” หรือ “เมืองที่ไม่จงรักภักดี” และการอธิบายเหตุการณ์ครั้งนี้มาจากมุมมองของรัฐผ่านหนังสือราชการฝ่ายเดียว ไม่มีการตอบโต้ หรืออธิบายเหตุการณ์นี้แตกต่างจากเอกสารภาครัฐมากนัก ดังชี้ให้เห็นก่อนหน้านี้ แม้งานนั้น ๆ จะผลิตโดยคนท้องถิ่นเองก็ตาม​

    อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์มีพลวัต คลี่คลาย สืบเนื่องจนนำมาสู่การแพร่ขยายของกระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่มีกลิ่นอายของท้องถิ่นนิยมที่มีสำนึกในความเป็นท้องถิ่นของตัวเองสูง รวมถึงการคลี่คลายและความสำคัญ รวมถึงบทบาทของเหตุการณ์กบฏเงี้ยว ที่ตอกย้ำ เรื่อง “ความจงรักภักดี” ต่อพระมหากษัตริย์ ลดทอนความสำคัญโดยลำดับ โดยมีวาทกรรมอื่น ๆ ขึ้นมาแทนเหตุการณ์นี้ เช่น ความเป็นไทย เป็นต้น จนนำสู่การสร้างการอธิบายใหม่ของเหตุการณ์กบฏเงี้ยวของคนในท้องถิ่น และผลิตงานออกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 เป็นจุดเริ่มจุดหนึ่งของการก่อตัวของสำนึกท้องถิ่นนิยม แต่คนท้องถิ่นมักมีโจทก์สำคัญ คือ มองว่าการได้ชื่อว่าเมือง “กบฏ” ​ เนื่องมาจากการที่เจ้าหลวงในขณะนั้น คือ ​ เจ้าพิริยเทพวงศ์ ร่วมมือกับกบฏ หรือ “เงี้ยว” จึงนำมาสู่คำตอบ หรือการอธิบายว่า เจ้าหลวงมิได้กบฏ เพื่อให้พ้นข้อกล่าวหาข้างต้น โดยทั่วไปแล้วคนในท้องถิ่นไม่สนใจบริบทของการเกิด หรือไม่เกิดกบฏ ​ และไม่ใส่ใจในประเด็นการร่วมมือหรือขัดขืนของเจ้าหลวงมากนัก ​ ​

    งานในท้องถิ่นนอกจากเสนอเหตุการณ์และสาเหตุของการเกิดกบฏเงี้ยวแล้ว เรื่องหนึ่งที่คนในท้องถิ่นเสนอ เช่น “การหนี” หรือ “การปลด” เจ้าหลวงเมืองแพร่ ขณะนั้นคือ เจ้าพิริยะเทพวงศ์ออกจากตำแหน่ง โดยมีการเสนอออกเป็น 2 แนวคิดใหญ่ คือ 1. ถูกปลดและหลบหนีออกจากเมืองไป 2. เสนอว่าออกไปโดยความยินยอมพร้อมใจของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพใหญ่ และมีกองเกียรติยศส่งออกนอกเมือง เช่น เรื่องเล่าของเจ้าหลวงเมืองแพร่(พิริยเทพวงษ์) ที่ครั้งหนึ่งได้ถูก ‘ตรา’ ว่าเป็น ‘กบฏ’ ถูก ‘สร้างใหม่’ ว่าได้รับเกียรติจวบจนวาระสุดท้ายก่อนออกจากเมืองแพร่ ออกไปโดยทหารเกียรติยศ หรือได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีแม่ทัพใหญ่ขณะนั้น หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการตอบโต้วาทกรรมฝ่ายรัฐที่มองว่าเป็น “กบฏ” แต่ชาวบ้านถือว่าเจ้าหลวงเมืองแพร่ “ผู้บริสุทธิ์” (เช่น เสรี ​ ชมภูมิ่ง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด วรพร บำบัด สิริกร ไชยมา และชูขวัญ ถุงเงิน เป็นข้าราชการครู ​ เป็นต้น)​

    ประวัติศาสตร์ “โจรเงี้ยวปล้นจังหวัดแพร่” หรือ ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จะให้ภาพการหนีของเจ้าหลวงเมืองแพร่ว่าเกิดจากการ ‘หนีราชการ’ ด้วย “…ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า เจ้าพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการ ประกอบทั้งเป็นเวลาที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างเกิดการจราจลด้วย จึงได้ให้พวกญาติติดต่อให้เจ้าพิริยะเทพวงศ์กลับมาเสีย เป็นเวลาหลายวันก็ไม่กลับมา จึงได้ประกาศถอดเจ้าพิริยะเทพวงษ์ จากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ลงเป็นไพร่ คือ ให้เป็น “น้อยเทพวงษ์” ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน ร.ศ. 121…”​

    แม้ว่าราชการจะมีมุมมองเรื่องกบฏเงี้ยวอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำผิดระเบียบต่อราชการเจ้าหลวงจึงถูกปลด แต่ถ้าเป็นงานของท้องถิ่นจะมีกลิ่นอายของเรื่องเล่าเจือปน เช่นงานของ เลิศล้วน วัฒนนิธิกุล ​ เรื่อง ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ 800 ปี หรืองานของ เสรี ชมภูมิ่ง เรื่องเจ้าพิริยะเทพวงษ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางกองเกียรติยศ ในเมือง แป้ปื้น แห่งเมืองโก๋ศัย กลุ่มลูกหลานเจ้าเมืองแพร่ เช่น บัวผิว ​ วงศ์พระถาง, ร.ต. ดวงแก้ว รัตนวงศ์ และรัตน์ วังซ้าย เป็นต้น อธิบายว่าเจ้าหลวง กับรัชกาลที่ 5 ​ ร่วมมือกันในการทำให้เกิดกบฏเงี้ยว เพื่อให้เจ้าหลวงเป็นสายสืบอยู่ที่หลวงพระบาง และเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ ทั้งฝรั่งเศส และอังกฤษ โดยให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นแพะรับบาป เจ้าหลวงก็ยินยอมตามแผนการมิได้มีข้อขัดแย้งอะไร โครงเรื่องเช่นนี้กลายเป็นคำอธิบายการเกิดกบฏเงี้ยวกระแสหลักอยู่ในเมืองแพร่ ซึ่งได้ยกคำสัมภาษณ์อย่างละเอียดลงก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงข้อสงสัยต่างๆ ดังความว่า​

    “…เงี้ยวมาเกลี้ยกล่อมท่าน (เจ้าหลวง) ก็นำความนี้รายงาน รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรับรู้…ทางกรุงเทพฯ ก็ได้เรียกเจ้าหลวงไปร่วมปรึกษาหารือ…ตกลงให้รับปากพวกเงี้ยวและให้ผัดเวลาออกไปอีก 2-3 เดือน…ให้ทางกรุงเทพฯจัดกำลัง…”และ “…ตามที่ รัชกาลที่ 5 และเจ้าหลวงฯ ได้วางแผนร่วมกันไว้…”​

    นำมาสู่การอธิบายและตีความเหตุการณ์ครั้งนั้นใหม่ว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏ แต่เป็นผู้จงรักภักดี และเสียสละ ท้ายสุดทิ้งทั้งทรัพย์สิน ลูกเมีย บ้านเมือง(เพื่อเป็นสายสืบและให้รัชกาลที่ 5 รวมหัวเมืองเหนือได้สำเร็จ) มิใช่กบฏ แต่เป็น “วีรบุรุษ” ฉะนั้นหากกล่าวว่าเมืองแพร่เป็น “เมืองกบฏ” จึงหาใช่ไม่ แต่เป็นเมืองของผู้จงรักภักดี และเมืองของ “วีรบุรุษ” ต่างหาก​

    นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวอ้างอีกว่า ก่อนที่จะเกิดกบฏ เจ้าพิริยเทพวงศ์ และชายา เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก และโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าอยู่เสมอ เพื่อสร้างคำอธิบายให้ตอบรับการเหตุการณ์ข้างต้น ดังความที่ว่า​

    “…ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าหลวงเมืองแพร่นั้นเป็นผู้ที่รัชกาลที่ 5 ทรงรักและไว้ใจมาก โดยเฉพาะกับกรมหลวงดำรงราชานุภาพ…ก็ทรงชอบพอกับเจ้าหลวงฯ ทั้งพ่อ ทั้งเพื่อน ทั้งพี่ กรมหลวงดำรงราชานุภาพฯ ได้ทรงอบรมสั่งสอนเจ้าหลวงฯ ทุกอย่าง…”​

    คำอธิบายชุดนี้กำลังได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและถือว่าเป็นชุดคำอธิบายหลักของฝ่ายที่ต้องการแก้ต่างให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์และนำสู่การให้ภาพของเมืองแพร่ใหม่เพื่อตอบโจทย์ “ความเป็นกบฏ” ข้างต้น​

    อย่างไรก็ตามคำอธิบายชุดนี้ยังมีกลิ่นอายของชาตินิยมที่เน้นความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และตอบสนองต่ออำนาจรัฐมิได้มาจากมุมของท้องถิ่นเพื่อคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง​

    คำลักษณะต่อมาคือการปัดความผิดออกจากตัวเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ กลุ่มนี้จะอธิบายว่าการคิดวางแผน หรือการมีส่วนในการกบฏ เป็นความคิดของคนใกล้ชิดเจ้าหลวง เช่น บอกว่าเกิดจากความคิดและการนำของเจ้านางบัวไหลซึ่งเป็นชายาของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เพราะจากคำบอกเล่าและประวัติของเจ้าบัวไหลถือว่ามีความสำคัญ และเข้ามาแทรกแซงกิจการของเมืองแพร่ในหลายๆด้าน เช่น การขอให้ย้ายเจ้าอุปราชเมืองแพร่ไปไว้ที่ลำปางเป็นต้น และนำมาสู่การปัดความผิดเรื่องการก่อกบฏเงี้ยวให้เจ้านางบัวไหล​

    “…การเข้าแทรกแซงภายในของเจ้าแว่นทิพย์ คอยยุยงเจ้าชื่นและเจ้าแม่บัวไหล (ภรรยาของเจ้าหลวง ฯ) ซึ่งมีความรู้สึกที่สั่นไหวเนื่องจากการเปลี่ยนระบบการปกครองทั้งอำนาจลดลง …”​

    การอธิบายลักษณะนี้เพื่อยืนยันว่าการก่อกบฏเกิดจากคนอื่น เจ้าหลวงมิใช่กบฏ โดยสร้างคำอธิบายการเกิดกบฏเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ คนใกล้ชิดยุยง และอิทธิพลจากนอก คือ เจ้าเชียงตุง (แว่นทิพย์) การอธิบายในลักษณะนี้เจ้าหลวงเมืองแพร่จึงเป็นแต่ผู้รับเคราะห์ เจ้าหลวงมิได้มีส่วนรู้เห็น จึงสามารถปัดความรับผิดชอบในฐานะกบฏออกจากตัวเจ้าหลวงได้​

    นอกจากการแทรกแซงของเชียงตุงแล้วผู้บงการตัวจริง ก็คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ที่ต้องการให้เงี้ยวก่อจลาจลครั้งนี้ ในคำอธิบายชุดนี้เจ้าหลวงเป็นแต่ผู้รับเคราะห์เช่นกัน ดังความว่า​

    “… กบฏเงี้ยวเกิดเพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสต้องการเฉือนแผ่นดินสยาม…”​

    งานในการอธิบายกลุ่มนี้ยังปรากฏในงานของเสรีและทัศน์ทรง ชมภูมิ่งที่อธิบายว่าเกิดการแทรกแซงของ เชียงตุงและมหาอำนาจ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ไม่มีความชัดเจนนัก การอธิบายว่าเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวง การเกิดกบฏเกิดจากเงี้ยวฝ่ายเดียว เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วน เพราะถูกบังคับให้ทำ จึงเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวงที่ต้องถูกกล่าวหาเป็นกบฏ แล้วต้องพลัดบ้านพลัดเมือง ดังความว่า​

    “… เจ้าหลวงพิริยาเทพวงศ์ มิได้ทรยศต่อบ้านเมืองขององค์ท่านแต่ประการใด แต่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเดิมจนไปทิวงคตในถิ่นอื่นนั้น เป็นคราวเคราะห์กรรมขององค์ท่านเอง ที่ต้องถูกป้ายสีจนประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า องค์ท่านทรยศต่อบ้านเมืองและประชาชนของท่านเอง..” ​ และ​

    “… เงี้ยวพอมันเข้าเมืองได้แล้ว ก็เข้าควบคุมเจ้าหลวง คือเจ้าผู้ครองนคร…ขอให้ลงนามร่วมขับไล่คนไทยให้ออกจากจังหวัดแพร่ เพราะพวกเงี้ยวมันเกลียดคนไทย …เจ้านครไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะอาวุธอะไรก็ไม่มีที่จะไปสู้รบกับมัน ทั้งหมดไปอยู่ที่ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ…ก็จำยอมลงนามเข้าร่วมไปก่อน”​

    จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่อธิบายทำนองนี้ จะบอกว่าทำด้วยความจำใจเพราะถูกบังคับหรือเลยไปถึงเรื่องเคราะห์กรรม เพื่อบอกว่าเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ได้เป็นกบฏดังที่กล่าวหากันและนำสู่ฐานะของ “เจ้าหลวงผู้น่าสงสาร” หรือ “ผู้อาภัพ” ที่ต้องพลัดบ้านพลัดเมือง​

    อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการรับรู้ในโครงเรื่องที่คนในเมืองแพร่สร้างในฐานะ “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” “เจ้าหลวงผู้เสียสละ” “เจ้าหลวงวีรบุรุษ” ได้รับการรับรู้ในคนกลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง เพราะมีการตีพิมพ์หนังสือในท้องถิ่น เช่น สาวความเรื่องเมืองแพร่, ศึกษาเมืองแพร่, อนุสรณ์เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายผู้ครองเมืองแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย, ​ และ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าไข่มุก วงค์บุรีประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร เป็นต้น​

    ความทรงจำใหม่นี้เป็นการสร้างตาม ‘ความเชื่อ’ และสำนึกของคนท้องถิ่น โดยนำเอาความคิดของปัจจุบันไปตีความอดีต และสร้างภาพแทนความจริง ภายใต้อิทธิพลของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ต้องทำความดีภายใต้พระมหากษัตริย์ และผู้นำ เป็นผู้ผลักวิถีประวัติศาสตร์ แสดงให้ถึงความคิดความเห็นของคนกลุ่มต่างๆ ภายในสังคมที่เข้ามามีบทบาทต่อการสร้างหรือเปลี่ยนความหมายของเหตุการณ์หนึ่งๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ สถานภาพ และอำนาจของคน ‘ปัจจุบัน’​

    วาทกรรมความเป็น “ไทย” ที่ได้ทำให้คนที่ไม่ใช่ไทยเป็น “อื่น” ภายใต้แนวคิด “ชาตินิยม” รวมถึงแนวคิด “วีรบุรุษ” “มหาบุรุษ” ก็เป็นแนวคิดประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักที่ทรงพลัง แสดงให้เห็นว่าแม้คนในท้องถิ่นจะพยายามสร้างโครงเรื่องประวัติศาสตร์เพื่อจัดตำแหน่งแห่งที่ของการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ใหม่เช่นไร แต่โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ(นิยม)กระแสหลักก็ยังครอบงำประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นได้มากกว่า ​ ​
    เขียนและเรียบเรียง : ชัยพงษ์ ​ สำเนียง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร​

    บทความนี้เป็นการปรับมาจากหนังสือ ชัยพงษ์ สำเนียง. กบฏเงี้ยว การเมืองของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของ “คนล้านนา”. กรุงเทพฯ : ​ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2564. และบทความพิริยวงศ์อวตาร: ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์. ​ ศิลปวัฒนธรรม ​ ปีที่ 34 ฉบับที่ 9 (ก.ค. 2556) หน้า 114-129 ข้อผิดพลาดของงานชิ้นนี้ย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว​

    #กบฏเงี้ยว​
    #Lanner

    Related

    แผน ‘NAP’ เครื่องมือด้านสิทธิมนุษยชนดักจับฝุ่นพิษข้ามแดน

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ ในช่วงที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน หลายคนมักโฟกัสไปที่ฝุ่นจากการเผาไหม้ตอข้าวโพด แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งแหล่งกำเนิดฝุ่นพิษที่น่ากังวลไม่แพ้กัน นั่นคือฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรม อาจกล่าวได้ว่าฝุ่นพิษจากไร่ข้าวโพดข้ามแดนเกิดขึ้นเป็นฤดู แต่ฝุ่นภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเกือบทั้ง...

    เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ยื่นหนังสือถึง นายก-ผู้ว่าฯ แนะค่าจ้างขั้นต่ำ 700 บาท/วัน

    1 พฤษภาคม 2567 เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จัดขบวนแห่ผ้าป่าเสนอข้อเรียกร้องและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในเนื่องโอกาสวันแรงงานสากล ปี 2567 ณ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่...

    เศรษฐกิจพัง ค่าแรงยังขึ้นไหม? สำรวจการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกในปี 2024 นี้ ประเทศไหนขึ้นบ้าง

    1 พ.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานสากล หลายประเทศทั่วโลกมักจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงในวันนี้ แต่ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ทั่วโลกเจอวิกฤติการณ์โควิด-19...